Skip to main content
sharethis


แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นรักษาการผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มีบทบาทสำคัญที่ทำให้ "นิติวิทยาศาสตร์" ในประเทศไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นจากการนำไปใช้ในการคลี่คลายคดีสำคัญๆ ได้หลายคดี ภายหลังจึงมีการผลักดันให้เกิดสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ขึ้นในกระทรวงยุติธรรม


 


อย่างไรก็ตาม "นิติวิทยาศาสตร์" กลับไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างจริงจัง แม้จะมีหน่วยงานตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วก็ตาม โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอำนาจรัฐ เพราะ "ความจริง" ที่ได้จากหลักฐานทางวิทยาศาสตร์อาจกลายเป็นสิ่งที่ "ผูกมัด" และ "สืบสาว" ไปถึง "ไอ้โม่ง" ผู้สั่งการเบื้องหลังได้


 


ในมุมมองของแพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ ผู้ใช้ "นิติวิทยาศาสตร์" แสวงความยุติธรรมมองว่า การขัดขวางไม่ให้หา "ความจริง" คือการคุกคามสังคมไทยอย่างน่ากลัว ที่สำคัญคือการคุกคามนั้นกำลังมาจากหน่วยงานราชการที่มีหน้าที่ต้องรักษาความยุติธรรม   


 


 


00000


ในฐานะผู้ทำงานพิสูจน์ความจริงด้วยนิติวิทยาศาสตร์เคยโดนคุกคามบ้างหรือไม่


การคุกคามในความหมายการเอาชีวิต คงเป็นเรื่องขู่เล่นๆ มากกว่า แต่ที่เจอบ่อยจะเป็นในลักษณะที่ไม่สนับสนุนการทำงาน มีการกลั่นแกล้งเยอะและหนักมากในช่วง 2 ปีมานี้ โดยเฉพาะในกระทรวงยุติธรรม


 


สาเหตุมาจากการพิสูจน์คดีหรือมาจากอะไร


เป็นลักษณะที่มีผู้หนึ่งไม่พอใจส่วนตัวแล้วก็ขยายผลต่อเนื่อง หลักๆ คือร่วมมือกันหลายระดับจึงไม่ใช่เรื่องคดี แต่เป็นภาพรวม ยกตัวอย่างง่ายๆ เกี่ยวกับการตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ หมอไม่ได้คิดขึ้นเอง แต่รัฐบาลประชาธิปัตย์เป็นคนจัดตั้ง ถ้าพรรคไทยรักไทยไม่ชอบก็เลิกได้ แต่เขาบอกให้ทำ เมื่อทำแล้วทั้งรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และหลายคนกลับทำเป็นประหนึ่งว่ามันเป็นอะไรที่ยุ่ง นี่คือภาพรวม


 


การทำคดีไม่มีใครคุกคาม แต่การคุกคามคือปล่อยให้โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติลุกขึ้นมาด่า ประจาน คนที่ปล่อยให้ออกมาทำแบบนี้ มีทั้งฝั่งเขาและฝั่งเรา การคุกคามที่น่ากลัวหรือรุนแรงที่สุดจึงมาจากระบบราชการ


 


จะส่งผลต่อการทำงานและสังคมไทยอย่างไร


สำหรับหมอมองว่าอาจจะทำให้เราตกใจได้ การแก้ไขจึงขึ้นกับตัวเราเองว่า มีธรรมมะอยู่หรือไม่ ถ้ามีธรรมะจะดึงหลายๆ อย่างออกมาจัดการได้ ในมุมส่วนตัวตอบได้ว่า ไม่ทำให้กระทบอะไรเลย ถึงวันนี้จะแกล้งร้องเรียนอีกยาวเท่าไรก็ไม่กลัวในเมื่อเรารู้ว่าเราไม่ได้ผิด แต่ตอนแรกยอมรับว่าอาจจะมีบ้าง


 


แต่ทางด้านถามในภาพสังคมนั้นกระทบ คือประหนึ่งว่าการพยายามที่จะทำให้เราต้องเลิกนั้นจะทำให้ระบบดีๆ ไม่สามารถทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ และถ้ามองให้ดีๆ ขนาดหมอยังโดนขนาดนี้ แล้วตัวเล็กๆ จะรอดหรือ


 


ช่วงนี้ทราบมาว่า หมอโดนสอบสวนอีก


เป็นเรื่องเก่า เรื่องราวที่เขาร้องดูไม่ยาก แต่กระบวนการที่เขาสอบสวนทำให้ดูยาก คือยาวเป็นปี และทำให้เป็นประเด็นอยู่เรื่อยๆ เช่น ใส่ความว่าเราทุจริต หมอเฉยๆ เพราะที่สุดแล้วมันจะพิสูจน์ตัวมันเอง แต่ที่สำคัญที่สุดกระทรวงยุติธรรมต้องระวัง ดับเบิ้ลสแตนดาร์ดในกระทรวงยุติธรรมจะเป็นสิ่งสำคัญ


 


อธิบายเพิ่มหน่อยทำไมกระทรวงยุติธรรมต้องระวัง


นอกจากการร้องเรียนต่อหมอแล้วก็มีกรณีร้องเรียนที่คล้ายๆ กัน แต่ไม่มีการดำเนินการหรือดำเนินการต่างออกไป อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมได้ตั้งกรรมการขึ้นหลายชุดมาก แต่เป็นบุคคลอื่นกลับไม่ทำทั้งๆ ที่เป็นกรณีแบบเดียวกัน มีการไม่รักษาข้อมูลความลับด้วย ปล่อยให้มีคนนอกเข้ามาเอาข้อมูลออกไปด่าว่า


 


เคยรายงานปลัดฯว่าให้ช่วยคุ้มครองหน่อยได้ไหม คือถ้าสอบสวนก็สอบไป ถ้าผิดก็ว่ากันไป แต่ไม่ใช่มาปล่อยข่าวโจมตีตลอดเวลา ปลัดฯตอบกลับมาว่า ผมก็ไม่รู้จะทำอย่างไร หรือบางคนถูกร้องชัดเจนแล้วเขาไม่ทำอะไรเลยก็มี


 


กระบวนการมันก็เหมือนเดิม แต่ความที่คุณภาพของคนแย่ลงก็เลยเป็นแบบนี้ สังคมอยู่ได้ด้วยหลัก 3 อย่าง หลักที่หนึ่งคือหลักศีลธรรม หลักที่สองคือหลักวัฒนธรรม หลักที่สามคือหลักกฎหมาย


 


แต่วันนี้สังคมยึดเอาหลักกฎหมายเป็นตัวหลัก ซึ่งตัวกฎหมายมีช่องโหว่ให้อ้างโน่นนี่ ส่วนหลักวัฒนธรรมก็เช่นข้าราชการแต่งตัวแบบหนึ่ง หมอแต่งอีกแบบหนึ่งแต่มันไม่ผิดศีลธรรมใช่หรือไม่ แล้วผู้ใต้บังคับบัญชาหาว่าผู้บังคับบัญชาทำอะไรไม่ถูก ตอนอยู่มหาวิทยาลัยเขาไม่มีปัญหา เพราะเป็นระบบคุณภาพ การมาก็ต้องผ่านการสรรหา อันนี้คือวัฒนธรรม


 


สำหรับหมอคิดว่าหลักศีลธรรมสำคัญที่สุด สังคมบอกว่ามันอ่อนแอ ตอนนี้มันไม่ใช่กฎหมายอ่อนแอ แต่คุณภาพคนต่างหากอ่อนแอ


 


ช่วงหลังเข้าไปเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ใน 3 จังหวัดภาคใต้ โดยเฉพาะกรณีตรวจสอบศพนิรนาม 400 ศพ เป็นอย่างไรบ้าง


ไม่โดนขู่โดยตรงแต่มีกระบวนการขวางตลอด สรุปก็คือไม่มีสัญญาณจากรัฐบาลทั้งๆ ที่เป็นนโยบาย สัญญาณที่ว่าก็เช่น งบประมาณ หรือการที่ทางผู้พิพากษาอนุญาตให้ขุดศพมาตรวจสอบ แต่ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีกลับไม่ให้เคลื่อนศพ เมื่อไม่ให้เคลื่อนศพก็ไม่รู้จะทำไปทำไม แต่หมอไม่ได้อารมณ์เสียนะ ศีลธรรมสำคัญที่สุดที่จะแก้ปัญหาตอนนี้ได้


 


เพราะไม่คิดกันเรื่องศีลธรรม ไปคิดเรื่องกฎหมาย ไปคิดเรื่องวัฒนธรรม เรื่องกฎหมายเช่น ไม่ได้ว่าอะไรเกี่ยวกับการฝังศพนิรนามแบบนี้ เพราะถือว่าทำถูกต้องแล้ว แต่ไม่ได้รู้ว่าทำดีหรือไม่ มีคุณภาพแค่ไหน ส่วนวัฒนธรรมก็มองว่า เป็นเรื่องของคนอื่นไม่ใช่เรื่องคนไทย แต่ถ้าถามเรื่องศีลธรรม มันผิด


 


ยังจับเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับภาคใต้อีกหรือไม่ เพราะเรื่องการตรวจศพนิรนามสะดุดไปแล้ว


เข้าไปทำเกี่ยวกับการสร้างเครือข่ายยุติธรรมชุมชน เพื่อให้พอจะช่วยเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนได้ เมื่อเขาร้องบอกมา เราก็ไปช่วยแสวงหาความยุติธรรมให้เท่าที่ทำได้ ก็อยากบอกพวกที่ขวางๆ ว่ามาสร้างความดีดีกว่า ดีกว่านั่งทำลายโครงการของหมอ


 


โดนขวางอย่างนี้การลงไปทำงานในพื้นที่ไม่ยากหรือ         


กับชาวบ้านเราไม่มีปัญหา แต่มีกับฝั่งราชการ เพราะเราไม่ได้ดีลกับเขา จึงมีการแอนตี้ หมอจึงใช้การทำงานภายใต้ร่มของกระทรวงยุติธรรม เมื่อมีภารกิจเราก็ไปตามเขา เราไม่ต้องไปเดินหน้าเอง เพราะถ้าเดินหน้าเองจะมีแรงต้าน มันเป็นกระบวนการพยายามทำไม่ให้เกิดการพัฒนางานของนิติวิทยาศาสตร์ แต่ท้ายที่สุดหากประชาชนไม่ต้องการ รัฐบาลไม่ต้องการ ก็ไม่เห็นจะต้องมานั่งทำ ก็มีอย่างอื่นไปทำต่อ ประเทศไทยยังมีที่ให้ทำความดีอีกเยอะ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net