Skip to main content
sharethis


รายงานโดย นิตยสารรายสัปดาห์ "พลเมืองเหนือ"

 


 


เตรียมบูมท่องเที่ยวชาวเขา สำนักพัฒนาการท่องเที่ยวฯ เล็งแม่วางผุดคอมเพล็กซ์ 11 ชนเผ่า ชี้บัญชา "นายกทักษิณ" อีกแล้ว ด้าน อพท.เล็กอมก๋อยลงสำรวจพื้นที่แล้ว สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวหนุน แต่ขอทำให้ถูกทิศ


 


การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมด้วยการชมวิถีชีวิตชนเผ่าเริ่มกลับเข้ามาอยู่กระแสการพัฒนาอีกครั้ง โดยนายสมชัย ใหม่จันทร์แดง ผู้อำนวยการศูนย์การท่องเที่ยวกีฬาและนันทนาการจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา สำนักพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มาสำรวจความเป็นไปได้ของพื้นที่หมู่บ้านชาวเขาแม่วิน บ้านกาด อ.สันป่าตองจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวชาวเขา ที่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ เพื่อนำมาศึกษาต่อเนื่องว่าจะมีความเป็นไปได้หรือไม่ โดยแนวคิดที่ชัดเจนยังไม่ได้ข้อสรุป เพียงแต่จะมีการศึกษาความเป็นไปได้ ซึ่งครั้งนั้น นายอริสมันต์ พงษ์เรืองรอง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาระบุว่าจะมีงบประมาณเพื่อการพัฒนาราว 200 ล้านบาท แต่ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน อย่างไรก็ตามองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ก็ได้ประสานกับสำนักงานฯ เพื่อสำรวจความเป็นไปได้พัฒนาหมู่บ้านท่องเที่ยวชนเผ่าที่อำเภออมก๋อยเช่นกัน


 


มีรายงานข่าวว่าสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสมโครงการคอมเพล็กซ์ชาวเขาเชียงใหม่ ซึ่งเป็นโครงการตามดำริของ พ...ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เมื่อครั้งการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่จังหวัดเชียงใหม่เมื่อต้นปี 2549 โดยอยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด ความเป็นไปได้ และสถานที่ ซึ่งจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ขนาดใหญ่ ในเบื้องต้นมีการนำเสนอ ที่จะพัฒนาพื้นที่บริเวณตำบลแม่เหียะ อ.เมือง ใกล้เคียงกับโครงการเชียงใหม่ ไนท์ซาฟารี-พืชสวนโลก และติดกับพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการอุทยานช้าง


 


รายงานระบุด้วยว่าแนวคิดการสร้างคอมเพล็กซ์ชาวเขาเชียงใหม่นั้น เพื่อพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวขึ้นมาใหม่ โดยนำชาวเขาแต่ละชนเผ่าจำนวน 11 ชนเผ่าในกลุ่มล้านนามาอยู่รวมกัน เพื่อนำเสนอวิถีชีวิตของแต่ละชนเผ่าให้นักท่องเที่ยวที่มีเวลาจำกัดได้สัมผัสทั้ง 11 ชนเผ่า และยังสามารถพัฒนาเป็นโฮมสเตย์ได้


 


นายบุญเลิศ เปเรร่า ประธานฝ่ายวิชาการสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่อธิบายว่า แนวคิดหมู่บ้านชนเผ่า สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่เคยผลักดัน แต่มิได้หมายความว่านำชนเผ่ามาเป็นสินค้าทางการท่องเที่ยว แต่เป็นข้อเสนอเชิงพัฒนาสังคมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิต โดยตอนนั้นพิจารณาเพียงแค่ 6 ชนเผ่ามิใช่ 11 ชนเผ่าตามที่ปรากฏเป็นข่าว ซึ่ง 6 ชนเผ่านั้นคือกะเหรี่ยง ปะหล่อง อีก้อ มูเซอ ลีซอ ม้ง ที่เริ่มจากการมองพื้นที่มีการใช้ชีวิตอยู่เป็นประจำอยู่แล้ว หรือพื้นที่ของราชการที่สามารถปรับปรุงได้ เพื่อที่หากเกิดกรณีที่ชนเผ่าในบางพื้นที่จำเป็นจะต้องเคลื่อนย้ายออกด้วยปัญหาข้อกฏหมาย ก็จะได้มีพื้นที่ซึ่งชนเผ่าจะได้มาอยู่ซึ่งเคลื่อนย้ายน้อยที่สุด ไม่ใช่ว่าให้ย้ายออกแล้วชนเผ่าก็มากระจุกตัวใช้ชีวิตในเขตเมืองอย่างแออัด เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต ถูกกลืนวัฒนธรรมโดยสิ้นเชิง


 


"พื้นฐานแต่ละเผ่ามีความแตกต่างกันจะต้องศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด เราเพียงคิดเพื่อแก้ปัญหาเชิงสังคมด้วย เมื่อเขาไม่ต้องย้ายลงมาเขตเมืองที่มีวิถีชีวิตแตกต่าง เมื่อมีพื้นที่อยู่ใกล้เคียงกับสภาพเดิมแล้ว หากทำการเกษตรไม่พอ จะเสริมด้วยการท่องเที่ยวเข้าไปพัฒนาและคงความเป็นสังคมชมเผ่าอยู่ได้หรือไม่ ที่ผ่านมาก็ต้องยอมรับว่าการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมชาวเขาได้รับความสนใจ แต่การเติบโตพัฒนาจะเป็นไปด้วยตัวเอง ซึ่งบางแห่งก็ทำได้ดี บางแห่งก็ผิดที่ผิดทาง


 


นายบุญเลิศ ยกตัวอย่างของหมู่บ้านชนเผ่าที่บ้านท่าตอนที่ถูกขับไล่จากพื้นที่อื่น และมีมูลนิธิของนายมีชีย วีรไวทยะเข้าไปช่วยพัฒนาให้เป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวยั่งยืน มีมัคคุเทศก์ท้องถิ่น มีพิพิธภัณฑ์ชนเผ่า มีลานกิจกรรมทำให้ชนเผ่ารักษาวิถีของตนเองและมีรายได้ที่เหมาะสม หลักคิดเช่นนี้ที่น่าจะส่งเสริมพัฒนา โดยหากไปจัดระบบการจัดการในพื้นที่เชียงใหม่ในขนาดที่ใหญ่ขึ้นเท่านั้น


 


นายสมฤทธิ์ ไหคำ นายกสมาคมมัคคุเทศก์จังหวัดเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ "พลเมืองเหนือ" ว่า หมู่บ้านชาวเขาเชิงนิเวศน์ที่รัฐบาลมีโครงการทำและเลือกอำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่นั้น ภาคเอกชนเห็นด้วยในแง่ที่จะดำเนินการในพื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับชนเผ่าที่มีรากเหง้าอยู่ในพื้นที่ของเชียงใหม่ดั้งเดิมอยู่แล้ว โดยองค์การพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ทำการศึกษา ซึ่งกลุ่มชาวเขานั้นควรจะเป็นชาวเขาในพื้นถิ่นของเชียงใหม่ เพราะความโดดเด่นของแต่ละพื้นที่จะมีความต่างและเสน่ห์ที่นักท่องเที่ยวสนใจต่างกัน เพราะชนเผ่าคือจุดดึงดูดหนึ่งของภาคเหนือ แต่ความโดดเด่นควรจะแตกต่างกัน เช่นที่น่านมีผีตองเหลือง ที่เชียงรายมีลาหู อีก้อ เย้า มูเซอ ลีซู ที่เชียงใหม่ มีม้ง อีก้อ ปะหล่อง กะเหรี่ยง ลุซู ลำพูนมีกะเหรี่ยง แม่ฮ่องสอน มีกะเหรี่ยงคอยาว คะฉิ่น คะยา เพชรบูรณ์มีมูเซอหูหลวง หากมีการพัฒนาในแต่พื้นที่ให้หมู่บ้านชาวเขามีการบริหารจัดการที่ดีรองรับการท่องเที่ยวได้ก็เป็นสิ่งดี แต่ไม่ใช่การย้ายถิ่นหรือเอกลักษณ์ดั้งเดิมของพื้นที่มาอยู่รวมกัน เช่นการย้ายกะเหรี่ยงคอยาวที่รากเหง้าพื้นถิ่นอยู่รัฐคะยามาอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่


 


นายสมฤทธิ์ กล่าวถึงหมู่บ้านชาวเขาเชิงนิเวศน์บ้านโต่งหลวงที่กำลังเป็นกรณีมีกะเหรี่ยงคอยาวว่า เดิมเป้นหมู่บ้านเชิงนิเวศน์ที่ทำการเกษตรและมีชนเผ่าปะหล่องจากอำเภอเชียงดาวมาทำงานในด้านการเกษตร ซึ่งได้มีบริษัททัวร์นำนักท่องเที่ยวระดับบนไปชมวิถีชีวิตอยู่เป็นระยะซึ่งได้รับความสนใจอย่างมาก เพราะมีความเป็นส่วนตัว และเป็นวิถีชีวิต ขณะเดียวกันมัคคุเทศก์ก็มีความสบายใจที่จะได้นำเสนอถึงข้อมูลว่าชนเผ่านั้นๆ มีวิถีชีวิตในพื้นถิ่นเชียงใหม่อย่างแท้จริง ซึ่งทิศทางการทำงานของมัคคุเทศก์ ตลอดจนความต้องการของนักท่องเที่ยวเองก็ต้องการมาชมในสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของชนเผ่าต่างๆ และพื้นที่ใดที่เป็นที่ดั้งเดิม นักท่องเที่ยวจะดิ้นรนไปหา เพื่อไปชมความเป็นจริง แต่ระยะหลังมีการนำเข้าชมเผ่าหลายเผ่าเข้ามาที่รากเหง้าถิ่นเดิมไม่ได้อยู่จุดนั้น ในกลุ่มมัคคุเทศก์และผู้ประกอบการก็ไม่สบายใจ และเห็นว่าเสน่ห์ที่แท้จริงได้หางไป


 


"เส้นทางท่องเที่ยวเดิมควรจะเป็นการดั้นด้นเข้าไปศึกษาชื่นชมในถิ่นที่อยู่ของชนเผ่านั้นจริงๆ ไม่ใช่นำมารวมกันเป็นการค้า เหมือนกับเรานำหมีแพนด้ามาให้ชมที่นี่แล้ว คุณไม่ต้องเดินทางไกลไปเมืองเฉินตู ถ้าเช่นนั้นอีกหน่อยจะมีเผ่าใดไปอยู่ที่ไนท์บาร์ซาร์ก็ได้เช่นนั้นหรือ?"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net