Skip to main content
sharethis

 



ภาพจากหนังสั้นเรื่อง "เพียงความธรรมดาของเส้น"


 


ภาสกร อินทุมาร


ที่ปรึกษาโครงการประกวดภาพยนตร์ขนาดสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์"


 


ท้ายเรื่อง


การปรากฏขึ้นของ "หนังสั้นสมานฉันท์" และการนำหนังเหล่านี้ไปฉายและเปิดเวทีเสวนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ก็ได้ก่อให้เกิดมุมมองที่หลากหลายต่อสิ่งที่หนังนำเสนอ ดังเช่นความเห็นของ ศาสตราจารย์ ดร. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่มีขึ้นเมื่อครั้งที่หนังสมานฉันท์ได้ถูกนำไปฉาย ณ มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และความเห็นดังกล่าวก็ปรากฏใน "ประชาไท" เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา


 


ก่อนหน้านี้ หนังสมานฉันท์ได้มีโอกาสไปเยือนมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปัตตานี ซึ่งที่นั่นได้มีความเห็นของอาจารย์ที่ทำหน้าที่วิทยากรในเวทีเสวนา 2 ท่าน และหนึ่งในนั้นเป็นมุสลิมว่า เมื่อมองภาพรวมของหนังแล้วไม่ชัดเจนว่าหนังกำลังพูดเรื่องอะไร คำพูดที่อาจารย์พูดก็คือ "มันไม่ชัดเจน เหมือนกับบทบาทของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์ (กอส.) นั่นแหละ" รวมทั้งมีความเห็นต่อรายละเอียดต่างๆที่เปราะบาง (sensitive) และควรระวัง เพราะบางคำพูดและบางการกระทำของตัวละครในหนังอาจจะไปผลิตซ้ำ "อัตลักษณ์ที่ถูกกำหนด" (imposed identity) ของคนมุสลิม ส่วนนักศึกษาก็ได้ร่วมแสดงความเห็นมากมาย ซึ่งโดยรวมแล้วนักศึกษาทั้งพุทธและมุสลิมที่แสดงความเห็นมีความรู้สึกที่ดีต่อหนังค่อนข้างมาก บางคน "in" กับบางเรื่องพอสมควร ความเห็นโดยรวมของนักศึกษาก็คือเห็นว่าหนังได้สะท้อนปรากฏการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ ไม่ใช่เฉพาะแค่เรื่องภาคใต้ แต่เป็นปรากฏการณ์ของความขัดแย้งในสังคม ที่ทำให้เกิดการคิดต่อ


 


บทเรียนสำคัญที่เกิดขึ้นจากการไปฉายหนังที่ปัตตานี ก็คือเรื่องความระวังไวทางวัฒนธรรม (cultural sensitivity) ว่าต้องระวังแค่ไหนจึงจะเหมาะและจึงจะพอ เพราะที่ผ่านมานั้นดูเหมือนว่าจะไม่เคยพอเลยจริงๆ นอกจากนี้ยังมีเรื่องการปะทะกันระหว่าง "ความจริง" (reality) ของหนัง กับความจริงของคนดู ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นเรื่องที่คนทำหนังต้องคิดต่อว่าความจริงทั้งสองชุดมันจะมาเจอกันได้ตรงไหน บางคนอาจจะไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เช่นบางคนอาจคิดว่าหนังคือการนำเสนอความคิดคำนึงของคนทำหนัง ถ้าคิดเช่นนี้ก็คงไม่ต้องคำนึงถึงความจริงของคนดู แต่ถ้าหากคิดว่าหนังจะเป็นหนทางในการสร้างบทสนทนาทางสังคม (social dialogue) ก็คงต้องคำนึงถึงความจริงของคนดู ซึ่งในที่สุดก็มีประเด็นต่อเนื่องติดตามมา ก็คือว่าความจริงของคนดูก็ไม่ได้มีชุดเดียว...


 



 ภาพจากหนังสั้นเรื่อง "ธาดา"


กลางเรื่อง


โครงการประกวดภาพยนตร์ขนาดสั้น ชุด "บ้านใกล้เรือนเคียง" หัวข้อ "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" หรือ โครงการ "หนังสั้นสมานฉันท์" เป็นโครงการที่เกิดจากการทำงานร่วมกันระหว่าง คณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.), นิตยสาร Bioscope, Action AID Thailand, กลุ่มสื่อเมือง (Urban Media Society), โครงการจัดตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะเพื่อการเคลื่อนไหวทางวิชาการและสังคม (PUDSA), มันตาศิลปะการแสดง, และชมรมหนังสั้นแห่งประเทศไทย (Thai Short Film) โดยมีเป้าหมายในการสร้างกระบวนการเรียนรู้ และการสร้างเครื่องมือสื่อสารความคิด เรื่องการดำรงอยู่ของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายในทางวัฒนธรรม (cultural diversity) อันจะนำไปสู่การทำความเข้าใจเรื่องอยู่ร่วมกันอย่างสันติและสมานฉันท์ในสังคม (peaceful society) โดยมีกระบวนการประกวดหนังขนาดสั้นเป็นช่องทาง (channel) ในการสร้างการเรียนรู้และผลิตเครื่องมือดังกล่าว


 


การสร้างการเรียนรู้ในเชิงประเด็นเริ่มต้นขึ้นเมื่อโครงการฯผลิตหนังสือ "เธอกับฉันและคนอื่นๆ: หนังว่าด้วยการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายและคลี่คลายความขัดแย้งด้วยสันติวิธี" เพื่อเผยแพร่ผ่านนิตยสาร Bioscope รวมทั้งเพื่อแจกจ่าย ทั้งนี้เพื่อเป็นการจุดประกายความคิดในเรื่องสมานฉันท์ผ่านการทำความเข้าใจหนังจากประเทศต่างๆ ตลอดจนมีการนำเสนอพัฒนาการของโครงการฯเป็นระยะๆ ผ่านนิตยสาร Bioscope ซึ่งเป็นองค์กรร่วมจัด ในการนี้ ได้ทำให้มีผู้สนใจที่จะผลิตหนังสมานฉันท์ถึง 308 กลุ่ม


 


ขั้นตอนถัดมา คือการมองหาความชัดเจนของการทำความเข้าใจเรื่องสมานฉันท์ของผู้เข้าประกวด 30 กลุ่ม ที่ผ่านการคัดเลือกในรอบแรก ขั้นตอนนี้เป็นการใช้การสัมภาษณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องสมานฉันท์กับผู้เข้าประกวด เพื่อให้ผู้เข้าประกวดสร้างความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว



 


ขั้นตอนสำคัญของการสร้างการเรียนรู้ในเชิงประเด็น เกิดขึ้นเมื่อผู้ที่ได้รับการคัดเลือกให้ผลิตหนัง 11 กลุ่มสุดท้ายที่มาจากกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางการศึกษา วิชาชีพ มุมมองทางสังคม และประสบการณ์ในการผลิตหนัง ได้เข้ามาเรียนรู้ร่วมกันในการอบรมเชิงปฏิบัติการ (workshop) ที่คณะทำงานจัดขึ้น โดยความมุ่งหมายของการอบรมฯนั้น ก็คือความพยายามในการสร้างเสริม เพิ่มเติม และแลกเปลี่ยนมุมมองในเรื่องสันติวิธี สมานฉันท์ วาทกรรมว่าด้วยเรื่องความเป็นอื่น (discourse of the otherness) และการระวังไวในทางวัฒนธรรม (cultural sensitivity)


 


การสร้างการเรียนรู้ดังที่กล่าวข้างต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนของการอบรมเชิงปฏิบัติการ ได้ทำให้ผู้เข้าประกวดจำนวนมากเกิดความเปลี่ยนแปลงในมุมมองเรื่องความขัดแย้ง ความสมานฉันท์ ความเป็นอื่น และเรื่องการระวังไวทางวัฒนธรรม กล่าวคือ ผู้เข้าประกวดหลายคนกล่าวว่า ก่อนที่จะเข้ามาในโครงการฯ ตนเองมองเรื่องดังกล่าวจากจุดยืนของตนเอง โดยที่ไม่เคยสังเกตว่าการมองจากจุดยืนของตนเองจะไปกระทบกระเทือน หรือสร้างความเป็นอื่นให้กับจุดยืนอื่นๆ รวมทั้งมีการมองการแก้ไขความขัดแย้งและการสร้างความสมานฉันท์ในลักษณะพื้นผิว เช่น การมองว่าเพียงแค่ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันความสมานฉันท์ก็จะเกิดขึ้น เป็นต้น แต่การผ่านการอบรมฯในครั้งนี้ ได้ทำให้ผู้เข้าประกวดจำนวนมากมองเห็นถึงความซับซ้อนของความขัดแย้ง และเข้าใจว่าการสร้างความสมานฉันท์นั้น ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงแค่การบอกให้คนทำความเข้าใจกัน เพราะความขัดแย้งระหว่างหน่วยต่างๆในสังคม มีโครงสร้างทางสังคมกำกับอยู่อีกชั้นหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างที่ว่านี้ก็มีในหลากหลายระดับและมิติ ผู้เข้าประกวดจำนวนหนึ่งกล่าวว่า การเข้าใจเช่นนี้ ได้ทำให้ความคิดความเชื่อชุดเดิมที่เคยมีมาเกิดการ "แกว่ง" จนกระทั่งบางคนพบว่า ในช่วงแรกของการรับรู้นั้น เขาไม่สามารถจัดการกับความเข้าใจชุดใหม่ที่เข้ามาได้ แต่อย่างไรก็ดี อาการแกว่งเช่นนี้ถือเป็นการดี เพราะทำให้เขาเกิดกระบวนการคิดต่อ และระวังไว (sensitive) กับสิ่งที่ตนคิดมากขึ้น เป็นการทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "การคิดอย่างสร้างสรรค์" (creative thinking) ในกลุ่มผู้เข้าประกวด ดังจะเห็นได้จากการที่ผู้เข้าประกวดหลายๆกลุ่มพยายามสร้างการเปลี่ยนแปลงในเนื้อเรื่องที่นำเสนอเพื่อที่จะไม่สร้างผลกระทบในทางที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น


 


นอกเหนือจากกระบวนการเรียนรู้ที่โครงการฯจัดขึ้นแล้วนั้น การเรียนรู้ยังเกิดขึ้นจากความแตกต่างหลากหลายของทั้ง 11 กลุ่ม ทั้งนี้เป็นเพราะแต่ละกลุ่มได้เรียนรู้มุมมองที่แตกต่างจากผู้เข้าประกวดด้วยกันทั้งในเวทีที่โครงการฯจัดขึ้น และจากการแลกเปลี่ยนสนทนากันเองนอกเวที ดังนั้น ความหลากหลายของพื้นฐานทางการศึกษา วิชาชีพ จุดยืนทางการเมือง ศาสนา ฯลฯ ของผู้เข้าประกวดเอง รวมทั้งกระบวนการของโครงการฯที่เอื้อให้คนที่หลากหลายทั้ง 11 กลุ่มได้มีโอกาสพบปะและแลกเปลี่ยนมุมมองกันเช่นนี้ เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของการเรียนรู้ และความหลากหลายเช่นนี้ก็ยังสะท้อนให้เห็นถึงความคิดหลักของโครงการฯ ซึ่งก็คือการดำรงอยู่ร่วมกันของความแตกต่าง


 



ภาพจากหนังสั้นเรื่อง "เด็กชายแฮมเบอร์เกอร์"


 


ต้นเรื่อง


เมื่อหนังทั้ง 11 เรื่อง และหนังรับเชิญอีก 1 เรื่อง ได้เริ่มปฏิบัติหน้าที่ของตนในพื้นที่สาธารณะ ดังเช่นการตระเวนฉายและเปิดเวทีเสวนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ หนังเหล่านี้ก็ได้ทำให้เกิดเสียงสะท้อนที่แตกต่างหลากหลายขึ้น เสียงเหล่านี้ มีทั้งเสียงที่แสดงความนิยมต่อโครงการฯและผู้เข้าประกวดทุกคน ที่ได้ร่วมกันพยายามสร้างบทสนทนาทางสังคม (social dialogue) ว่าด้วยเรื่องความขัดแย้งและความสมานฉันท์ โดยที่ถึงแม้หนังแต่ละเรื่องหรือแม้แต่ภาพรวมของหนังทุกเรื่องจะยังไม่มีคำตอบเรื่องสมานฉันท์ก็ตาม ขณะที่บางเสียงก็ได้สะท้อนแง่มุมที่แตกต่างออกไป ว่ายังไม่เข้าใจว่าหนังเหล่านี้กำลังพูดอะไรกับสังคม รวมทั้งบางเสียงก็เห็นว่ารายละเอียดบางช่วงบางตอนของหนังบางเรื่องก็ได้ไปตอกย้ำ หรือผลิตซ้ำมูลเหตุแห่งความขัดแย้งที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้


 


คำถามที่เกิดขึ้นก็คือ เราต้องการให้หนังเหล่านี้ทำหน้าที่อะไร และต้องการให้โครงการประกวดสร้างอะไรให้เกิดขึ้นในสังคม หากเราต้องการให้หนังและโครงการประกวดสร้างคำตอบเรื่องหนทางในการสร้างความสมานฉันท์ในสังคม คำตอบที่ได้ก็คือหนังเหล่านี้คงไม่สามารถทำหน้าที่นี้ได้ และโครงการประกวดก็คือความล้มเหลว แต่หากเราคาดหวังให้โครงการประกวดทำหน้าที่สร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้สร้างหนัง และหนังที่ผลิตขึ้นทำหน้าที่เปิดประเด็น หรือสร้างคำถามเพื่อให้สมาชิกในสังคมได้เกิดการแลกเปลี่ยนสนทนา และเกิดการคิดต่อเพื่อที่จะแสวงหาหนทางแห่งความสมานฉันท์ โครงการฯและหนังเหล่านี้ก็ได้เริ่มทำหน้าที่นี้แล้ว


 


และเมื่อคำนึงถึงความจริงที่ว่า เมื่อมีการจัดฉายหนังเหล่านี้ในแต่ละครั้ง ได้เกิดมีผู้คนในสังคม ทั้งที่เป็นนักวิชาการ นักศึกษา นักพัฒนาสังคม ได้แสดงเจตจำนงที่จะนำหนังเหล่านี้ไปสร้างการแลกเปลี่ยนสนทนาให้ขยายวงกว้างนอกเหนือขอบเขตของโครงการฯออกไป ก็ทำให้มองเห็นได้ว่า การเดินทางของหนังเหล่านี้ แท้จริงนั้นเพิ่งจะได้เริ่มต้นขึ้น...


 


 


 


000000000000000


 


อ่าน "นิธิ" วิจารณ์หนังสั้นสมานฉันท์ "หนังต้องพูดอะไรที่ตรงกับปัญหาความเป็นจริงของสังคม"


http://tinyurl.com/gh2sc


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net