Skip to main content
sharethis

20 ส.ค.49 ที่ห้องประชุมอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส. และนายต่อพงศ์ เสลานนท์ รองเลขาธิการ คปส. ร่วมแถลงข่าวกรณีรัฐบาลรักษาการกับภารกิจทิ้งทวนผลปรโยชน์ทับซ้อนด้านสื่อ นโยบายเปิดสงครามข้อมูลข่าวสาร - จัดระเบียบสื่อสู้ศึกเลือกตั้งของพรรคไทยรักไทย


 



รศ.ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธาน คปส. กล่าวว่า สังคมยังมีข้อกังขากับผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องผลประโยชน์ทุนโทรคมนาคมและสื่อสารมวลชน ซึ่ง คปส.มีจุดยืนเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสื่อ เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยที่แท้จริงยั่งยืน โดยจะเห็นว่าในปัจจุบันสื่อมวลชนมีการผูกขาดสูง มีการใช้อิทธิพลทางเศรษฐกิจและการเมืองควบคุมเนื้อหา สภาพของสื่อจึงผสมผสานกันระหว่างสื่อการเมือง และสื่อการค้า ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการเมืองโน้มเอียงไปในทางผูกขาดโดยพรรคการเมืองเดียว กลุ่มต่างๆ จึงต้องต่อสู้เพื่อสิทธิและอำนาจ โดยพยายามเปิดพื้นที่สื่อใหม่ของตนเองเพื่อใช้ในการต่อสู้อย่างเปิดเผย จึงเกิดปรากฏการณ์แบ่งขั้วสื่อเป็น 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายสนับสนุนกลุ่มอำนาจรัฐ-ทุนปัจจุบัน ฝ่ายสนับสนุนกลุ่มอำนาจเก่าและต่อต้านอำนาจรัฐปัจจุบัน และฝ่ายที่ต้องการแสวงหาระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ สื่อกระแสหลักมีการนำเสนอข่าวสารอย่างรอบด้าน แต่การแสดงความคิดเห็นแตกต่างกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกันมีการทักท้วงว่า ไม่ควรใช้เสรีภาพเหล่านี้โดยขาดความรับผิดชอบ หรือพูดเพื่อระดมไปสู่การใช้ความรุนแรง


 



รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ดังนั้นจึงต้องมีการปฏิรูปสื่อ เพราะเราเห็นชัดว่าขณะนี้มีการผูกขาดสิทธิเสรีภาพในกลุ่มธุรกิจการเมืองและกลุ่มอำนาจเดิม ส่งผลให้เนื้อหา การเข้าถึงระบบ กลุ่มผู้ผลิตไม่มีความหลากหลาย ไม่เกิดการแข่งขัน และไม่เป็นธรรม ประชาชนขาดพื้นที่ในการแสดงออกในความเชื่อ ความคิดเห็นและอัตลักษณ์ และประชาชนถูกทำให้เป็นเพียงผู้รับข่าวสาร และผู้บริโภคความบันเทิง ไม่ใช่พลเมืองที่มีสิทธิเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย


 



ส่วนทางออกที่ คปส. ได้เสนอเบื้องต้น คือ 1.ปฏิรูปสื่อทั้งระบบให้เป็นประชาธิปไตย ด้วยการยกเลิกกฎหมายและระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น การมีใบผู้ประกาศ 2.จัดสรรคลื่นความถี่การใช้วิทยุและโทรทัศน์ใหม่ทั้งหมด เปิดพื้นที่ให้ประชาชนและคนหลายกลุ่มมีโอกาสเข้าถึงทรัพยากรคลื่นความถี่อย่างเป็นธรรม 3.ประชาชนร่วมกันเสนอแนวทางปฏิรูปสื่อให้เป็นวาระประชาชนสำหรับพรรคการเมืองและการเลือกตั้งที่จะมาถึง โดย คปส. ฝากให้ทุกพรรคการเมืองรับเป็นสัญญาประชาคมต่อไป


 



ด้านนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการ คปส. กล่าวว่า อยากย้ำในปัญหาที่ค้างคาของรัฐบาลรักษาการไทยรักไทย โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา เจอข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนที่แก้ไม่ตก แม้ว่าวันนี้จะได้มีการขายหุ้นชินคอร์ปไปให้กลุ่มทุนเทมาเส็กแล้ว กรณีของความพยายามที่จะอุ้มสถานีโทรทัศน์ไอทีวีไม่ให้จ่ายค่าปรับหรือไม่ให้มีแนวทางที่ยกเลิกสัมปทานเป็นรูปธรรมกับปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนข้ามชาติ แม้ว่าผลการตรวจสอบขายหุ้นชินคอร์ปยังไม่ชัดเจนว่า บริษัทที่มาซื้อหุ้นของเทมาเส็กเป็นนอมินีหรือไม่ แต่เราเห็นว่า บริษัทชินคอร์ปถือเป็นบริษัทต่างด้าว คือเป็นของรัฐบาลสิงคโปร์ ฉะนั้นการที่บริษัทต่างด้าวมาถือหุ้นในกิจการสื่อสารมวลชนในไอทีวี 53 เปอร์เซ็นต์ถือว่าเกินกว่าที่กฎหมายระบุไว้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 39 แต่รัฐบาลกลับไม่ปกป้องสิทธิตรงนี้แทนประชาชน กลับแสดงบทบาทปกป้องธุรกิจของรัฐบาลต่างชาติ นอกจากนี้รัฐบาลรักษาการยังกระทำการไม่เหมาะโดยกำหนดวาระเลือกตั้งใหม่ ซึ่งถือเป็นการทิ้งทวนรอบสุดท้าย


 



น.ส.อภิญญา กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังมีกรณีการแปรรูป อ.ส.ม.ท. ซึ่งรัฐบาลเคยโฆษณาว่า การเอา อ.ส.ม.ท.เข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อประสิทธิภาพในการบริหารงานของ อ.ส.ม.ท. แต่ล่าสุดมีการแก้ไขให้ขายหุ้นออกมา 11 เปอร์เซ็นต์ เพื่อไปอยู่ธนาคารออมสิน และอุ้มธนาคารทหารไทย ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลในการเล่นแร่แปรธาตุ เพื่อเอื้อในเรื่องธุรกิจมากกว่าผลประโยชน์ของประชาชน ทั้งยังเปิดสงครามข้อมูลข่าวสาร ข่าวลือ โดยเฉพาะการปลดนักข่าว บรรณาธิการ หรือถอนโฆษณา สร้างบรรยากาศให้ประชาชนขัดแย้งกันเอง ดังนั้นเราต้องอดทนอดกลั้น แม้จะมีความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่อย่าให้เกิดความรุนแรงขึ้น และรัฐบาลก็ควรจะลดการใช้สื่อที่พูดให้ร้ายฝ่ายที่วิพากษ์วิจารณ์ และเบี่ยงเบนข้อเท็จจริง


 



ส่วนที่จะมีจัดระเบียบวิทยุชุมชนครั้งใหญ่นั้น ตนเห็นว่าเป็นกลเม็ดหนึ่งในการสู้ศึกเลือกตั้ง เนื่องจากวิทยุชุมชนในพื้นที่ถือเป็นสื่อที่สำคัญมาก และมีนักการเมืองเข้าไปใช้ประโยชน์เพื่อทำความเข้าใจ และสื่อสารเข้าถึงประชาชนรากหญ้า ดังนั้นศึกวิทยุชุมชนจึงเข้มข้นและดุเดือดมากขึ้น มีทั้งเงินและอำนาจเข้ามาเกี่ยวข้อง รัฐบาลจึงควรระวังที่จะเข้าไปดำเนินการในเรื่องนี้ เพราะจะทำลายเจตนารมณ์ และหลักการสำคัญของการดำเนินการของวิทยุชุมชน ทั้งนี้ อยากเรียกร้องให้พรรคประชาธิปัตย์ พรรคมหาชน พรรคชาติไทย นำเรื่องการปฏิรูปสื่อขึ้นมาเป็นวาระแห่งชาติ และจริงจังในการรณรงค์สร้างสัญญาประชาคมกับประชาชน เพราะเราไม่มีความหวังกับพรรคไทยรักไทยแล้ว ซึ่งพรรคไทยรักไทยสอบตกและติดลบในเรื่องนี้ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรามีความหวังกับการเลือกตั้งและการปรับตัวของพรรคการเมืองใหม่ๆ โดยการชูนโยบาย เช่น การทบทวนกฎหมายที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพ หรือการประกาศเป็นสัญญาประชาคมว่า จะไม่ฟ้องสื่อพร่ำเพรื่อเหมือนที่เกิดขึ้นกับพรรคไทยรักไทย การทำทีวีสาธารณะและทีวีของรัฐ เช่น ช่อง 11 ช่อง 5 และวิทยุทั้งหมด 500 กว่าคลื่นจะนำมาทำเป็นสื่อสาธารณะ และสกัดกั้นไม่ให้นักการเมืองท้องถิ่นและธุรกิจเข้าไปหาผลประโยชน์กับวิทยุชุมชน อย่างไรตามเชื่อว่าการปฏิรูปสื่อจะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน


 



นายต่อพงศ์ เสลานนท์ รองเลขาธิการ คปส. กล่าวว่า การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กลับมาจัดรายการนายกฯทักษิณคุยกับประชาชน และจัดรายการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 19 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่รูปแบบไม่แตกต่างไปจากเดิมที่เอาผลงานของรัฐบาลมาพูดให้ประชาชนได้รับรู้ และช่วงหลังกลับเป็นการแก้ตัวรายสัปดาห์ ทั้งนี้ตนเห็นว่าการดำเนินการใดๆ ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายเลือกตั้งและระเบียบการของ กกต. และไม่ทราบว่าเป็นความบังเอิญหรือจงใจ ที่ให้นายสมัคร สุนทรเวช ว่าที่ ส.ว.กทม. และนายดุสิต ศิริวรรณมาจัดรายการในช่วงนี้ จึงอยากตั้งคำถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กำลังหานอมินีของตนเองในรายการของรัฐต่อเนื่องในช่วงรอยต่อระหว่างการเลือกตั้งหรือไม่


 



 "ถ้าคุณสมัครจะกลับไปจัดรายการ ผมก็ขอตั้งเงื่อนไขว่า อย่าพูดเรื่องการเมืองให้พูดเรื่องบังเทิง หรือพูดเรื่องละคร อะไรก็ได้ หรือไม่ก็เรื่องแมว เรื่องทำอาหาร หรืออย่างดีที่สุดก็อย่าจัดเลย เพราะสุดท้ายจะเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของ ส.ว. และภาพลักษณ์ของตัวท่านในที่สุด" นายต่อพงศ์ กล่าว



 


นายต่อพงศ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลไม่สามารถบังคับสื่อของทหารได้แล้ว เพราะทหารไม่เอาด้วย จะใช้สื่อได้แค่ อ.ส.ม.ท. จึงบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ยุคที่ไม่มี กสช. สื่อตกอยู่ภายใต้การใช้อำนาจอย่างอำเภอใจของรัฐบาล ใช้ได้แม้กระทั่งการขายหุ้นของตนเอง เพื่อไปอุ้มธนาคารที่มีปัญหา รวมถึงการหาคนไปจัดรายการแทนเพื่อทำลายฝ่ายตรงข้าม ซึ่งถือว่าผิดกฎหมายเลือกตั้ง


 


.............................................................................


ที่มา: http://www.komchadluek.com

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net