Skip to main content
sharethis


 


รายการ Simple Life หรือ "ชีวิตเรียบง่าย" เป็นรายการต้นแบบของ รายการไฮโซบ้านนอก


นำแสดงโดย ปารีส ฮิลตัน ทายาทมหาเศรษฐี ที่เคยพูดว่า


"เธอไม่เคยทำงานแม้แต่วันเดียวในชีวิต" ร่วมกับ นิโคล ริชชี่


 


Simple life ออกอากาศครั้งแรกทางช่อง FOX Network ในเดือนธันวาคม 2546


 


ใน Episode แรก ปารีสและนิโคล ใช้ชีวิตอยู่ในฟาร์มในเมืองชนบท Altus รัฐ Arkansas โดยไม่มีโทรศัพท์ มือถือ และบัตรเครดิต  พวกเธอใช้ชีวิตประจำวันเหมือนเกษตรกร เช่น รีดนมวัวด้วยมือน้อยๆ ของเธอทุกเช้า  ผู้ชมต่างชื่นชอบที่จะเห็นเธอใช้ชีวิตเรียบง่าย


ในรายการนี้ในตอนแรกจึงได้รับความนิยมจากผู้ชมในสหรัฐมากกว่า 13 ล้านคน



 


 


 



 


เปิดประสบการณ์นักศึกษาธรรมศาสตร์


ในโครงการ "ธรรมศาสตร์ทำนาเศรษฐกิจพอเพียง" ระหว่างเดือนมิถุนายน - ธันวาคม 2549


ภาพจากhttp://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9490000095566&#Opinion



 


 



 


ใครเอ่ย คุ้นๆ


ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล


ประธานค่ายอาสาพัฒนาชนบท หลายต่อหลายครั้งตลอดชีวิตการเป็นนักศึกษาธรรมศาสตร์นั่นเอง


ภาพจากhttp://www.manager.co.th/Campus/ViewNews.aspx?NewsID=9490000095566&#Opinion


 


 


 



 


โดยนายหอกหัก


 


 


ภาพข่าวของนักศึกษาและอาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมกับเสียงเพลงคนกับควายดังกระหึ่มก้องไปทั่ว "ท้องนา" ของธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา ดูจะสร้างความปลาบปลื้มเป็นล้นพ้นแก่ผู้ได้ฟังและได้เห็น


 


โครงการ "ธรรมศาสตร์ทำนา" เป็นนวัตกรรมของการเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อให้เข้าใจความยากลำบากของชีวิตเกษตรกรไทย และที่สำคัญได้อ้างว่าเป็นการเรียนรู้แนวคิดเศรษฐกิจแบบพอเพียง


 


โครงการนี้ควรถูกนับเป็นความคิดที่กล้าหาญและแหวกกรอบจารีตของกระบวนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยของไทยเป็นอย่างมาก ที่ตามปกติมักให้นักศึกษาอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมแต่ครั้งนี้พยายามให้นักศึกษาไปสัมผัสกับจริงที่อยู่ "ที่นั่น"


 


แต่ก่อนที่น้ำตาจะไหลด้วยความปิติ ควรต้องพิจารณาให้ถ่องแท้ก่อนว่าโครงการธรรมศาสตร์ทำนาเป็นอย่างไรกันแน่


 


สิ่งที่นักศึกษาหน้าขาวๆ และอาจารย์หลายคน ซึ่งเข้าร่วมจะได้อย่างแน่นอนก็คือ ความรู้และการปฏิบัติจริงในการปลูกข้าว อย่างน้อยก็รู้ว่าเวลาจะดำนาต้องใช้นิ้วหัวแม่มือกดลงไปในดินพร้อมกับต้นกล้า รู้ว่าการปลูกต้นข้าวต่างไปจากหญ้าคาอย่างไร รู้ว่าดินในที่นานั้นมีสภาพอย่างไร รู้ว่าอยู่กลางแดดนั้นร้อนอย่างไร


 


แต่เรื่องต่างๆ เหล่านี้เพียงพอหรือที่จะทำให้นักศึกษาเข้าใจถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยได้ เกษตรกรที่ล้มละลายมากว่า 40 ปี เป็นเพราะปัญหาในการปักดำเท่านั้น หรือมีเรื่องอื่นๆ เป็นปัจจัยประกอบอยู่


 


หากต้องการเข้าใจถึงวิถีชีวิตของชาวนา คงไม่สามารถปลูกข้าวอยู่ข้างๆ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีได้แน่ๆ เพราะความยุ่งยากหรือปัญหาในชีวิตชาวนาไม่ใช่แค่เรื่องวิธีการปลูกข้าวแต่รวมถึงเรื่องอื่นที่เป็นเหตุแวดล้อมอยู่


 


เช่น การขาดแคลนที่ดินทำกินและการสูญเสียที่ดินทำกินของเกษตรกรรายย่อย ระบบตลาดที่ไม่ช่วยให้เกษตรกรมีความเข้มแข็งในการต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง ความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ น้ำท่วมฝนแล้ง ที่ยากจะเกิดขึ้นกับที่นาของธรรมศาสตร์เป็นแน่แท้ หรือแม้กับปัญหาง่ายๆ เช่น ปัญหาปุ๋ยปลอมที่แม้จะซื้อมาจากหน่วยงานของรัฐเองก็ตาม


 


และอีกมากมายที่ ดร. ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีผู้รับผิดชอบโครงการคงรู้เป็นอย่างดีในฐานะที่เคยเป็นประธานค่ายอาสาพัฒนาชนบทหลายสมัย


 


แต่น่าเสียดายที่นอกจากการดำนาแล้ว ไม่ได้มีกระบวนการอื่นใดอีกเลยที่เชื่อมนักศึกษาเข้ากับโลกที่เป็นอยู่จริง (อย่างน้อยก็ที่เห็นอยู่ในขณะนี้) สิ่งที่นักศึกษาจะได้ก็คือ รู้ว่าขี้โคลนมันเหลว กับดำนานี่มันก็ทำให้ปวดหลังเหมือนกันเนอะ


 


ดังนั้น อย่าว่าถึงเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงเลยครับ เอาแค่ให้เข้าใจถึงชีวิตและความยากลำบากของชาวนาก็ห่างไกลแล้ว


 


กล่าวให้ยืดเยื้อมากยิ่งขึ้นก็คือ โครงการธรรมศาสตร์ทำนาอาจไม่ได้แตกต่างไปจากรายการ "ไฮโซบ้านนอก" เลย คือเพียงเปลี่ยนเอาตัวบุคคลเข้าไปอยู่ในสถานะที่แตกต่างจากที่เป็นอยู่ในชีวิตประจำวัน จากในห้องเรียนก็ออกไปเป็นท้องนาทั้งที่ควรจะเป็นโอกาสอันดี แต่ไม่เห็นเงื่อนไขให้เข้าใจอะไรได้มากไปกว่าการเป็นแบบกิจกรรมฉาบฉวยเท่านั้น


 


ยิ่งกว่านั้น รายการไฮโซบ้านนอกอาจยังอยู่ในสภาพที่ดีกว่าเพราะอย่างน้อยก็เข้าไปในเหตุการณ์จริง แม้จะมีการจัดฉากหรือเตรียมการบ้าง ขณะที่ไฮโซธรรมศาสตร์เป็นการสร้าง "ความจริงเสมือน" ขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยตัดขาดและไม่สัมพันธ์กับชาวนาเลยแม้แต่คนเดียว เผลอๆ ระหว่างดำนาก็อาจซื้อกาแฟสตาร์บัคมาละเลียดดับความกระหายได้


 


การขยับให้การเรียนรู้ออกนอกห้องเรียนเป็นสิ่งที่ต้องให้การสนับสนุนเป็นอย่างยิ่ง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องไม่ทำให้การออกนอกห้องเรียน ดันกลายเป็นว่าไปอยู่ที่รายการเกมโชว์ ซึ่งสุดท้ายก็ไม่ได้สร้างการเรียนรู้อะไรให้เกิดขึ้นเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net