Skip to main content
sharethis

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ทีมข่าวประชาไท ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ รศ.สมเกียรติ ตั้งนโม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี


 


ทีมงานข่าวประชาไทได้ตั้งคำถามต่อข้อสังเกตกับคำว่า "ปฏิวัติ" และ "รัฐประหาร" ที่เรียกกันอยู่ในขณะนี้ ซึ่ง รศ.ดร.สมเกียรติ ใช้คำว่า "ปฏิวัติ" และในการวิเคราะห์สถานการณ์ และกล่าวถึงการปฏิวัติครั้งนี้ว่าเปรียบเสมือนนิทานเรื่อง "สิงโต หมาจิ้งจอก แย่งชิงกินไก่"  


 


 


 


การรัฐประหารครั้งนี้มีอะไรใหม่หรือไม่ อย่างไร


 


ผมว่ามันไม่มีอะไรใหม่ มันเป็นการช่วงชิงอำนาจปกครองของผู้นำสองกลุ่ม ซึ่งพยายามขึ้นมานำตลอดเวลา ผมเล่านิทานให้ฟังละกัน สิงโตกับหมาจิ้งจอก สิงโตก็อยากกินไก่ ในขณะเดียวกันหมาจิ้งจอกก็อยากกินไก่ แต่ปรากฏว่า สิงโตใช้วิธีการตะครุบไก่เลย แต่วิธีการของหมาจิ้งจอกไม่ใช้วิธีการนี้ แต่ใช้วิธีการพูดให้ไก่เดินออกมาจากกรงมาให้มันกิน ซึ่งวิธีการมันเป็นคนละอย่างกัน


 


ฉะนั้น ในขณะนั้น สิงโตเห็นว่าหมาจิ้งจอกกำลังจะกินไก่ จึงตะครุบทั้งหมาจิ้งจอกและไก่พร้อมกัน ในขณะที่ไก่ยังคาอยู่ที่ปากของหมาจิ้งจอก ดังนั้น ผมคิดว่าเล่านิทานให้ฟังเท่าที่ผมแสดงความคิดเห็นต่อเหตุการณ์ครั้งนี้


 


 


ทำไมทหารต้องออกมาแสดงบทบาทในครั้งนี้


 


ทำไมทหารต้องออกมา ผมขอเล่าก่อนว่า เกมนี้มันเป็นเกมที่ค่อนข้างซับซ้อน  เกมนี้ มันเป็นเกมช่วงชิงอำนาจนำ ฝ่ายหนึ่งได้ใช้ "กระบวนการศาล" ในการกำจัดฝ่ายตรงข้าม ผมคิดว่าเฉพาะเกมนี้ก็พอแล้ว ถ้าเกิดมันเป็นตามขั้นตอน แต่ข่าวที่ผมได้ก็คือ วิธีการ"กระบวนการศาล" นี้ มันค่อยเป็นค่อยไป และขณะที่ดำเนินคดีอยู่ เนื่องจากมีข่าวว่าฝ่ายที่กำลังถูกดำเนินคดีจะปฏิวัติ  ด้วยเหตุดังนั้น ทหารจึงรีบชิงอำนาจปฏิวัติก่อน ทั้งที่มีกระบวนการทางศาลกำลังดำเนินคดีกับนักการเมืองที่มีความผิดอยู่หลายข้อกล่าวหาที่เป็นไปได้ว่า จะกำจัดนักการเมืองทำผิดประพฤติมิชอบได้ โดยศาลที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในระหว่างนั้น ข่าวที่ผมได้นั้น ว่าจะมีการปฏิวัติก่อน แต่วิธีการของศาลจะช้าเกินไปกว่าจะดำเนินคดีสิ้นสุดลง  กลับกัน มันผลักให้มีการช่วงชิงปฏิวัติ หลังจากเหตุการณ์นี้ ทุกอย่างมันก็เปลี่ยนไปหมดเลย


 


 


ภาพรวมของเหตุการณ์ทั้งหมด ต่อปัญหาในอนาคต


 


ประการแรก ถ้าปล่อยให้กลไกตามประชาธิปไตยตามทิศทางที่เรียกว่า เปรมาธิปไตยแล้ว จะเกิดผลที่ตามมาคือนายทหาร นักธุรกิจ จะเข้ามาหาผลประโยชน์ร่วมกันในการบริหารประเทศ


 


และประการสอง เราต้องช่วงชิงการออกแบบให้ฝั่งเรามากขึ้น ดูตัวอย่าง รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ..2540 เป็นฐานในส่วนที่ดี เรื่องพลเมือง มีส่วนของข้อดีให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพของสื่อ และข้อด้อย ที่ควรแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่ให้อำนาจแก่คณะผู้บริหารมากเกินไป


 


และส่วนของรัฐธรรมนูญที่ฝ่ายคณะปฏิรูปฯ กำลังร่างรัฐธรรมนูญนั้น จะต้องฟื้นฟูสิทธิชุมชนสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ รวมทั้งอำนาจขององค์กรอิสระที่คอยควบคุมรัฐ และผมมีข้อเสนอจัดตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ ทำหน้าที่เป็นกลไกตรวจสอบรัฐ และนักการเมือง ในที่นี่คือรัฐธรรมนูญที่ทางเราควรช่วงชิงมาให้ได้ในส่วนของฉบับที่ 2 จะได้เป็นของประชาชน


 


ส่วนหน้าที่ในกลไกของรัฐสภาถูกปิดกั้น และคณะกรรมการเฉพาะกิจที่จะมีขึ้น ไม่ควรเกี่ยวข้องรัฐสภา และจะวางแผนไม่ให้ถูกแทรกแซง ซึ่งทั้งหมดของภาพรวม ประกอบด้วยขั้นตอน มีการไต่สวน เช่น ฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ โดยก้าวต่อไปของภาพรวมที่เราไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลย จะตกภายใต้อำนาจของ เปรมมาธิปไตยอย่างเดียว ซึ่งทางที่สอง คือการปรับปรุงรัฐธรรมนูญฉบับ ปี พ.. 2540 ดังที่กล่าวไปแล้ว


 


 


ทำไมการเคลื่อนไหวในเรื่องปฏิรูปรัฐธรรมนูญถูกลบออกไป


 


ก่อนหน้านี้สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ ได้วางแผนการปฏิรูปหลังเลือกตั้ง เขาคิดจะปฏิรูปหลังตุลาคม แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าไม่มีการเคลื่อนไหวเลย เพราะการปฏิวัติของทหาร จึงส่งผลต่อการปฏิรูปรัฐธรรมนูญ พ..2540 ด้วย เราก็เลยจะออกแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งสถานการณ์ ขณะนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะหลักการปกครองโดยทหาร มาจากความต้องการของคณะทหาร แต่ไม่ใช่องค์ประกอบส่วนรวม มีฉันทามติร่วมกัน ดังเช่นแถลงการณ์คณะปฏิรูปฯ ซึ่งมีมาตรการออกมาไม่มีโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย


 


 


ทางออกของสถานการณ์


 


เราคงทำในแง่ของสัญลักษณ์ เช่น เปิดไฟหน้ารถยนต์ทุกเวลา ฉายความสว่างให้กับความมืดของประชาธิปไตย หรือแต่งชุดดำ หรือให้คณะปฏิรูปเปิดกระดานสำหรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งในส่วนของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน เปิดกระดานข่าวรัฐธรรมนูญเพื่อเสนอแนวคิดทำกระดานสำหรับเสนอความคิดเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญ  ทั้งนี้เพื่อช่วงชิงจากคณะปฏิรูป ซึ่งมีแต่พวกเนติบริกร ทำให้รัฐธรรมนูญ มีแต่พวกนักเทคนิค ชนชั้นสูง แต่ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมือง เพราะประชาชนไม่ช่วงชิงอำนาจ แต่ยืนยันการมีส่วนรวมในการร่างรัฐธรรมนูญ


 


 


สถานการณ์จะอึมครึมอีกนานแค่ไหน


 


แน่นอนว่าทหารก็ยังคุมอำนาจการบริหารประเทศอยู่ไม่ต่ำกว่าหนึ่งปี แต่สถานการณ์ขึ้นอยู่กับว่าพลังของประชาชนในภาคส่วนต่างๆว่า เราไม่เห็นด้วยและอยากได้ประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net