Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สองนคราการประท้วง


 



  


การประท้วงที่ยืดเยื้อมานานในรัฐอัวฮากา (Oaxaca) ของเม็กซิโก ผู้ประท้วงคือสมัชชาประชาชนแห่งอัวฮากา (APPO) ซึ่งประกอบด้วยประชาชนชั้นล่างและสหภาพแรงงานครูในรัฐอัวฮากา เป้าหมายของพวกเขาคือขับไล่ผู้ว่าการรัฐ อูลิเซส รูอิซ ออกจากตำแหน่ง ในวันที่ 1 สิงหาคม ผู้หญิงกว่า 3,000 คน เดินเคาะหม้อกะทะไปตามถนนย่านธุรกิจในเมืองอัวฮากาซิตีและเข้าไปยึดสถานีวิทยุโทรทัศน์ของรัฐได้โดยสงบ นี่เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการประท้วง ประชาชนราว 500,000 คน ที่รวมตัวกันเป็น APPO กำลังสร้างสภาพของ "การปกครองไม่ได้" เป็นหนทางแห่งอารยะขัดขืนต่ออำนาจรัฐ นี่คือการประท้วงที่เกิดมาจาก "เบื้องล่าง" อย่างแท้จริง


 


ในอัวฮากา ผู้ประท้วงหลายพันคนนอนกลางถนนบนกระดาษลัง ใช้แผ่นพลาสติกคุ้มหัว นั่งพิงผนังตึก อ่านหนังสือพิมพ์ ถักนิตติ้งและพูดคุยกัน นี่คือการยึดจัตุรัสกลางเมืองและปิดทางเข้าออกตึกที่ทำการรัฐ เมื่อเปรียบเทียบกับการประท้วงในจัตุรัสโซกาโลที่เมืองหลวง ผู้ประท้วงออดูสารคดีการเมืองบนจอโทรทัศน์ขนาดใหญ่ ฟังการแสดงกีตาร์เพลงบลูส์และเพลงประท้วงบนเวทีกลางแจ้งที่มีระบบเสียงครบครันแบบมืออาชีพ หรือแม้กระทั่งยืนเข้าแถวรอขึ้นขี่วัวไฟฟ้าที่เป็นเครื่องเล่นรุ่นเดอะในสไตล์คาวบอยตะวันตก


 


แคมป์ประท้วงกลางกรุงเม็กซิโกซิตีคือเต็นท์ปาร์ตี้ขนาดใหญ่สีขาว มีตราและสัญลักษณ์ของพรรค PRD ติดหรา ในค่ายประท้วงมีไฟฟ้าใช้ โดยพ่วงสายไฟเข้ากับไฟถนนของเมือง ซึ่งหมายความว่าเทศบาลเมืองเม็กซิโกซิตี—ที่อัมโลเป็นนายกเทศมนตรี—จะจ่ายค่าไฟฟ้าให้เอง ประชาชนฟังดนตรี เล่นอินเตอร์เน็ต ดูมวยปล้ำและร้องคาราโอเกะ แม้ว่ากิจกรรมส่วนใหญ่เป็นเรื่องทางการเมือง แต่บรรยากาศคล้ายงานเทศกาลรื่นเริงมากกว่าการต่อสู้ นี่คือการประท้วงที่จัดการลงมาจาก "เบื้องบน" โดยตั้งอยู่บนความหวังของประชาชนที่อยากได้ประธานาธิบดีที่ "แตกต่าง"


 



 


 


 


ทางแพร่งของซาปาติสตา


 



 


 


นับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ปีนี้เป็นต้นมา รองผู้บัญชาการมาร์กอสและซาปาติสตาออกรณรงค์ในเม็กซิโกคู่ขนานไปกับการเลือกตั้ง โดยขนานนามการรณรงค์ว่า "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" (The Other Campaign) และรองผู้บัญชาการมาร์กอสตั้งฉายาให้ตนเองว่า "ผู้แทนหมายเลขศูนย์" (Delegate Zero)


 


"ผู้แทนหมายเลขศูนย์" วิพากษ์วิจารณ์พรรคการเมืองที่ลงแข่งขันในการเลือกตั้งทุกพรรค ไม่ว่าพรรค PRD ของโอบราดอร์ พรรค PAN ของคัลเดโรน หรือพรรค PRI ที่เคยผูกขาดอำนาจในเม็กซิโกมายาวนาน เป้าหมายของ "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" คือ ต่อต้านลัทธิเสรีนิยมใหม่และสร้างสรรค์การเมืองรูปแบบใหม่ขึ้นมา "ผู้แทนหมายเลขศูนย์" และคณะออกเดินทางไปพบปะกับประชาชนรากหญ้าตามเมืองต่าง ๆ ในประเทศเม็กซิโก


 


ประเด็นสำคัญของ "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" ไม่ใช่บอกให้ประชาชนไม่ไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง แต่ต้องการชี้ให้เห็นข้อจำกัดของการที่พรรคการเมืองทั้งหลายมีนโยบายหลัก ๆ แทบไม่แตกต่างกันเลย และการมีส่วนร่วมของประชาชนมีแค่เข้าคูหาลงคะแนนทุก 6 ปี "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" ต้องการให้กิจกรรมทางการเมืองของประชาชนขยายออกไปมากกว่าช่วงเวลาเลือกตั้ง กระตุ้นให้เกิดการจัดตั้งรวมตัวเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในชีวิตประจำวัน หยิบยกประเด็นเรื่องการปฏิรูปที่ดิน, สิทธิของชนพื้นเมือง และการค้าเสรี ขึ้นมาสู่ความสนใจ เพราะประเด็นเหล่านี้ถูกละเลยไปในเวทีการเมืองระดับชาติ


 


แต่การเดินทางของ "ผู้แทนหมายเลขศูนย์" ก็มาสะดุดลงเมื่อเกิดเหตุการณ์วันที่ 3-4 พฤษภาคม เมื่อกองกำลังตำรวจบุกเข้าไปในชุมชนชาวนาชนพื้นเมืองที่ ซาน ซัลวาดอร์ อาเตนโก ซึ่งตั้งอยู่นอกเมืองเม็กซิโกซิตีไปไม่ไกล ชุมชนนี้เพิ่งเข้าร่วมใน "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" เมื่อ 6 วันก่อน ในเหตุรุนแรงครั้งนี้ มีชายชาวพื้นเมืองถูกสังหารเสียชีวิต 2 คน ผู้หญิงถูกข่มขืนและทำร้ายทางเพศจำนวนมาก และประชาชนถูกจับไปอีกกว่า 200 คน ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง แต่มีอีก 29 คนที่ยังเป็นนักโทษอยู่ในเรือนจำ


 


รองผู้บัญชาการมาร์กอสจึงหยุดการรณรงค์ชั่วคราว และประกาศว่าเขาจะอยู่ในเม็กซิโกซิตีต่อไปจนกว่านักโทษจากอาเตนโกจะได้รับการปล่อยตัว ทว่าผ่านไปสองเดือนแล้วโดยไม่มีอะไรคืบหน้า เมื่อเกิดปัญหาการเลือกตั้งปริศนาและโลเปซ โอบราดอร์ออกมาระดมมวลชนประท้วง จึงดูคล้าย "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" จะลับหายไปจากความสนใจของสาธารณชน


 


ขณะที่รองผู้บัญชาการมาร์กอสค้างเติ่งอยู่ในเม็กซิโกซิตี เขตปกครองตนเองของซาปาติสตายังอยู่ภายใต้ "สัญญาณเตือนภัยสีแดง" มานานหลายเดือนแล้ว "สัญญาณเตือนภัยสีแดง" หมายถึง การปิดตัวลงชั่วคราวของคณะกรรมการปกครองชุมชน ที่เป็นรากฐานของระบบการปกครองโดยพลเรือนตามแนวทางซาปาติสตา ซึ่งเพิ่งเกิดขึ้นมาในปี ค.ศ. 2003 นอกจากนั้น "สัญญาณเตือนภัยสีแดง" ยังสั่งให้หยุดโครงการต่าง ๆ ของเอ็นจีโอ และให้ชาวต่างชาติออกจากพื้นที่ของซาปาติสตาด้วย


 


การใช้ "สัญญาณเตือนภัยสีแดง" เป็นอำนาจของกองทัพเพื่อการปลดปล่อยแห่งชาติซาปาติสตาหรือ EZLN โดยไม่ต้องปรึกษาสมาชิกอื่น ๆ ในคณะกรรมการใต้ดินปฏิวัติของชาวพื้นเมืองหรือ CCRI ตลอดเวลา 12 ปีของการกบฏ EZLN เคยใช้สัญญาณเตือนภัยสีแดงนี้แค่ไม่กี่ครั้ง การปล่อยให้โครงสร้างการปกครองของฝ่ายพลเรือนตกอยู่ใต้สัญญาณนี้เป็นเวลานาน ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ทั้งจากชาวพื้นเมืองและผู้สังเกตการณ์ถึง "ความผิดปรกติ" บางอย่าง


 


ในระยะหลัง มีเสียงร่ำลือพอสมควรเกี่ยวกับความขัดแย้งภายในขบวนการซาปาติสตา โดยเป็นความขัดแย้งระหว่างสายทหารกับสายพลเรือนในขบวนการ มีข้อมูลบอกว่า ในช่วงเดือนสิงหาคม ค.ศ. 2004 ในการประเมินการทำงานของระบบคณะกรรมการปกครองชุมชน รองผู้บัญชาการมาร์กอสวิจารณ์กองทัพซาปาติสตาที่ยังเข้าไปควบคุมการปกครองของพลเรือน แทนที่จะทำตัวเป็นแค่ "พี่เลี้ยง" รวมทั้งการที่กลุ่มทหารระดับผู้บัญชาการเข้าไปแต่งตั้ง "คณะกรรมการต้อนรับ" เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรองบุคคลภายนอกที่จะเข้ามาติดต่อกับคณะกรรมการปกครองชุมชน


 


นอกจากนี้ ยังมีบางเสียงที่วิจารณ์ตัวรองผู้บัญชาการมาร์กอสหรือ "ผู้แทนหมายเลขศูนย์" ที่ควบคุม "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" ในแบบการสั่งการจากบนลงล่าง รวมไปถึงความไม่ชัดเจนว่า มีผู้บัญชาการของ EZLN คนไหนบ้างที่สนับสนุนการรณรงค์ครั้งนี้ของมาร์กอส จนกลายเป็นที่คาดเดากันว่า "แถลงการณ์ฉบับที่ 6 จากป่าลากันดอน" ที่ออกมาในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว และนำไปสู่ "การรณรงค์ทางเลือกอื่น" ในปีนี้ อาจเป็นแนวความคิดที่จำกัดอยู่เฉพาะมาร์กอสเพียงผู้เดียว


 


ตลอดช่วงหกเดือนของการรณรงค์ สื่อมวลชนนอกกระแสที่ติดตามคณะของ "ผู้แทนหมายเลขศูนย์" และกลุ่มผู้สนับสนุน มีแนวโน้มที่จะรายงานข่าวแต่ในด้านดีและไม่ค่อยยอมรับเสียงวิจารณ์จากนอกขบวนการ หลังจากเคยมีประชาชนมาเข้าร่วมในการรณรงค์มากถึงกว่า 15,000 คนในช่วงปลายพฤษภาคม ตอนนี้จำนวนคนที่เข้ามามีส่วนร่วมลดน้อยลงไปมาก ส่วนใหญ่เหลือแค่นักเรียนนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้าย ต่างจากช่วงก่อนที่เป็นสามัญชนรากหญ้า


 


ความขัดแย้งภายในขบวนการซาปาติสตายังไม่คลี่คลาย คำพูดของรองผู้บัญชาการมาร์กอสที่เคยกล่าวเสมอว่า ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องมาจากเบื้องล่าง ทว่า "สัญญาณเตือนภัยสีแดง" เป็นคำสั่งที่ลงมาจากเบื้องบน ความขัดแย้งระหว่างสายพลเรือนกับสายทหารของซาปาติสตาไม่เคยแหลมคมยิ่งกว่านี้มาก่อน ผู้สันทัดกรณีที่ไม่ยอมเปิดเผยนามคนหนึ่งในเมืองซานคริสโตบัลกล่าวว่า "จับตาดูให้ดี ไม่กี่เดือนต่อไปนี้คือช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะกำหนดอนาคตของขบวนการ"


 


................................................


ข้อมูลอ้างอิง


Laura Carlsen, "Mexico"s Critical Moment", IRC | August 2, 2006 http://americas.irc-online.org/


 


Mark Engler, "Mexico: Allow More Time For Democracy," http://www.democracyuprising.com


 


Sujatha Fernandes, "Way Forward for the Left?," http://www.zmag.org/content/showarticle.cfm?SectionID=59&ItemID=10735


 


John Gibler, "Designer Uprising: Scenes from Mexico City"s Post-electoral Mobilizations," http://www.zmag.org/content/showarticle.cfm?SectionID=20&ItemID=10724


John Gibler, "Scenes from the Oaxaca Rebellion," http://www.zmag.org/content/print_article.cfm?itemID=10708&sectionID=59


 


Dima Khatib (Aljazeera correspondent in Mexico), "Mexico: A Yellow revolution brewing?," http://english.aljazeera.net/NR/exeres/6BB5D6E4-47A9-4E3F-BB28-9C0F210CF020.htm


 


Greg Palast, "Mexico and Florida have more in common than heat," The Guardian,
Saturday July 8, 2006


John Ross, "Zapatistas at Critical Crossroads," http://www.counterpunch.org/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net