Skip to main content
sharethis

ประชาไท—22 ก.ค. 2549 องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น และสำนักงานฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ กรมประชาสงเคราะห์ ร่วมกันจัดประชุมเพื่อนำเสนอผลการดำเนินงานโครงการนำร่องและประสบการณ์การดำเนินงานของศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ 3 จังหวัด ในวันที่ 20 ก.ค. 49 ที่ผ่านมา


 


ทั้งนี้ โครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน : การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการ เป็นโครงการนำร่อง 3 ปี ระหว่างปี 2545-2547 เพื่อศึกษาผลกระทบและความเป็นไปได้ในการนำแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระ หรือ ศูนย์ไอแอล ของคนพิการในประเทศญี่ปุ่นมาปรับใช้ในประเทศไทย โดยจังหวัดที่ไทยใช้เป็นศูนย์ทดลองโครงการ ได้แก่ นครปฐม ชลบุรี และนนทบุรี ซึ่งมีผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการจังหวัดละ 15 คน


 


นายอุดมโชค ชูรัตน์ ประธานศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการไทยกล่าวว่าผู้พิการรุนแรงส่วนใหญ่ต้องทนทุกข์จากการที่ไม่สามารถเลือกกระทำ หรือไม่กระทำสิ่งต่างๆ ตามความต้องการของตัวเอง เป็นเหตุให้คนพิการขาดทักษะในการดำรงชีวิตอิสระ ไม่มีความกล้าคิดกล้าทำ ทั้งที่อุปสรรคไม่ได้มาจากสภาพความพิการแต่อย่างใด หากอุปสรรคส่วนใหญ่มาจากความคิดของผู้พิการเอง จึงมีการนำผู้พิการเหล่านั้นมาเข้ารับการอบรม ทำกิจกรรม ปรับแนวคิดใหม่ และให้บริการคำปรึกษาฉันเพื่อนโดยวิทยากรจากญี่ปุ่น


 


โครงการดังกล่าวประสบผลสำเร็จ เนื่องจากผู้พิการที่เข้าร่วมโครงการสามารถปรับเปลี่ยนแนวคิดให้ตนลุกขึ้นมาต่อสู้กับชีวิตได้ เห็นคุณค่าในตัวเอง มีความเชื่อมั่น กล้าคิด กล้าตัดสินใจ และรู้จักช่วยเหลือตัวเองในการใช้ชีวิตประจำวัน ผู้พิการบางราบสามารถกลับไปทำงานประกอบอาชีพจนมีรายได้และกลายเป็นที่พึ่งของเพื่อนผู้พิการคนอื่นได้


 


ทั้งนี้ ศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการไทยได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายด้านการดำรงชีวิตอิสระของคนพิการต่อนางอ้อมพร นิตยสุทธิ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์สิทธิเด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส คนพิการ และผู้สูงอายุ (สท.)กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อที่รัฐบาลจะได้สนับสนุนให้มีการบรรจุแผนงานโครงการขยายแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระและจัดตั้งศูนย์การดำรงชีวิตอิสระของคนพิการอย่างน้อย 5 ศูนย์ต่อปี


 


ถ้าหากรัฐบาลและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสามารถจัดสรรงบประมาณสนับสนุนศูนย์การดำรงชีวิตอิสระคนพิการที่สามารถจัดบริการช่วยเหลือคนพิการได้ตามเกณฑ์ที่กำหนดในรูปแบบเงินอุดหนุนรายปี และรัฐสามารถจัดระบบสวัสดิการสำหรับผู้พิการรุนแรงที่มีสภาพความพิการซ้ำซ้อน หรือผู้ที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองในกิจวัตรประจำวันได้ตามเกณฑ์ เพื่อให้บุคคลกลุ่มดังกล่าวได้รับชั่วโมงการทำงานผู้ช่วยเหลือคนพิการ (Personal Assistant) อย่างน้อยวันละ 2 ชั่วโมง จะช่วยให้การดำรงชีวิตของผู้พิการมีคุณภาพดีขึ้น


 


ทางด้านนางอ้อมพร กล่าวว่า ณ เวลาปัจจุบันมีผู้พิการมาขึ้นทะเบียนกับ พม.ราว 4 แสนคน และที่ผ่านมา พม.ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้พิการมาโดยตลอด มีทั้งการตั้งกองทุนช่วยเหลือฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ รวมถึงการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการ และการขึ้นทะเบียนคนพิการ ช่วยส่งเสริมให้ผู้พิการมีงานอาชีพทำ พม.จึงพร้อมจะให้การสนับสนุนแนวคิดการดำรงชีวิตอิสระคนพิการอย่างเต็มที่ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net