พลเมืองเหนือ : บูม ! สวนสัตว์มนุษย์? เลี่ยงกฎขนชนเผ่าโชว์


รายงานโดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"

 

 

เหนือบูมสวนสัตว์มนุษย์ ผุดหมู่บ้านชนเผ่าเพียบทั้งเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน ตำรวจบุกตรวจ "กะเหรี่ยงคอยาว" ที่แม่สาแล้ว เจ้าของยันมีบัตรแรงงานถูกต้อง อำเภอตีความเป็นพม่าหลบหนีเข้าเมือง รับขึ้นทะเบียนแรงงาน ส่วนจัดหางานมึนมีบัตรอนุญาตทำงาน โยนกลองกันวุ่น "พลเมืองเหนือ" ไขปริศนาเลี่ยงกฎออกบัตรใช้วิธี "ถอดห่วงคอ"

 

                                                            0 0 0

 

กรณี "พลเมืองเหนือ" ได้นำเสนอถึงเสียงวิพากษ์ของคนในวงการท่องเที่ยว ว่าได้มีการเปิด "หมู่บ้านชาวเขาเกษตรเชิงนิเวศน์" ที่บ้านโต่งหลวง ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่

 

โดยเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549 ...ชำนาญ รวดเร็ว รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้นำกำลังตำรวจ สภ..แม่ริม และ สภ..แม่แตง เข้าตรวจสอบหลายจุด โดยเฉพาะที่ อ.แม่ริม มีกระเหรี่ยงคอยาวสัญชาติพม่าจำนวน 18 คน เจ้าของอ้างว่าได้รับใบอนุญาตทำงานเกษตรเพาะปลูกจากจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนที่อำเภอแม่แตง มีกะเหรี่ยงคอยาว 15 คน

 

นายวิบูลย์ ชีพธรรม เจ้าของ"หมู่บ้านชาวเขาเกษตรเชิงนิเวศน์" ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ" ถึงการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าตรวจค้นครั้งนี้ว่า ได้แสดงบัตรให้เจ้าหน้าที่ดูแล้วว่ามีทะเบียนแรงงานต่างด้าวในราชอาณาจักรไทยชั่วคราว และใบอนุญาตทำงานทุกคนตามที่ทางจัดหางานจัดให้เป็นแรงงานพม่า ทำการเกษตร ออกให้ตั้งแต่ยื่นเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2547 ที่อำเภอแม่อาย

 

"ผมมีโควต้านายจ้างไปขอจดทะเบียนแรงงานต่างด้าว แต่ละปีก็ต่ออายุการทำงานเป็นปีที่ 3 แล้ว จดทะเบียนประกอบการนายจ้างตั้งแต่อยู่ที่ท่าตอนเพื่อทำสวนมะม่วง ตอนนั้นมีลูกจ้างเป็นต่างด้าวหลายคน และการมาเปิดหมู่บ้านชาวเขาที่นี่ก็มีลูกจ้างเพื่อมาทำการเกษตร สถานที่ที่เปิดก็ทำการเกษตรจริง ไม่ได้เก็บค่าใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยว แต่ยอมรับอย่างหนึ่งว่าปิดกั้นนักท่องเที่ยวที่เข้ามาชมไม่ได้ และก็มีกลุ่มอบต.มาทำหัตถกรรม สิ่งทอของชาวบ้านร่วมกัน ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงกัน แต่สถานที่เรามีโครงการจะทำโฮมสเตย์ ร้านอาหาร ที่พักผ่อน แต่บังเอิญกะเหรี่ยงงานเก่ามาทำด้วยเท่านั้น ซึ่งเขาก็อยู่ส่วนเขา ไม่ได้จ้างเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยว"


แม่ริม/แม่อายงงคอยาวย้ายที่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ "พลเมืองเหนือ "ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจาก นายบุญเสริม จิตเจนสุวรรณ นายอำเภอแม่ริม ได้รายละเอียดว่า ได้มีการตรวจสอบการมาอยู่ในพื้นที่แม่ริมของชาวเขากลุ่มนี้แล้ว ผู้ประกอบการได้นำเอกสารประจำตัวและใบอนุญาตทำงานมาแสดง ยืนยันว่าได้ทำถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการต่ออายุใบอนุญาตทำงานทุกปีอยู่ในหมวดแรงงานภาคเกษตร ซึ่งการออกใบอนุญาตทำงานได้อย่างไรอยู่ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด

 

ขณะที่นายทรงทรัพย์ พิริยคุณธร นายอำเภอแม่อายกล่าวกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า ผู้ประกอบการหมู่บ้านท่องเที่ยวกะเหรี่ยงคอยาวที่อำเภอแม่อายมีอยู่ 2 แห่ง คือที่บ้านยะผ่า และบ้านนานาเผ่า แห่งละ 15 คน ซึ่งผู้ประกอบการรายที่อยู่บ้านานาเผ่าได้นำเอกสารมาชี้แจง 2 รายการคือ เอกสารจดทะเบียนบุคคลต่างด้าว ทร 38/1 แบบรับรองรายการประวัติบุคคลต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมือง จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2547 มีทะเบียนเลข 0 นำหน้า และมีการต่ออายุการทำงานเป็นครั้งๆ ครั้งสุดท้ายที่จัดหางานเพิ่งเปิดให้ต่อทะเบียนเสร็จสิ้นไปเมื่อ 30 มิถุนายน 2549

 

อีกกลุ่มคือกลุ่มที่เข้ามาอยู่ประเทศไทยนานแล้ว และมีบัตรประจำตัวสีเขียวขอบแดง ซึ่งรัฐออกมาให้ในปี 2542 ซึ่งจะต้องเป็นกลุ่มที่เข้ามาก่อนหน้านี้และได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในประเทศไทย บัตรประจำตัวจะมีเลข 6 นำหน้าแต่มีจำนวนน้อยกว่ากลุ่มที่ได้บัตรประจำตัวแรงงานต่าวด้าว

 

นายอำเภอแม่อายกล่าวว่า กลุ่มที่มีบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวสามารถเคลื่อนย้านสถานที่ประกอบการตามนายจ้างได้ แต่เพิ่งทราบว่ามีการย้ายกะเหรี่ยงคอยาวจากแม่อายไปอยู่แม่ริม ซึ่งจะได้ตรวจสอบรายละเอียดต่อไป

 

นายอดิศร กำเนิดศิริ นายอำเภอแม่แตง อดีตนายอำเภอแม่อาย ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ช่วงมีการเปิดจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเมื่อปี 2547 ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ"ว่า ปีที่ผ่านมามีกรณีที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนสอบถามถึงกะเหรี่ยงกลุ่มที่อยู่อำเภอแม่อายว่าเป็นการนำมาจากแม่ฮ่องสอนหรือไม่ แต่เมื่อตรวจสอบจากรายชื่อที่อยู่ในศูนย์อพยพก็ไม่มี ซึ่งก็เกิดความเข้าใจกันแล้วว่าเป็นคนละกลุ่ม ขณะที่กลุ่มนี้แจ้งว่ามาตามแนวชายแดนที่เชียงใหม่ก็มีรอยต่อกับประเทศพม่าหลายอำเภอเช่นแม่อาย ฝาง เวียงแหง ซึ่งใช้เวลาเดินทางนานกว่า และไม่มีการระบุว่ามาเพราะหลบหนีภัยสงคราม ก็เข้ามาเหมือนผู้ลักลอบเข้าเมืองจากพม่า ซึ่งเมื่อมีการเปิดรับจดทะเบียนเมื่อปี 2547 ก็เข้าข่ายแรงงานพม่า ที่จดทะเบียน ทร 38/1 ได้ โดยเมื่อครั้งนั้นตนก็ได้สอบถามปลัดกระทรวงแรงงานก็ได้คำตอบว่าถือเป็นกลุ่มสัญชาติพม่าที่สามารถจดทะเบียนได้

 

"แรงงานชายไม่มีห่วงสวมคอก็ใช้แรงงานทำการเกษตร ส่วนครอบครัวเด็กและภรรยาที่เป็นหญิงมีห่วงสวมคอ ก็มาเป็นผู้ติดตาม แต่หญิงก็ต้องจดทะเบียน ทร 38/1 เช่นกัน แต่อาจไม่ได้ทำงานภาคเกษตร ขึ้นอยู่กับจัดหางานจะอนุญาตให้จดทะเบียน"

 

นายอดิศรตอบคำถามในประเด็น การแย่งชิงกะเหรี่ยงคอยาวเพื่อเห็นจุดดึงดูดด้านการท่องเที่ยวว่า เมื่อผู้ประกอบการดำเนินการที่อำเภอแม่อาย ก็มองว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของอำเภอ โดยมีการคุยกันถึงมุมของชนเผ่าด้วยว่า เข้ามาก็ต้องการหารายได้ และตัวเขาก็เป็นส่วนดึงนักท่องเที่ยวเข้าในพื้นที่ด้วย ซึ่งสถานที่อื่นที่อยู่ไกลก็อาจมองว่าจุดที่แม่อายได้เปรียบตรงชัยภูมินักท่องเที่ยวเข้าถึงได้ง่ายกว่า แต่คงไม่ใช่เช่นนั้นทั้งหมด เพราะที่แม่ฮ่องสอนหากไม่มีกะเหรี่ยงคอยาวจะไม่สามารถมีจุดดึงดูดอื่นได้หรือ ขณะเดียวกันที่จังหวัดเชียงรายก็มีการเปิดหมู่บ้านกะเหรี่ยงคอยาวเช่นกัน แต่ต่างจากที่มีความพยายามจะนำไปอยู่ภูเก็ตเพราะไม่ได้อยู่ในแหล่งที่อยู่ดั้งเดิมของเขา อย่างไรก็ตามนายอำเภอเพิ่งทราบว่ามีการย้ายกะเหรี่ยงคอยาวมาอยู่ที่อำเภอแม่ริมแล้ว

 

จัดหางานเชียงใหม่งง ! มีบัตรได้อย่างไร

ด้ายนางสาวอรชร รัตนมณี จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ" ยืนยันว่า ได้ตรวจสอบการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวของเชียงใหม่แล้ว ไม่ปรากฏการออกใบอนุญาตทำงานให้กับบุคคลที่เป็นกะเหรี่ยงคอยาวเลยทั้งในปี 2547/2548 ดังนั้นในปีล่าสุดจึงไม่มีการต่ออายุใบอนุญาตทำงานของกลุ่มนี้ แต่ทราบว่ากลุ่มกะเหรี่ยงคอยาวได้ขึ้นทะเบียน ทร.38/1 ไว้ เป็นคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง ซึ่งปีเดียวกันก็มีการผ่อนผันให้มาขออนุญาตทำงาน แต่นายจ้างจะต้องมีโควต้า มีการตรวจสุขภาพ ปรากฏว่ากะเหรี่ยงคอยาวก็ไม่ได้มายื่นขออนุญาตทำงาน

 

"กะเหรี่ยงคอยาวเป็นกลุ่มที่เราจับตาอยู่แล้วเพราะเขาจะมีความผิดแปลกกว่าชนเผ่าอื่น ซึ่งเมื่อจดทะเบียนจะต้องเห็นเด่นชัด ซึ่งเราไม่รับจดทะเบียนให้อยู่แล้ว"

 

อย่างไรก็ตามเมื่อแจ้งให้จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ทราบว่า ผู้ประกอบการยืนยันว่ามีใบอนุญาตทำงานและย้ายสถานประกอบการมาอยู่ที่อำเภอแม่ริมแล้ว เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2549 จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบและยอมรับว่าได้พบเห็นมีหลายเผ่าอยู่ในหมู่บ้านดังกล่าวจริงและกำลังเตรียมจะเข้าตรวจสอบใบอนุญาตทำงานอีกครั้งหนึ่ง

 

ไขปริศนาคอยาวมีบัตร

นายทรงทรัพย์ พิริยคุณธร นายอำเภอแม่อายยืนยันกับ "พลเมืองเหนือ" ว่า ทะเบียน ทร.38/1 ที่ผู้ประกอบการนำมาแสดงให้เห็นว่ามีการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองของกะเหรี่ยงคอยาวกลุ่มดังกล่าว มีภาพในคอมพิวเตอร์ของบางคนที่มีการสวมห่วงคอจริง แต่ยอมรับว่าบางคนก็ไม่มีการสวมห่วงคอ

 

ทั้งนี้นายวิบูลย์ ชีพธรรม ผู้ประกอบการฯ ยอมรับกับพลเมืองเหนือว่า ในการยื่นเรื่องขอทำทร.38/1 ของแรงงานบางคน ไม่มีการสวมห่วงคอจริง และบางรายก็เพิ่งมาทราบว่าเป็นกะเหรี่ยงคอยาว เพราะเข้าใจว่าเป็นสัญชาติพม่าทั้งหมด

 

"ตอนที่จดทะเบียน ในระเบียบบอกว่าต้องเป็นสัญชาติ พม่า ลาว และกัมพูชา ไม่ได้แยกกะเหรี่ยงคอยาว เขาก็มีบัตรพม่า ขึ้นประวัติเป็นพม่า เวลาทำงานก็ยื่นว่าพม่า เวลาถอดคอออกก็เหมือนต่างด้าวทั่วไปทั้งนั้น โดยห่วงคอนั้นสามารถถอดได้ เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าที่สวมเป็นเครื่องประดับและประเพณี เพียงแต่ตอนไปถ่ายรูปติดบัตรก็ถอดห่วงคอออกเหมือนการถ่ายรูปติดบัตรทั่วไปเท่านั้น"

 

"คนกลุ่มนี้ก็คือแรงงานต่างด้าวสัญชาติพม่า เพียงแต่เมื่อสวมห่วงคอยาวก็มีคนสนใจและมีมุมมองด้านการค้ามนุษย์ ที่จริงไม่ได้มีการกักขังหน่วงเหนี่ยง และเขายังมีสิทธิ์ที่จะทำงานตามที่รัฐบาลเปิดรีบด้วยซ้ำ"

 

นางสาวอรชร รัตนมณี จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ ยอมรับกับ "พลเมืองเหนือ" ด้วยว่า จุดดังกล่าวเป็นจุดที่ทำให้เลี่ยงได้ โดยในการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาจากอำเภอ ทร. 38 /1 นั้น จะมีการถ่ายภาพ ยื่นเอกสารต่ออำเภอ ซึ่งมีการแสดงตัว ณ จุดนั้น ซึ่งเป็นไปได้ที่มีทั้งใส่ห่วงคอมา และไม่ใส่มา และเมื่อถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตทำงานโดยจัดหางาน นั้น ดำเนินการตามเอกสารของทร. 38 /1 ที่ผ่านงานปกครองมาแล้ว โดยเจ้าตัวไม่ต้องมาแสดงตัว เพียงแต่นายจ้างที่ได้รับโควต้าทำงานนำเอกสารของลูกจ้างมาแสดงเพื่อยื่นแทน จัดหางานก็จะออกใบอนุญาตทำงานให้ ซึ่งขั้นตอนการผลิตเป็นบัตรก็อยู่ที่กรมการปกครองอีกขั้นตอนหนึ่งด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตามประเด็นดังกล่าวนี้ จะต้องดูที่ประเภทของแรงงานที่กะเหรี่ยงคอยาวหรือเผ่าอื่นๆ ได้รับอนุญาต รวมทั้งนายจ้างด้วย ว่าตรงกับที่ได้ยื่นขอไว้หรือไม่ โดยประเภทของแรงงานต่างด้าวกำหนดไว้เพียง 1. รับใช้มในบ้าน 2. กรรมการ แต่กรรมกรได้แยกเป็นหลายประเภท ซึ่งมีกิจการเกษตรรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะต้องพิจารณาจากการทำงานจริง อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าโทษของนายจ้างและแรงงานที่ทำงานผิดประเภทก็เล็กน้อย

 

เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ บอกกับพลเมืองเหนือว่า การตรวจติดตามนายจ้าง จ้างแรงงานว่าดำเนินการตามที่ยื่นขอไว้หรือไม่จะใช้วิธีสุ่มตรวจ เพราะ จำนวนโควต้านายจ้างของเชียงใหม่มีสูงถึงราว 12,000 ราย และแรงงานต่างด้าวทั้งหมดมี 35,599 ราย และกรณีนายจ้างทำผิดเงื่อนไขประเภทงาน ตาม พ...การทำงานของคนต่างด้าว พ..2521 ความผิดของแนงงานต่างด้าวจะจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท ส่วนนายจ้างปรับไม่เกิน 10,000 บาท จำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

บูมเต็มเหนือ

"พลเมืองเหนือ" ตรวจสอบแหล่งท่องเที่ยวในภาคเหนือที่คนในวงการทัวร์ยืนยันตรงกันว่ามีการเสนอให้นักท่องเที่ยวชมกะเหรี่ยงคอยาวมีทั้งสิ้น 8 แห่ง คือ

 

1.       "หมู่บ้านชาวเขาเกษตรเชิงนิเวศน์" ที่บ้านโต่งหลวง ต.แม่แรม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ มีกะเหรี่ยงคอยาวจำนวน 16 คน และมีเผ่าอื่น เช่น มูเซอ ปะหล่อง กลุ่มนี้ย้ายมาจากบ้านยะผ่า อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

2.       เขตแม่ตะมาน จ.เชียงใหม่10 คน ย้ายมาจากอำเภอเชียงดาว มีรวมกันลีซอ และม้ง

3.       "บ้านใหม่" แม่อาย จ.เชียงใหม่ มีมูเซอหูหลวง ปะหล่อง มาแสดงด้วย

4.       บ้านยะผ่า อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ราว 10 คน

5.       บ้านท่าข้าวเปลือก อ.เมือง จ.เชียงราย มีทั้งกะเหรี่ยงคอยาว ลาหู่ อาข่า ติดตั้งคัทเอาท์เชิญไปชมขนาดใหญ่

6.       หมู่บ้านในสอย ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 48 ครอบครัว 233 คน

7.       บ้านห้วยเสือเฒ่า ต.ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน จำนวน 26 ครอบครัว 177 คน

8.       บ้านห้วยปูแกง ต.ผาบ่อง จ. แม่ฮ่องสอนจำนวน 50 ครอบครัว 199 คน

 

ทั้งนี้ทุกแห่งล้วนแต่บรรจุอยู่ในโปรแกรมนำเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งสิ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท