Skip to main content
sharethis

ตามที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเขต อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน เมื่อวันที่ 13 ส.ค.และ วันที่ 22 ก.ย.2548 โดยได้เกิดน้ำป่าไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและไร่นาของราษฎรถึง 2 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวยังได้ทำให้โคลนถล่ม พัดพากรวดหินดินทรายจากภูเขาไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านจนได้รับความเสียหายอย่างหนัก


 


นายใจ อินยา วัย 79 ปี ชาวบ้านบ้านแม่ฮี้ ต.แม่ฮี้ อ.ปาย ซึ่งเป็นข้าราชการบำนาญ เปิดเผยกับ "ประชาไท" ว่า หลังจากเมื่อวันที่ 13 ส.ค.ปีที่แล้วเกิดฝนตกหนักและมีน้ำป่าไหลหลาก ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมในเขตพื้นที่อ.ปาย โดยเฉพาะพื้นที่ทำการเกษตรในเขต ต.แม่นาเติง ต.แม่ฮี้ และ ต.เมืองแปง น้ำป่าได้พัดพาดินหินทรายไหลเข้าท่วมนาข้าวของชาวบ้านจนได้รับความเสียหายเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นในวันที่ 22 ก.ย.ปีเดียวกันก็เกิดน้ำท่วมหนักซ้ำอีกครั้ง ซึ่งจากน้ำท่วมใหญ่ทั้งสองครั้ง ทำให้เกษตรกรได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะนาข้าวได้รับความเสียหาย หนำซ้ำทุ่งนายังเต็มไปด้วยหินทรายกองเต็มไปหมด ทางการได้เข้ามาช่วยเหลือโดยมีการจัดสรรงบประมาณจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย


 


"แต่ทางการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายให้เฉพาะผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรอบสอง โดยจ่ายให้เกษตรกรไร่ละ 7,000 บาท และจ่ายให้รายละไม่เกิน 5 ไร่ ขณะที่ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วมในรอบแรกกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ ไม่ได้รับค่าชดเชยความเสียหายแต่อย่างใด ซึ่งสร้างความแปลกใจว่า ทำไมไม่ช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมรอบแรกก่อน อย่างน้อยก็ขอให้พวกเขาได้มีเงินซื้อข้าวกินกันบ้าง"


 


เมื่อชาวบ้านได้ไปร้องเรียนสอบถามกับทางอำเภอก็ได้รับคำตอบว่า เนื่องจากงบประมาณซีอีโอของจังหวัดมีเพียง 50 ล้านบาทเท่านั้น ไม่เพียงพอ ต้องรองบกลาง และล่าสุดมีรายงานว่า กรมส่งเสริมการเกษตรฯ ได้อนุมัติงบประมาณแล้วจำนวน 11 ล้านบาท และได้สั่งการให้ทางจังหวัดและสำนักงานเกษตรจังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งบัญชีรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม โดยจะทำการโอนงบให้ในวันที่ 26 มิ.ย.2549 เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป


 


"แต่จนถึงวันนี้ ไม่รู้ว่าเงินก้อนนี้อยู่ที่ไหน ชาวบ้านยังไม่ได้รับเงินค่าชดเชยแต่อย่างใด ทั้งที่เป็นปัญหาเร่งด่วนของชาวบ้าน น้ำท่วมปีที่แล้ว กระเทียมก็ไม่ได้สักหัว ข้าวก็ไม่ได้สักเม็ด หนำซ้ำปีนี้ ก็ทำนาปลูกข้าวไม่ได้ เพราะมีแต่ดินหินทราย หญ้าไมยราบยักษ์เต็มไปหมด ทำไมรัฐไม่เร่งแก้ไขปัญหาของชาวบ้าน" นายใจ กล่าวทิ้งท้าย


 


ในขณะที่ชาวบ้านในเขต ต.แม่นาเติง คนหนึ่ง(ขอสงวนชื่อ) ได้ร้องเรียนกับ "ประชาไท"ว่า อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ลงมาทำการตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมในระดับพื้นที่ เพราะเชื่อว่ามีการทุจริตในเรื่องงบประมาณจ่ายค่าชดเชยเกษตรกรที่ถูกน้ำท่วมในครั้งนี้


 


"ชาวบ้านเห็นความไม่ชอบพากลในพื้นที่อำเภอปาย ซึ่งมีผู้นำชุมชน ตั้งตั้งแต่ระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐบางกลุ่มมีการทำรายงานเท็จ แอบส่งรายชื่อชาวบ้านซึ่งไม่ได้เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมพื้นที่ทำการเกษตร โดยเจ้าตัวไม่รู้ ไปขอค่าชดเชยไร่ละ 7,000 บาท ซึ่งถือว่าเป็นการทุจริตอย่างแน่นอน จึงอยากขอให้ผู้มีอำนาจได้ลงมาตรวจสอบด้วย"


 


ด้าน นายพงษ์พิพัฒน์ มีเบญจมาศ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำ จ.แม่ฮ่องสอน กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วม อ.ปาย เมื่อปี 2548 ที่ผ่านมา เป็นที่รู้กันว่า ได้มีหลายหน่วยงานเสนอเข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านผู้ประสบภัยน้ำท่วม ทั้งในงบประมาณซีอีโอ งบท้องถิ่น งบกลาง แต่สุดท้ายก็มีข่าวการร้องเรียนกันว่า ชาวบ้านผู้ประสบภัยยังไม่ได้รับงบค่าชดเชยความเสียหาย และมีการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนของคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม


 


"เงินค่าชดเชยอาจไม่ถึงมือชาวบ้านโดยตรง เช่น เมื่อมีการโอนเงินงบประมาณลงไปในท้องที่แล้ว ทางหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องหรือ อบต.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อาจเสนอชาวบ้านว่า ได้นำเงินงบประมาณค่าชดเชยว่าจ้างให้ผู้รับเหมานำรถแทรกเตอร์ รถไถเข้าไปปรับที่นาให้ชาวบ้าน โดยผู้รับเหมากลุ่มนั้นก็เป็นพวกเดียวกัน เงินก็เลยไม่ได้ถึงมือชาวบ้าน"  


 


นายพงษ์พิพัฒน์ กล่าวอีกว่า อีกกรณีหนึ่งที่น่าจับตาคือ เมื่อมีการเสนอชื่อชาวบ้านผู้ประสบภัยไปแล้ว ชาวบ้านอาจไม่ได้รับเงินค่าชดเชยตามจำนวนที่เสนอไว้ เพราะอาจมีเจ้าหน้าที่เกษตร กำนัน ผู้ใหญ่บ้านบางกลุ่มทุจริตแอบหักค่าหัวคิว เหลือเพียงไร่ละ 3,000-4,000 บาท หรือมีการส่งรายชื่อผีเพื่อของบค่าชดเชย ซึ่งมีความเป็นไปได้ เพราะล่าสุด มีหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านเริ่มเจอปัญหานี้ และเริ่มมีการเตรียมจะประท้วงในเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net