"ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" มีความรู้เรื่องใต้มาบอก เอาไปใช้ก็ดีนะ

แม้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่หลังจากรายงานของคณะกรรมการเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ออกมาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2549 แล้ว ดูเหมือนกิจกรรมทางปัญญาสาธารณะในการพยายามแก้ปัญหาความรุนแรงภาคใต้จะแผ่วเบาลงไป

 

จนกระทั่งวันที่ 18-19 สิงหาคมที่ผ่านมามีการจัดสัมมนาใหญ่เรื่อง "ปัญหาความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาล" เพื่อนำเสนองานวิจัยต่างๆ ในโครงการสันติวิธี ความรุนแรง และสังคมไทย (Nonviolence,Violence,and Thai Society) ปีที่ 1 นำโดยรศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เมธีวิจัยอาวุโส ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

 

กิจกรรมทางปัญญาครั้งนี้จบลงด้วยการกล่าวสรุปด้วยคำถามของ "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์" 4 ข้อ หลายคนอาจงงๆ แต่เขายืนยันว่าเป็นธรรมชาติของนักวิชาการที่จะตอบคำถามด้วยคำถาม และเราจะนำมาเป็นจุดเริ่มต้นของรายงานในการไล่เรียงนำเสนองานวิจัยซีรี่ส์นี้ 

 

00000

คำถามข้อแรกมีว่า งานวิจัยนี้ทำอะไร ?

 

งานวิจัยที่เกี่ยวกับภาคใต้ในรอบ 2 ปีมานี้มีมากมายเหลือเกิน เพียงแต่ว่าได้ถูกหยิบยกหรือนำไปใช้บ้างหรือไม่ กล่าวสำหรับงานวิจัยชุดนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ยืนยันว่า ล้วนเป็นงานวิจัยที่ค่อนข้างมีความซื่อตรงและพยายามตอบคำถามอย่างซื่อๆ เช่น เมื่อมีคนถามว่าประเทศไทยไม่มีนโยบายความมั่นคงจริงหรือไม่ ก็ลองมาค้นคว้าวิจัยดูเรื่องนี้ หรือคำถามที่ว่าสังคมไทยมีองค์ความรู้พอที่จะแก้ปัญหาหรือไม่ ก็ลองรวบรวมดูงานที่แล้วมา เป็นต้น

 

"ถามว่าสังคมไทยใช้องค์ความรู้ในการแก้ปัญหาหรือไม่ ผมไม่แน่ใจ แต่แน่ใจอย่างหนึ่งว่าเราจะต้องสร้างเงื่อนไขให้สังคมไทยหันมาใช้วิชาความรู้ให้ได้ เป็นหน้าที่ของนักวิชาการ"

 

หน้าที่ของนักวิชาการดังกล่าวจึงเริ่มต้นด้วยการสำรวจโครงสร้างระดับบนผ่านการนำเสนองานวิจัย "นโยบายความมั่นคงจังหวัดชายแดนภาคใต้เปรียบเทียบ" โดย ดร.มารค ตามไท นักวิชาการด้านปรัชญาจากสถาบันเพื่อการศึกษาศาสนาและวัฒนธรรม มหาวิทยาลับพายัพ ทำร่วมกันกับ สมเกียรติ บุญชู เพื่อชำแหละให้เห็นถึงกระบวนทัศน์และพลวัตการแก้ปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลสมัยต่างๆ ผ่านนโยบายความมั่นคง พร้อมกับตั้งคำถามกับความจริงบางประการที่ทำให้การแก้ปัญหาภาคใต้ยังคงเป็นงานหนักที่ไม่คืบหน้านักในสังคมไทย

 

แม้ผู้วิจัยอย่างมารค และสมเกียรติ จะเป็นมีตำแหน่งในสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กระนั้น ก็ยังต้องเผชิญกับ "ชั้นความลับ" ในการเข้าถึงข้อมูล เขาเล่าว่าแม้จะเป็นข้อมูลที่เก่าจนถูกถอดจากชั้นความลับแล้วก็ยังยากจะเข้าถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความรุนแรงยังคงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแม้ในปัจจุบัน ยิ่งทำให้หน่วยงานความมั่นคงเต็มไปด้วยความลับ

 

ถึงแม้จะผ่าน "ล็อก" นั้นไปได้ ข้อจำกัดที่สำคัญกว่าอีกประการของการทำวิจัยก็คือ "สังคมไทยยังเป็นสังคมที่ไม่เปิดเผย" ลายลักษณ์อักษรที่อยู่ในแผนนโยบายจึงอาจไม่ได้เกี่ยวโยงกับสิ่งที่อยู่ในใจหรือ "เจตนา" ของผู้ปกครอง

 

"สิ่งที่สำคัญคือเจตนาเบื้องหลังนโยบายความมั่นคง ซึ่งผมยังไม่รู้วิธีดึงเจตนาของทั้งคนร่างจนถึงคนอนุมัติ ออกมาจาก text หรือหากอาศัยความใกล้ชิดสนิทสนมคุยกับผู้เกี่ยวข้องแล้วรู้เจตนาของเขา มันก็ไม่สามารถนำมาอ้างอิงในเชิงวิชาการได้อีก" มารคกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ในเนื้อหาของรายงานเท่าที่ทำได้ มีการ "เปรียบเทียบ" นโยบายความมั่นคงของรัฐโดยเฉพาะในรอบ 30 ปีที่ผ่านมา (2516-2546) ในหลายมิติ คือ

 

1. เปรียบเทียบความหมายของความมั่นคงที่ปรากฏอยู่ในนโยบาย

2. เปรียบเทียบกระบวนการที่ใช้ในการกำหนดนโยบาย ซึ่งจะมีผลมากต่อตัวนโยบาย

3. เปรียบเทียบเนื้อหาสาระ

4. เปรียบเทียบวิธีที่ใช้ในการประเมิน ทั้งนี้ นโยบายสาธารณะนั้นมีปัญหาทั่วโลก เนื่องจากการประเมินทำได้ยาก โดยเฉพาะด้านความมั่นคงที่มีความลับมาก และไม่ไว้ใจให้ผู้ที่มีความรู้มิติอื่นๆ ได้เข้าไปตรวจสอบประเมินผล

 

ข้อสรุปของเนื้อหานั้น มารค แบ่งเป็น 3 ช่วงใหญ่ คือ ช่วงก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 ซึ่งจะเห็นว่าแนวคิดในการปกครองภาคใต้ยังไม่แข็งตัว ปรากฏหลักฐานในการดำเนินนโยบายในสมัยรัชการที่ 5 ซึ่งมีหลักว่า "ต้องไม่ทำให้คนในพื้นที่รู้สึกว่ากำลังถูกปกครองจากคนนอก" ช่วงต่อมาระหว่างปี 2475-2516  และช่วงสุดท้ายระหว่างปี 2516-2546 ซึ่งเริ่มมีนโยบายด้านความมั่นคงเป็นแบบแผนจริงๆ ราวปี 2521 -2546 รวมแล้ว 4 ฉบับ

 

กล่าวเฉพาะนโยบายด้านความมั่นคง 4 ฉบับใน 30 ปีมานี้ พบว่า นโยบายความมั่นคง 3 ฉบับแรกมีการให้ความหมาย "ความมั่นคง" กระบวนการในการกำหนดนโยบาย ตลอดจนเนื้อหาสาระและวิธีประเมินผลไม่มีอะไรแตกต่างกัน โดยความมั่นคงมีความหมายถึงการรักษาดินแดนและอำนาจรัฐไว้ ไม่ให้ถูกท้าทาย กระบวนการกำหนดและประเมินนโยบายเกิดจากหน่วยงานราการ โดยเฉพาะหน่วยข่าวกรอง

 

ส่วนฉบับสุดท้ายฉบับที่ 4 (2542-2546) มีความแตกต่างจากฉบับก่อน คือ 1.ไม่เอารัฐเป็นตัวตั้งแต่เอาความสงบสุขในพื้นที่เป็นตัวตั้ง 2.กระบวนการกำหนดนโยบายนั้นสอบถามจากประชาชนด้วย 3.เนื้อหาเน้นการให้คนในพื้นที่ดำเนินชีวิตถามวิถีมุสลิมอย่างมีศักดิ์ศรี เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางวัฒนธรรม และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายต่างๆ

 

ส่วนการประเมินนั้นผู้ทำการวิจัยระบุว่า เป็นเรื่องยาก และสิ่งสำคัญในการประเมินคือ "เป้าหมาย" หรือ "เจตนา" ว่าต้องการเห็นพื้นที่เป็นอย่างไร ซึ่งยังมีความหลากหลาย บางคนเพียงต้องการให้พื้นที่กลับสู่สภาพเหมือน 4-5 ปีก่อนเท่านั้น

 

คำถามสำคัญที่เกิดขึ้นคือ ในเมื่อนโยบายความมั่นคงฉบับสุดท้ายดูเหมือนจะ "ดี" กว่าที่แล้วมา ทำไมความรุนแรงในพื้นที่จึงยิ่งมีมากขึ้น ?

 

ผู้วิจัยให้เหตุผลว่า "ดี" ในที่นี้อาจมองแตกต่างกัน สำหรับเจ้าหน้าที่หลายคนอาจมองว่านโยบายเช่นนี้ทำให้รัฐอ่อนแอ และเอาใจคนพื้นที่มากเกินไป ดังนั้น แม้นโยบายความมั่นคงฉบับดังกล่าวจะผ่านความเห็นชอบคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่ในทางการปฏิบัติกลับสวนทางและมีการยินยอมให้กระทำลับๆอย่างรู้กัน ซึ่งนั่นยิ่งทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจ และคิดว่ารัฐหลอกลวงหนักยิ่งขึ้นกว่าเดิม

 

"ปัญหากลายเป็นว่านโยบายดีแต่ไม่อยากปฏิบัติ ไม่ใช่ปฏิบัติยาก หรือปฏิบัติไม่ได้" มารคกล่าว

 

นอกจากนี้นโยบายความมั่นคงทุกฉบับมีความเหมือนกันในการมองข้ามภาคส่วนอื่นๆ โดยเข้าใจว่าความมั่นคงในภาคใต้ ไม่เกี่ยวอะไรกับส่วนอื่นของประเทศไทย ไม่มีการอธิบายให้ภายนอกพื้นที่เข้าใจว่า นโยบายภาคใต้เป็นแบบนี้ มีเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร

 

อย่างไรก็ตาม คงต้องหมายเหตุไว้ด้วยว่า งานวิจัยชิ้นนี้เกิดขึ้นบนคำถามและความไม่เชื่อมั่นบางอย่างของผู้วิจัยอย่าง "มารค ตามไท" เขาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำงานวิจัยนี้ไปทำไม? เพราะไม่แน่ใจนักว่ามันจะได้ประโยชน์!!! 

 

เขาให้เหตุผลว่า งานศึกษาวิจัยต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายความมั่นคง ไม่เคยมีผลกำหนดทิศทางของบ้านเมืองได้จริง เพราะสังคมไทยไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยความรู้-ความจริง และนโยบายความมั่นคงในสังคมประชาธิปไตยทั่วโลกล้วนเป็นเรื่องของคุณค่า ที่ผ่านมารัฐและงานวิจัยส่วนใหญ่มีกระบวนทัศน์เดียวกันคือ จะส่งคนประเภทไหนไปปกครอง 3 จังหวัดภาคใต้

 

หลังการนำเสนอของมารค ฝ่ายทหารผู้ปฏิบัติการในพื้นที่โดยตรง พล.อ.ปฐมพงษ์ เกษรศุกร์ จากสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการทหารสูงสุด ให้ความเห็นว่า ปัญหาสำคัญของผู้ปฏิบัติในพื้นที่คือต้องทำตามคำสั่ง ไม่ว่าทหารจะมีความคิดดีเพียงใด หรือนโยบายจะก้าวหน้าแค่ไหน หากมีคำสั่งเฉพาะหน้าออกมาไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็ต้องรับผิดชอบปฏิบัติตาม

 

พร้อมกันนั้นได้ชี้ถึงลักษณะคำสั่งที่ช่วยหนุนเสริมกับนโยบายสร้างสันติสุข โดยยกตัวอย่างนโยบายแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เคยสำเร็จมาแล้วในอดีต คือ กรณีคำสั่ง 66/23 ที่เปิดรับนักศึกษาที่ออกจากป่าหลังขบวนการคอมมิวนิสต์ล่มสลาย คำสั่งนี้ระบุอย่างชัดเจนว่าคำสั่งใดๆ ที่ขัดกับคำสั่งนี้ ให้ถือคำสั่งนี้เป็นสำคัญ

 

ส่วน ดร.อุทัย ดุลยเกษม จากสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่ควรพิจารณาต่อคือแนวนโยบายกับมาตรการในการปฏิบัติในพื้นที่นั้นสอดคล้องกันหรือไม่ การปฏิบัติที่สวนทางกับนโยบายนั้นจะมีการแก้ปัญหาหรือทางออกอย่างไร

 

นอกจากนี้การวิเคราะห์สาเหตุของความรุนแรงที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น ควรจะวิเคราะห์หาปัจจัยใหม่ๆ นอกเหนือจากการรังแกจากภาครัฐ การไม่เคารพวัฒนธรรมที่หลากหลาย ความยากจน หรือเรื่องประวัติศาสตร์ซึ่งเป็นสาเหตุที่ดำรงอยู่มาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในสภาวการณ์ที่ความรุนแรงเพิ่มระดับขึ้นมากในช่วงหลัง อาจเป็นเพราะมีเงื่อนไขใหม่ๆ เช่น การพยายาม "แก้ปัญหา" ของรัฐนำมาซึ่งปัญหาอีกมากมายเสียเอง

 

นอกจากนี้ยังสามารถเชื่อมโยงกับกระบวนการโลกาภิวัตน์ที่ได้ทำลายเขตแดนแบบเก่า คือเปลี่ยนความสัมพันธ์ของชาติกับรัฐ ไปสู่การสร้างความสัมพันธ์แบบอื่นที่ไม่เกี่ยวกับรัฐ ทำให้พรมแดนแต่ละประเทศกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีความหมายอีกต่อไป  พร้อมกับสร้างเขตแดนใหม่ให้กับผู้คนที่หันไปยึดถือเชื้อชาติ ศาสนามาเป็นตัวจำแนกความเป็นพวกพ้องมากยิ่งขึ้น

 

ดังนั้นคนในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้จึงไม่พอใจในกรณีที่รัฐไทยสนับสนุนนโยบายสหรัฐด้วยการส่งทหารเข้าไปในอิรัก ในเชิงสัญลักษณ์ทำให้มุสลิมมีจินตนาการใหม่ๆ อันเนื่องมาจากการที่ทางประเทศอาหรับก็มีการโต้ตอบกระแสโลกาภิวัตน์อยู่ การเกิดจินตนาการของมุสลิมในรัฐไทยใหม่นี้จึงเป็นปัญหาที่ต้องพิจารณา

 

00000

 

จากคำถามดังกล่าว งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งได้ตอบข้อสงสัยที่ว่า "เรื่องราวของ 3 จังหวัดภาคใต้ อยู่ในจินตนาการของโลกาภิวัตน์อย่างไร" โดยเฉพาะในจินตนาการของโลกมุสลิมและจักรวรรดิอเมริกา

 

โจทย์วิจัยนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ แจกจ่ายงานไปให้ ดร. Imtiya Yusuf ไปฉายภาพให้เห็นกันในหัวข้อ "The Southern Thailand Conflict and Muslim World" ซึ่งเขาเริ่มต้นด้วยคำสอนที่เป็นการมองตัวเองอย่างสากลของศาสนาอิสลามที่ว่า

 

"โลกมุสลิมจะมองตนเองเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างที่เรียกว่า อุมมะ ภายใต้ศรัทธาเดียวกัน เหมือนร่างกายเดียวกัน" ดร.ยูซุปกล่าว

 

จากนั้นการศึกษาได้พาย้อนกลับไปมองความสัมพันธ์ของศาสนาพุทธกับศาสนาอิสลามที่มีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 ซึ่งอิสลามก็มองว่าพุทธเป็นผู้รู้ ทั้งสองศาสนาจึงไม่ได้มีความปฏิปักษ์กันมาแต่ดั้งเดิม หากมามองเฉพาะในประเทศไทยจะพบว่ามีชาวมุสลิมมาจากหลายแหล่งทำให้เกิดความหลากหลายทางภาษาและวัฒนธรรม ซึ่งพอจะแบ่งให้ชัดๆ ได้เป็น 3 แบบ ได้แก่ มุสลิมชาติพันธุ์มลายูพูดภาษามลายูเช่นใน 3 จังหวัดภาคใต้ มุสลิมชาติพันธุ์มลายูพูดภาษาไทยเช่นที่จังหวัดสตูล และ มุสลิมชาติพันธุ์ต่างๆ พูดภาษาไทย

 

ดังนั้นจะเห็นว่ามุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้เป็นมุสลิมชาติพันธุ์มลายูเสียส่วนมากจึงให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์มลายูเป็นอันดับแรก ทุกอย่างจึงต้องมองผ่านแว่นของชาติพันธุ์มลายูรวมทั้งเรื่องของศาสนา

 

นอกจากนี้การส่งต่อบุตรหลานของตนเองไปเรียนศาสนาในตะวันออกกลางนั้นเป็นการพยายามรักษาอัตลักษณ์ของตนเองในพื้นที่ภาคใต้ ในซาอุดิอาระเบียมีนักศึกษาไทยกว่า 200 คน ในอียิปต์มีมากถึง 2,000 คน และในอิหร่านมีราว 100 คน

 

อิทธิพลด้านการศึกษาที่มาจากที่ต่างๆ นี้เองทำให้นักศึกษาที่จบการศึกษาและกลับประเทศมีการตีความอิสลามที่หลากหลาย ทำให้มีวิวาทะเกี่ยวกับอิสลามในประเทศไทย ทั้งสายอิสลามบริสุทธิ์ และ Modurate แต่อย่างไรก็ตาม ข้อกล่าวหาว่านักศึกษาเหล่านี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบนั้น Yusuf เห็นว่าอันที่จริง พวกเขามีบทบาทสำคัญในการช่วยปฏิรูป Traditional Islam ในพื้นที่ด้วยซ้ำ

โดยทำให้ความเป็นท้องถิ่นลดลง

 

ถามว่าสื่อมวลชนในโลกมุสลิมมองปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยอย่างไร จากการค้นคว้าของนักวิจัยพบว่า สื่อส่วนใหญ่ขาดข้อมูล และมักมองว่าเป็นความขัดแย้งทางศาสนา อีกทั้งมีความเห็นต่อเรื่องนี้แตกต่างกัน ตั้งแต่ที่เห็นว่าควรแก้ด้วยสันติวิธี จิฮัดญ์ หรือบางส่วนก็มองว่าทักษิณและสหรัฐกำลังร่วมมือกันเพื่อสนับสนุนสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

 

ในส่วนของบทบาท OIC พบว่ามีการส่งผู้แทนมายัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และออกแถลงการณ์ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาภายใน ไม่ใช่เรื่องศาสนา ควรแก้ด้วยการเจรจา สร้างความเข้าใจ เน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน

 

มาเลเซีย เพื่อนบ้านใกล้ชิดกับไทย คิดว่าตนเองน่าจะมีส่วนช่วยแก้ปัญหาได้ แต่ก็ติดขัดอยู่ที่ปัญหากรณีชาวมุสลิม 131 คนจากฝั่งไทยหลบภัยหนีเข้าไปในมาเลเซีย และทางการยังไม่ส่งตัวกลับ ด้านอินโดนีเซียก็เห็นว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาภายใน ที่แก้ได้ด้วยการเจรจา พร้อมทั้งเสนอให้ดูตัวอย่างในอาเจ๊ะห์ แต่กลุ่มศาสนาอิสลามสายต่างๆ ในอินโดนีเซียกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม พวกเขารู้สึกร่วมอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเหตุการณ์ความสูญเสียในกรณีกรือเซะ และตากใบ

 

Dr.Yusuf สรุปในช่วงท้ายว่า สาเหตุของปัญหาเกิดจากความอยุติธรรมที่ชาวบ้านได้รับ ปัญหาเศรษฐกิจ ฯลฯ แต่เนื่องจากการขาดข้อมูลข่าวสารทำให้คนมองเป็นปัญหาของศาสนา ซึ่งจะทำให้เรื่องราวยิ่งบานปลาย ดังนั้น พุทธศาสนิกชนและอิสลามิกชนจะต้องหันมาพูดคุยกันให้มากกว่านี้ และคน 3 จังหวัดเองควรทำความเข้าใจหลักสากลนิยมของอิสลามเป็นอย่างดี เพื่อยอมรับตนเอง ศาสนา หรือชาติพันธุ์อื่น นอกจากนี้ ควรใช้องค์กรอย่าง OIC และประเทศเพื่อนบ้าน ให้เข้ามามีบทบาทช่วยแก้ปัญหามากกว่าที่เป็นอยู่

 

00000

 

ส่วนจินตนาการในมุมมองของสหรัฐปรากฏในงานของ Metthew Wheeler จาก Institute of Current World Affairs และสถาบันวิจัยความมั่นคงนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานวิจัยชิ้นนี้เป็นอีกบทความหนึ่งที่ได้รับความสนใจในเวทีวิชาการนี้ ด้วยการนำเสนองานวิจัยเรื่อง "นโยบายของสหรัฐต่อสถานการณ์ความรุนแรงจังหวัดชายแดนภาคใต้"

 

น่าเสียดายที่เจ้าของงานวิจัยไม่มา งานนี้ผู้ดำเนินรายการ "ปรางทิพย์ ดาวเรือง" นักข่าวและนักวิจัยอิสระ จึงรับหน้าที่ในการสรุปงานวิจัยชิ้นนี้แทน โดยระบุด้วยว่าหลักฐานที่งานวิจัยใช้คือ แถลงการณ์ของรัฐบาล และการสังเกตการณ์ของนักวิจัยในสหรัฐ

 

มีความสงสัยมากในบทบาทของสหรัฐกับปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้ไม่มีการศึกษาแน่ชัด แต่เท่าที่สังเกตจะเห็นคำอธิบายประเภท ซีไอเอ สนับสนุนให้เกิดความรุนแรงในภาคใต้เพราะต้องการหาผลประโยชน์ให้สหรัฐ หรือ สหรัฐผลักดันให้รัฐบาลไทยใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาเพื่อสนับสนุนให้เกิดสงครามต่อต้านการก่อการร้าย

 

ถามว่าเหตุใดจึงเกิดข้อสงสัยพวกนั้น รายงานของ Matthew ระบุสาเหตุหลักๆ ไว้ว่า ในการพบกันของทักษิณ และบุช ที่วอชิงตันในเดือนมิถุนายน 2546 เป็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่แสดงถึงการเปลี่ยนจุดยืนของรัฐบาลไทย เพราะในวันเดียวกันนั้นเอง นายแพทย์แวมะหะดี แวดาโอ๊ะ หรือ และชาวมุสลิมอีก 2 คนก็ถูกจับที่นราธิวาส เหตุการณ์นั้นถูกมองว่าเป็นการเอาใจสหรัฐ

 

แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่าไทยสนับสนุนสงครามอิรักหรือไม่ แต่การไปเยือนวอชิงตันครั้งนั้นยังมีการเซ็นสัญญา Article 98 ซึ่งระบุว่าจะไม่ส่งชาวอเมริกันที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นอาชญากรสงครามไปขึ้นศาลอาชญากรโลก และทักษิณตกลงจะส่งทหารไทยไปในอิรัก แม้ไม่ได้ไปช่วยรบก็ตาม หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน รัฐบาลไทยก็ออก พ.ร.ก.ต่อต้านการก่อการร้าย 2 ฉบับ และมีการจับ ฮัมบาลีผู้ต้องสงสัยในการก่อวินาศกรรมที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ส่งไปยังสหรัฐ ทั้งนี้ เชื่อว่าเป็นการแลกกันกับที่รัฐบาลไม่ต้องถูกวิจารณ์เรื่องสงครามยาเสพติดที่ทำให้มีคนตายเป็นจำนวนมาก รวมทั้งได้รับสิทธิให้เป็นพันธมิตรนอกนาโต และได้เปิดเจรจาการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับสหรัฐ โดยบุชผลักดันการทำเอฟทีเอกับไทยผ่านสภาแบบเฉียดฉิว ชนะโหวตในสภาคองเกรสเพียงเสียงเดียวเท่านั้น

 

รายงานของ Metthew ระบุถึงความเข้าใจว่าสหรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องกับปัญหาภาคใต้นั้นเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะจากการรวบรวมข้อมูลพบว่า สหรัฐมีความระมัดระวังในเรื่องนี้มาก เพราะการเข้ามายุ่งกับปัญหาชายแดนภาคใต้ของไทยจะมีผลเสียมากกว่าผลดี โดยเห็นได้จากการอธิบายปัญหาภาคใต้ของรัฐบาลสหรัฐที่ระบุว่า 1. เป็นปัญหาภายในประเทศ 2.มาจากสาเหตุทางประวัติศาสตร์ และการบริหารของรัฐบาลที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิมนุษยชนของรัฐบาลยิ่งทำให้ปัญหาบานปลาย 3. อาจเป็นช่องให้กลุ่มหัวรุนแรงจากต่างประเทศเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย

 

แล้วสหรัฐดำเนินนโยบายอย่างไร ทั้งรัฐบาลไทยและสหรัฐ มีความเห็นร่วมกันว่า หากให้สหรัฐเข้ามามีบทบาทจัดการปัญหาภาคใต้โดยตรงจะยิ่งสร้างความแปลกแยกหนัก และเป็นการตอกย้ำทัศนะด้านลบที่ผู้คนในพื้นที่มีต่อสหรัฐ และจะเกิดความขัดแย้งเชื่อมโยงในระดับสากล ดังนั้น สิ่งที่สหรัฐต้องการเห็นคือ การหาทางออกอย่างสันติโดยเร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นความร่วมมือในทางลับด้านความมั่นคงระหว่างสหรัฐและไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันคือ หน่วยงานข่าวกรองอย่าง CTIC หรือศูนย์ข่าวกรองความร่วมมือต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจับกุมฮัมบาลี

 

000000

คำถามข้อที่สอง งานวิจัยนี้ทำอย่างไร ?

 

คำตอบที่ได้ก็คือ ส่วนหนึ่งคือการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ เพราะจะทำให้เห็นมุมมองที่เคยมีต่อพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ว่ามีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่เพียงไรจากอดีตมาถึงปัจจุบัน

 

สิ่งที่พบก็คือในรอบเกือบ 50 ปี ที่ผ่านมา ความรู้เกี่ยวกับภาคใต้ดูเหมือนกำลังหยุดนิ่ง แม้แต่การกล่าวอ้างอิงความรู้ก็กระทำอย่างซ้ำไปซ้ำมาในเรื่องเดิมๆ ใช้หนังสือเดิมๆ ในบริบทเดิมๆ

 

งานวิจัยของ แพร ศิริศักดิ์ดำเกิง จากภาควิชามานุษยวิทยา คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ในหัวข้อ "องค์ความรู้การวิจัยความสัมพันธ์พุทธ - มุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในรอบ 49 ปี" ทำให้เห็นภาพดังกล่าวเป็นอย่างดี

 

แพร กล่าวว่า ในรอบ 49 ปีที่ผ่านมา วรรณกรรมที่เกี่ยวกับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มักจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองในสาขารัฐศาสตร์เป็นส่วนมาก และมักระบุปัญหาว่ามาจากชนกลุ่มน้อย แนวคิดการแบ่งแยกดินแดน และปัญหาจากการศึกษาในลักษณะปอเนาะ โดยเฉพาะในเรื่องปอเนาะนี้มีการทุ่มเทงบประมาณไปศึกษาถึง 150 เรื่อง ในขณะที่การศึกษาเรื่องสังคมและวัฒนธรรมเป็นไปในทิศทางตรงกันข้าม คือมีการศึกษาค่อนข้างน้อย หรือถ้ามีก็จะเป็นเรื่องความเชื่อหรือการศึกษาเรื่องกลุ่มชาติพันธุ์เฉพาะ การศึกษาเรื่องราวระหว่างชาติพันธุ์ในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้นั้นมีประมาณ 23 เรื่อง เท่านั้น

 

งานวิจัยยังพบว่า พื้นที่ที่มีการศึกษามากที่สุด คือ ปัตตานี อาจเป็นเพราะความเป็นศูนย์กลางเดิมของลังกาสุกะ และเมืองปาตานี พื้นที่ที่มีการศึกษาน้อยที่สุดได้แก่ นราธิวาส คงเพราะมีความห่างไกล น่ากลัว และมีเหตุการณ์ที่ถี่มากกว่า

 

นอกจากนี้ในส่วนการอ้างอิงงานที่เกี่ยวข้องกับจังหวัดภาคใต้ แพรระบุว่าดูเหมือนจะหยุดนิ่งเพราะอ้างกันไปมาเฉพาะในส่วนเนื้อหาโดยไม่ได้ดูการเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมหรือเปรียบเทียบข้อเด่นข้อด้อยอย่างไร ทั้งนี้ ในวรรณกรรมรอบ 49 ปี มีการกล่าวถึงความสัมพันธ์ในแนวตั้งระหว่างราชการกับประชาชนมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 อ้างผ่านราชหัตถเลขาในสาส์นปฐมนิเทศข้าราชการที่จะลงไปปฏิบัติหน้าที่ในภาคใต้ตั้งแต่ พ.ศ.2466 และใช้อ้างกันมาจน พ.ศ.2544

 

ส่วนงานของ ดร.อารง สุทธาศาสตร์ในช่วง พ.ศ. 2519 ก็เป็นอีกงานหนึ่งที่มักถูกอ้างถึงมาจนปัจจุบัน โดยมีเนื้อหากล่าวถึงการที่คนมลายูมุสลิมไม่ได้เป็นมิตรกับไทยพุทธ และมุสลิมมักถูกมองว่าเป็นผู้ร้าย ไม่ต่างจากงานของพล.อ.กิตติ รัตนฉายา อดีตแม่ทัพภาคที่ 4 ในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน ที่ระบุว่าข้าราชการมักกล่าวคำว่า "แขก" อย่างมีนัยยะว่า โง่ ขี้เกียจ ไม่ให้ความร่วมมือกับรัฐ ไม่พยายามเรียนรู้ภาษาไทยและฝักใฝ่มลายู

 

ในมุมกลับหากพูดถึงคนในพื้นที่มองข้าราชการอย่างสวนแนวขึ้นไปอย่างไร งาน ก็มักจะอ้างจากงานของ ดร.อารง ใน พ.ศ. 2519 เช่นเดียวกัน โดยคนมุสลิมก็รู้สึกว่าโดนดูถูก รัฐดูแลไม่ได้ ไม่จริงใจต่อประชาชน มีการพยายามกลมกลืนวัฒนธรรมโดยเอาคนชนชาติอื่นมาปกครองหรือด้วยการเอานิคมของชนชาติอื่นมาปนเปในพื้นที่ และเมื่อคนในพื้นที่มีตำแหน่งทางราชการสูงขึ้นก็มักถูกย้ายออก นอกจากนี้เจ้าหน้าที่ก็ชอบเรียกคนมุสลิมว่า "ไอ้แขก"

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อ แพร ได้ศึกษาความสัมพันธ์ในแนวนอนหรือความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนด้วยกันเองนั้น กลับพบความสัมพันธ์ที่แตกต่างออกไป เด็กๆไม่ว่าจะเป็นไทยพุทธ หรือมลายูมุสลิมสามารถได้เรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันได้ในโรงเรียน และเป็นเพื่อนกันไปจนโต หรือการเป็นเพื่อนบ้านกันแม้ว่าต่างศาสนาแต่เวลามีพิธีกรรมของศานาก็จะไปร่วมในส่วนที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนา หากไปไม่ได้ก็จะมีส่วนร่วมผ่านการทำบุญ

 

ในตลาดเป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ไม่มีพรมแดนทางชาติพันธุ์ หากศึกษาย่อยลงไปในส่วนที่มลายูมุสลิมสัมพันธ์กับชาติพันธุ์จีนนั้นก็จะยิ่งเห็นว่ามีการผสมผสานทางวัฒนธรรม เช่นการมีตำนานเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว ซึ่งกล่าวถึงการแต่งงานของลิ้มโต๊ะเคี่ยมซึ่งเป็นชาวจีนอันเป็นชาติพันธุ์กลุ่มน้อยในพื้นที่ เป็นารแสดงถึงการผสมผสานวัฒนธรรมด้วยการแต่งงานข้ามชาติพันธุ์

 

ที่พิเศษไปกว่านั้นคือการทำการค้าของชาวจีนจะเป็นความสัมพันธ์อีกมิติหนึ่งโดยรู้ตัวว่าเป็นชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ ทำให้ต้องปรับตัวทางภาษาและสินค้า โดยชาวจีนในพื้นที่จึงสามารถพูดภาษามลายูท้องถิ่นได้ อีกทั้งสินค้าที่ขายก็จะเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชาวมุสลิม เป็นต้น

 

แพรสรุปผลการศึกษาว่า การเผยแพร่ความรู้ในมุมมองด้านดี อาจทำให้ทัศนคติที่มีต่อ 3 จังหวัดภาคใต้ลดลงได้บ้าง ความสัมพันธ์ในแนวตั้งที่มีความขัดแย้งนั้นมีมาตั้งแต่สมัยอดีต แม้รัฐมีนโยบายต่างๆก็แก้ไม่ได้ เพราะงานส่วนใหญ่มักพูดถึงแต่ปัจจัยภายนอก เช่น รัฐ ทุน โลกาภิวัตน์ ซึ่งบางครั้งต้องมองปัจจัยภายใน ด้วย เช่น การที่คนจีนส่งลูกไปเรียนหนังสือนอกพื้นที่ เมื่อกลับมาก็ไม่มีงานรองรับก็ต้องโยกย้ายไป หรือการที่อิสลามภายในพื้นที่เองก็มีสำนักคิดทั้งสายใหม่และสายเก่าที่ ตรงนี้ก็ควรศึกษาว่ามีผลต่อความสัมพันธ์ของชาติพันธุ์ต่างๆอย่างไร

 

ความหลากหลายของแต่ละกลุ่มก็มีการแบ่งแยกกันภายในกลุ่มย่อยอีกทีหนึ่ง จึงต้องมองด้วยว่ามีความสัมพันธ์กันเองอย่างไร สัมพันธ์กับภายนอกอย่างไร ถ้าถอดรื้อความหลากหลายนี้จะทำให้เข้าใจภาพใน 3 จังหวัดชัดเจนขึ้น

 

00000

คำถามที่ 3 งานวิจัยศึกษาในบริบทอะไร

 

ในข้อนี้ดูเหมือนว่า รศ.ดร.ชัยวัฒน์ จะเป็นผู้ตอบคำถามเองเองว่า งานวิจัยทั้งหมดกำลังศึกษาเรื่องทั้งหมดในบริบทความรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้น หากศึกษาในบริบทที่เหตุการณ์สงบอาจจะทำให้เรื่องเดียวกันได้ข้อมูลที่เปลี่ยนไป ดังนั้น คำถามต่อความจริงข้อมูลที่ได้ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ ผู้วิจัยที่ลงพื้นที่ก็เป็นสิ่งแปลกปลอมแม้จะเป็นคนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อนก็ยังทำงานลำบาก

 

ความเปลี่ยนแปลงทางบริบทนี้อาจมองผ่านงานของ รศ.ดร.รัตติยา สาและ ได้ ซึ่ง "ประชาไท" จะนำเสนอแยกออกไปในอีกตอนหนึ่ง เร็วๆ นี้

 

00000

คำถามสุดท้ายคือ งานวิจัยทำอะไร ?

 

ขอตอบคำถามประเด็นสุดท้าย ด้วยการกล่าวปิดการสัมมนาของ "ชัยวัฒน์ สถาอานันท์"

 

"หลายคนปรารถนาให้งานวิจัยตอบคำถาม ผมคิดว่ามันก็ตอบ เพียงแต่จุดสำคัญคือ บางทีนักวิชาการตอบคำถามด้วยคำถาม การตั้งข้อสงสัยใน 83 ปีที่ผ่านมา ในเรื่องเดิมมีความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ ถ้าไม่เปลี่ยนแปลงทำไมจึงเป็นอย่างนั้น ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะมีอะไรบางอย่างผิด ถ้ายังเชื่อว่าความมั่นคงนิยามโดยเอารัฐเป็นศูนย์กลางก็เกิดปัญหาอย่างที่เป็นในขณะนี้"

 

"เวลาบอกว่าศาสนาเกี่ยวหรือไม่กับสถานการณ์เป็นการตั้งคำถามให้เห็นว่ามองอย่างไร เวลาบอกว่ามุสลิมเป็นหนึ่งเดียวก็น่าสนใจว่าแปลว่าอะไร เราบอกว่าเรายึดมั่นกันในสายเชือก คำถามที่ผมชอบถามพี่น้องมุสลิมของผมคือ ถ้าจับเชือกเส้นเดียวกันสามารถยืนอยู่ที่เดียวกันได้หรือ ต้องยืนคนละที่จึงจับอย่างมั่นคงได้ มิฉะนั้นก็จะเหยียบกันและจะไม่สามารถยืนอย่างมั่นคงได้ ดังนั้นจะตีความคำอธิบายในอัล กุรอ่าน อย่างไร สังคมมุสลิมจะต้องเผชิญกับมัน แต่กล้าทำหรือไม่ ของพวกนี้คิดว่าเป็นโจทย์สำคัญ"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท