16 ก.ย.นัดรวมพลอดีตแกนนำและแนวร่วม ถกหาแนวทางสมานฉันท์ภาคใต้

คณะรัฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้จัดบรรยายพิเศษหัวข้อ "ดับวิกฤตไฟใต้ด้วยทางเลือกใหม่" เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2549 ตามโครงการหลักสูตรรัฐศาสตร์มหาบัณฑิตสาขาวิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยมีนายปณิธาน วัฒนายากร เป็นผู้ดูแลการบรรยายโดยเชิญพลโทไวพจน์ศรีนวลผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ผบ.ศรภ.) กองบัญชากาทหารสูงสุดและพลโทสมหมายวงศ์มากที่ปรึกษาศูนย์รักษาความปลอดภัยเป็นผู้บรรยายพิเศษมีนักศึกษาตามโครงการพิเศษและสื่อมวลชนร่วมฟังอย่างคับคั่ง

 

นายปณิธานกล่าวว่าเหตุการณ์ระเบิดธนาคารหลายสิบแห่งในช่วง2-3วันที่ผ่านมาเป็นการส่งสัญญาณอันตรายในพื้นที่มากขึ้นซึ่งไม่มีทางจะคลี่คลายได้ทั้งที่ปัญหานี้ยาวมกว่า20ปีและยังไม่มีแนวทางที่จะเปลี่ยนหรือแก้ไขสถานการณ์ให้ดีขึ้นทั้งที่มีหลายโครงการลงไปในพื้นที่ทั้งโครงการพระราชดำริโครงการจากหน่วยงานความมั่นคงทหารหรือพลเรือนดังนั้นเป็นเรื่องที่นักวิชาการต้องร่วมมือกันแสดงความคิดเห็นและร่วมกันแก้ไขวิกฤติ

 

พลโทไวพจน์กล่าวว่าการจะแก้ไขปัญหาความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้จะต้องมองในมุมมองใหม่ที่ไม่ใช่มุมมองด้านความมั่นคงเพราะต้องยอมรับว่าการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาเป็นการแก้ไขปัญหาแบบพายเรือในอ่างที่ผู้รับผิดชอบก็โทษกันไปโทษกันมาดังนั้นการทำงานครั้งนี้จึงเป็นการใช้มุมมองของภาคประชาชนที่ไม่เน้นการเจรจากับแกนนำซึ่งเป็นการทำงานภายใต้ชื่อ"โครงการสันติจังหวัดชายแดนภาคใต้"ที่เป็นแนวคิดใหม่และเป็นการทำงานบนพื้นฐานของพื้นที่ที่ทับซ้อนเรื่องการทำความเข้าใจระหว่างคำว่า culture of war กับ culture of peace ได้เริ่มต้นปฏิบัติงานในพื้นที่ตั้งแต่เดือนก.พ.49 โดยใช้วิธีการแบ่งประชาชนออกเป็นสองกลุ่มกลุ่มที่หนึ่งเป็นผู้ก่อความรุนแรงส่วนกลุ่มที่สองเป็นประชาชนทั่วไปที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงแต่ไม่มีทางเลือกถ้าหากเราไม่ทำเช่นนี้ประชาชนในกลุ่มที่สองก็จะถูกผลักให้ไปกลุ่มที่หนึ่งอย่างเลือกไม่ได้

 

แนวทางการแก้ไขปัญหาระยะสั้นในสภาวะไม่ปกติที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือต้องหยุดความรุนแรงส่วนลำดับต่อมาคือการขจัดเงื่อนไขของปัญหาเช่นความยากจนการว่างงานยาเสพติดด้อยการศึกษาออกเพราะจากบทเรียนสองปีที่ปฏิบัติเราพบว่าประชาชนไม่ไว้ใจเจ้าหน้าที่รัฐดังนั้นจึงสร้างความไว้วางใจให้ได้ก่อนที่จะพัฒนาหรือดำเนินการอย่างอื่นโดยการสร้างความเข้าใจต้องละเว้นภารกิจเช่นไม่หาข่าวรวมทั้งไม่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของประชาชนอาจจะทำให้หวาดระแวงไม่ใจอีกทั้งต้องตระหนักถึงความเดือดร้อนความต้องการของประชาชนเป็นหลักว่าเขาขาดที่พึ่งโดยเฉพาะเรื่องกระบวนการยุติธรรมขอยืนยันว่าปัญหาความรุนแรงในพื้นที่ไม่มีสาเหตุจากการแบ่งแยกดินแดนขณะนี้ประชาชนมีปัญหาความด้อยพัฒนาแต่รัฐไม่เคยสนใจเช่นไม่ได้รับการศึกษาจึงเป็นเหตุปัจจัยหนึ่งที่ผลักเยาวชนเข้าไปเป็นแนวร่วมการก่อความรุนแรง

 

"ต้องยอมรับว่าประชาชนไม่ไว้ใจเชื่อใจทหารตำรวจและเจ้าหน้าที่ของรัฐดังนั้นต้องอาศัยผู้นำท้องถิ่นหรือบุคคลที่เป็นที่เคารพในชุมชนเป็นตัวประสานและนำนโยบายไปปฏิบัติก่อนโครงการนี้อาจจะใช้ได้ดีเพราะได้พบและพูดคุยผ่านแกนนำผู้ก่อความไม่สงบที่ตอนนี้รู้จักกว่า33คนบุคคลเหล่านี้ได้แนะนำให้รู้จักกับอดีตกลุ่มแนวร่วมที่เคยสนับสนุนกว่า 3 พันคน ทั้งที่อยู่ในประเทศและมาเลเซียเพราะเขาต้องการเห็นสันติในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้และพร้อมจะร่วมมือกับรัฐทั้งนี้ในวันที่16กันยายนที่มัสยิดกลางจังหวัดยะลาทั้ง3พันกว่าคนนี้จะจัดชุมนุมใหญ่และผู้ร่วมสังเกตการณ์อีกกว่า3พันคนเพื่อแสดงออกถึงการความต้องการความสงบและสมานฉันท์ทั้งนี้จะมีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ช่อง11 เพื่อให้รัฐบาลและประชาชนทั่วประเทศรับทราบรวมถึงเป็นการส่งข่าวไปยังต่างประเทศด้วยโครงการนี้สภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช)ได้รับทราบทุกขั้นตอนโดยจะเชิญผู้ใหญ่จากส่วนกลางซึ่งคาดว่าจะเป็นพล.อ.สนธิบุญณยกลินผบ.ทบ.ร่วมงานด้วย" พลโทไวพจน์กล่าว

 

นายปณิธานได้ตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางของพลโทไวพจน์ว่าเห็นด้วยในหลายประเด็นแต่สิ่งที่ยังเป็นเรื่องที่เป็นห่วงคือเรื่องความเข้าใจของหน่วยงานที่ปฏิบัติหน้าที่ว่าจะสามารถเปลี่ยนวิศัยทัศน์ในการทำงานตามที่เสนอได้หรือไม่เพราะข้าราชการในพื้นที่ยังติดวัฒนธรรมการทำงานแบบเดิมส่วนใหญ่น่าจะยังไม่เข้าใจว่าสถานการณ์ไม่ปกติต้องทำตัวอย่างไรอีกทั้งการที่บอกว่าจะไม่หาข่าวเกรงว่าเจ้าหน้าที่อาจจะรับไม่ได้อีกทั้งการอาศัยผู้นำในท้องถิ่นเราจะไว้ใจคนเหล่านี้ได้หรือไม่

 

ต่อมาพลโทสมหมายวงศ์มากที่ปรึกษาผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัยแห่งชาติกล่าวว่าจากการเข้าไปทำงานในพื้นที่ทำให้เห็นว่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดคือการปฏิบัติตามแนวทางพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯที่ว่าควรแก้ไขปัญหาด้วยการเข้าใจเข้าถึงพัฒนาสิ่งสำคัญต้องเอาชนะจิตใจประชาชนเพราะปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องซับซ้อนแต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แก่นของปัญหาเนื่องจากปัญหาที่แท้จริงคือประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรมจากรัฐ

 

"ผมได้ลงพื้นที่ที่ความเสี่ยงทำให้ได้พบแกนนำ33คนทุกคนบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เชื่อและไม่ไว้วางใจเจ้าหน้าที่รัฐและได้เสนอแนวทางและเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองไปประจำในพื้นที่เพื่อเป็นที่พึ่งรวมถึงให้คำปรึกษาการแก้ไขปัญหาอีกทั้งเป็นคนกลางในการประสานงานระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับประชาชนเสนอให้ปรับปรุงโรงเรียนปอเนาะเพื่อให้เยาวชนได้มีที่อยู่อาศัยเรียนศาสนาอิสลามอย่างเคร่งครัดและฝึกอาชีพ"พลโทสมหมายกล่าว

 

ที่ปรึกษาผบ.ศรภ.กล่าวว่าขณะนี้การดำเนินงานของโครงการทำใน3พื้นที่คืออ.สายบุรีจ.ปัตตานี,อ.บาเจาะจ.นราธิวาสและอ.กรงปีนังจ.ยะลาโดยมีแนวโน้มว่าจะขยายไปยังอีกหลายพื้นที่

 

นอกจากนี้ยังให้แนวร่วมกว่า3พันคนได้กรอกประวัติส่วนตัวเพื่อเก็บเป็นข้อมูลทำให้แยกแนวร่วมออกได้เป็นสามระดับคือระดับปฏิบัติ,แนวร่วมและบุคคลทั่วไปซึ่งมีแนวร่วมเป็นจำนวนมาก

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการบรรยายพิเศษครั้งนี้ได้มีการฉายไสลน์รูปการดำเนินงานโครงการซึ่งในช่วงหนึ่งของการบรรยายพลโทสมหมายได้นำภาพของบุคคลที่อ้างว่าเป็นแกนนำการก่อความไม่สงบมาเสนอต่อเวทีการบรรยายโดยได้รับความสนใจจากผู้สื่อข่าวทำให้ผู้สื่อข่าวโทรทัศน์หลายช่องได้บันทึกภาพดังกล่าวด้วยจากกรณีนี้เป็นมาของคำถามที่ว่าก่อนที่จะมีนำเสนอข้อมูลและเสนอภาพถ่ายของอดีตแกนนำได้ปรึกษากันหรือไม่รวมทั้งจะนำมาสู่ความปลอดภัยของบุคคลเหล่านี้หรือไม่

 

พลโทไวพจน์ตอบข้อซักถามว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาเพราะบุคคลเหล่านี้ต้องการเปิดเผยตัวเองแต่ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกได้ว่าบุคคลเหล่านี้เป็นใครมาจากไหนยืนยันได้ว่าเป็นคนละกลุ่มกับคนที่ทางราชการให้มารายงานตัวตามนโยบายของรัฐไม่ได้เกณฑ์ประชาชนมาอย่างแน่นอน

 

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่าเมื่อได้ข้อมูลของอดีตแนวร่วมและอดีตแกนนำจะนำข้อมูลเสนอใครและบุคคลเหล่านี้จะเคยต้องโทษคดีอาญาหรือไม่พลโทไวพจนกล่าวว่าข้อมูลที่ได้จะเสนอหน่วยเหนือและจากที่ดูข้อมูลไม่น่าจะมีใครต้องโทษในคดีอาญา

 

นอกจากนี้ นายปณิธาน ให้สัมภาษณ์ถึงแนวคิดในการเจรจากับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบว่าแนวคิดนี้ว่ามีมานานแล้วแต่ในอดีตนั้นรัฐไทยไม่สนใจที่จะเจรจาเนื่องจากยังคงดำเนินนโยบายชาตินิยมแต่ปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยนไปรัฐควรจะมีนโยบายให้เจรจาซึ่งข้อมูลที่ตนได้รับมาทำให้ทราบว่าเงื่อนไขในการเจรจาของกลุ่มเบอร์ซาตูเองก็ไม่ได้มีเรื่องการแบ่งแยกดินแดนเพียงแต่ต้องการความเป็นธรรมในบางเรื่องเท่านั้นเช่นขอให้ทางการไทยยกเลิกแบล็กลิสต์คนในขบวนการที่ไม่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับความรุนแรงออกเพื่อให้กลับเข้ามาอยู่ในเมืองไทยได้

 

....................................

ที่มา - เวบไซต์สำนักข่าวเนชั่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท