องค์กรสื่อ 3 สถาบันเตือนประชาชนระวัง "สื่อเทียม" ที่นักการเมืองหนุนหลัง

ศูนย์ข่าวอิศรา

 

5 ก.ย. 2549 - องค์กรวิชาชีพสื่อทั้ง 3 สถาบัน อันประกอบด้วย สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ร่วมกันออกแถลงการณ์เตือนภัยประชาชนเรื่อง "บทบาทสื่อมวลชนในสถานการณ์ปัจจุบัน" ณ ห้องประชุมอิศราอมันตกุล สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 14.00 น. วันที่ 4 ก.ย. 2549

 

ทั้งนี้ นางบัญญัติ ทัศนียเวช ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ได้อ่านแถลงการณ์ว่า สถานการณ์ทางการเมืองในปัจจุบันที่อยู่ในสภาพสับสนและเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจนแน่นอน เนื่องมาจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน มีแนวโน้มที่อาจจะนำไปสู่ความแตกแยกรุนแรงมากขึ้น ซึ่งผลแห่งสถานการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเป็นกังวลมากขึ้นในสังคมไทยขณะนี้

 

คณะกรรมการบริหารสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ คณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ประชุมหารือร่วมกับบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 31สิงหาคม 2549

 

ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตว่า นอกจากการเข้ามาควบคุมและใช้ประโยชน์จากสื่อมวลชนที่มีหน่วยงานของรัฐเป็นเจ้าของ โดยเฉพาะสื่อวิทยุและโทรทัศน์แล้ว ขณะเดียวกันก็มีความพยายามจะสร้างสื่ออื่นที่ที่รัฐไม่ได้ควบคุมอย่างทั่วถึง อาทิ สื่อหนังสือพิมพ์ สื่ออินเตอร์เน็ตและสื่อข้อความสั้น (SMS)  ซึ่งถือเป็นการสร้าง "สื่อเทียม" ที่เครือข่ายนักการเมืองพยายามใช้ประโยชน์สนองตอบเป้าหมายทางการเมืองของตนมากกว่าประโยชน์สาธารณะ จนสร้างความสับสนให้หลงเชื่อว่าสื่อมวลชนมีความแตกแยกเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาลกับฝ่ายสนับสนุนรัฐบาล อันเป็นพฤติกรรมที่เคยเกิดขึ้นและนำไปสู่ความรุนแรงในชาติมาแล้วหลายต่อหลายครั้งในอดีต

 

ที่ประชุมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงมีมติให้ออกแถลงการณ์ดังต่อไปนี้

 

1.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสาม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ความขัดแย้งและการเผชิญหน้าท้าทายของฝ่ายต่างๆ ที่จะนำไปสู่ความรุนแรง อันจะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมของประเทศโดยรวม  

 

2.องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสามได้ตระหนักถึงภาระหน้าที่สำคัญของสื่อมวลชนในยุคปัจจุบันที่จะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบข้อมูลและนำเสนอข้อเท็จจริงที่ถูกต้องภายใต้สถานการณ์อันสลับซับซ้อนเพื่อนำเสนอความเป็นจริงของปัญหามาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้มากที่สุด

 

3. องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งสาม ตระหนักดีว่าสื่อมวลชนที่ยึดมั่นในจริยธรรมแห่งวิชาชีพได้ปฎิบัติหน้าที่ตนอย่างตรงไปตรงมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการรายงานเหตุการณ์ชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือการรุมทำร้ายประชาชนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองแตกต่างกันที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิร์ดพลาซ่าเมื่อวันที่ 20  สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งผลของการทำหน้าที่ดังกล่าวทำให้สื่อมวลชนตกเป็นเป้าของการข่มขู่คุกคามการใช้กำลังคนปิดล้อมสำนักพิมพ์ และการกล่าวร้ายทำลายความน่าเชื่อถือของสื่อมวลชนโดยนักการเมืองและข้าราชการประจำที่ตกอยู่ใต้อำนาจของนักการเมืองตลอดมา

 

4.สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นตอกย้ำถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนทุกองค์กรจะต้องผนึกกำลังกัน ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความซื่อสัตย์ สุจริตบนพื้นฐานของจริยธรรมแห่งวิชาชีพและยึดมั่นผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้งเพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองโดยสันติวิธี

 

"รัฐบาลนี้นอกจากจะใช้สื่อที่อยู่ภายใต้การควบคุมมาตอบโต้กับสื่อหลักแล้วยังสร้างสื่ออื่นๆขึ้นมา ทำให้สถานการณ์เกิดความแตกแยกและเข้าสู่ภาวะความรุนแรงเหมือนอดีตที่เคยผ่านมา เรามั่นใจว่าเหตุการณ์พฤษภาทมิฬที่วิทยุโทรทัศน์รายงานข่าวตรงกันข้ามกับข้อเท็จจริงทำให้ประชาชนโกรธแค้นมากมาย บทเรียนนั้นน่าจะเป็นบทเรียนที่ดีสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่ เราจะต้องซื่อสัตย์ต่อประชาชนและยึดถือความเป็นจริงเป็นหลักหวังว่า ผู้บริโภคสื่อทั้งหลายจะใช้วิจารณญาณอย่างดีในการรับรู้ข่าวสารต่างๆ เพราะเราผ่านวิกฤตการณ์แบบเดียวกันนี้มาหลายครั้งด้วยกัน ครั้งนี้ก็เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์นี้" ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าว  

 

นายสมชาย แสวงการ นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าวว่า แม้ว่าโดยโครงสร้างแล้วสื่อโทรทัศน์และวิทยุจะมีรัฐเป็นผู้กำกับดูแลก็ตาม แต่นักข่าวก็เป็นผู้ที่มีบทบาทในกองบรรณาธิการหากนักข่าวสื่อข่าวสารอย่างตรงไปตรงมาไม่มีความเห็นส่วนตัวหรือพยายามต่อต้านความรุนแรง ก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ให้ดีขึ้นได้ หลังจากนี้สมาคมฯ จะกลับไปทำความเข้าใจกับบรรณาธิการข่าววิทยุและโทรทัศน์ว่า สถานการณ์เช่นนี้จะรายงานข่าวอย่างไรไม่ให้เกิดความรุนแรง รวมทั้งผู้ดำเนินรายการประเภทเล่าข่าวซึ่งมีโอกาสในความเห็นลงไปก็ต้องระมัดระวังทั้งน้ำเสียง ท่าทีและจุดยืน เพราะถือว่ามีอิทธิพลสามารถชี้นำผู้รับฟังได้

 

"ขณะนี้สังคมไทยมีทั้งสื่อแท้และสื่อเทียม อยากให้ประชาชนพิจารณาจากเนื้อหาของสื่อเป็นหลักว่ามีทิศทางเป็นอย่างไร เพราะล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการสร้างหนังสือพิมพ์ขึ้นมาบางฉบับทำหน้าที่เชียร์รัฐบาลอย่างชัดเจนนอกจากนี้ยังสร้างสถานีโทรทัศน์เคเบิลทีวี หรือทีวีดาวเทียมขึ้นโดยใช้นักจัดรายการชื่อดังที่เคยพยายามจัดที่ อสมท.แต่ไม่เป็นผล เคยเป็นกระบอกเสียงช่วงก่อนเหตุการณ์ 6 ต.ค.2519 โดยใช้วิทยุยานเกราะเป็นสื่อสถานการณ์ช่วงนี้น่าเป็นห่วงมากว่า จะเป็นเหมือน 6 ตุลาคือมีสื่อที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐทำการปลุกระดมให้คนเกลียดชังกัน" นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยกล่าว

 

นายตุลย์สถิต ทับทิม อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยกล่าวว่า  แม้เราจะไปบอกประชาชนไม่ได้ว่าควรรับสื่อใด หรือไม่รับสื่อใดและการสร้างสื่อขึ้นมาก็เป็นอิสรภาพของแต่ละฝ่าย แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน คนที่สร้างสื่อหรือผู้ที่อยู่เบื้องหลังสื่อใหม่ๆ ก็ควรจะมีความรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร

 

นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี เลขาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งขาติกล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามทำวิจัยเพื่อเตรียมผลักดันกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ม.41 ที่จะให้อิสระในการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็นของผู้ประกอบวิชาชีพทั้งวิทยุและโทรทัศน์ซึ่งจะเป็นมาตรการสำคัญที่จะทำให้สื่อมีเสรีภาพไม่ตกอยู่ใต้การครอบงำของรัฐหรือนายทุน

 

นายพงษ์ศักดิ์ พยัฆวิเชียร ที่ปรึกษาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวว่า การออกแถลงการณ์ครั้งนี้เพราะเราต้องการย้ำให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนได้ตระหนักถึงความเป็นอาชีพจรรยาบรรณ จริยธรรม และอาชีวปฎิญาณ แห่งอาชีพ ไม่ว่าจะอยู่ในสื่อไหนต้องรายงานตามข้อเท็จจริงและตระหนักถึงสิทธิเสรีภาพของตัวเอง ไม่จำเป็นต้องกลัวเจ้าของจนเกินเหตุ เพราะมีรัฐธรรมนูญม.40-41ให้อิสรภาพของผู้ประกอบวิชาชีพสามารถรายงานข่าวได้โดยไม่ถูกบีบจากเจ้าของ

 

ทั้งนี้ ที่น่าห่วง คือ สื่อวิทยุโทรทัศน์ซึ่งเป็นสื่อที่ถูกครอบงำโดยรัฐมีเวลานำเสนอจำกัดจำเป็นต้องมีความรอบคอบอย่างสูงไม่ใช้ความคิดเห็นหรือชี้นำความรู้สึกคนรับข่าว นอกจากนี้ต้องควบคุมการให้ส่งเอสเอ็มเอสที่มีถ้อยคำรุนแรงในทำนองสร้างความแตกแยกอาจจะสร้างอิทธิพลให้กับผู้ฟังที่มีความหลากหลายสูง ทำให้แบ่งแยกแบ่งฝ่ายเกิดความแตกแยกกันในที่สุด

 

นายสุวัฒน์ ทองธนากุล รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าวว่า การรวมตัวกันของสามสมาคมครั้งนี้เพื่อแสดงให้เห็นว่าการทำงานของเราไม่โดดเดี่ยวรัฐธรรมนูญให้หลักประกันในการทำงานอย่างอิสระแม้แต่เจ้าของไม่สามารถบังคับให้บิดเบือนได้ดังนั้นต้องทำหน้าที่ทำความจริงให้ปรากฏ ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องมีสติในการรับสื่อ เพราะขณะนี้มีสื่อที่ดำเนินการโดยเครือข่ายนักการเมืองเพื่อสนอเป้าหมายของนักการเมืองถือว่าไม่ได้ทำหน้าที่สื่อตามหลักจริยธรรมของวิชาชีพ

 

"สื่อมักจะถูกกล่าวหาว่าไม่มีความเป็นกลางหรือไม่ให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายการเมืองหรือรัฐบาล ขอชี้แจงว่าคำว่าเป็นกลางไม่ใช่แค่เอาคำพูดหรือสิ่งที่รัฐบาลจัดให้มาบอกต่อเท่านั้น แต่คำว่าเป็นกลางนั้นคือการไม่ย้อมสี ไม่เข้าใครออกใคร ไม่ลำเอียงเป็นกลางหมายถึงการทำหน้าที่แบบตรงไปตรงมาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฎ ยืนยันว่าระหว่างความถูกต้องกับความไม่ถูกต้องนั้นไม่มีกลาง สื่อต้องยืนข้างความถูกต้องถ้าเป็นกลางระหว่างความถูกกับความผิดแสดงว่าไม่ใช่สมอง สื่อที่รัฐควบคุมได้มักจะระมัดระวังในการนำเสนอ อาจจะด้วยการบีบหรือควบคุมครอบงำไม่ให้เสนอปรากฎการณ์ที่มีผลกระทบในทางลบต่อผู้มีอำนาจในทางการเมืองทำให้ประชาชนได้ข้อมูลไม่ครบถ้วน" รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท