"อิตาเลียนไทย" ทุนใหม่เหมืองแร่โปแตชอุดรธานี

สถานการณ์ที่คุกรุ่นในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีจากเหตุความขัดแย้งเรื่องโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีดูแผ่วลง จากความไม่ชอบธรรมหลายประการของโครงการ อาทิ ข้อบกพร่องของรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมบกพร่อง และผิดขึ้นตอน จนไม่อาจรับได้ และประเด็นสัญญาของโครงการนี้ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น "สัญญาขายชาติ" ปล้นชิงทรัพยากรประเคนให้ "นายทุนต่างชาติ"

                

นับตั้งแต่ทำสัญญามาบริษัท เอเชีย แปซิฟิคโปแตช คอร์ปอเรชั่น (เอพีพีซี) คู่สัญญาถือหุ้นทั้งทางตรงและทางอ้อม 75 - 90 % ซึ่งเป็นการทำผิดสัญญาซึ่งระบุคนต่างชาติและคนไทยต้องถือหุ้นในอัตราส่วน 50 : 50 สามประเด็นใหญ่ที่ทำให้บริษัทเอพีพีซีต้องม้วนเสื่อกลับบ้านก่อนจะได้ขุดโปแตช โดยขายกิจการให้บริษัทใหม่ ซึ่งระบุว่าเป็นบริษัทคนไทย หรือ "นายทุนไทย"

 

แม้แหล่งข่าวจากบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือไอทีดี จะแย้มมาเป็นระยะ ๆ ถึงความต้องการของไอทีดีในการลงทุนทำเหมืองแร่โปแตชอุดรธานี ก่อนจะออกมาเสนอข่าวเป็นทางการจากการประกาศซื้อหุ้นของบริษัทเอพีพีซีอย่างเป็นทางการที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและแคนาดา

 

มีการวางแผนเปิดตัว "นายทุนไทย" ในการประชุมสามัญของสภาการเหมืองแร่ ณ โรงแรมอินทรา ในวันศุกร์ที่ 21 เมษายน 2549 โดยกำหนดให้นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรมมาเปิดงาน และกำหนดให้มีหัวข้อเสวนาเรื่อง "แร่โปแตชและการพัฒนาประเทศ" แต่วันนั้นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานีผู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่โปแตชรู้ทันเกมส์ จึงบุกเวทีประชุมจนต้องยกเลิกการประชุมไปกลางคัน ด้วยมีข่าวแว่วว่าในเวทีนั้นได้มีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องในการอนุมัติโครงการเหมืองแร่โปแตช เช่น สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) อุตสาหกรรมจังหวัดอุดรธานี วิศวกรเหมืองแร่และผู้ประกอบการเหมืองแร่ต่าง ๆ เพื่อเสนอ แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชในภาคอีสาน

 

"เราซื้อธุรกิจต่อจากบริษัทของแคนาดา และตั้งชื่อใหม่เป็นบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด เราถือหุ้น 90% รัฐบาลถือ 10% มีทุนจดทะเบียน 3,000 ล้านบาท ที่เรากล้าทำธุรกิจนี้ เพราะผมมั่นใจ ในฐานะวิศวกรเหมืองแร่โดยตรงเรียนจบทางด้านนี้ เรื่องสิ่งแวดล้อมผมให้ความสำคัญมาก เป็นรายละเอียดที่กำลังดำเนินการอยู่""(ที่มา : หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 15 พฤษภาคม พ.. 2549 ปีที่ 29 หน้า 1 )

 

นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหาร บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล็อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ออกมาให้ข่าวต่อสื่อมวลชนในกลางเดือนพฤษภาคม 2549 ว่าบริษัทจะบุกการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตชที่จังหวัดอุดรธานี มุ่งหวังลงทุนทำเหมืองยาวนาน 40-50 ปี ตามอายุประทานบัตรที่มั่นใจว่าจะได้แน่ ๆ ในปีหน้าและพร้อมทุ่มเงิน ลงทุน 20,000 ล้านบาท ด้วยแรงจูงใจที่ว่ากำลังการผลิตแร่โปแตช 2 ล้านตันต่อปีนี้จะทำให้อิตาเลี่ยนไทยยึดกุมตลาดในเอเชียได้อย่างเบ็ดเสร็จไร้คู่แข่ง เพราะปัจจุบันในโลกมีผู้ผลิตแร่โปแตชอยู่ 3 ราย คือ แคนาดา รัสเซีย และตะวันออกกลาง ในแถบเอเชียมีประเทศไทยประเทศเดียวที่มีจึงนับเป็นธุรกิจที่ไร้คู่แข่ง

 

การเปิดตัวของบริษัทอิตาเลียนไทยชูความเป็นบริษัทของคนไทยและถือหุ้นในโครงการเหมืองแร่ที่ดีที่สุดของไทย 90% เป็นแรงดึงดูดภาคธุรกิจในท้องถิ่นโดยออกมาแถลงว่าแร่ที่ได้จะเน้นขายสู่ตลาดในประเทศก่อน ซึ่งมีความต้องการหลายแสนตัน และพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ถ้าเหลือก็ส่งออก ด้วยภาพลักษณ์ใหม่นี้ดูเหมือนนักธุรกิจในท้องถิ่นจะเลิกกินแหนงแคลงใจเรื่องทุนต่างชาติมาหยิบชิ้นปลามันไปกิน นอกจากนี้อิตาเลียนไทยยังมีแผนรุกสร้างความชอบธรรมต่อโครงการในด้านวิชาการโดยการส่งนักล็อบบี้เดินสายพบพ่อค้านักธุรกิจในพื้นที่ ข้าราชการ นักการเมือง ที่สำคัญคือการเข้าพบตกลงกับนักวิชาการ

 

บางคนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงที่สุดในอีสาน และในจังหวัดอุดรธานี ขณะเดียวกันก็ใช้สายสัมพันธ์ชิดใกล้กับนักวิชาการคนหนึ่งถึงขนาดเคยมีตำแหน่งในบอร์ดกรรมการของบริษัทอิตาเลียนไทย เข้ามาล้วงลูกแนวทางการทำงานทางนโยบายของกลุ่มผู้คัดค้านโครงการผ่านทางการเสนองานวิจัยและเวทีแผนสิ่งแวดล้อมอีสาน แต่นักวิชาการคนดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงจุดยืนความเป็น "นักวิชาการ" และเพื่อแสดงสปิริตความเป็นนักวิชาการผู้เที่ยงธรรมและ "หน้าบาง" กรรมการบริษัทอิตาเลียนไทยคนดังกล่าวก็ขอลาออกจากตำแหน่งในเวลาต่อมา แต่เป็นภายหลังจากที่ได้เข้ามาแยกแยะวิเคราะห์ความสัมพันธ์ของนักวิชาการนักพัฒนาเอกชนและชาวบ้านฝ่ายคัดค้านโครงการอย่างแจ่มชัดแล้ว

 

หลังจากได้บทวิเคราะห์สายสัมพันธ์ของกลุ่มผู้ตั้งคำถามต่อโครงการอย่างแจ้งชัดอิตาเลียนไทย "นายทุนใหม่" ก็รุกต่อสายตรงถึงนักวิชาการอีกหลายคน ทั้งสายสิ่งแวดล้อม สายสาธารณสุข พร้อมยื่นข้อเสนองาม ๆ เรื่องการขอให้ทำงานวิชาการเรื่องการศึกษาประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) และการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ (HIA) ให้กับบริษัท แต่ไม่ได้ผลเพราะถูกปฏิเสธ จึงรุกหนักโดยใช้นักการเมืองสภาสูงในจังหวัดอุดรธานีที่เพิ่งได้รับเลือกตั้งหมาด ๆ เข้าพบนักวิชาการบางคนที่ไม่อาจซื้อได้เป็นการส่วนตัวพร้อมขอร้อง

 

"เราจะร่วมกันทำสิ่งใดเพื่อท้องถิ่นได้บ้าง"

การเข้าซื้อบริษัทเอพีอาร์ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัทเอพีพีซี ที่ประเทศแคนาดากระทำโดยการจัดตั้งบริษัทที่ชื่อบริษัทเอสอาร์เอ็มที โฮลดิ้ง ลิมิเตด ( SRMT Holding limited ) ซึ่งเป็นบริษัทที่ผู้บริหารอิตาเลียนไทยออกมาระบุว่าเป็นบริษัทลูกของบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ที่เป็นบริษัทลูกของอิตาเลียนไทย อีกทอดหนึ่ง อย่างไรก็ตามไม่อาจตรวจสอบได้ว่าบริษัทเอสอาร์เอ็มที นั้นมีผู้ถือหุ้นคือใครบ้างมีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่เพราะไม่เป็นที่เปิดเผยจากการเลือกไปจดทะเบียนในเมืองที่ไม่อาจตรวจสอบธุรกรรมทางธุรกิจของนักลงทุนได้

 

เมื่อค้นไปในส่วนบริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด พบว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 โดยมีผู้บริหารจากบริษัทอิตาเลียนไทยเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ ได้แก่ นายเปรมชัย กรรณสูต นางนิจพร จรณะจิตต์ นายบุญมี พิษณุวงศ์ นายไผท ชาครบัณฑิต มีทุนจดทะเบียน 3,500 ล้านบาท โดยระบุว่ามีวัตถุประสงค์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทจำกัดและออกมาระบุว่าบริษัทสินแร่เมืองไทยเป็นบริษัทแม่ของบริษัท เอสอาร์เอ็มที ซึ่งไปซื้อหุ้นในบริษัทที่มีชื่อเป็นรหัสลับคือบริษัท 623827 จำนวน 86.14 % ที่เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของเอพีอาร์บริษัทแม่ของเอพีพีซี ในประเทศแคนาดาและพยายามทุกทางที่ให้ข้อมูลเหล่านี้เป็นไปโดยลับ...

 

คำถามคือทำไมจะต้องเป็นเช่นนั้น ?.. ทำไมต้องลับ??... มีนัก การเมืองคนใดอยู่ข้างหลังหรือ ???...มีใครบงการอยู่บ้าง ต่างชาติหรือคนไทย????...ต่างเป็นข้อสงสัยที่ยิ่งน่าค้นหาคำตอบให้แจ้ง…ก่อนจะปักใจว่านายทุนไทยก็ดีกว่านายทุนต่างชาติ

 

นายเลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา กล่าวว่าเห็นได้แน่ชัดว่ากลุ่มทุนใหม่ในโครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีคือกลุ่มทุนของนักการเมืองของรัฐบาลไทย อิตัลไทยหรืออิตาเลียนไทยเป็นบริษัทที่รับสัมปทานโครงการใหญ่ของรัฐบาลและมีนักการเมืองอย่างนายสุริยะ จึงรงเรืองกิจเกี่ยวข้อง แต่ที่น่าเป็นห่วงการดำเนินกิจการของบริษัทนี้ เช่นกรณีสินบนซีทีเอ็กซ์ สนามบินสุวรรณภูมิหรือสนามบินหนองงูเห่า จะเห็นได้ว่าบริษัทนี้น่าสงสัยในเรื่องการเป็นบรรษัทภิบาลที่ดี คือ ไม่มีการเปิดเผยข้อมูลที่ดีและโปร่งใส นายสุริยะสมัยเป็นรัฐมนตรีคมนาคมช่วงเวลานั้น มอบงานประมูลการก่อสร้างในสนามบินหนองงูเห่าให้กับอิตัลไทยเกือบทั้งหมด กวาดงานไปแต่เพียงบริษัทเดียวมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาท จากงบทั้งหมด 8.8 หมื่นล้านบาท

 

มาในช่วงปัจจุบันที่รักษาการ รมว.อุตสาหกรรม ก็มีการหมกเม็ดประชุมสภาการเหมืองแร่ 21 มีนาคม 2549 เนื้อหาสาระก็คือจะประกาศให้สภาการเหมืองแร่รับรู้ว่าเหมืองแร่โปแตชอุดรฯ ได้เปลี่ยนผู้ถือหุ้นจากบริษัทแม่แคนาดามาเป็นบริษัทอิตัลไทยแล้ว ฝ่ายรัฐบาลสนับสนุน และให้สภาการเหมืองแร่ช่วยกันสนับสนุนและผลักดัน

 

กรณีที่บริษัทนี้ได้ก่อตั้งบริษัทลูกคือ บริษัท สินแร่เมืองไทย จำกัด ไปเปิดบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัทเอสอาร์เอ็มที โฮลดิ้ง ลิมิเตด ( SRMT Holding limited ) ไปจดทะเบียนในเมืองนิวบรุนวิค ของประเทศแคนาดา เป็นเมืองที่ไม่สามารถตรวจธุรกรรมทางธุรกิจได้ จึงไม่อาจตรวจสอบได้ว่าใครถือหุ้นหรือมีส่วนในบริษัทนี้บ้าง นับเป็นความจงใจอำพรางซ่อนเร้นผู้ถือหุ้น หรือบัญชีการเงินได้ อาจเป็นไปได้ว่ามิได้มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เรื่องสัดส่วนผู้ถือหุ้น หรือการเงินภายในบริษัท หรืออาจจะเป็นได้ว่ามีนักการเมืองมีเอี่ยวอยู่ในโครงการ

 

อย่างไรก็ตามโครงการนี้ก็เป็นโครงการที่ผ่านมาโดยผิดขบวนการทางกฎหมาย ไม่ได้รับการยอมรับ เช่น อีไอเอ การรังวัดปักหมุดที่ขัดแย้งกันอยู่ ก็ยังดำเนินไป การเปลี่ยนแปลงในบริษัทเจ้าของโครงการเหมืองแร่โปแตชครั้งนี้จึงไม่ได้สร้างสรรค์ในเรื่องการยอมรับ หรือสร้างมาตรฐานทางสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นในสังคมไทย เป็นแต่เพียงการสวมประโยชน์ แบบลวงตาเท่านั้น และเพื่อเป็นการแสดงความจริงใจต่อผลประโยชน์ของชาติเช่นที่บริษัทอิตัลไทยออกมาโฆษณา ควรแสดงความจริงใจ โดย

 

1. ฉีกสัญญาเก่าทิ้ง (ยกเลิกสัญญาฉบับเก่า) ที่มีมานานและเอาเปรียบประเทศชาติ และคนท้องถิ่น แล้วเริ่มต้นเขียนกันใหม่โดยแสดงเจตจำนงที่จะสร้างสรรค์ประโยชน์ที่เกิดขึ้นสู่ท้องถิ่นและกลุ่มทุนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ในการกำหนดขั้นตอนการมีส่วนร่วมในการร่างสัญญาและทำความตกลงกันระหว่างสาธารณะกับผู้ประกอบการ และรัฐบาล มิใช่รัฐบาลกับนายทุนสองต่อสองอย่างที่ผ่านมา หาแนวทางสร้างหลักประกันเรื่องการได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน

 

"หากยังใช้สัญญาเดิมการเปลี่ยนผู้ถือหุ้นแบบครอบครองกิจการครั้งนี้ของอิตัลไทย คนอุดรและคนไทยก็ยังถูกกดขี่และเสียเปรียบ จึงเป็นเพียงเปลี่ยนแปลงผู้กดขี่เป็นคนใหม่เท่านั้น"

 

2. ยกเลิก อีไอเอ เก่าที่ผ่านความเห็นชอบไปแล้วเมื่อปี 2543 ตาม พรบ.แร่เดิม เพราะพิสูจน์แล้วว่าบกพร่องจนไม่อาจยอมรับได้ และเริ่มต้นใหม่ตามขั้นตอนกฎหมายแร่ใหม่ และยื่นเข้าสู่ขบวนการพิจารณาใหม่

 

3. ยกเลิกผลการรังวัดปักหมุดที่แล้วเสร็จไปแล้วเพื่อสร้างขบวนการยอมรับ โดยจัดประชาคมหมู่บ้าน ให้คณะทำงานระดับจังหวัดสรุปข้อมูลจากการทำงานของคณะทำงานเผยแพร่ต่อประชาชน ก่อนจะเริ่มขบวนการ เพราะปัจจุบันมีการฟ้องร้องดำเนินดคีต่อชาวบ้านกรณีเรื่องการรังวัด ซึ่งถ้ายึดผลการรังวัดเดิมก็ไม่มีทางที่จะได้รับการยอมรับได้

 

หากพิจารณาเชื่อมโยงโครงการต่าง ๆ ของบริษัทอิตัลไทยจะเห็นว่า อิตัลไทยไม่ได้ต้องการเพียงเหมืองโปแตชอุดรธานีเท่านั้น แต่เป็นยิ่งกว่านั้นก็คือการวางแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงต่างหาก เพราะยังโปแตชอีกหลายแหล่งในอีสานรวมทั้งแร่ชนิดอื่น ๆ รวมถึงการขยายฐานการทำเหมืองแร่ในลาวและประเทศอื่น ๆ ในลุ่มน้ำโขง

 

อิตัลไทยต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมหลายด้านที่ไปเกี่ยวข้องกับการได้รับเหมาก่อสร้างในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น การผันน้ำงึมและน้ำโขงเชื่อมต่อระบบท่อในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ผันน้ำระบบท่อ หรือ Water Grid อย่างที่เหมืองโปแตชอุดรก็วางแผนไว้ชัดเจนว่าจะต่อท่อน้ำที่ผันน้ำมาจากลาวเอามาใช้ในโครงการนี้ รวมถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้โปแตชและเกลือเป็นวัตถุดิบด้วย จึงอาจกล่าวได้ว่าอิตาเลียนไทยมีน้ำโขงโมเดลอยู่ในใจในการมารุกยึดพื้นที่อีสานตอนบนพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่โปแตช และอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่จะตามมา เพิ่มอัตราการใช้ไฟฟ้าที่มีเป้าหมายที่จะซื้อจากลาวก็จะได้ใช้จริงที่อีสาน

 

ดังนั้น ถ้าเชื่อมต่อกับความเคลื่อนไหวเรื่องการยื่นขออาญาบัตรและประทานบัตรทำเหมืองแร่โปแตช ในจังหวัดขอนแก่น ชัยภูมิ สกลนคร มหาสารคาม นครราชสีมา รวมพื้นที่เกือบ 700,000 ไร่ ที่ต้องการพัฒนาทำเหมืองแร่โปแตชใต้ดินและเชื่อมต่อกับการพัฒนาอุตสาหกรรมต่อเนื่องด้านเคมีภัณฑ์ และในภูมิภาคอื่นของไทยไม่สามารถขยายได้อีกแล้ว จึงพอจินตนาการได้ถึงโฉมหน้าของอีสานที่ยักษ์ใหญ่ทางการลงทุนได้วาดไว้เพื่อความเติบโตของอุตสาหกรรมและเหมืองแร่ และอุดรธานีจะเป็นด่านแรกหากผ่านไปได้ก็จะยึดอีสานได้ ก่อนหน้านี้การตั้งคำถามมากมายเกี่ยวกับเรื่องผลกระทบจำกัดอยู่แต่โครงการเหมืองแร่โปแตชอุดรธานีเท่านั้น แต่ตอนนี้ต้องตั้งคำถามให้กว้างขวางขึ้นไปอีกว่าเกลือและโปแตช อุตสาหกรรมต่อเนื่อง อุตสาหกรรมเคมี จะก่อผลกระทบสำหรับคนอีสานอย่างไร

 

 

 

จากจดหมายข่าวชุมชนคนฮักถิ่น 

ปีที่ 2 ฉบับที่ 18 ประจำเดือนกรกฎาคม 2549

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท