ปราณี วงษ์เทศ : "ความเป็นแม่ คือองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากต่อการสร้างมนุษยชาติ"

วันที่ 12 สิงหาคม ของทุกๆปี คือ "วันแม่แห่งชาติ" ที่สังคมบอกว่าต้องทดแทนการขอบคุณผ่านการให้ความหมายด้วยดอกมะลิสีขาวบริสุทธิ์ แต่ดอกไม้นั้นจะมีประโยชน์สักแค่ไหนถ้าไม่มีความรับรู้ถึง "องค์ความรู้ของความเป็นแม่" เพราะในยุคสมัยแห่งการบริโภคนิยมเสรีนี้ "คุณค่า" ของความเป็นแม่กำลังกลายเป็นสิ่งที่ไร้ตัวตน


 

ก่อนถึงวันแม่หนึ่งวัน รศ.ปราณี วงษ์เทศ ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร รับคำเชิญชวนของนักศึกษากลุ่มเล็กๆ ที่ขอให้มาช่วยสะกิดให้องค์ความรู้อันยิ่งใหญ่นี้เกิดการนำมาทบทวนก่อนจะสูญหายไปจริงๆ ด้วยการสนทนาในหัวเรื่อง "แม่ในอุษาคเนย์" ผ่านวง "สนทนาวันศุกร์" ที่ทุกสัปดาห์จะมีเรื่องราวต่างๆ ผลัดมาเล่าต่อกัน

 

องค์ความรู้ของความเป็นแม่นี้ ในอดีตมีบทบาทสำคัญต่อจิตสำนึกความเป็นมนุษย์ สังคมไทยในอดีตเคยให้ทั้ง "ความยกย่อง" และ "อำนาจ" อย่างทัดเทียมชาย แต่ด้วยความเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมเสรีในปัจจุบันที่นับคุณค่าผ่านตัวเลขทางเศรษฐกิจ ผู้หญิงที่เคยมีอำนาจผ่านความเป็นแม่ นอกจากกำลังถูกละเลยและไม่มีบทบาทแล้วก็กำลังถูกแปรสภาพไปเป็นเพียง "วัตถุทางเพศ" ด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ความรู้ของความเป็นแม่ ผู้ชายก็เรียนรู้ได้ เชิญมาอ่านกันทั้งชาย-หญิง ก่อนคำว่า "แม่" จะหมดความหมายและคุณค่าทั้งในทางร่างกาย จิตใจ และวิญญาณ

 

0 0 0

 

แม่ในอุษาคเนย์

 

รศ.ปราณี วงษ์เทศ

ภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ความเป็นแม่ถูกมองว่าเป็นหน้าที่ที่สัมพันธ์กับความเป็นผู้หญิง ซึ่งความเป็นแม่จะได้รับการยกย่องสูงมาก ทั้งนี้สังคมทั่วโลกก็ยกย่องความเป็นแม่ แต่สังคมไทยยกย่องมากกว่าที่อื่นหรือไม่ จะบอกได้อย่างไรในเรื่องสถานภาพสูงหรือต่ำ บางทีมันบอกยาก ขึ้นอยู่กับการมองว่า ผู้หญิงคนนั้นเป็นแม่ เป็นเมีย เป็นพี่สาว เป็นน้องสาว หรือแม้แต่การมองเป็นแฟนก็เช่นกัน สถานภาพเหล่านี้ต่างกันมาก เพราะแฟนเป็นสถานะที่เป็นมายาคติมาก เนื่องจากสถานะที่มันไม่ยั่งยืน ไม่ติดตัวเหมือนการเป็นพี่น้องหรือลูกของใคร

 

สถานะต่างๆ ของผู้หญิงล้วนเกี่ยวกับการมีอำนาจ ในแต่ละสถานะจะมีไม่เหมือนกัน ที่มองในเรื่องของอำนาจ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ต้องเกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะในฐานะผู้ใช้อำนาจหรือผู้ถูกกระทำ และจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

 

ในสังคมไทยจะยกย่องสถานะและหน้าที่สูงสุดของผู้หญิงที่ต้องกระทำ คือต้องดูแลลูกและสามี แต่บทบาทความเป็นแม่จะได้รับการยกย่องมากกว่าการเป็นเมีย จะเห็นว่าความเป็นเมียของผู้หญิงเมื่อหลุดออกจากครอบครัวเดิมแล้ว ต้องเข้าไปอยู่ในครอบครัวของสามี มีบริบทตามความคาดหวังของสังคมที่คุณต้องดูแลสามี

 

อย่างไรก็ตามจะเห็นว่าแม่มีคนเดียว แต่เมียมีเป็นร้อยก็ได้ ในคติคนจีนก็พูดว่า พี่น้องเปรียบเสมือนแขนขาตัดขาดไม่ได้ แต่เมียเป็นเหมือนเสื้อผ้า จะเปลี่ยนจะถอดเมื่อไหร่ก็ได้ และคติดังกล่าวจะไปโทษผู้ชายที่ถือไม่ได้ เพราะคนที่สั่งสอนคือแม่ของเขานั่นเอง

 

ดังนั้นการเน้นบทบาทผู้หญิงเรื่องความเป็นแม่ คิดว่าเป็นความเชื่อที่ค่อนข้างเป็นสากล มีความเชื่อที่ว่าผู้หญิงมีสัญญาณความเป็นแม่ เมื่อมีลูกออกมาก็ต้องรักหวงแหน ปกปักรักษาสุดชีวิต แต่ทำไมเราเห็นภาพของแม่บางคนที่ไปทำแท้ง เอาไปทิ้ง อาจเพราะถูกข่มขืนหรืออะไรก็ตาม แต่ในที่สุดผู้หญิงคนนั้นก็จะถูกประณามว่า เลวยิ่งกว่าหมา เพราะหมามันยังหวงลูกมัน ทำไมผู้หญิงพวกนี้จึงไม่มีความรักลูกและกล้าทำได้ ภาพนี้เห็นทั่วไปโดยไม่มีภาพความเป็นพ่อเข้ามาเกี่ยวข้อง ผู้หญิงจึงต้องรับภาระหน้าตาแห่งความเป็นแม่เพียงลำพัง

 

การนิยามหรือให้ความหมายว่า สิ่งสำคัญสุดของการเป็นผู้หญิง คือความเป็นแม่ เป็นการสร้างสัญลักษณ์ที่มีอิทธิพลกับความเชื่อ ค่านิยม ภาพลักษณ์ที่ฝังลึกมาก สังคมสร้างกระบวนการสร้างจิตสำนึก สร้างประสบการณ์ให้ความเชื่อจนทุกคนเชื่อว่า ความเป็นแม่ของผู้หญิงนั้นเป็นเรื่องของธรรมชาติ เป็นสำนึก เป็นความจริงแท้แน่นอน เปลี่ยนแปลงไม่ได้ เป็นสัจธรรม

 

เพราะเมื่อดูจากลักษณะสรีระของผู้หญิง เป็นสิ่งที่จะต้องให้กำเนิด เพราะมีมดลูก มีน้ำนมที่เลี้ยงลูกได้ จนเกิดคำพังเพยว่า เป็นผู้หญิงเรียนไปทำไม เรียนไปก็ต้องไปเลี้ยงลูก ความคิดที่ตกผลึกที่ล้อมกรอบวิธีคิดจนเราไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ แต่เราเคยตั้งคำถามหรือไม่ว่า ในเมื่อสังคมมีความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีมากมายในปัจจุบัน ถ้าการเป็นแม่หมายถึงความรัก ความสามารถในการเลี้ยงดูบุตรแล้ว มันมีเหตุผลตรงไหนที่ยืนยันว่า มนุษย์ผู้ชายไม่สามารถเลี้ยงลูกได้ ไม่สามารถมีความเป็นแม่ได้ จะเห็นว่าเด็กจำนวนมากไม่ได้กินนมแม่ หรือเห็นแม่ที่ฆ่าลูก แม่ที่ขายลูก แม่ที่กดขี่ลูก สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

สังคมจะสร้างภาพความเป็นแม่ แม่ที่ดีที่สุดมีหลายประเภท แม่ชั้นดีอันดับหนึ่ง คือแม่ที่ประดุจทาสของลูก ยินยอมรับใช้ทุกอย่าง ส่วนแม่ที่ตามใจลูกมากเกินไป ก็อาจบอกว่า ปรับตัวเสียใหม่ อย่าปล่อยลูกขนาดนั้น ส่วนแม่ที่เรียกร้องลูกมากเกินไปก็ไม่ควรเอาเยี่ยงอย่าง พ่อแม่ยุคใหม่จะเอาลูกเป็นสรณะ คือพระเจ้าองค์น้อย จึงเห็นสังคมที่เละเทะอย่างที่เห็น

 

การสร้างภาพลักษณ์ความเป็นแม่ในสังคมไทยมีพื้นฐานมาจากอะไร อิทธิพลที่สำคัญคือรัฐ ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราช ประชาชนต้องอุทิศตนเพื่อพระมหากษัตริย์ เช่น ขุนนางก็คือข้าแผ่นดิน ผู้ชายส่วนใหญ่มองว่า ไม่มีเรื่องส่วนตัว เพราะถือว่าพระมหากษัตริย์คือเจ้าเหนือชีวิต ดังนั้นเรื่องส่วนตัวต้องยกให้ผู้หญิงจัดการทุกเรื่อง ไม่ว่าเรื่องกิน เรื่องนอน กิจกรรมทุกอย่างในบ้าน จะได้ทำให้ผู้ชายมีความสุขสบายไม่มีความกังวลในทุกอย่างเพื่ออุทิศตนต่อพระมหากษัตริย์

 

"ดูตัวอย่างแม่พลอยในเรื่องสี่แผ่นดิน ซึ่งไม่รู้หรอกว่าตัวเองเกิดมาเป็นอะไร อุทิศชีวิตทั้งหมดให้กับคุณเปรมกับลูก เป็นตัวอย่างผู้หญิงที่เป็นแม่แบบที่มีอิทธิพลอย่างยิ่งต่อสังคมชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง แล้วก็มีนางเอกในนวนิยายอีกมากมายที่อุทิศตนแบบนี้ ผู้หญิงสมัยก่อนไม่มีตัวตน"

 

ผู้หญิงไม่มีความเป็นปัจเจก โดยสถานะเชื่อมโยงกับสถานภาพครอบครัวตัวเองเสมอสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพเคยนิพนธ์หนังสือแล้วพูดถึงการอบรมเลี้ยงดู ในช่วงที่กำลังปรับประเทศให้เข้ากับอารยะประเทศ จึงกราบบังคลทูลต่อรัชกาลที่ 5 ว่า ผู้หญิงจะอบรมเลี้ยงดูอย่างไรไม่ให้เป็นไพร่ เป็นทาส เป็นผู้หญิงฟุ้งซ่านแบบตะวันตกที่กำลังมีอิทธิพลในขณะนั้น จะต้องเรียนโรงเรียนผู้หญิงแบบไหนที่จะอบรมเป็นอิสตรี

 

เนื่องจากในอดีตไม่เคยมีตัวแบบมาก่อน ผู้หญิงไม่เคยรับการศึกษา ดังนั้นท่านจึงใช้การอ้างบาลีเรื่องผู้หญิงในฐานะของแม่ว่า มารดาเป็นครูคนแรกของบุตรและธิดา จะดีชั่วมารดาก็มีส่วนต้องรับผิดชอบถือเป็นสามัญแก่ผู้เป็นมารดาทั่วไป ทำให้บรรดาผู้หญิงผู้ดีถูกอบรมสั่งสอนให้มีคุณสมบัติเพรียบพร้อมของความเป็นแม่

 

และเป็นแม่อย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นเมียที่ดีด้วย เพราะการเป็นแม่ต้องมีสามี เมื่อมีสามีก็ต้องดูแลสามี  จึงมีบทบาท 2 อย่าง ผู้หญิงที่ดีต้องไม่ไปก้าวก่ายหน้าที่การงานของลูกของผัว การเป็นเมียจึงมีบทบาทของแม่ศรีเรือน มีหน้าที่เฉพาะในครัว เมื่อแก่ลงก็ควรเข้าวัด งานสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มีผลอย่างมากต่อสังคมและคนที่มีการศึกษาอย่างยาวนาน ถือเป็นวิธีเลี้ยงกุลธิดาเพื่อกันไม่ให้ลูกไปเป็นไพร่แบบชาวบ้านหรือทำตัวแบบฝรั่ง

 

อุดมการณ์แบบนี้ถ่ายทอดสู่ระบบการศึกษาสมัยใหม่หรือโรงเรียนด้วย เช่น การสอนเรื่องสมบัติผู้ดี หน้าที่พลเรือนในบทบาทต่างๆ วรรณกรรม นวนิยายสมัยใหม่ วรรณคดี ในรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าตรงกับช่วงสมัยวิคตอเรีย ลักษณะผู้หญิงที่ดีจึงได้รับอิทธิพลตะวันตกมาด้วย เช่น การรักษาพรหมจารี รักนวลสงวนตัว หรือการเป็นแม่บ้านที่ดี

 

แต่ถ้ามองย้อนกลับไปเกินสมัยรัตนโกสินทร์ จะเห็นว่าอุดมการณ์ในการสร้างภาพความเป็นแม่แบบนี้ในภูมิภาคนี้ มีรากฐานมานานแล้วจากโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรม การรับวัฒนธรรมจากอินเดีย จีน หรือตะวันตก อันล้วนแล้วแต่เป็นสังคมที่ยกย่องเพศชายทำให้ศาสนาที่สังคมไทยรับมายกย่องเพศชายทั้งสิ้น

 

อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะเป็นอย่างปัจจุบัน พื้นฐานทางสังคมและวัฒนธรรมไทยไม่ได้เป็นอย่างปัจจุบันจนกระทั่งพุทธศาสนาที่รัฐเป็นตัวกลางนำเข้ามาสร้างความเป็นหน้าที่ความเป็นพลเมืองที่ดีมีอิทธิพลมากขึ้น

 

สังคมไทยก่อนหน้านั้นมีโครงสร้างสังคมที่มีระบบการนับญาติไม่เหมือนกับจีนหรืออินเดีย โดยจะให้ความสำคัญกับญาติทั้งฝ่ายทั้งพ่อแม่เท่าๆ กันในหลักการ แต่เมื่อมองความเป็นจริงจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจแล้ว จะเห็นว่าให้ความใกล้ชิดสนิทสนมหรือให้ความสำคัญญาติฝ่ายแม่มากกว่า ปัจจุบันนี้ก็ยังพอมีหลักฐานให้เห็นอยู่ว่า ในสังคมภาคเหนือหรืออีสานที่มีระบบเครือญาตินั้นค่อนข้างเน้นความเป็นแม่เป็นศูนย์กลาง

 

ลักษณะโครงสร้างของความเป็นแม่เป็นศูนย์กลาง คือแม่มีบทบาททางโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมและบทบาทนี้ต้องได้รับการยอมรับอย่างชอบธรรมในสังคมส่วนใหญ่ ประการที่สองสังคมแบบนี้มักให้ความสำคัญกับความค่อนข้างเท่าเทียมระหว่างหญิงชาย แม้หน้าที่และความรับผิดชอบจะต่างกันก็ตาม ไม่ว่างานที่ทำนั้นจะร่วมกันหรือแยกกันทำตามหน้าที่ก็จะเป็นการเกื้อกูลช่วยเหลือในทางเศรษฐกิจ คือบทบาทเท่ากัน

 

ความเป็นแม่เป็นศูนย์กลางโครงสร้างทางสังคมจึงหมายถึง แม่มีบทบาทในการคุมทรัพยากรในระดับหนึ่ง เช่น ที่ดิน บ้าน ปัจจัยการผลิต มีบทบาทในการวิพากษ์วิจารณ์และการตัดสินใจเกี่ยวกับญาติ ทำให้มีบทบาทที่สัมพันธ์กับอำนาจทั้งทางเศรษฐกิจและทางครอบครัว แต่ตรงนี้ไม่ได้พูดรวมถึงในราชสำนักซึ่งได้รับอิทธิพลฮินดูจากอินเดียที่เน้นชายใหญ่ ผู้หญิงอาจถวายตัวเป็นบาทบริจาริกา ในส่วนชาวบ้านนั้นผู้หญิงมีอิสระและบทบาทสูง

 

ส่วนบทบาทที่แม่เป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม หมายถึง จะมีวัฒนธรรมที่สร้างคุณค่าหรือยกย่อง หรือสร้างภาพพจน์ของแม่ การทำหน้าที่แม่มีการชื่นชมคาดหวังอย่างสูงที่ถูกตอกย้ำด้วยการอบรมเลี้ยงดูทำให้เด็กผู้หญิงได้เรียนรู้บทบาทของการเป็นแม่ตั้งแต่เด็ก เช่น การดูแลน้องหรือให้เด็กผู้หญิงเติบโตด้วยภาพพจน์ว่าตนเองมีความเหมาะสม เชื่อมั่น ภูมิใจในบทบาทความเป็นแม่ ลักษณะแบบนี้จะต่างจากที่อื่นทั่วไป เช่น ในสังคมตะวันตก คนชั้นกลางยังต้องพึ่งสามี อยู่บ้าน เลี้ยงดูลูกแบบอิทธิพลวิคตอเรีย

 

ในสังคมตะวันตกนั้น ผู้หญิงอาจจะมีอำนาจ บทบาท เหนือลูกทุกอย่าง แต่ในสังคมส่วนรวมแล้ว ผู้หญิงไม่มีบทบาทในการตัดสินใจอะไรเลย เพิ่งมามีสิทธิในการเลือกตั้งไม่นานมานี้ ทั้งๆ ที่ในการสงคราม ผู้หญิงมีบทบาทแทนผู้ชายที่ไปรบ โดยต้องทำงานแทนผู้ชาย แต่พอกลับมาจากสงครามก็มาเอาบทบาทคืนหมด แล้วผู้หญิงก็กลับไปเป็นแม่บ้านเหมือนเดิม ทำให้ผู้หญิงตระหนักว่า ทำไมตนเองไม่มีส่วนร่วมเลยในการเลือกผู้นำหรือออกกฎหมายที่เอื้อต่อผู้หญิง เรื่องเหล่านี้ในสังคมตะวันตกเพิ่งเกิดขึ้นไม่ถึงร้อยปี กระบวนการนี้มันเกิดขึ้นในสังคมที่เป็นโครงสร้างผู้ชายที่เป็นใหญ่และผู้หญิงมีบทบาทไม่ทัดเทียมกัน

 

"สังคมแบบแม่เป็นศูนย์กลาง ส่วนใหญ่ มักจะพบในสังคมเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือในชาวแอฟริกันบางเผ่า ลักษณะของสังคมแม่เป็นศูนย์กลางมีลักษณะร่วมกันคือ มีบทบาททั้งทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรม โดยแม่มีอำนาจรับผิดชอบในครอบครัวซึ่งเป็นความมั่นคงทางด้านจิตใจ สามีหรือพ่อก็มีบทบาทรอบนอก"

 

อำนาจในที่นี้ไม่ใช่อย่างที่เข้าใจในปัจจุบันที่มองว่าคือการใช้กำลังหรือความรุนแรงในการแก้ปัญหา ไม่ใช่อำนาจแบบที่ผู้ชายมี ไม่ใช่อำนาจที่เป็นทางการ หรืออำนาจแบบของรัฐ

 

จะเห็นว่าอำนาจในปัจจุบันจะใช้ความรุนแรง ผู้ชายต้องใช้ความรุนแรง เนื่องจากมีการสอนเรื่องการเสียศักดิ์ศรีลูกผู้ชาย ถ้าไม่ใช้ก็ไร้เกียรติ สังคมจะสอนผู้ชายทุกอย่างให้รักการใช้อำนาจ การยอมแพ้หรือการไม่ใช้กำลังนั้น คือการแสดงความความไม่เป็นลูกผู้ชาย เป็นไอ้แหย สั่งสมเป็นค่านิยม การเลี้ยงดูแบบนี้มาจากวัฒนธรรมภายนอกที่สังคมไทยรับอิทธิพลมาทีหลัง

 

"อำนาจของความเป็นแม่ของผู้หญิงเป็นอำนาจทางวัฒนธรรมที่เกิดจากการได้รับการยอมรับ การใช้ความรัก ความอะลุ่มอล่วย ความสัมพันธ์ หรือความเชื่อที่เชื่อกันว่า ผู้หญิงนอกจากมีบทบาทสูงทางด้านการทำมาหากิน ยังมีบทบาทสูงในเศรษฐกิจนอกครัวเรือนด้วย เช่น การค้าขาย"

 

ดังจะเห็นว่าในตลาดมีแม่ค้ามากมาย หรือในสังคมชนชั้นกลางของสังคมแถบนี้ผู้หญิงมีบทบาทการทำงานนอกบ้านเช่น เป็นข้าราชการจำนวนมาก และมีบทบาทสูงในการประกอบพิธีกรรมต่างๆ เจ้าแห่งพิธีกรรมคือผู้หญิงทั้งสิ้น

 

ผู้หญิงในภูมิภาคนี้เมื่อแต่งงานแล้วหย่า สามารถกลับมาสู่บ้านเดิมของตัวเองหรือบ้านพ่อแม่ตัวเองได้ ดังนั้นสังคมแบบนี้ไม่ได้ประณามการหย่าร้างว่า ทำให้ผู้หญิงหมดคุณค่า ทำให้สามารถแต่งงานใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ ความสัมพันธ์ระหว่างแม่กับลูกก็มั่นคงและยืนยาวตลอดชั่วชีวิต แม่อาจจะหย่าหลายครั้ง มีลูกหลายครั้ง แต่ลูกทั้งหมดมักอยู่กับแม่เสมอ ในสังคมที่มีแม่เป็นศูนย์กลาง เน้นความผูกพันระหว่างแม่ลูกที่ไม่เฉพาะกับลูกสาว แต่รวมไปถึงลูกชายด้วย

 

ในสังคมแบบนี้ยังเน้นความผูกพันกับญาติทางฝ่ายแม่มากกว่าญาติทางฝ่ายชาย ในการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน ผู้ชายแต่งงานแล้วต้องย้ายไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง ในครัวเรือนความเป็นญาติจึงอยู่ฝ่ายผู้หญิง มีการเกื้อกูลและรวมตัวของผู้หญิงในการทำกิจกรรมต่างๆ เพราะฉะนั้นชุมชนหมู่บ้านและครอบครัวผู้หญิงเป็นเจ้าของ

 

ส่วนผู้ชายที่เข้ามาอยู่ในครอบครัวของผู้หญิงนั้นจะมีลักษณะเหมือนเป็นคนนอก แขกหรือเป็นบ่าว หมายความว่า การเข้ามาอยู่ต้องพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่ผู้หญิงเห็นด้วยการแสดงความขยันขันแข็งและรับใช้เพื่อให้รู้ว่า ชายคนนี้ใช้ได้ จึงให้อยู่ในบ้าน มิฉะนั้นก็จะให้อยู่ในกระต็อบไปก่อนเป็นเวลาหลายปี ปัจุจบันลักษณะนี้ยังพบในกลุ่มไทดำที่เวียดนามเหนือ ผู้หญิงจึงมีอำนาจสูงในชุมชนและครอบครัวตัวเอง ไม่มีใครกล้ามารังแก ตบตี หรือใช้ความรุนแรงอย่างที่เห็นในสังคมปัจจุบัน

 

ความสำคัญของความเป็นแม่ด้านความเชื่อ จะเห็นจากพิธีกรรมต่างๆ เพราะในรอบชีวิตนั้น พิธีที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ การเกิด การอยู่ไฟ จะสำคัญที่สุด พิธีกรรมเหล่านี้เกี่ยวกับความเป็นแม่และไม่ต่างจากสังคมอื่น เช่น ประเทศจีน พิธีกรรมที่สำคัญคือ พิธีกรรมที่เกี่ยวกับความเป็นเมีย พิธีกรรมการแต่งงานจึงใหญ่โตมาก เพราะเป็นการพรากผู้หญิงออกจากตระกูล สังคมและครอบครัวของตัวเอง ไปอยู่ในตระกูลสังคมและครอบครัวที่ตัวเองจะกลายเป็นทาสไม่มีตัวตน พิธีกรรมจึงตอกย้ำแบ่งแยกผู้หญิงออกจากครอบครัวและให้เกียรติฝ่ายหญิงวันนั้นหรือการเป็นเจ้าสาวสูงมาก ในสังคมอุษาคเนย์ การแต่งงานจะทำเพียงการผูกข้อมือให้ผีและครอบครัวยอมรับเท่านั้น

 

นอกจากนี้ เราจะเห็นภาพผู้หญิงกระเตงลูกไปทำงานหรือมีความสามารถจัดการตัวเองเช่น การอยู่ไฟหลังคลอด จึงมีความรอบรู้ที่ไม่ต้องพึ่งชาย ผู้หญิงในภูมิภาคนี้จึงแข็งแกร่งและเป็นตัวของตัวเองค่อนข้างสูง มีอำนาจและค่อนข้างมีอิทธิพล จะเห็นว่าโครงสร้างสังคมแบบนี้มันส่งเสริมอุดมการณ์ความเป็นแม่ในอดีต

 

อุดมการณ์ด้านความเชื่อของสังคมแถบนี้ยกย่องเพศหญิงมาก มีการเน้นบทบาทความเป็นแม่ที่ออกมาเป็นตำนานมากมาย เช่นก่องข้างน้อย หรือมีคำนำหน้าชื่อด้วยคำว่า แม่ ในสิ่งที่ยกย่อง เช่น แม่โพสพ แม่ธรณี เครื่องมือมีผีหญิงสถิต แสดงความสำคัญของผู้ให้กำเนิดหรือผู้ผลิต

 

ส่วนบทบาททางศาสนาคือการเป็นคนทรงหรือผู้รักษาพยายาบาล เช่นการเป็น ผีฟ้า ผีมด ผีเมง ผู้นำทางพิธีกรรมในลาวทางใต้ปัจจุบันก็ล้วนเป็นผู้หญิง บทบาทที่เกี่ยวข้องมาก คือการทำอาหาร เซ่นบูชาสังเวย ที่เป็นเช่นนี้เพราะอาหารเป็นทรัพยากรที่ผู้หญิงครอบครองมาตลอด นอกจากนี้ในส่วนการเป็นผู้รักษาพยาบาล มาจากการที่ผู้หญิงต้องพบกับการเจ็บป่วยของลูก ความสามารถและประสบการณ์ในการรักษาพยาบาลจึงอยู่ในสำนึกที่ต้องดูแลลูก ทำให้สามารถเป็นหมอผีที่ทำการรักษาพยายาบาลได้ด้วย

 

"เรามักจะเห็นว่าผู้หญิงที่มีความสามารถในการรักษาพยายาบาลมักจะเป็นคนทรง หากพิจารณาจากศาสนาใหญ่ๆ ของโลก มักกีดกันผู้หญิงออกจากศาสนาตัวเองทั้งสิ้น ผู้หญิงจึงไม่มีพื้นในทางศาสนาในการเป็นหัวหน้าหรือประกอบพิธีกรรมได้ ลองจินตนาการดูว่า ถ้าหากผู้หญิงไปบวช จะมีชายสักกี่คนตื่นเช้ามาทำอาหารใส่บาตร มาประเคนอาหารให้ คงกลายเป็นจุดจบของพุทธศาสนา มหาเถระสมาคมจึงไม่มีทางยินยอมให้หญิงบวช เพราะใครจะมาเป็นโยมอุปัฏฐาก แต่คำถามคือผู้หญิงไม่เป็นมนุษย์ตรงไหนที่บวชไม่ได้"

 

ระบบความเชื่อที่กีดกันผู้หญิงทำให้ต้องสร้างโลกของตัวเองที่สัมพันธ์กับบทบาทความเป็นแม่อันเป็นประสบการณ์สากล พิธีกรรมของผู้หญิงคือการพยายามแก้ปัญหาชีวิตที่สะท้อนวิธีคิดความเป็นแม่ที่เป็นสากล เช่น การเข้าทรงหรือการรักษาพยาบาล ในขณะที่ศาสนาใหญ่ๆ จะไม่สนเรื่องดังกล่าว เช่น การป่วยก็บอกว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ดังนั้นพิธีกรรมทางศาสนาจะไม่มองความทุกข์ตรงนี้ พิธีกรรมของผู้หญิงจึงมาในรูปที่เน้นการเข้าทรงติดต่อกับวิญญาณเพื่อช่วยรักษาความทุกข์ของผู้หญิง

 

ในศาสนาของผู้หญิงนั้นไม่มีระบบอำนาจ ไม่มีการเน้นมาตรฐานเดียวหรือมีคัมภีร์ศาสนา ใครจะทำแบบใดก็ได้ เพราะมีปัญหาหลายแบบ ศาสนาผู้หญิงจึงมีหลายแบบ ความสัมพันธ์ที่สะท้อนความเป็นแม่จึงพบเป็นความสัมพันธ์ระหว่างคนทรงกับศิษย์ ผู้นำพิธีกรรมจะเรียกตัวเองเป็นแม่ ผู้มาหาคือลูก

 

เมื่อมามองบทบาทพุทธศาสนาต่อความเป็นแม่ ความสำเร็จของการเผยแพร่ศาสนาพุทธลัทธิเถรวาทส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับวัฒนธรรมที่ยกเพศหญิงให้เข้ากับศาสนา เปิดโอกาสให้ความเป็นแม่ผ่านการทำบุญ เป็นการแสดงบทบาทที่ทำให้หญิงเข้าถึงพุทธได้

 

ในสังคมพุทธเชื่อว่าความเป็นผู้นำตามอุดมคติต้องมีบุญบารมี เช่น การเป็นธรรรมิกราชา เป็นจักรพรรดิราช เป็นสมมติเทพ การบำรุงศาสนาจึงเน้นการทำบุญทานเป็นหน้าที่สำคัญ คนชั้นสูงจึงสร้างวัดอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาสถานภาพบุญ ตรงนี้เปิดโอกาสให้ผู้หญิงเอาอย่างคนชั้นสูงได้ เมื่อเข้าในวัดไม่มีชนชั้นผู้หญิงสามารถทำบุญได้เช่นเดียวกัน ต่างจากศาสนาฮินดูที่การทำบุญต้องผ่านพราหมณ์ยกเว้นเว้นวรรณะกษัตริย์

 

เรารับความเชื่อนี้ผ่านมาทางลังกาที่ยกย่องเพศแม่สูงต่างจากอินเดีย โดยเชื่อว่าแม่เป็นพระในบ้านในฐานะเป็นผู้ให้ชีวิตเป็นผู้ปลดปล่อยลูกชายไปสู่นิพพาน ในสังคมไทยเองก็พบการให้ความสำคัญของความเป็นแม่ในพิธีบวช ผ่านการทำขวัญนาคซึ่งจะไม่พบที่อินเดีย การทำขวัญนาคนี้เป็นการยกย่องความเป็นแม่ เน้นความกตัญญูอันเป็นค่านิยมสำคัญในสังคมไทย แม่จะดีจะเลวอย่างไร ลูกก็ต้องกตัญญู ดังนั้นผู้ชายต้องนั่งฟังหมอขวัญบรรยายความสำคัญแม่ เพราะเป็นวันสุดท้ายที่จะมีความสัมพันธ์กันในความเป็นคน เนื่องจากวันรุ่งขึ้น แม่คือผู้มีมลทินต่อศาสนา เพราะเป็นผู้หญิง แม่จะเข้าในโบสถ์ไม่ได้ แตะเนื้อต้องตัวพระไม่ได้ ในโลกธรรมมะ คือตัดขาดความเป็นแม่ลูก

 

ร่องรอยพิธีกรรมนี้เข้าอยู่ในศาสนาได้ คงเป็นเพราะว่าวัฒนธรรมเดิมแข็งแกร่งอยู่แล้ว อำนาจแฝงเดิมของผู้หญิงจึงคงอยู่ในพิธีกรรม พุทธศาสนาจึงมีส่วนยกย่องในการสร้างความแข็งแกร่งและอัตลักษณ์ความเป็นแม่ ความเป็นแม่จึงไม่มีบทบาทแค่ในทางโลก แต่เข้าไปในศาสนาด้วย ความเข้าไปเกี่ยวเป็นความรัก ความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณที่ผู้ชายไม่มีวันเข้าใจ เพราะไม่มีประสบการณ์ในการคลอดลูก ในการให้ชีวิตซึ่งเป็นสิ่งที่อาจจะเกี่ยวกับความเชื่อที่มันลี้ลับบางอย่าง การที่ผู้หญิงสามารถให้กำเนิดชีวิต จึงทำให้ผู้หญิงมีความรู้สึกมีอำนาจบางอย่างที่เกี่ยวกับการให้กำเนิดคนได้

 

ข้อสังเกตอีกอย่าง เรามักจะเห็นหัวหน้าในการประกอบพิธีกรรมเป็นผู้หญิงที่มีอายุระดับยาย คือแม่ของแม่ อาจเรียกได้ว่ามหาแม่ เนื่องจากมีประสบการณ์มากในการรับรู้ปัญหาผู้หญิง ผู้หญิงชรามีบทบาทสูงในทางพิธีกรรม อาจเพราะมีเวลามาก หมดภาระ มีประสบการณ์การเลี้ยงดูเด็กที่มาจากการต้องแสวงหาวิถีทางในการรักษาลูกตัวเอง ประสบการณ์ในการเป็นแม่จึงมาก หญิงแก่โกรธจึงน่ากลัวและทุกคนกลัว เพราะมีอำนาจแฝงบางอย่าง

 

ความเป็นแม่สอนให้คนปกป้อง อาจเนื่องจากแม่ในสมัยก่อนมักมีประสบการณ์คลอดลูกที่ตาย จึงเข้าใจความเจ็บปวดทางจิตของหญิง แต่ผู้หญิงแก่ไม่เครียดเรื่องนี้ และถ่ายทอดประสบการณ์การแก้ปัญหาได้ และด้วยความที่หญิงแก่มักเป็นผู้ติดต่อผีของตระกูลอยู่แล้ว จึงเปรียบเสมือนผู้เชี่ยวชาญทางพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องทางจิตวิญญาณทำให้มีบทบาทสูง

 

ทั้งหมดนี้อาจสรุปได้ว่า แม่มี 2 ลักกษณะคือ แม่ทางกายภาพและทางสังคม คำถามคือความเป็นแม่ที่ยกย่องกันเป็นสัญชาตญาณของผู้หญิงจริงหรือไม่ หรือมาจากวัฒนธรรมความเชื่อ หรือมาจากอุดมการณ์ของรัฐ หรือมาจากอุดมการณ์ที่ยกย่องเพศชายที่ทำให้ความเป็นแม่กลายเป็นภาระหรืออภิสิทธิ์ทางเพศ

 

สังคมไทยมีรากฐานพัฒนาการสภาพแวดล้อมที่เป็นสังคมเกษตรกรรม มีการยกย่องและส่งเสริมคุณค่าความเป็นแม่ที่ตอกย้ำมาทั้งทางศาสนาท้องถิ่นและพุทธศาสนาในบางแง่ เผยแพร่ผ่านการสอนอบรมเลี้ยงดู นิทานพื้นบ้านรวมทั้งความที่เป็นสังคมแบบแม่เป็นศูนย์กลาง

 

แต่หันกลับมาดูความจริงในสังคมปัจจุบัน ต้องยอมรับว่า เปลี่ยนแปลงไปอย่างมหาศาล รับวัฒนธรรมตะวันตก เน้นความเป็นปัจเจก ระบบทุนนิยมเสรี บริโภคนิยมเสรีที่มองผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศเท่านั้น

 

ผู้หญิงมีโอกาสหรือไม่ที่จะเป็นแม่กับอาชีพพร้อมๆ กัน สังคมในอดีตผู้หญิงทำได้ แต่สังคมปัจจุบันทั้งที่มีเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า มีเครื่องทุ่นแรงมากมายในการดูแลเด็ก แต่ทำไมสังคมยังเรียกร้องให้ผู้หญิงรับผิดชอบการดูแลบ้านและรับผิดชอบความเป็นแม่ รับผิดชอบในการดูแลเด็กแต่เพศเดียว

 

เมื่อเทียบกับอดีต ปัจจุบันมีระบบโครงสร้างอะไร มีพื้นที่อะไรให้ความเป็นแม่และความเป็นผู้หญิงบ้าง เราเรียกร้องหาแม่ที่ดี เราเรียกร้องโครงสร้างของการสร้างมนุษย์ที่มีคุณภาพ แต่เรากลับมองว่าระบบความเชื่อเดิมที่ยกย่องเพศหญิง นิทานปรัมปราต่างๆ ที่ยกย่องเพศหญิงเป็นเรื่องที่งมงาย ดูถูกคนทรงเป็นคนบ้าเสียสติ ดูถูกแม่ชี ดูถูกงานการของผู้หญิงมาก ดูถูกการมีอารมณ์ของผู้หญิง ดูถูกวิธิคิดของผู้หญิง

 

ระบบอะไรที่รองรับความเป็นแม่ในสังคมปัจจุบัน ใครเป็นคนที่ต้องรับผิดชอบแม่ ใครอยากรับแม่ลูกอ่อนทำงาน ใครสามารถรับผิดชอบในการเลี้ยงดูเด็กจนเติบโตมีอาชีพได้ในสังคม ความเป็นแม่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่ ในเมื่อสังคมทุกวันนี้เราประเมินทุกอย่างด้วยเงินโดยโยนความรับผิดชอบให้โรงเรียนอย่างเดียว

 

สังคมไทยมองเรื่องครอบครัวเป็นเรื่องเบาๆ ไร้สาระ น้ำเน่า เป็นเรื่องส่วนตัวที่สำคัญน้อยกว่าการเมือง เศรษฐกิจหรือเรื่องหุ้น หรือศาสนา แต่มนุษย์ทุกคนจะผ่านเรื่องน้ำเน่านี้ได้หรือ

 

"สิ่งที่ผู้หญิงสนใจจะมีคุณค่าต่ำไปหมด ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ นิตยสาร การละคร ลิเก เพลง การสนใจเรื่องความงาม การที่ผู้หญิงสนใจเรื่องความสัมพันธ์ การเอาอกเอาใจ การรักใคร่เอาใจใส่ จนบางทีมันจุกจิกหยุมหยิมเกินไปจะถูกมองว่ามีคุณค่าต่ำ ทั้งหมดนี้เราจะเห็นภาพที่เป็นของผู้หญิงรวมทั้งความเป็นแม่ไม่มีคุณค่าในสังคมและมองว่าสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ความรู้"

 

มันไม่มีองค์ความรู้ที่อยู่ในตัวผู้ชายจึงไม่มีอำนาจอะไร ความเป็นแม่จึงถูกมองว่าเป็นสัญชาตญาณติดตัว เป็นธรรมชาติ เมื่อความเป็นแม่ไม่ใช่เป็นองค์ความรู้ก็ไม่มีอำนาจในสังคมปัจจุบัน ทั้งที่ความเป็นแม่ในความจริงคือองค์ความรู้ที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากต่อการสร้างมนุษยชาติ มันไม่ใช่สัญชาตญาณ ผู้ชายจำนวนมากทำได้และเป็นวัฒนธรรมที่เรียนรู้ได้

 

มีผลการศึกษาที่น่าสนใจว่า พ่อที่เลี้ยงลูกคนเดียวมีพฤติกรรมทุกอย่างเหมือนแม่ สามารถเลี้ยงลูกได้ดีมากๆ เหมือนแม่ ต่างจากพ่อที่มีเมีย ดังนั้นความเป็นแม่ในทางสังคม ไม่ใช่สัญชาติญาณ ผู้ชายอาจสามารถทำหน้าที่ได้ดีกว่า ฉะนั้นเราจะปล่อยให้ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า จะปล่อยให้อยู่ในมือผู้หญิงที่บางทีก็บ้าๆบอฝ่ายเดียวหรือ

 

ผู้ชายจะเข้าไปมีบทบาทร่วมเพื่อสร้างมนุษย์ที่สมบูรณ์ได้หรือไม่ เพราะสังคมปัจจุบันมีแต่ค่านิยมที่ยกย่องแม่ แต่จะปล่อยภาระให้ผู้หญิงรับผิดชอบครอบครัวฝ่ายเดียวแล้วจะตอบคำถามอย่างไรกับภาพของเมืองไทยที่มีโสเภณีชั้นดี ที่มีผู้หญิงเป็น Sex Object ที่ทั่วโลกชื่นชมและแสวงหา

 

ค่านิยมความเป็นแม่ ความเป็นผู้หญิงนั้น ถูกเน้นโดยอุดมการณ์ของรัฐ ทุกอย่างคือผลักภาระให้ผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงต้องออกมาทำงาน เพราะบอกว่าผู้หญิงนั้นมีหน้าที่ต้องดูแลครอบครัว เมื่อยากจน เมื่อมีปัญหาเศรษฐกิจ ผู้หญิงก็ต้องออกมาทำงานโรงงานหรือบริการรับจ้างต่างๆ

 

ผู้หญิงที่เคยเป็นเจ้าของชุมชน หมู่บ้าน ที่ดิน มันไม่มีแล้ว สังคมมันเปลี่ยนไปหมด เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเอาไปหมด เพราะฉะนั้นศักดิ์ศรีความเป็นผู้หญิงที่เราพูดมา มีอยู่หรือไม่ในระบบบริโภค ทุนนิยม เสรีนิยมแบบนี้ จะเห็นว่าเด็กผู้หญิงจำนวนมากและส่วนใหญ่มาทำงานรับจ้างเพื่อส่งเงินไปรองรับบ้านช่วยพ่อแม่ ซื้อที่ดิน กลบหนี้ ส่งน้องเรียน ส่งพี่ชายบวช แต่งงานหรือไปเป็นทหาร

 

มีผู้ชายที่รับผิดชอบแบบนี้เช่นกัน แต่สถิติเปรียบเทียบไม่ได้กับผู้หญิง ที่มีรูปธรรมจำนวนมากที่แบกรับภาระครอบครัวและรับสภาพการกดดันเพราะการเกิดมาเป็นผู้หญิง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท