Skip to main content
sharethis

ประชาไท -27 ก.ค. 49      วันที่ 26 ก.ค. มีการประชุมสัมมนาทางวิชาการเรื่อง "การละเมิดภูมิปัญญาไทย กรณีฤาษีดัดตน : แนวทางในการป้องกันคุ้มครองภูมิปัญญาไทยในสถานการณ์ปัจจุบัน" จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ณโรงแรม มิราเคิล แกรนด์ กทม.



นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.องค์การความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาไทย (ไบโอไท) กล่าวว่า จากการสำรวจการยื่นจดสิทธิบัตรสมุนไพรไทยในต่างประเทศ พบว่ามีการยื่นจดสิทธิบัตรคุ้มครองการสกัดน้ำผลไม้จากเปลือกมังคุด เพื่อนำไปทำเครื่องดื่ม ยื่นจดโดยบริษัทเนเจอร์ ซันซายน์ โปรดักส์ สหรัฐอเมริกา ซึ่งยื่นจดที่สำนักงานกฎหมายสิทธิบัตรสหรัฐ เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2549 ทั้งหมด 17 รายการ



นายวิฑูรย์ได้อธิบายถึงเนื้อหาสำคัญในการยื่นจดทะเบียนที่มีผลกระทบต่อไทยคือการจดสิทธิบัตรคุ้มครองกระบวนการสกัดน้ำผลไม้จากเปลือกมังคุดมาทำเครื่องดื่มและวิธีการสกัด ด้วยการใช้แอลกอฮอล์ โดยมีเมทิลแอลกอฮอล์ผสม 50% การอบแห้งเปลือกมังคุดในระบบสุญญากาศ รวมถึงจดสูตรเครื่องดื่มน้ำมังคุดในรูปแบบต่างๆ ที่นำไปผสมกับน้ำผักผลไม้อื่นๆ เช่น องุ่น เป็นต้น



 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบต่อไทยอย่างมาก แม้ต้นมังคุดจะไม่ได้มีที่ประเทศไทยแห่งเดียว แต่ไทยเป็นต้นกำเนิดของผลไม้ชนิดนี้ อีกทั้งมีอัตราการส่งออกมังคุดมากที่สุดในโลก การจดสิทธิบัตรลักษณะนี้จะทำให้ไทยตกอยู่ในฐานะเพียงแค่ผู้ส่งออกวัตถุดิบเท่านั้น ไม่สามารถพัฒนาหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์เป็นรูปแบบอื่นได้ แม้จะมีศักยภาพก็ตาม


 


นอกจากนี้ การทำเครื่องดื่มน้ำมังคุด คนไทยโดยเฉพาะชาวสวนทำมาก่อนแล้ว ถือเป็นภูมิปัญญาไทย การจดสิทธิบัตรอาจจะกระทบธุรกิจเอสเอ็มอีของไทย เพราะเท่าที่ทราบมีบริษัทที่อยู่ระหว่างการพัฒนาเครื่องดื่มสมุนไพรไทยในรูปแบบต่างๆ จำนวนมาก



"การยื่นจดสิทธิบัตรที่เป็นภูมิปัญญาเกิดขึ้นแล้วหลายครั้ง เป็นเพราะเราไม่มีหน่วยงานเฝ้าระวัง สะท้อนให้เห็นว่าจำเป็นต้องมีกลไกเฝ้าระวัง ถึงเวลาแล้วที่เราต้องทำงานอย่างจริงจัง ก่อนที่สมุนไพรไทยจะถูกต่างชาติยื่นจดไปหมด รัฐบาลควรกระตือรือร้นในการปกป้องมากกว่านี้"


 


นายวิฑูรย์ แนะนำด้วยว่า รัฐบาลไทยต้องตรวจสอบว่า บริษัท เนเจอร์ ซันซายน์ โปรดักส์ ได้ยื่นจดสิทธิบัตรไปยังประเทศอื่นๆ นอกสหรัฐหรือไม่ เพราะจะมีผลกระทบต่อการส่งออกของไทย และต้องศึกษาว่าทั้ง 17 รายการนั้นมีข้อไหนบ้างที่สามารถฟ้องยกเลิกได้ บางอย่างภูมิปัญญาไทยก็มีเรื่องนี้มานานแล้วจำเป็นต้องรวบรวมข้อมูลคัดค้าน



ด้าน พ.ญ.เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า เป็นเรื่องน่าห่วงเพราะจากการศึกษาของหน่วยงานภายในกรมพบว่า มีผู้สนใจจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์เปลือกมังคุดจำนวนมาก ดังนั้นควรจัดทำฐานข้อมูลผลิตภัณฑ์น้ำผลไม้ไทย เพื่อเป็นข้อมูลยืนยันก่อนถูกนำไปจดสิทธิบัตรเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เช่น มังคุด ก็ให้รู้ว่ามีการนำมากินและใช้อย่างแพร่หลายมาก



เรียบเรียงจาก เว็บไซต์ คม ชัด ลึก

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net