บริษัทอิตาเลี่ยนไทย ถอนแจ้งความจับ 5 แกนนำค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี

ประชาไท—12 ส.ค. 2549 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 สิงหาคม 2549 นายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พร้อมด้วยนางสาวประพิมพรรณ สุขชูเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์บริษัทอิตาเลี่ยนไทยได้แถลงต่อผู้สื่อข่าวว่าบริษัทอิตาเลี่ยนไทยจะถอนแจ้งความ 5 แกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทเอเชียแปรซิฟิค โปแตชคอร์เปอร์ เรชั่น จำกัด หรือบริษัทเอพีพีซีเดิม ได้แจ้งความดำเนินคดีข้อหาบุกรุกและทำให้เสียทรัพย์       ซึ่งตำรวจเพิ่งมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งเรื่องสู่ชั้นอัยการเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมาและขณะนี้อยู่ในขั้นการพิจารณาของอัยการ

นายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี

นายจารึก ปริญญาพล ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี แถลงว่า จากที่กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี ได้เข้าขัดขวางการปักหมุดแนวเขตเหมืองแร่โปแตช ทำให้ได้รับความเสียหายจนบริษัทเอพีพีซี จึงฟ้องร้องคนที่เข้าไปทำลายหมุดเขตเหมืองแร่ แล้วกลุ่มอนุรักษ์ก็ยกขบวนมาที่ศาลากลางให้ผู้ว่าฯ ช่วยเหลือ จึงต้องขอความร่วมมือไปยังบริษัท ขอไม่ให้บริษัทแจ้งความดำเนินคดีกับกลุ่มอนุรักษ์ฯ ในที่สุดก็ทราบข่าวดีคือบริษัทอิตาเลี่ยนไทยได้แจ้งให้ทราบว่าจะไม่แจ้งความดำเนินคดีเพื่อให้สถานการณ์ความขัดแย้งคลีคลายไปในทางที่ดี และจากการพูดคุยได้ทราบแนวคิดของบริษัทอิตาเลียนไทยว่าจะดำเนินการโดยรับฟังความคิดเห็นก่อน ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่ดีที่จะไม่ตั้งป้อมเข้าหากันพูดกันด้วยบรรยากาศของมิตรภาพพี่น้องบรรยากาศก็ดี ฟังความเห็นของชาวบ้านด้วยมาพบกับครึ่งทางดีกว่าจะแอบไปดำเนินการโดยที่ชาวบ้านเขาไม่ยอมรับก็จะเกิดปัญหาอย่างที่ผ่านมา ทั้งนี้ก็สามารถคลีคลายไปในทางที่ดีได้ จึงยินดีเป็นอย่างยิ่ง

 

"เป็นนิมิตหมายที่ดีที่บริษัทของคนไทยต้องการให้ชาวบ้านมีสวนร่วมเรื่องการรังวัดโดยจะจัดประชาคมก่อน ไม่ใช่รังวัดก่อนแล้วมาประชาคมทีหลังอย่างที่ผ่านมาถ้าอย่างนั้นมันเป็นขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับ เมื่อบริษัทเข้าใจแล้วปัญหาคงคลีคลายไปด้วยดีผมไม่อยากให้กลุ่มอนุรักษ์ฯ แห่เข้ามาที่ศาลากลางอยู่เรื่อย ๆ มันเป็นภาพพจน์ที่ไม่ดีเท่าไหร่ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการจะดำเนินไปได้ด้วยดี ทุกขั้นตอนและจะไม่มีความรุนแรง" นายจารึก กล่าวเพิ่มเติม

 

 

 นางสาวประพิมพรรณ สุดชูเกียรติ

 

นางสาวประพิมพรรณ สุดชูเกียรติ ผู้จัดการฝ่ายมวลชนสัมพันธ์บริษัทอิตาเลี่ยนไทย แถลงว่า ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2549 เป็นต้นมาบริษัทอิตาเลียนไทยได้ซื้อหุ้นบริษัทเอพีอาร์ ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ บริษัทเอพีพีซี ตอนนี้ถือว่าบริษัทเอพีพีซีเป็นของคนไทยกำลังเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัทสินแร่เมืองไทย สัญญาที่เคยทำไว้กับเอพีพีซีเดิม กำลังจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงในสัญญากับกระทรวงอุตสาหกรรม

 

"เรื่องที่บริษัทเอพีพีซีเดิม ฟ้อง 5 คน ผู้ว่าราชการจังหวัด และอุตสาหกรรมจังหวัดแสดงความเป็นห่วงเรื่องนี้มากและแจ้งมาทางบริษัทให้ช่วยพิจารณาเพราะไม่อยากให้ชาวบ้านที่เข้ามาเรียกร้องสิทธินี้ติดคุกหรือว่าขึ้นศาล ซึ่งทางบริษัทเองได้เห็นภาพแล้วรู้สึกเสียใจและไม่อยากให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น บริษัทไม่มีเจตนาอยากให้เป็นไปแบบนี้จึงขอถอนฟ้องอย่างไม่มีเงื่อนไข จึงเรียนผู้ว่าฯ ไว้ท่านก็ยินดี โดยจะดำเนินการถอนแจ้งความในบ่ายวันนี้"

 

นางสาวประพิมพรรณ ระบุว่า "ปัจจุบันบริษัทเป็นของคนไทย เราเข้าใจดีว่าเราคุยกันได้ทุกเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นเรื่องใหญ่ เป็นเหมืองใต้ดินยังไม่เคยทำมาก่อน เราจะต้องให้ความสำคัญกับคนในพื้นที่มากขึ้น ต่อจากนี้ไปการทำเหมืองแร่นี้จะดำเนินการไปด้วยความร่วมมือของสามฝ่ายคือบริษัท รัฐ และชาวบ้านผู้มีส่วนได้เสีย ให้มานั่งคุยกันหาข้อยุติ เพื่อจังหวัดอุดรธานีจะพัฒนาไปได้ ปัญหาต่าง ๆจะยุติได้ บริษัทมั่นใจว่าโครงการเหมืองแร่โปแตชเป็นยุทธศาสตร์ของประเทศ ในการพัฒนาเศรษฐกิจ ในขณะเดียวกันชาวบ้านก็ห่วงเรื่องผลกระทบเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ต้องมีผลกระทบแน่นอน ซึ่ง บริษัทจะพยายามแก้ไขให้ดีที่สุดโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามกฎหมาย และขอบคุณท่านผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้คำแนะนำว่าการทำเหมืองแร่ที่ดีควรทำอย่างไร เน้นเรื่องประชาชนต้องมีส่วนร่วม"

 

ทั้งนี้นางสาวประพิมพรรณ ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า เรื่องอีไอเอที่เป็นปัญหามาตั้งแต่ปี 45 -49 เรียกร้องให้ยกเลิก และค้างคาราคาซังมาจนปัจจุบันนี้ บริษัทยินดีที่จะทำอีไอเอใหม่ โดยจะทำการศึกษาใหม่และยื่นเข้าสู่ขบวนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการใหม่

 

"การจัดทำอีไอเอใหม่ และรังวัดใหม่ จะทำให้โครงการล่าช้าไปสักเท่าไร เราไม่ได้คำนึงถึง มันขึ้นอยู่ที่ประชาชนจะมีส่วนร่วมและยอมรับโครงการได้อย่างไร และขณะนี้ได้ตกลงว่าจ้างผู้ศึกษาที่เป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ และคาดว่าจะทำสัญญาจ้างภายในวันสองวันนี้

 

"ทำนองเดียวกันกับการรังวัดแนวเขตเหมืองแร่ที่มีการคัดค้านไม่เห็นด้วยนี้ และเกิดการฟ้องร้องนั้นบริษัทใหม่ต้องการเริ่มต้นใหม่เพราะมีการเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างโปร่งใส ทุกขั้นตอนประชาชนจะต้องรู้ วันนี้เราจึงทำหนังสือยินดีถอนฟ้อง และจะทำหนังสือมาถึงผู้ว่าฯ ให้ยกเลิกผลการรังวัดเดิม แล้วเริ่มต้นชี้แจงโครงการใหม่ร่วมกับฝ่ายรัฐ ในทั้ง 4 ตำบลให้รู้ว่าขั้นตอนเป็นอย่างไร จึงจะเข้าสู่ขั้นตอนขอประทานบัตรใหม่ เพราะบริษัทมีเจตนาอย่างเต็มที่ที่จะทำเหมืองนี้ให้ดี และขณะนี้เปรมชัย กรรณสูตร ผู้บริหารบริษัทอิตาเลี่ยนไทยกำลังเดินทางไปดูเหมืองในยุโรปแล้วจะวางแผนว่าจะทำอย่างไรเกี่ยวกับการทำเหมืองตัวนี้" นางสาวประพิมพรรณกล่าว

 

ด้านนางมณี บุญรอด ประธานสภาองค์การบริหารส่วนห้วยสามพาด หนึ่งในแกนนำกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีที่ตกเป็นผู้ต้องหา เปิดเผยว่า การที่กลุ่มอนุรักษ์เข้าพบผู้ว่าฯ หลังจากที่ถูกแจ้งความดำเนินคดีก็เพราะเหตุที่ผู้ว่าฯ เป็นคนลงนามในคำสั่งให้มีการรังวัดปักหมุดในฐานะเจ้าพนักงานอุตสาหกรรมแร่ท้องที่ ทั้งที่มีการตกลงกับผู้ว่าคนก่อนไว้ว่าจะดำเนินการใด ๆ ต้องทำการประชาคมหมู่บ้านก่อน และเป็นการพาผู้ต้องหาทั้ง 5 คนไปมอบตัวและเรียกร้องให้มีการดำเนินการรังวัดให้ถูกต้องตามกฎหมายมิได้ไปขอร้องให้มีการถอนแจ้งความ

 

"ตลอดเวลาที่ผ่านมาทางกลุ่มมิได้มีความกังวลใด ๆ เรื่องคดีเพราะเรามั่นใจว่าเราทำสิ่งที่ถูกต้องด้วยสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และไม่รู้สึกยินดียินร้ายกับการถอนแจ้งความครั้งนี้ของบริษัทอิตาเลียนไทยเจ้าของใหม่ของโครงการเหมืองแร่โปแตช ที่ต้องการลบภาพความขัดแย้งเก่า ๆ ที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นแนวทางที่ดีที่บริษัทใหม่ยอมรับว่าที่ผ่านมามีการดำเนินการแบบเข้าหลังบ้าน ไม่ชอบมาพากลหลายเรื่องและต้องการเริ่มต้นให้มันถูกต้อง อย่างไรก็ตามข้อใหญ่ใจความมันไม่ได้อยู่ที่จะทำเหมืองอย่างไรและพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างไร มันอยู่เราต้องการแนวทางการพัฒนาแบบไหน แน่นอนจุดยืนของกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานียังเป็นจุดเดิมคือ พลิกฟื้นแผ่นดินด้วยเกษตรอินทรีย์ ไม่มีปุ๋ยเคมี และปฏิเสธเหมืองแร่โปแตช ยึดมั่นแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง"

 

ส่วนเรื่องสัญญาที่บอกว่าจะเปลี่ยนแปลงนั้น นางมณีกล่าวว่าเป็นแต่เพียงการเปลี่ยนชื่อคู่สัญญาจากเอพีอาร์มาเป็นสินแร่เมืองไทย หรืออิตาเลี่ยนไทย สร้างภาพความเป็นบริษัทคนไทยแต่ไม่เห็นมีความเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในแง่อื่น แล้วเราก็ไม่รู้ด้วยว่าเบื้องหลังแล้วคนไทยที่ว่าคือใครกันแน่ นางมณีกล่าว

 

ด้านนายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่า การเข้าซื้อบริษัทเอพีอาร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี ที่ประเทศแคนาดากระทำโดยการจัดตั้งบริษัทที่ชื่อบริษัทเอสอาร์เอ็มที โฮลดิ้ง ลิมิเตด ( SRMT Holding limited ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้บริหารอิตาเลียนไทยออกมาระบุว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของอิตาเลียนไทย อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตามไม่อาจตรวจสอบได้ว่าบริษัทเอสอาร์เอ็มที นั้นมีผู้ถือหุ้นคือใครบ้างมีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่เพราะไม่เป็นที่เปิดเผยจากการเลือกไปจดทะเบียนในเมืองที่ไม่อาจตรวจสอบธุรกรรมทางธุรกิจของนักลงทุนได้

 

ทั้งนี้ บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด เป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 โดยมีผู้บริหารจากบริษัทอิตาเลียนไทยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต นางนิจพร จรณะจิตต์ นายบุญมี พิษณุวงศ์ นายไผท ชาครบัณฑิต มีทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาท โดยระบุว่ามีวัตถุประสงค์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดและออกมาระบุว่าบริษัทสินแร่เมืองไทยเป็นบริษัทแม่ของบริษัท เอสอาร์เอ็มที ซึ่งไปซื้อหุ้นในบริษัทที่มีชื่อเป็นรหัสลับคือบริษัท 623827 N.B.ltd. จำนวน 86.14 % ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเอพีอาร์บริษัทแม่ของเอพีพีซี ในประเทศแคนาดาและพยายามทุกทางที่ให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นไปโดยลับ

 

นายเลิศศักดิ์ตั้งคำถามว่า ทำไมจึงต้องมีการปิดลับ ทั้งยังตั้งข้อสังเกตว่าการเข้ามาของอิตาเลียนไทยทำให้เห็นได้แน่ชัดว่ากลุ่มทุนใหม่ในโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีคือกลุ่มทุนธุรกิจการเมืองซีกของรัฐบาล

 

นอกจากนี้ กรณีที่บริษัทนี้ได้ก่อตั้งบริษัทลูกคือ บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ไปเปิดบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัทเอสอาร์เอ็มที โฮลดิ้ง ลิมิเตด (SRMT Holding limited) ไปจดทะเบียนในเมืองนิวบรุนวิค ของประเทศแคนาดา เป็นเมืองที่ไม่สามารถตรวจธุรกรรมทางธุรกิจได้ จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่าใครถือหุ้นหรือมีส่วนในบริษัทนี้บ้าง นับเป็นความจงใจอำพรางซ่อนเร้นผู้ถือหุ้น หรือบัญชีการเงินได้ อาจเป็นไปได้ว่ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น หรือการเงินภายในบริษัท หรืออาจจะเป็นได้ว่ามีนักการเมืองมีเอี่ยวอยู่ในโครงการ

 

ส่วนเรื่องสัญญานั้น นายเลิศศักดิ์ให้ความเห็นว่าควร ยกเลิกสัญญาฉบับเก่าที่มีมานานซึ่งมีลักษณะเอาเปรียบประเทศชาติ และคนท้องถิ่น แล้วเริ่มต้นเขียนกันใหม่มิใช่ทำสัญญาตกลงกันระหว่างสาธารณะกับผู้ประกอบการ และรัฐบาล สองต่อสองอย่างที่ผ่านมา

 

"หากยังใช้สัญญาเดิมการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแบบครอบครองกิจการครั้งนี้ของอิตัลไทย คนอุดรและคนไทยก็ยังถูกกดขี่และเสียเปรียบ จึงเป็นเพียงเปลี่ยนแปลงผู้กดขี่เป็นคนใหม่เท่านั้น" นายเลิศศักดิ์กล่าวในที่สุด

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท