Skip to main content
sharethis

ประชาไท -12 ก.ย. 49 เมื่อวันที่ 11 ก.ย. คณะอนุกรรมการสิทธิในการจัดการที่ดินและป่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน จัดการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาชาวบ้านไม่มีที่ทำกินอันเนื่องมาจากการตั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ คณะอนุกรรมการอุดมศึกษา ตัวแทนจากกรมที่ดิน ตัวแทนจากจังหวัดนครศรีธรรมราช ตัวแทนสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครศรีธรรมราช รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และตัวแทนชาวบ้านผู้ได้รับปัญหา


 


นายอุดม หนูทอง รองอธิการฝ่ายกิจการนักศึกษามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กล่าวว่า รับรู้เรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ซึ่งน่าเห็นใจทุกฝ่าย เพราะชาวนครศรีฯต้องการมีมหาวิทยาลัย ชาวบ้านเองก็สนับสนุน เป้าหมายสำคัญในการทำงานที่ทำกันมาคือการตั้งมหาวิทยาลัยให้ได้ และต้องทำให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด


 


ที่ผ่านมาในทางปฏิบัติหลายสิ่งของมหาวิทยาลัยก็สะท้อนแนวคิดนี้ ทำให้ถึงวันนี้ปัญหาเดิมๆเหลือไม่มากหากนับจากวันตั้งมหาวิทยาลัย ชุมชนต้องเข้าใจการพัฒนาว่าไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นทันตา ถ้าเหลียวดูรอบๆจะเห็นว่าเดิมทีเป็นอย่างไรเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไร


 


หลายคนตั้งคำถามว่า มหาวิทยาลัยเอาที่ไปทำไมตั้ง 9,000 ไร่ ความจริงเป็นเพราะมีการจัดสรรมาให้ 13,000 ไร่ แต่เห็นว่าชาวบ้านเดือดร้อน จึงมีการจัดสรรที่ประมาณ 3600 ไร่ กลับคืนไป โดยมีสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส..ก.) ดูแลในการจัดสรรที่ดินส่วนนั้นให้แก่ชาวบ้าน โดยคุยกันว่าถ้ามีปัญหาที่ดินในพื้นที่ 9,000 ไร่ ให้มหาวิทยาลัยดูแล แต่ถ้าเป็นปัญหาในพื้นที่ 3,600 ไร่ ให้ส.ป.ก.ดูแล


 


บทบาทของมหาวิทยาลัยอยู่ที่เรื่องของการอนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยหลังทุกอย่างตกลงเรียบร้อยแล้ว ส่วนในพื้นที่ชุมชน 3,600 ไร่ นั้นมหาวิทยาลัยไม่มีอำนาจสิทธิอะไรนอกจากการประสานกับ ส.ป.ก. และหากถามว่าพื้นที่ในส่วน 9000 ไร่ที่เป็นของมหาวิทยาลัยนั้น สามารถจัดสรรให้ชาวบ้านได้หรือไม่ ตอบตอนนี้ไม่ได้ เพราะมหาวิทยาลัยบริหารโดยองค์คณะบุคคล เป็นเรื่องที่ต้องผ่านการพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย


 


เมื่อที่ประชุมมีคำถามถึงกรณีที่ นายอุทัย แก้วกล้า ตัวแทนของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ได้นำรถแบ็คโฮเข้าไถพื้นที่ ส.ค.1 ของนายแจ้ง คุณโลก ซึ่งถือครองอยู่ในส่วนพื้นที่ 3,600 ไร่ โดยไถพื้นที่ปลูกต้นยางอายุ 2 ปีไปประมาณ 20 ไร่ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ทางมหาวิทยาลัยมีท่าทีอย่างไร


 


นายทวีศักดิ์ หนูเดช นิติกรมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ตอบแทนว่า นายอุทัยคือหนึ่งในผู้รับมอบนโยบายของมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ เมื่อชาวบ้านที่ได้รับการจัดสรรที่ ส.ป.ก. แล้ว อาจจะมีการเข้าไปดำเนินการในที่ทำกินด้วยตัวเอง มหาวิทยาลัยจึงตั้งคณะกรรมการและส่งเจ้าหน้าที่ไปดูแลให้ เพื่อไม่ให้เกิดการประจันหน้ากันระหว่างชาวบ้าน เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยจะทำหน้าที่เป็นตัวกลาง


 


แต่นายกำพล ภาคสุข ตัวแทนจาก ส.ป.ก. จังหวัดนครศรีฯ แย้งว่า กรณีไถที่ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังการประชุมที่จังหวัดนครศรีฯ จัดขึ้นเพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาชาวบ้านไม่มีที่ทำกิน เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ครั้นนั้นที่ประชุมมีมติให้ ส.ป.ก.เข้าไปตรวจสอบพิจารณาจัดแปลงที่ดินใหม่ และเมื่อมีการไถที่ดินนายแจ้ง ทาง ส.ป.ก. ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไประงับการไถ พอกลับมาก็เข้าไปทำในตอนกลางคืนอีก ซึ่งในยามวิกาลทาง ส.ป.ก. เข้าไปดำเนินการไม่ได้


 


นางสุนี ไชยรส ประธานคณะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า ความขัดแย้งในกรณีที่ดินเหลือไม่มากแล้ว แต่การเกิดการไถรุกที่หลังการประชุมร่วมกันเพียง 1 วัน ในครั้งนั้น เป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจมาก ทางมหาวิทยาลัยเองกลับใช้สำนวนแบบอิทธิพลต่อชาวบ้านด้วยการพูดว่า ยินดีจ่ายค่าเสียหาย และจากการตรวจสอบพบว่า เป็นการสับสนที่ใช้อำนาจเกินเลย เพราะอำนาจในการดำเนินการในพื้นที่ของ นายแจ้ง เป็นของ ส.ป.ก.ไม่ใช่ของมหาวิทยาลัยหรือเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัย


 


นอกจากนี้ ชาวบ้านยังระบุชัดเจนว่า พื้นที่ 3,600 ไร่ ที่จัดสรรมาให้มีชาวบ้านไปทำกินเต็มไปหมดแล้ว ทางมหาวิทยาลัยจะใช้การประจันบาลทุกพื้นที่หรือ ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยเองมีพื้นที่ 9,000 ไร่ แต่ไม่แบ่งใครเลย ถ้าให้ทาง ส.ป.ก. ตอบฝ่ายเดียวคงตอบคำถามอะไรไม่ได้


 


จากนั้นที่ประชุมได้ดำเนินไปอีกระยะด้วยบรรยากาศการถกเถียงกัน แต่ไม่ได้รุนแรงเกินไปนัก จนกระทั่งได้ข้อสรุปว่า สิ่งที่จะทำให้การแก้ไขปัญหาเดินหน้าต่อไปได้คือ การต้องกลับมาพิจารณาแปลงที่ดิน 3,600 ไร่ใหม่ทั้งหมด และทางมหาวิทยาลัยต้องไม่มีท่าทีคุกคาม อีกทั้งต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาหาสอบสวนข้อเท็จจริงในกรณีของนายอุทัย ซึ่งทางรองอธิการบดี รับปากว่าจะดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 สัปดาห์


 


ส่วนในกรณีทางออกในการแก้ปัญหานั้น ที่ประชุมตกลงกันว่าควรมีการตั้งคณะกรรมการร่วมทั้งจากชาวบ้าน ข้าราชการ และมหาวิทยาลัยขึ้นมาแก้ไขปัญหา นอกจากนี้ การพิจารณาการจัดแปลงที่ดินใหม่ทั้งหมดให้เป็นหน้าที่ของ ส.ป.ก. ซึ่งคาดว่าน่าจะเสร็จสิ้นได้ในเวลา 3 เดือน


 


ที่ประชุมยังเห็นชอบว่าควรจะมีการประกาศกำหนดเวลา 60 -90 วัน ให้ชาวบ้านที่มีปัญหามาลงชื่อแจ้งข้อมูล เพื่อไม่ให้มีปัญหาเรียกร้องภายหลังอย่างไม่จบสิ้น หลังวันเวลาที่กำหนดไปแล้วจะไม่รับแก้ไขอีกเพื่อกันปัญหาบานปลายในอนาคต โดยอาจทำเรื่องขึ้นไปให้คณะรัฐมนตรีรับรู้ในการดำเนินการจัดแปลงที่ดินใหม่ให้ชัดเจนภายในเวลาที่กำหนดดังกล่าว


 


ปัญหาที่ดินบริเวณมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เกิดขึ้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัย ใน พ.ศ. 2539คลุมพื้นที่ประมาณ 9,000 ไร่ ทำให้ชุมชุนที่ถือครองที่ดินเดิมอยู่ก่อนในบริเวณที่ตั้งมหาวิทยาลัยประมาณ 900 ครัวเรือน ต้องย้ายออกไปสู่แปลงที่ดิน 3,600 ไร่ ที่มีการจัดสรรไว้รองรับ โดยทางมหาวิทยาลัยดำเนินการร่วมกับ ส.ป.ก.จังหวัด


 


ในการดำเนินการดังกล่าวได้จัดสรรที่ดินให้ถือครองครอบครัวละ 5 ไร่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่จัดสรรใหม่ 3,600 ไร่ นั้นก็มีทั้งชุมชนครอบครองพื้นที่มาแต่เดิม หรือบางครอบครัวแต่งงานออกไปก็ไปครอบครองที่แยกออกมา ทำให้การจัดสรรพื้นที่เกิดการซ้อนทับกัน มีการไม่ยินยอมและเกิดการขัดแย้งกันเองในหมู่ชาวบ้าน ในขณะที่ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้เข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหา ทำให้ปัญหาดังกล่าวดำเนินมากว่า 10 ปี ในลักษณะที่โยนหน้าที่รับผิดชอบไปมาระหว่างมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับ ส.ป.ก.จนมีการร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


อ่านข้อมูลเก่า


http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=4560&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net