Skip to main content
sharethis

ศาลอาญามีคำสั่งยกคำร้องที่ พล.ต.ต.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบ.ชน.) ยื่นคำขอให้ศาลออกหมายจับนายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานพันธมิตรเพื่อประชาธิปไตย กับพวกรวม 7 คน ในคดีก่อความวุ่นวายและไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง กรณีที่จัดเวทีปราศรัยพันธมิตรต่อต้านพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี


 


โดยศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า พล.ต.ต.ชัชวาลย์ ผู้ร้อง ยังไม่มีหลักฐานตามสมควร ว่า นายสุริยะใส กับ พวกน่าจะได้กระทำความผิดตามกฎหมาย จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะออกหมายจับได้


 


อย่างไรก็ตาม ในคำสั่งศาลได้ระบุว่า ในการดำเนินคดี ผู้ร้องยังมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการออกหมายเรียกผู้ต้องหาให้รับทราบข้อกล่าวหาใหม่ได้


 


วันเดียวกัน ที่ ศาลปกครองสูงสุด  นาย ประนัย วณิชชานนท์ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีที่นายการุณ ใสงาม รักษาการ ส.ว.บุรีรัมย์ นายวรินทร์ เทียมจรัส และนายสกุล สื่อทรงธรรม ยื่นฟ้องคณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีในกรณีที่มีมติรับรองการลาพักปฏิบัติราชการของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 5 เม.ย. และมีหนังสือแจ้งหน่วยงานราชการต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นการแสดงความจำนงที่จะลาออกจากตำแหน่ง และมีผลทำให้ ครม.ทั้งคณะต้องพ้นจากตำแหน่งไปด้วย โดยศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษายกฟ้องและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบ เนื่องจากพิเคราะห์แล้วเห็นว่าอำนาจการพิจารณาว่าการดำรงอยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีนั้นมีกำหนดอยู่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 215 และมาตรา 216


 


นอกจากนี้ ยังให้นำมาตรา 96 และมาตรา 97 ที่ให้สมาชิกรัฐสภารวมรายชื่อส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดการสิ้นสุดของตำแหน่งรัฐมนตรีได้ ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงไม่อยู่ในอำนาจของศาลปกครอง ทำให้ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด ซึ่งต่อมาศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งระบุว่า ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์แล้วเห็นพ้องกับเหตุผลของศาลปกครองกลาง และคำอุทธรณ์ที่ระบุว่าหนังสือแจ้งต่อหน่วยงานราชการว่านายกรัฐมนตรีลาพักการปฏิบัติราชการถือเป็นคำสั่งทางปกครองนั้น ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าหนังสือดังกล่าวเป็นเพียงหนังสือเวียนแจ้งแก่หน่วยงานราชการเท่านั้น ไม่มีสภาพเป็นคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 5 ของ พ.ร.บ.ระเบียบวิธีทางปกครอง และคำอุทธรณ์ที่ว่าหากศาลปกครองเห็นว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญก็ขอให้ศาลปกครองส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ โดยศาลพิเคราะห์แล้วว่า แม้ว่าศาลปกครองจะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญที่มีอำนาจจะส่งเรื่องพร้อมความเห็นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ แต่กรณีนี้ไม่เป็นความขัดแย้งระหว่างศาลปกครองกับองค์กรใดเลย คำอุทธรณ์จึงฟังไม่ขึ้น ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ให้ยกฟ้องและจำหน่ายคดีออกจากสารบบ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net