Skip to main content
sharethis

14 ก.ย. 2549 - นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พูดถึงสถานการณ์การระบาดของโรคฉี่หนู โดยระบุว่าในขณะนี้ยังถือเป็นปกติ แต่พบมากขึ้นในพื้นที่ที่มีน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม โรคนี้หลีกเลี่ยงได้ง่าย ด้วยการไม่ลงน้ำ ย่ำโคลน ด้วยเท้าเปล่า แต่ต้องสวมรองเท้าบู๊ตยาว เพราะเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล รอยถลอกของผิวหนัง


 


ตั้งแต่เดือน มกราคม-สิงหาคม 2549 พบผู้ป่วยทั่วประเทศประมาณ 1,400 ราย เสียชีวิต 31 ราย ส่วนปี 2548 มีผู้ป่วย 2,868 ราย เสียชีวิต 40 ราย ทั้งนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เตรียมยาเวชภัณฑ์ เอาไว้เพื่อเตรียมรับมือแล้ว 

ด้าน น.พ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึง การระบาดของโรคเลปโตสไปโรซิส หรือโรคฉี่หนู หลังน้ำลด ซึ่งเฉพาะใน อ.ท่าวังผา อ.ปัว อ.เมืองน่าน และ อ.เวียงสา จ.น่าน ที่พบผู้ป่วยจำนวนมาก หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พื้นที่ดังกล่าวประสบปัญหาน้ำท่วม จากสถิติที่ จ.น่าน นั้น พบผู้ป่วยที่ยืนยันว่าเป็นโรคฉี่หนู 60 ราย และอยู่ระหว่างการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล 44 ราย และเสียชีวิตแล้ว 6 ราย ที่ อ.เมือง 2 ราย อ.ท่าวังผา 2 ราย อ.ปัว 1 ราย และ อ.เวียงสา 1 ราย

น.พ.ธวัช กล่าวว่า ขณะนี้ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้จัดรถตรวจวิเคราะห์เชื้อเคลื่อนที่ ลงไปคอยให้บริการแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจยืนยันเชื้อโรคฉี่หนูนั้นต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการที่ใกล้เคียงหรือสัมพันธ์กับโรคฉี่หนู แพทย์จะรักษาโดยให้ยาปฏิชีวนะทันที โดยส่วนใหญ่จะรักษาหายขาด ยกเว้นผู้ป่วยเข้ารับการรักษาพยาบาลช้าเกินไป

อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กลุ่มที่ติดเชื้อโรคนี้มาก คือ กลุ่มวัยทำงาน อายุ 25-45 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มที่เสี่ยงกับการติดเชื้อจากการลุยน้ำ ซึ่งพาหะนำโรคที่สำคัญคือ หนู แต่ก็สามารถพบได้ใน แมว สุนัข วัว ควาย เชื้อโรคเป็นเชื้อแบคทีเรียเป็นเส้นเกลียว เคลื่อนที่โดยการหมุน เชื้อนี้อยู่ตามดิน โคลน แหล่งน้ำ น้ำตก และน้ำลำคลองได้นานเป็นเดือน จะพบการระบาดมากในเดือนสิงหาคม-พฤศจิกายน และพบมากในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รองลงมาคือภาคเหนือ

น.พ.ธวัช กล่าวต่อว่า ระยะฟักตัวของโรคโดยเฉลี่ยประมาณ 5-14 วัน อาการของโรค คือ ปวดกล้ามเนื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะบริเวณน่อง โคนขา กล้ามเนื้อ อาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะทันที มักจะปวด บริเวณหน้าผาก หรือหลังตา บางรายปวดบริเวณขมับทั้งสองข้าง เยื่อบุตาแดง รักษาโดยการใช้ยาปฏิชีวนะ กลุ่มเพนนิซิลิน และควรจะได้รับยาภายใน 4-7 วัน หลังเกิดอาการของโรค


 


ที่มา เชียงใหม่นิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net