"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (4) : "พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"

บทรายงานสาธารณะ ชุด


"ชุมชนบนกองเพลิง"

จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์สงครามกลางเมืองชายแดนภาคใต้

 

 

โดย นายแพทย์พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

 

...........................................................................................

 

ตอนที่ 4

"พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทางเลือก ทางรอด"

 

ปัญหาวิกฤติการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ในระยะที่ผ่านมา รัฐ และกองกำลังติดอาวุธของภาครัฐ ใช้มาตรการความรุนแรงในการแก้ไขปัญหาเหตุการณ์ความไม่สงบ แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน ซึ่งผลการพิสูจน์แล้วว่าแก้ปัญหาไม่ได้

 

มีความพยยามยามที่จะเสนอแนวทางสันติวิธีมาเป็นทางออกและทางเลือก โดยเฉพาะจากฝ่ายนักวิชาการและสื่อมวลชน ซึ่งรัฐบาลเองก็ประกาศออกมาอย่างเสียไม่ได้ว่า จะใช้แนวทางสันติวิธีหรือการเมืองนำการทหาร แต่นั่นก็เป็นเพียงแต่คำพูด เพราะสันติวิธีก็ยังเป็นเพียงกระแสรอง เพราะกระแสหลักยังเป็นการใช้ความรุนแรงเหมือนเดิม แก้ปัญหาด้วยการเอาชนะกันทางเทคนิคยุทธวิธีล้วนๆ เป็นการยากที่จะเอาชนะกันได้เพราะเมื่อฝ่ายหนึ่งใช้เทคนิควิธีไปปราบปราม อีกฝ่ายหนึ่งก็ปรับปรุงทางด้านเทคนิคยุทธวิธีเข้าแก้ไขต่างฝ่ายต่างพลิกแพลงได้ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ส่วนในเรื่องของคำขวัญ "เข้าใจเข้าถึง และพัฒนา" อันเป็นแนวทางพระราชทานนั้น เมื่อดูจากภายนอก ก็พบว่าในการนำไปปฏิบัติจากหน่วยราชการต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กำลังทหาร ตำรวจ นั้นยังดูห่างไกลความเป็นจริงอยู่มากนัก

 

อุปสรรคหนึ่งที่สำคัญในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็คือ สถานการณ์ของความไม่มีเอกภาพในการแก้ไขปัญหา ของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผมขอหยิบยกมา 3 ประเด็น คือ

 

ประเด็นที่ 1 เอกภาพในงานความมั่นคง งานความมั่นคงในการแก้ไขปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถือว่าขาดเอกภาพอย่างยิ่ง ขาดเอกภาพระหว่างทิศทาง นโยบาย แนวทาง ยุทธศาสตร์และการปฏิบัติการ

 

ขาดเอกภาพระหว่างหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานส่วนกลางและหน่วยปฏิบัติที่อยู่ในพื้นที่ ขาดเอกภาพระหว่างองค์กร ระหว่างองค์กรทหารและองค์กรตำรวจ ฝ่ายปกครองและฝ่ายการเมือง

 

นอกจากนั้นการเปลี่ยนแปลงตัวผู้รับผิดชอบของรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีสั่งเปลี่ยนตัวรองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลความมั่นคง เปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปลี่ยนผู้บัญชาการทหารบก เปลี่ยนตัวแม่ทัพภาคที่ 4 และผู้บัญชาการตำรวจ ฯลฯ การเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบเหล่านี้ตามอารมณ์ของผู้นำ ทำให้เกิดความสับสน และขาดความต่อเนื่องอย่างยิ่ง

 

ประเดนที่ 2 งานความมั่นคงกับงานพัฒนา มีความไม่สอดคล้องระหว่างงานความมั่นคงกับงานพัฒนาในพื้นที่ ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัญหาของความไม่มีเอกภาพเช่นกัน งานพัฒนาทั้งในเรื่องของนโยบาย แผนงาน โครงการต่างๆ มักถูกกำหนดไปจากส่วนกลาง ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพปัญหาของประชาชนในพื้นที่ นอกจากนั้นงานพัฒนาต่างๆ ได้แยกส่วนไปตามกระทรวง ทบว งกรม ผู้ถืองบประมาณ

 

ส่วนในขั้นตอนของการปฏิบัติก็ขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานผู้ปฏิบัติ ขาดความเชื่อมโยงกิจกรรม โครงการโดยสิ้นเชิง ถึงแม้ว่าจะพยายามให้ผู้ว่าราชการจังหวัดซีอีโอเป็นตัวเชื่อมโยงบูรณาการ แต่ในความเป็นจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ นอกจากนั้นมีความไม่สอดคล้องในเรื่องของความต้องการกับปัญหาของชุมชนในท้องถิ่นกับงบประมาณที่จัดสรรลงไปอีก

 

ประเด็นที่ 3 ผลกระทบความไม่มีเอกภาพ ผลกระทบจากความไม่มีเอกภาพในงานความมั่นคงและงานพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับสภาพของปัญหาในพื้นที่ดังกล่าวข้างต้น ใน 3 ปีที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาความไม่สงบได้แล้ว ยังทำให้ปัญหาความไม่สงบทวความหนักหน่วงขึ้นทุกวัน ขณะเดียวกันผู้รับผลกระทบจากความรุนแรง ในแต่ละวันก็เพิ่มมากขึ้น

 

มีผู้ประมาณว่าต่อผู้ได้รับผลกระทบ 1 คน จะมีสมากชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ยอีก 5 คน ดังนั้น ถ้าหากมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 2,000 คน เอา 5 คูณ ก็จะผู้ได้รับผลกระทบในครอบครัวของเขา ประมาณ 1 หมื่นคน

 

คณะกรรกมารอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ หรือ กอส. เป็นองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งเกิดขึ้นจากการแต่งตั้งโดยคำสั่งนายกรัฐมนตรี จากความเรียกร้องต้องการของนักวิชาการและภาคประชาสังคม ที่มีความเป็นห่วงเป็นใย สถานการณ์ปัญหาชายแดนภาคใต้

 

กอส. ได้ทำมีการศึกษาค้นคว้า อย่างละเอียดรายงานของ กอส. ที่เสนอต่อรัฐบาลและสาธารณชนมุ่งแก้ปัญหาความไม่เป็นเอกภาพในด้านความมั่นคง และมุ่งสร้างเสริมพลังของชุมชนท้องถิ่นในการพัฒนา

 

กอส. ได้เสนอให้มีการขับเคลื่อน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ขึ้น เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ทั้งในพื้นที่และในสังคมใหญ่ว่า กอส. ได้เสนอตุ๊กตา พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ในจังหวัดชายแดนใต้ฉบับนี้ว่า ควรมีกลไกในการแก้ไขปัญหาสำคัญอย่างน้อย 3 กลไก เพื่อใช้เป็นเครื่องมือของสังคมในการสร้างเอกภาพและการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ กลไก ได้แก่

 

1.       ศูนย์ยุทธศาสตร์สันติสุขใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นองค์กรที่ทำหน้าที่กำหนดยุทธศาสตร์และอำนวยการให้เป็นไปตามยุทธศาสตร์นั้น ซึ่งหวังว่าจะทำให้ปัญหาการดำเนินงานต่างๆ ของหน่วยงานทั้งรัฐ เอกชน ทหาร ตำรวจ พลเรือน เป็นไปในแนวทางเดียวกัน

 

2.       สภาที่ปรึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ให้เป็นองค์กรเช่นเดียวกับสภาที่ปรึกษาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แต่ว่า สภาที่ปรึกษาการพัฒนาพื้นที่ชายแดนภาคใต้ เป็นกลไกที่ชุมชน ประชาชน ประชาสังคมต่างๆ ในท้องถิ่น เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางต่างๆ การพัฒนาและพิจารณารับรอง แผนการพัฒนาของหน่วยงานต่างๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน

 

3.       กองทุนสนับสนุนการเยียวยาและสมานฉันท์ ให้เป็นกองทุนที่เพิ่มหลักประกันในการสนับสนุนงานในด้านเยียวยาและฟื้นฟูชุมชน ซึ่งจะสามารถทำให้เกิดการเข้าถึง เข้าใจ ได้ดียิ่งขึ้นและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

 

ต่อข้อเสนอของ กอส. เช่นนี้ ประชาคมมุสลิมจังหวัดชายแดนภาคใต้และเครือองค์กรพัฒนาเอกชน เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม ที่มีบทบาทในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้และดำเนินการพัฒนาอยู่ในขณะนี้มีความเห็นร่วมกันแล้วว่า เป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์มาก ดังนั้นจึงตัดสินใจร่วมกันที่จะขับเคลื่อน ขยายผล สานต่อข้อเสนอของ กอส. เพื่อนำไปสู่รุปธรรมทางกฎหมาย โดยจะมีการขับเคลื่อนกระบวนการ พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ทันทีโดยไม่รอ

 

งานที่จะทำร่วมกันก็คือการยกร่างกฎหมาย โดยนำกรอบแนวความคิดที่ กอส. เสนอ มาสู่การพูดคุย แลกเปลี่ยนกันในวงกว้าง และ ประสานงานกับผู้เชี่ยวชาญในด้านกฎหมายมหาชน ให้ทำการยกร่างเป็นเอกสารกฎหมายขึ้น จากนั้นจะมีการเชิญชวนและรวบรวมรายชื่อประชาชน อย่างน้อย 1 แสนรายชื่อ เพื่อร่วมกันเสนอกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ เมื่อได้รายชื่อครบถ้วนแล้ว จะเสนอต่อประธานรัฐสภา เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางด้านนิติบัญญัติต่อไป

 

เมื่อกระบวนการเข้าสู่นิติบัญญัติ จะมีคณะทำงานที่ติดตามผลักดัน จนกระทั่งผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ ออกมาเป็นกฎหมายบังคับใช้

 

สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้จะมีการดำเนินการควบคู่กับไปกับการเตรียมการเลือกตั้งที่จะถึงนี้ ดังนั้นจึงอยากเชิญชวน พี่น้อง ประชาชน ข้าราชการ นักธุรกิจ ผู้รักสันติ ผู้ที่มีความห่วงใยในปัญหาชายแดนภาคใต้ ตลอดจนประชาชนที่อยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และประชาชนทั่วประเทศ ได้เข้ามาร่วมกันเคลื่อนไหวเพื่อขับเคลื่อน พ.ร.บ. สันติสมานฉันท์ ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นจุดเริ่มของการปฏิรูประบบปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้นำไปสู่ความสำเร็จและอย่างยั่งยืน

 

.....

 


"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (3) : "ปฏิรูปการศึกษาเพื่อดับใต้"

"พลเดช ปิ่นประทีป" ชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (2) : "ภูมิปัญญาความเป็นกลางคือทางรอด"

"พลเดช ปิ่นประทีป" จับชีพจรชุมชนในสถานการณ์ไฟใต้ (1) : "ชุมชนบนกองเพลิง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท