Skip to main content
sharethis

หลังเหตุการณ์ที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) คณะปฏิรูปฯ ที่มีพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปฯ ดังกล่าวก็ให้สัญญากับประชาชนจะเร่งรีบดำเนินการสรรหานายกรัฐมนตรีพลเรือนชั่วคราวให้ได้ภาย 2 สัปดาห์  และดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญ จัดการเลือกตั้ง คืนอำนาจแก่ประชาชนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี   


 


เป็นที่น่าสังเกตว่าแม้จะมีประชาชนบางส่วนเห็นด้วยกับ "รัฐประหาร" ครั้งนี้  โดยมีเหตุผลว่าเพื่อแก้ปัญหาวิกฤตการเมือง  และมองว่าเป็นกลวิธีหนึ่งสำหรับจัดการกับระบบการเมืองที่มีปัญหาในช่วงที่ผ่านมา  แต่เสียงของภาคประชาชนส่วนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วย  รวมทั้งประชาชนส่วนที่เห็นด้วยกับรัฐประหารในเชิงยุทธวิธีก็ยังมีความเป็นห่วงและกังวลต่อ "สิทธิเสรีภาพของประชาชน"  แนวทางการปฏิรูปสังคม-การเมืองจะเกิดขึ้นแบบไหน อย่างไร  และจะเป็นการเปลี่ยนผ่านการเมืองที่ตรงใจกับภาคประชาชน   เกิดประโยชน์กับประชาชนระดับรากหญ้าอย่างแท้จริงหรือไม่   เฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคณะปฏิรูปฯ ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญไปแล้ว  สิทธิเสรีภาพของประชาชน  การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทางการเมืองจะเป็นเช่นไรนับจากนี้ ?    


 


เมื่อรัฐธรรมนูญถูกยกเลิก  คำถามที่เกิดขึ้นตามมาคือ กระบวนการผลักดันสิทธิของประชาชนในเรื่องต่างๆ เช่น เรื่องสื่อ  เรื่องป่าชุมชน  ระบบสวัสดิการของประชาชนที่เคยผลักดันกันนมนานจะต้องกลับไปเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่หรือไม่ ?  คณะปฏิรูปฯ จะสามารถสานต่อเจตนารมณ์ของภาคประชาชนในเรื่องต่างๆ เหล่านี้ได้อย่างไร


 


สำนักข่าวประชาธรรม  ได้รวบรวมความเห็นของภาคประชาชนส่วนต่างๆ ทั้งเกษตรกร  นักวิชาการ  และนักกิจกรรมทางสังคมในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ  ต่อการนำรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยกลับคืนมา  จนถึงแนวทางการปฏิรูปสังคม การเมืองในอนาคต (ซึ่งจะมีการนำเสนออย่างต่อเนื่องในโอกาสต่อไป)


 


ใครคือผู้ร่างรัฐธรรมนูญ? 


 


หากจะว่าไปแล้วรัฐธรรมนูญปี 40   นับเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก  โดยเฉพาะประชาชนระดับฐานล่าง เช่นในมาตรา 46,56  ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากร เป็นต้น   แต่อย่างไรก็ตามการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมาก็มีปัญหามากต่อประชาชนระดับฐานล่าง  อีกทั้งกฎหมายลูกที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถผลักดันได้ เช่น กฎหมายป่าชุมชน เป็นต้น


 


กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน แม้จะไม่ชัดเจนว่าใครจะเป็นผู้ร่าง  เนื้อหาสาระจะเป็นเช่นไรนั้น   จากการติดตามสอบถามเครือข่ายภาคประชาชนส่วนต่างๆ  ก็มีความเห็นว่าสิ่งที่ภาคประชาชนจะต้องติดตามและตรวจสอบคือคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้ก็อยากให้คณะปฏิรูปฯ  เปิดกว้างให้ประชาชนจากทุกภาคส่วนเข้ามีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย  โดยเฉพาะกลุ่มประชาชนในระดับฐานล่างที่เข้าไม่ถึงมาโดยตลอด  จะต้องคำนึงถึงให้มากๆ    


 


รังสรรค์ แสนสองแคว  แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือมีความเห็นว่า แม้ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540  มีข้อบกพร่องอยู่บ้างและยังมีปัญหาในการนำไปใช้   แต่คณะปฏิรูปฯไม่จำเป็นต้องยุบทิ้งอาจปรับปรุงแก้ไขในบางส่วนก็ได้ ดังนั้นต่อไปจากนี้ปัญหาคือกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ รายละเอียดต่างๆ  ใครจะเป็นผู้ดำเนินการซึ่งนี่คือปัญหาใหญ่  หากฝ่ายทหารเป็นผู้ร่างตนเชื่อว่ามีปัญหาตามมาแน่นอนเพราะประชาชนจะถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วม  


 


นอกจากนี้การคืนอำนาจประชาชนนั้นต้องชัดเจนด้วยว่าคืนอย่างไร คืนก่อนร่างหรือหลังร่างรัฐธรรมนูญ   หากคืนอำนาจให้ประชาชนโดยที่ทหารร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็เท่ากับว่าสังคมเราเข้าสู่ยุคเผด็จการทหาร   ต้องจับตาให้ดีๆ   ภาคประชาชนต้องสร้างความชัดเจน ความเข้มแข็ง และเป็นเอกภาพในการปฏิรูปการเมืองให้มากกว่านี้ ต้องเดินหน้าการปฏิรูปการเมืองต่อไป อย่าไปให้ความสำคัญกับผลประโยชน์เฉพาะหน้า


ด้านสน รูปสูง ที่ปรึกษาชุมนุมสหพันธ์สหกรณ์ ภาคอีสาน  มีความเห็นคล้ายคลึงกันว่าประชาชนฐานรากก็ต้องตื่นตัวและเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมือง   ซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดจากสถานการณ์การเมืองที่ผ่านมา โดยอาศัยกระบวนการศึกษาผ่านองค์กรชุมชนต่าง ๆที่มีอยู่ หมดเวลาที่จะมาโอดครวญเสียดายนายกทักษิณแล้ว ให้การศึกษาแล้วบุกไปข้างหน้า การมีส่วนร่วมคือทำอย่างไรการพัฒนาจะลงมาสู่ฐานรากให้มากที่สุดโดยเฉพาะเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และการทำให้สภาประชาชนให้เข้มแข็ง


 


ที่ปรึกษาชุมนุมสหพันธ์สหกรณ์ภาคอีสาน กล่าวต่ออีกไปว่า ในส่วนของร่างข้อเสนอต่อการปฏิรูปการเมืองนั้นยังยึดหลักการเดิมที่คุยไว้  ส่วนใหญ่จะเน้นหมวดที่ว่าด้วยสิทธิชุมชน   ถือเป็นเจตนารมณ์ของเกษตรกรส่วนใหญ่  


ไม่ลืมปัญหาคนรากหญ้า


นอกเหนือจากกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญที่จะต้องมีความชัดเจนว่าเปิดให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางแล้ว  ประเด็นที่มีการเน้นย้ำจากเครือข่ายประชาชนคือเนื้อหาของการร่างรัฐธรรมนูญ  ในส่วนของเกษตรกร เท่าที่สัมภาษณ์มามีการเน้นย้ำประเด็นเนื้อหา ดังนี้


สน รูปสูง  ที่ปรึกษาชุมนุมสหพันธ์เกษตรกรภาคอีสาน ข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีดังนี้ 1.ให้จัดตั้ง "สภาเกษตรกรแห่งชาติ" เป็นตัวแทนเกษตรกรออกแผนการพัฒนา นำเสนอนโยบาย และประเด็นปัญหาของเกษตรกรต่อ ครม.เพื่อให้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง 2. จัดตั้ง "สภาสหกรณ์แห่งชาติ" แทน สหกรณ์เพื่อการเกษตรในปัจจุบัน ซึ่งเปรียบเสมือนไม้ดัด บอนไซ จะตายก็ไม่ตาย จะโตก็ไม่โต ถูกเลี้ยงไว้ดูเล่นอยู่อย่างนี้ 3. เกษตรกร เมื่ออายุครบ 60 ปี ต้องถือว่าเกษียณอายุแล้ว ดังนั้นรัฐต้องจัด "กองทุนบำเหน็จบำนาญเกษตรกร" ถือว่าบุคคลเหล่านี้ได้ทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศมามากแล้ว หรือจะเรียกว่าเป็น "กองทุนบำเหน็จบำนาญประชาชนเกษียร" ก็ได้


 


4. ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดจากการคอรัปชั่นของรัฐบาล ถือว่าประชาชนเป็นผู้เสียหายสามารถฟ้องร้องค่าเสียหายได้โดยรัฐเป็นฝ่ายออกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในระหว่างการดำเนินคดีทั้งหมด 5. จัดตั้ง "ธนาคารที่ดิน"   และยกร่างกฎหมายการจำกัดการถือครองที่ดิน   เนื่องจากปัญหาเรื่องที่ดินในประเทศไทยปัจจุบันคนรวยครอบครองอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยคนละ 200 ไร่ และคนจนครอบครอง 20 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ยคนละ 1 ไร่เศษ อนาคตโอกาสที่ที่ดินจะไหลรวมไปหาคนรวยก็มีสูงขึ้นเรื่อย ๆ   ธนาคารที่ดิน ต้องเตรียมงบประมาณในการซื้อคืนที่ดินเหล่านั้นเพื่อเตรียมจัดสรรให้ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงได้นำไปทำประโยชน์แต่ห้ามขาย หากใครจะขาย ธนาคารที่ดินต้องยึดคืนมาเพื่อจัดสรรให้คนอื่นทำประโยชน์ต่อไป  5. จัดตั้ง " กองทุนชดเชยการขาดทุนผลผลิตทางการเกษตร " และ 6. ปัญหาเรื่องน้ำ รัฐต้องมีนโยบายการจัดการระบบน้ำสำหรับการเกษตรอย่างเพียงพอและยั่งยืน


 


กระจ่าง ทองคำ ชาวบ้านบ้านบ่อคณฑี ต.ขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช กล่าวกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ว่า เป็นรัฐธรรมที่ดีอยู่แล้ว ซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมากที่สุด อย่างไรก็ตาม คิดว่าในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อยากให้เพิ่มเติมในสิ่งที่สำคัญที่สุดตามความคิดของตนคือ กฎหมายการจำกัดการถือครองที่ดิน  ต้องระบุให้ชัดเจนว่า อนุญาตให้ประชาชนมีที่ดินได้คนละกี่ไร่ แต่ที่ผ่านมาไม่มีรัฐธรรมนูญฉบับไหนระบุเรื่องนี้ไว้เลย ทั้งนี้เพราะเรื่องที่ดินทำกินเป็นความเท่าเทียม บางคนไม่มีที่ดินทำกิน บางคนพอมี 10-15 ไร่ แต่บางคนกลับมีเป็นหมื่นๆ ไร่ ถ้าไม่แก้เรื่องนี้ คนจนจะไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้


 


"แนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ถ้าจะให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมจริงๆ หน่วยงานของรัฐบาลต้องจัดนักวิชาการลงมาทำประชาพิจารณ์ในหมู่บ้านทุกหมู่บ้าน ถามความเห็นของชาวบ้านต่อข้อเสนอกฎหมายต่างๆ ว่าเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยอย่างไร"


           


คืนอำนาจให้ประชาชนไม่ใช่นักการเมือง


 


ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิชาการผู้ศึกษาการเมืองบนท้องถนน กล่าวว่า การยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่ใช่เรื่องดีแน่ เพราะถึงแม้จะไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์ที่สุด แต่อย่างน้อยก็มีแนวนโยบายแห่งรัฐซึ่งเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน รวมถึงการให้ความสำคัญกับภาคประชาชนในการมีส่วนร่วมต่างๆ นอกจากนี้การยกเลิกองค์กรอิสระไปด้วย ย่อมกระทบกับช่องทางการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างแน่นอน   ดังนั้น แม้คณะปฏิรูปมีความจำเป็นต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญไป ก็อยากให้คงหลักประกันในสิทธิเสรีภาพของประชาชนเหล่านี้เอาไว้


 


"ยกตัวอย่างเรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คนนั้นจะส่งผลร้ายมหาศาลต่อกระบวนการทำงานของภาคประชาชน-ภาคประชาสังคม เนื่องจากที่ผ่านมาประชาชนต่างใช้วิธีการชุมนุม เดินขบวน และรณรงค์ในที่สาธารณะเพื่อเป็นเครื่องมือต่อรองกับรัฐ และทำความเข้าใจกับคนในสังคม"


 


อย่างไรก็ตาม ดร.ประภาส กล่าวอีกว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ตนเชื่อว่าทุกภาคส่วนในสังคมคิดไปในทางเดียวกันที่ไม่อยากให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องกลายเป็นการคืนอำนาจให้นักการเมือง แทนที่จะเป็นการคืนอำนาจให้ภาคประชาชนรากหญ้าตามที่รัฐธรรมนูญปี 2540 มุ่งหมาย เพราะบทเรียนจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ภายหลังการทำรัฐประหาร มักจะเป็นการเขียนขึ้นจากผู้มีอำนาจ ผู้ทรงวุฒิ หรือนักกฎหมายมหาชนเพียงไม่กี่คน


 


ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ แม้จะเป็นการใช้เพียงชั่วคราว ก็ควรมีเปิดทางให้กว้างที่สุด เพื่อภาคประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการบริหารประเทศตามระบอบทักษิณ องค์กรภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมอย่างแท้จริงในกระบวนการ อาจเป็นรูปแบบสภาประชาชนดังที่คณะปฏิรูปเสนอ หรือคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญอาจมีบทบาทดังคณะลูกขุน ในการรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอจากคนกลุ่มต่างๆ ก็ได้


 


ส่วนกลุ่มมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนมีความเห็นว่า ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญที่รองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชนเป็นหลักการสำคัญที่ต้องได้รับการประกันอย่างมั่นคง  เพื่อให้สังคมไทยกลับคืนสู่ครรลองประชาธิปไตย จึงมีข้อเสนอว่าจะต้องมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นบังคับใช้  โดยจะต้องคงหลักการซึ่งได้รับรองในรัฐธรรมนูญปี 40 แล้ว อาทิ หลักการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดทำรัฐธรรมนูญ   องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐที่อยู่นอกรัฐสภา   สิทธิชุมชน  หลักประกันด้านสิทธิและเสรีภาพของประชาชน    และเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร


 


ด้านนักกฎหมายจากสภาทนายความ และผู้ประสานงานคดีกรือเซะ ตากใบ  นิตยา หว่างไพบูลย์  มีความเห็นว่าหน่วยงานรัฐ องค์กรเอกชน และประชาชนทั่วไป ต้องกลับมาทบทวนบทบาท หน้าที่ของตนเองว่าเหตุใดจึงมีรัฐประหาร ซึ่งโดยส่วนตัวมีความเห็นว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมาจากช่องว่างของกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้นักการเมืองบางกลุ่มเข้าไปแสวงผลประโยชน์


 


สำหรับขั้นต่อไปในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ประชาชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกลไกการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ด้วย   ต้องมีการตื่นตัวทางการเมือง  ที่ผ่านมามีนักการเมืองแทรกตัวเข้ามาอยู่ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้เกิดความไม่โปร่งใส เกิดการร่างรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ในกับพรรคการเมืองของตนเอง


 


ดังนั้นกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญครั้งใหม่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ประชาชนอย่างกว้างขวางมากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมาการเสนอความเห็นของประชาชนเพื่อร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญยังแคบอยู่ในวงของประชาชนไม่กี่กลุ่ม ซึ่งไม่กว้างขวางมากพอ ประชาชนได้รับเอกสารให้เสนอความเห็นล่วงหน้าเพียง 1 อาทิตย์ เท่านั้น โดยที่ไม่มีเอกสารมาประกอบการศึกษา อีกทั้งยังไม่ได้ให้โอกาสประชาชนเรียนรู้ผลดี ผลเสียของการร่างรัฐธรรมนูญ


 


กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 ในเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนเป็นสิ่งที่ต้องคงเอาไว้ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายประเด็นที่ต้องเพิ่มเติม ยกตัวอย่างเช่น สิทธิที่จะไม่ถูกอุ้ม ซึ่งยังเป็นช่องว่างของกฎหมาย ที่ลงโทษผิดผู้กระทำความผิดไม่มากนัก เช่น กรณีคุณสมชาย นีละไพจิตร


 


ผศ.นุกูล รัตนดากุล คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี   มีความเห็นว่าในส่วนของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นั้น เป็นฉบับที่ดี โดยภาพรวมยังสามารถใช้ได้ แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในบางเรื่อง เช่น ในเรื่องการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรี จะมีการควบคุมอย่างไร ไม่ให้เป็นเผด็จการทางรัฐสภา รวมทั้งในเรื่องสัดส่วนการอภิปรายคณะรัฐมนตรีผู้ทำหน้าที่บริหารประเทศควรมีการปรับปรุงใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์เช่นในยุคของรัฐบาลครั้งที่ผ่านมา นอกจากนี้ จะทำอย่างไรที่จะให้องค์กรอิสระมีอำนาจที่เป็นอิสระอย่างแท้จริง


 


"ผมเองยังไม่รู้วิธีการว่าจะทำอย่างไร แต่มองว่าน่าจะมีการแบ่งอำนาจให้องค์กรมีอิสระจริง ส่วนในระดับพื้นที่ รัฐธรรมนูญต้องมีอำนาจในการคุ้มครองฐานทรัพยากรชุมชน พื้นที่สาธารณะ ไม่ให้ถูกรุกรานโดยอำนาจของรัฐ"


 


รัฐธรรมนูญต้องพูดถึงการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นให้ชัดเจนกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านมา  ไม่ให้ตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง   ดังนั้น จะต้องมีวิธีการควบคุมการใช้อำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระบุเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย


 


ภารกิจประชาชนเสนอวาระประชาชน   


 


นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตสว.จ.อุบลราชธานี และอดีตประธาน กรรมาธิการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ วุฒิสภา กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2540 ของคณะปฏิรูปฯเพราะเห็นว่าในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวยังมีหลายประเด็นที่เป็นประโยชน์และเป็นอำนาจของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นหมวดสิทธิเสรีภาพ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน หรือแม้กระทั่งการสื่อสารของภาคประชาชน   คณะปฏิรูปฯน่าจะให้ความสำคัญและดำเนินการตามนั้นเพื่อแสดงให้เห็นว่าคณะปฏิรูปฯไม่ได้ปฏิรูปฯเพื่ออำนาจของใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นการยึดอำนาจรัฐเพื่อคืนให้ประชาชน


 


ขณะนี้ภารกิจของภาคประชาชนรวมทั้งเครือข่ายประชาชนในภาคส่วนต่างๆ  ต้องรวมตัวกันและหารือกันในแนวทางการปฏิรูปทางสังคมการเมือง   โดยทำให้เห็นรูปธรรม   ซึ่งจะทำให้เสนอต่อคณะปฏิรูปฯได้อย่างชัดเจนและมีพลัง   ดังนั้นภารกิจในการปฏิรูปสังคมการเมืองหรือแม้กระทั่งเรื่องสื่อคือภารกิจของภาคสังคมที่ต้องทำต่อไป


 


"ผมคิดว่าภาคประชาชนอย่าไปหยุดแค่ว่าทักษิณออกไปแล้วจบ และไม่ต้องไปโต้เถียงว่าปฏิรูปรัฐประหารแล้วมันจะถอยหลังเข้าคลองหรือไม่ เพราะนี่คือความจริงที่เกิดขึ้น ดังนั้นการรวมตัวของภาคประชาชนในทุกภาคส่วนต้องนำเสนอวาระของประชาชนในการปฏิรูปสังคมการเมืองต่อคณะปฏิรูปฯอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน" อดีตสว.จ.อุบลราชธานีกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net