Skip to main content
sharethis

โดย  สุทธิดา มะลิแก้ว


 


 


3 ทศวรรษ สายสัมพันธ์บนเส้นทางที่ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ


หากจะถือเอาตัวเลขการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นระหว่างคนของสองประเทศมาเป็นตัวชี้วัดความก้าวหน้าทางความสัมพันธ์แล้วละก็ อาจนับได้ว่าไทยกับเวียดนามนั้นมีความสัมพันธ์กันมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นับตั้งแต่วันที่เริ่มสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี  1976 จนครบรอบ 30 ปีในปีนี้ (2006)


 


จากสถิติตัวเลขการท่องเที่ยวที่เป็นทางการพบว่า ผู้คนของทั้ง 2 ประเทศเดินทางไปมาระหว่างกันเพิ่มสูงขึ้นมากหลังจากมีการยกเว้นวีซ่าเข้าประเทศให้แก่กันและกัน แม้ตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวเวียดนามที่เข้ามาเที่ยวประเทศไทยจะมากกว่าฝ่ายไทยไปเวียดนามอยู่บ้าง แต่ตัวเลขของคนไทยที่เดินทางไปเวียดนามนั้นก็เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 


 


ยกตัวอย่าง ปี 1999  ที่ยังไม่มีการยกเว้นวีซ่าระหว่างประเทศ ชาวเวียดนามเดินทางมาไทย 44,947 คน ในขณะที่ไทยเข้าไปยังเวียดนาม 19,410 คน ต่อมาในปี 2000 ซึ่งมีการยกเว้นวีซ่าเป็นปีแรก ชาวเวียดนามเดินทางเข้าประเทศไทย 45,485 คน ในขณะที่ไทยเดินทางไปเวียดนามเพิ่มเป็น 26,366 คน  จนกระทั่งปี 2005 ชาวเวียดนามเดินทางมาไทยมากถึง 199,243 คน และคนไทยเดินทางไปยังเวียดนามเพิ่มขึ้นถึง 84,100 คน


 


แน่นอน ตัวเลขการท่องเที่ยวพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบถึงความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชนของทั้งคู่  แต่ก็ต้องยอมรับว่านโยบายของรัฐบาลนั้นมีผลทำให้คนไทยและคนเวียดนามได้มีโอกาสเดินทางไปมาหาสู่กันได้มากขึ้น มีการเรียนรู้เรื่องสังคมและวัฒนธรรมกันมากขึ้น รวมทั้งนักลงทุนไทยก็หันมาสนใจตลาดเวียดนามมากขึ้น


 


ในระดับภาคประชาชนเองนั้น พัฒนาการของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้คนไทยเชื้อสายเวียดทุกวันนี้กล้าหรือออกจะภูมิใจด้วยซ้ำที่ได้บอกว่ามีเชื้อสายเวียด   เคยเห็นร้านอาหารเวียดนามในจังหวัดอุบลฯ หรือธุรกิจบางอย่างที่คนเวียดนามเป็นเจ้าของนอกจากป้ายหน้าร้านจะเป็นภาษาไทยแล้วยังมีภาษาเวียดนามด้วย หรืออย่างน้อยก็เขียนเป็นภาษาไทย แต่ใช้ชื่อเป็นภาษาเวียดนามควบคู่ไปกับภาษาไทยซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ ต่างจากอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนที่ไม่มีคนเหล่านี้ไม่กล้าที่จะแสดงตัวมากนัก เพราะหวั่นเกรงว่าจะเดือดร้อน


 


แต่กว่าที่คนทั้งสองชาติจะคลายความคลางแคลงใจต่อกันลง และมีความร่วมมือกันในเรื่องต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนนั้น ต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย พบกับความล้มลุกคลุกคลานกันมาหลายต่อหลายครั้ง


 


ขอย้อนกลับไปพูดถึงความสัมพันธ์ในอดีตระหว่างไทยกับเวียดนามเสียก่อน ที่จริงแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามมีมาตั้งแต่โบราณ และมีหลายครั้งในประวัติศาสตร์เวียดนามที่ชาวเวียดนามจำนวนมากเดินทางลี้ภัยเข้ามาอยู่ในประเทศไทยเมื่อเกิดความเดือดร้อนหรือภัยพิบัติขึ้นในประเทศ  เช่น ช่วงที่ต่อสู้กับฝรั่งเศส ช่วงเกิดทุพภิกขภัย ครั้นสงครามสงบหรือบ้านเมืองเป็นสุขคนเหล่านั้นก็กลับไปยังประเทศ แต่มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทย ดังที่เราจะเห็นว่ามีชุมชนเวียดนามอยู่ตามที่ต่างๆ มากมาย เข้าใจว่าคงเป็นรุ่นลูกรุ่นหลานที่เกิดในเมืองไทยเป็นส่วนใหญ่


 


แต่สิ่งที่เวียดนามยังจำได้และซาบซึ้งใจอยู่ก็คือ การที่ประเทศไทยเคยเป็นที่พักพิงให้กับลุงโฮ หรือ โฮจิมินห์ วีรบุรุษของชาวเวียดนามก่อนที่จะกลับไปรวบรวมประเทศให้เป็นหนึ่งเดียว


 


สำหรับคนไทย การเริ่มต้นรู้จักเวียดนามกลับผ่านตำราเรียนประวัติศาสตร์ที่พูดถึงสงครามระหว่างไทยกับเวียดนามเมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว และต่อมาในความสัมพันธ์ยุคใหม่ก็ยังรู้จักผ่านสงครามอีก เมื่อไทยได้ร่วมกับอเมริกาไปรบกับเวียดนามในช่วงสงครามอินโดจีน ภาพที่ไทยมองเห็นเวียดนามจึงเป็นคอมมิวนิสต์ที่โหดร้ายตามภาพที่ถูกโฆษณาชวนเชื่อโดยฝ่ายอเมริกา ดังนั้น จึงไม่แปลกที่คนไทยจะเต็มไปด้วยภาพหลอนเรื่องความน่ากลัวของคอมมิวนิสต์ และพลอยทำให้ไม่วางใจชาวเวียดนามไปด้วย


 


เมื่อสงครามยุติลง เวียดนามสามารถรวมเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้เข้ามาเป็นเวียดนามเดียวได้ในปี 1975 รัฐบาลเฉพาะกาลของเวียดนามได้ส่งคณะผู้แทนเข้ามาขอเจรจากับไทยเพื่อปรับสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน ด้วยเหตุว่าในช่วงระหว่างสงครามนั้นไทยได้มีส่วนร่วมกับสหรัฐฯ ทำสงครามกับเวียดนาม ดังนั้นเวียดนามจึงเรียกร้องให้ไทยรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นจากสงครามเวียดนามด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ไทยรับไม่ได้ การเจรจาครั้งนั้นจึงไม่เป็นผล


 


ทว่า ความหวังของประเทศทั้งสองที่จะสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตต่อกันนั้นยังไม่หมดไปเสียทีเดียว เมื่อรัฐบาลไทยภายใต้การนำของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช  ได้กำหนดนโยบายที่จะเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้านในอินโดจีน โดยวันที่ 3-6 สิงหาคม พ.ศ. 2519 รัฐบาลไทยได้ส่งคณะผู้แทนไทย นำโดยนายพิชัย รัตตกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายอานันท์ ปันยารชุน ซึ่งเป็นปลัดกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้น เดินทางไปเจรจาเพื่อเปิดความสัมพันธ์ทางการทูตเป็นรอบที่ 2 ตามคำเชิญของเวียดนาม


 


กระนั้น กว่าที่การเจรจาจะสำเร็จลงได้ ก็เรียกได้ว่า เต็มไปด้วยเงื่อนไขที่ต่างฝ่ายต่างเรียกร้องต่อกัน ในหนังสือชื่อ ไทยกับเพื่อนบ้านอินโดจีน เขียนโดย ขจัดภัย บุรุษพัฒน์ อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ตีพิมพ์เมื่อปีพ.ศ. 2531 เขียนเอาไว้ว่า ในการเจรจาครั้งนั้นเต็มไปด้วยความรุนแรงเพราะต่างได้แต่ยืนยันข้อเรียกร้องของตนเองจนแทบจะไม่สามารถเจรจากันได้สำเร็จ แต่แล้วในที่สุดเมื่อตั้งคำถามขึ้นมาว่า "เราสองประเทศจะเปิดความสัมพันธ์กันหรือไม่ เรื่องอื่นก็ตกไป" โดยประเด็นอื่นๆ นั้นได้นำมาเจรจากันต่อในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมในครั้งต่อไป


 


ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการจึงเริ่มต้นขึ้นเมื่อมีการลงนามสถาปนาความสัมพันธ์กันเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 1976 นั่นเอง


 


แม้จะมีการสถาปนาทางการทูตกันแล้ว แต่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามก็ยังไม่ราบรื่นนัก เนื่องจากอยู่กันบนแนวคิดคนละขั้ว ช่วงนั้นนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในประเทศไทยเข้มข้นมาก มีภาพโฆษณาชวนเชื่อที่แสดงให้เห็นถึงความโหดร้ายของโลกคอมมิวนิสต์ และความสวยงามในโลกเสรีเพื่อขู่ให้คนเกลียดกลัวคอมมิวนิสต์ปรากฏอยู่ทุกแห่ง โดยข้อมูลข่าวสารที่ได้รับนั้นล้วนเป็นข้อมูลจากตะวันตก โดยเฉพาะอเมริกา ที่แน่นอนว่าเป็นศัตรูตัวสำคัญของเวียดนาม จึงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้คนไทยไม่สามารถจะรู้จักเวียดนามที่แท้จริงได้


 


ในช่วงเวลานั้น ชุมชนเวียดนามที่อยู่ในประเทศไทยเองก็ค่อนข้างจะอยู่อย่างยากลำบาก เพราะเต็มไปด้วยความหวาดระแวงจากคนท้องถิ่นและฝ่ายความมั่นคงของรัฐไทย ข่าวลือเรื่องเลวร้ายต่างๆ เกี่ยวกับคนเวียดนามเล่าก็มีมากมาย แม้กระทั่งร้านอาหารเวียดนามก็แทบจะทำมาหากินไม่ได้


 


ความตึงเครียดกลับมาสู่ภูมิภาคอีกในปี 1979 เมื่อเวียดนามดำเนินนโยบายแทรกแซงการเมืองภายในกัมพูชา ประเทศไทยซึ่งมีชายแดนติดกับกัมพูชาได้รับผลกระทบโดยตรงจากการรบพุ่งดังกล่าว รวมถึงปัญหาการหลั่งไหลของผู้พลัดถิ่น จากเหตุการณ์นี้ทำให้ความสัมพันธ์ไทย-เวียดนามต้องหยุดชะงักลงอีกครั้งหนึ่งกินเวลายาวนานถึง 10 ปี เนื่องจากประเทศไทยได้รณรงค์ร่วมกับอาเซียนและนานาชาติเพื่อต่อต้านการยึดครองกัมพูชา ขณะที่เวียดนามก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก           


 


ต่อมาในปี 1989  เมื่อเห็นว่าปัญหาในกัมพูชามีแนวโน้มจะคลี่คลายไปในทางที่ดี ตัวแทนจากรัฐบาลไทยโดย พล.อ.อ.สิทธิ เศวตศิลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในขณะนั้นจึงได้เดินทางเยือนเวียดนามในเดือนมกราคม 1989  เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทวิภาคีและหารือเรื่องการวางรากฐานของสันติภาพในภูมิภาค และเวียดนามก็ได้ประกาศถอนทหารจากกัมพูชาในเดือนกันยายนปีเดียวกันนั้นเอง


 


หลังจากนั้นมาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนามก็ดูเหมือนจะพัฒนาดีขึ้นอีกครั้งหนึ่ง มีการเยือนของผู้นำระดับสูงครั้งสำคัญๆ อยู่หลายครั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างปี 1989 - 1992  รวมทั้งมีการเจรจาเพื่อวางรากฐานความร่วมมือในอนาคต โดยมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมทางเศรษฐกิจ ลงนามในความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน และมีบันทึกความเข้าใจในความร่วมมือด้านก๊าซธรรมชาติด้วย


 


ช่วงนี้เองที่อาจเรียกได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยกับเวียดนามมีความคึกคักตื่นตัวเป็นพิเศษ เนื่องจากพล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ประกาศและดำเนินนโยบายเปลี่ยนแปลงอินโดจีนจากสนามรบเป็นสนามการค้าและมุ่งให้ความสำคัญเป็นพิเศษต่อการติดต่อกับเวียดนาม นักลงทุนจากไทยก็เริ่มขยายพื้นที่การลงทุนไปที่เวียดนามกันมากขึ้น และปีต่อๆ มาก็มีการแลกเปลี่ยนการเยือนระดับสูงกันบ่อยครั้ง เป็นการเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ที่พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ


 


จนมาถึงวันนี้เรียกได้ว่า ไทยและเวียดนามนั้นมีความสนิทสนมเป็นเพื่อนบ้านที่ค่อนข้างใกล้ชิดกัน แม้พรมแดนไม่ได้ติดต่อกัน ประเทศไทยมองเห็นเวียดนามเป็นทั้งคู่แข่ง คู่ค้า แต่แน่นอนว่าทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานการเป็นมิตรที่ดีต่อกัน  


 


การเปิดสอนภาษาของทั้งสองประเทศในระดับมหาวิทยาลัยที่มีมากขึ้น อาจเป็นอีกหนึ่งสิ่งสะท้อนพัฒนาการความสัมพันธ์  อีกทั้งทางไทยยังมีโครงการพัฒนาหมู่บ้านมิตรภาพไทย-เวียดนามขึ้นที่บ้านนาจอก จังหวัดนครพนมซึ่งเป็นหมู่บ้านที่ลุงโฮเคยมาอาศัยอยู่ในช่วงลี้ภัยสงครามอินโดจีนเพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์-วัฒนธรรม


 


และเพื่อเป็นการสนับสนุนมิตรภาพระหว่างไทยและเวียดนาม เนื่องในโอกาสครบรอบ ๓o ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-เวียดนาม โดยทางกระทรวงการต่างประเทศร่วมกับจังหวัดนครพนม กำลังจัดทำ e-library ที่หมู่บ้านดังกล่าว และคณะกรรมการประชาชนกรุงฮานอยร่วมกับจังหวัดนครพนม กำลังดำเนินการสร้างโรงเรียนสอนภาษาเวียดนามที่หมู่บ้านแห่งนี้ด้วย


 


สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้เป็นผลจากการที่ระดับรัฐบาลได้สร้างบรรยากาศให้ผ่อนคลายขึ้น ทำให้ความสัมพันธ์ภาคประชาชนดีขึ้นด้วย กระนั้น กว่าความสัมพันธ์จะก้าวมาถึงวันนี้ได้ต้องใช้เวลาไม่ใช่น้อยและเส้นทางไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ดังนั้น มิตรภาพจึงเป็นสิ่งที่พึงสงวนรักษายิ่ง


 


แม้ว่าการเริ่มต้นของความสัมพันธ์อาจจะไม่ราบรื่นนัก ประวัติศาสตร์หลายๆเรื่องก็ทำให้เรามีอคติต่อกัน แต่คนเรานั้นก็ควรเรียนรู้ประวัติศาสตร์เป็นบทเรียนเพื่อแก้ไขความผิดพลาดในอดีต ไม่ใช่เพื่อจะติดยึดอยู่กับอดีต อีกทั้งยังต้องมองบริบทความเป็นอยู่ในปัจจุบันว่าเราควรจะปฏิบัติต่อกันอย่างไร หรือรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างไร เพื่อนำไปสู่ความรุ่งโรจน์ รวมไปถึงสันติสุขของประชากรของประเทศในอนาคต


 


 


 


 


ติดตามอ่าน ตอนที่ 2 "ก้าวที่กล้าของเวียดนาม" ได้ในวันพรุ่งนี้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net