Skip to main content
sharethis

โดย  สุทธิดา มะลิแก้ว


 


 


 


ก้าวที่กล้าของเวียดนาม


ในระหว่างที่ประเทศไทยสาละวนอยู่กับการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล และเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเนื่องจากได้กระทำการหลายอย่างที่ไม่น่าไว้วางใจ ซึ่งหนึ่งในนั้นก็เป็นเรื่องของการคอรัปชั่น ในฝั่งเวียดนามกลับเข้มข้นด้วยเรื่องของการปราบปรามคอรัปชั่นขนานใหญ่ มีการปฏิบัติการณ์อย่างเป็นรูปธรรมที่ส่งผลสะเทือนแก่วงการการเมืองเวียดนามเป็นอย่างมาก


 


หากยังจำกันได้ว่าเมื่อไม่นานมานี้เอง ฟาน วัน ขาย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ได้ยื่นหนังสือลาออกจากการดำรงตำแหน่งทั้งๆ ที่ วาระการเป็นผู้นำรัฐบาลของเขายังไม่ยุติลง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อกรณีที่ปล่อยให้มีการคอรัปชั่นเกิดขึ้นในคณะรัฐมนตรีที่อยู่ภายใต้การนำของเขา เหตุการณ์ดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นเมื่อรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงขนส่งถูกจับกุมภายใต้นโยบายใหม่ที่เข้มงวดและเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามคอรัปชั่นของรัฐบาล


 


ฟาน วัน ขาย ได้ทำจดหมายถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการขนส่งว่า จะต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยหรือไม่ ซึ่งทางรัฐมนตรีว่าการฯ  ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบเนื่องจากเหตุที่เกิดขึ้นอยู่ในกระทรวงที่เขารับผิดชอบ และนำมาสู่การลาออกของฟาน วัน ขาย ด้วย


 


นายกรัฐมนตรีคนต่อมา เหงียน  เติ่น หยุง ทันทีที่เข้ารับตำแหน่งก็เดินหน้าปราบปรามเรื่องคอรัปชั่นต่อ โดยจัดการล้างบางผู้ที่มีส่วนพัวพันกับกรณีทุจริตทันทีโดยได้ลงโทษข้าราชการระดับสูงไปถึง 3 คนในช่วงเวลาที่เข้ามารับตำแหน่งไม่ทันถึงเดือน สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเรียกได้ว่าเป็น เวียดนามในรูปโฉมใหม่เลยก็ว่าได้


 


ที่มาที่ไปของเรื่องนี้ เวียดนามนั้นรู้อยู่แก่ใจดีเรื่องคอรัปชั่นว่า นอกจากจะขัดขวางการพัฒนาประเทศแล้ว ยังสร้างชื่อเสียให้กับเวียดนามอยู่ไม่น้อย  จากการสำรวจและจัดอันดับการคอรัปชันของประเทศในเอเชีย ใน 12 ระบบเศรษฐกิจ โดยเพิร์ก เมื่อปี 2005 พบว่า เวียดนามนั้นติดอันดับต้นๆ ของการคอรัปชั่น โดยประเทศที่คอรัปชั่นเรียงตามลำดับจากน้อยไปหามาก ได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย ไต้หวัน ไทย จีน อินเดีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม และ อินโดนีเซีย โดยสิงคโปร์มีคะแนนอยู่ที่ 0.89 ส่วนอินโดนีเซียอยู่ที่ 9.44


 


ทั้งนี้ ในรัฐบาลยุคที่ผ่านๆ มากลับไม่ได้มีการเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มากนัก  นักลงทุนจำนวนไม่น้อยที่ขยาดต่อการไปลงทุนในเวียดนาม ดังนั้น การเอาตัวบุคคลระดับสูงมาลงโทษในฐานคอรัปชั่นนับเป็นมิติใหม่มากสำหรับเวียดนาม


 


ในการลงมือปราบปรามคอรัปชั่นอย่างเอาจริงเอาจังนั้น นับว่า เป็นก้าวที่กล้าหาญอย่างมากของเวียดนาม เพราะว่าเท่ากับเป็นการยอมรับต่อชาวโลกว่า ประเทศนี้มีการคอรัปชั่นจริง แม้อาจจะเหมือนเป็นการประจานตัวเอง แต่กระนั้นความกล้าหาญนี้ทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ตอบแทนอย่างคุ้มค่าทีเดียว


 


ประการแรกเลยก็คือ การกระทำดังกล่าวนี้จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของเวียดนามในทางที่ดีขึ้นอย่างแน่นอน เพราะว่า ภาพที่แสดงออกไปก็คือ แม้การคอรัปชั่นจะมีอยู่จริง แต่ทางเวียดนามก็ไม่ได้ดูดาย กลับลงมือขจัดออกไปอย่างจริงจังไม่เว้นแม้แต่ในข้าราชการระดับสูง นี่มิเท่ากับการเรียกร้องความน่าเชื่อถือของการบริหารราชการแผ่นดินของเวียดนามกลับมาหรือ


 


ประการที่สอง  ไม่เพียงแค่ฟาย วัน ขาย และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงขนส่งเท่านั้น ที่จะได้รับการยอมรับนับถือว่าเป็นมีความรับผิดชอบและจริงใจต่อการทำงานอย่างแท้จริง ที่ถึงกับต้องยอมลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบไปด้วยเมื่อผู้ใต้บังคับบัญชาของพวกเขากระทำความผิด แต่เวียดนามยังกำลังสร้างภาพลักษณ์ใหม่ในเรื่องจริยธรรมของผู้นำว่า หากพบการทุจริตคอรัปชันในหน่วยงาน ไม่ใช่เพียงแค่คนที่กระทำการนั้นๆ เท่านั้นที่จะต้องรับผิดชอบ ผู้บังคับบัญชาเองก็ปฏิเสธที่จะปัดภาระความรับผิดชอบนี้ออกไปไม่ได้เช่นกัน 


 


ประการต่อมา การที่เวียดนามยังได้แสดงจุดยืนที่มั่นคงว่าจะเอาจริงเอาจังในการปราบปรามคอรัปชั่นที่ไม่ใช่เพียงแค่การลาออกของนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ทว่า นายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่เข้ามาทำงานก็ลงมือกวาดล้างต่อทันที ความโปร่งใสนี้จะดึงดูดการลงทุน โดยเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศที่จะเข้ามาลงทุนหรือให้ความช่วยเหลือเวียดนามมากขึ้น


 


ต้องไม่ลืมว่า เวียดนามนั้นค่อนข้างที่จะมียุทธศาสตร์ในการก้าวย่างในแต่ละขั้น หากจะจำกันได้ว่า ก่อนหน้านั้นนายกรัฐมนตรีฟาน วัน ขาย เคยเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา โดยนอกจากวัตถุประสงค์ของการสานสัมพันธ์แล้วก็ต้องการการสนับสนุนให้เวียดนามเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) และปฏิบัติการปราบปรามคอรัปชั่นนี้ก็น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสหรัฐฯ ที่จะสนับสนุนเวียดนามให้เข้าเป็นสมาชิก WTO อยู่ไม่น้อย


 


อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ชาวเวียดนามเชื่อว่า เป้าหมายเรื่องการเอาจริงเอาจังในเรื่องการปราบคอรัปชันนั้น ยังเป็นการเรียกศรัทธาจากประชาชนเวียดนามเองด้วยให้ยังคงแน่วแน่และเชื่อมั่นอยู่กับพรรค เพราะว่า ปัจจุบันนี้ ประชาชนเวียดนามนั้นมีการศึกษามากขึ้นและจากการเปิดประเทศ ทำให้ประชาชนเห็นโลกภายนอกมากขึ้น ซึ่งอาจมีปัญญาชนไม่น้อยคิดถึงเรื่องระบบการตรวจสอบ คิดถึงการมีประชาธิปไตย เพื่อให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้  ดังนั้น ทางพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจึงคิดวิธีการที่จะผ่อนคลายการต่อต้านอำนาจพรรคโดยแสดงให้เห็นว่า พรรคนั้นมีความจริงใจ มีจริยธรรมในการบริหารประเทศ และสามารถจัดการกับปัญหาที่ประชาชนหวั่นวิตกได้


 


นอกจากนี้ จากเดิมที่สื่อทั้งหมดเป็นของพรรคและรัฐเท่านั้น แต่เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่า ประชาชนก็มีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลที่มีเพียงพรรคเดียวได้ จึงยินยอมให้มีสื่อที่เอกชนเป็นเจ้าของได้ (ส่วนใหญ่เป็นหนังสือพิมพ์ที่เน้นข่าวเศรษฐกิจ และมีฐานอยู่ที่โฮจิมินห์ ซิตี้) และในการปราบคอรัปชั่นครั้งนี้ก็เกิดจากการชี้เบาะแสจากการรายงานข่าวของสื่อมวลชน ซึ่งหากเป็นในอดีตนั้นคงเป็นเรื่องยากยิ่งที่สื่อมวลชนจะรายงานหรือขุดคุ้ยเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาได้เองโดยปราศจากการชี้นำของรัฐ


 


ทุกวันนี้ ประเทศในเอเชียที่น่าจับตามองที่สุดในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจว่าก้าวหน้าที่สุดในเอเชียก็เห็นจะไม่พ้นเวียดนาม และหากเวียดนามสามารถเรียกความเชื่อมั่นทั้งหลายจากคนในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องความโปร่งใสได้แล้ว เข้าใจว่า เรื่องแผนพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ก็คงไปได้ฉลุย แล้วเส้นทางของมังกรน้อยที่จะกลายเป็นเสือเศรษฐกิจตัวใหม่ของเอเชียก็คงไม่ใช่เรื่องพูดกันเล่นๆ เสียแล้ว


 


...............................................


เวียดนาม : มิตรประเทศ-คู่แข่ง-คู่ค้า (ตอน 1)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net