Skip to main content
sharethis

"ประชาไท" มีโอกาสสัมภาษณ์นาย นิคม พุทธา กรรมการมูลนิธิอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าและพรรณพืชในพระบรมราชินูปถัมภ์ 1 ใน 8 แกนนำเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการปฏิรูปการเมืองภาคเหนือ โดยนายนิคม พุทธา เผยว่า เตรียมจัดงานสมัชชาเหมืองฝาย คาดระดมคนเข้าร่วมกว่า 500 คน ที่สนามกีฬา 700 ปี จ.เชียงใหม่ 28-29 ก.ย.นี้ เผยเป็นการประชุมของประชาชนภายใต้ขอบเขตของ คปค.


 


ในฐานะที่ทำงานอยู่กับองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิทธิชุมชน การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนท้องถิ่น คุณนิคม มีความห่วงใยการทำรัฐประหารของคณะปฏิรูปฯ (คปค.) ในครั้งนี้หรือไม่


 


คือก่อนหน้านี้ ทางเราซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านทรัพยากร ปัญหาดิน น้ำ ป่า อยู่แล้ว และเรารู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น ทั้งเรื่องของการเสื่อมโทรมของทรัพยากร การละเมิดสิทธิชุมชนท้องถิ่น หรือการกีดกันไม่ให้คนยากคนจนเข้าถึงฐานทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็น ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำการเกษตร น้ำเพื่อการบริโภคและการเกษตร หรือแม้แต่ป่าชุมชน มันมีสาเหตุอันเนื่องมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ผ่านมา


 


เพราะฉะนั้นที่ผ่านมา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเครือข่ายทรัพยากรก็เลยต้องไปร่วมเครือข่ายขององค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านการเมือง ด้านสิทธิชุมชนและองค์กรเคลื่อนไหวด้านสังคมและการเมือง ซึ่งทีนี้ภารกิจร่วมที่ผ่านมาก็ชัดเจนว่าจะต้องหยุดระบอบทักษิณ


 


โดยที่ผ่านมาเราพยายามทุกวิธีทางในกฎกติกาของระบอบประชาธิปไตย การแสดงความเห็นต่อสาธารณะ  และการมีข้อเสนอทางนโยบาย อย่างเช่นกรณีที่มีการเสนอกฎหมายป่าชุมชน แต่ก็ไม่ได้รับการสนองตอบจากรัฐบาลทักษิณ


 


การมี คปค. เข้ามาแก้ปัญหาประเทศชาติที่กำลังเผชิญอยู่จากที่ผ่านมานี้ ทางองค์กรพัฒนาเอกชนก็ถือว่า ภารกิจที่ 1 คือหยุดยั้งหรือล้มเลิกระบอบทักษิณ มาถึง ณ วันนี้ก็แทบจะเรียกว่าบรรลุ แต่ภารกิจต่อไปคือ จะทำอย่างไรให้ภาคประชาชนโดยเฉพาะท้องถิ่น คนรากหญ้าหรือคนยากจนในภาคเกษตร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ ได้เข้าไปมีส่วนปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยทั้ง 2 ทาง ทางที่ 1 คือผ่านระบบตัวแทน ตั้งแต่ระดับ อบต. อบจ. ส.ว. ส.ส. และทางที่ 2 คือการเข้าไปมีบทบาทปฏิรูปการเมืองและสังคมไทยทางตรง ซึ่งองค์กรภาคประชาชนจะต้องทำให้เกิดความร่วมมือในหมู่ของประชาชนในระดับฐานล่าง และต้องไปร่วมกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ เช่น เราต้องการให้กฎหมายรัฐธรรมนูญรับรองสิทธิชุมชน เพราะฉะนั้น รัฐธรรมนูญที่จะร่าง เราก็ต้องให้รัฐธรรมนูญมีการระบุเวลาหรือเงื่อนไขที่จะออกกฎหมายลูก


 


ประกาศของ คปค. ไม่ว่าจะเป็นห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือประกาศล่าสุดที่ห้ามองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรต่างๆ รวมกลุ่มทางการเมืองจะมีผลกระทบต่อการดำเนินงานหรือไม่ อย่างเช่น งานภูมิปัญญาเหมืองฝายที่กำลังจัดขึ้น


 


งานประชุมสมัชชาเหมืองฝายนั้น จริงๆ นั้นมีการเตรียมมานานแล้ว แต่คิดว่าน่าจะมีการจัดงานประชุมสมัชชาเหมืองฝายได้เพราะเนื้อหา รูปแบบ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมือง แต่ต้องการสร้างการเรียนรู้ร่วมในหมู่เกษตรกร ชาวนา ที่ยังมีวิธีการจัดการน้ำระบบเหมืองฝายเพื่อการเพาะปลูก


 


เนื้อหาที่จะมีการประชุมคือ สถานการณ์ปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมทางสังคม เศรษฐกิจ การเมืองมีความเปลี่ยนแปลงนั้นชาวบ้านจะปรับตัวอย่างไร ก็จะมาปรึกษาหารือกัน เพื่อที่จะทำอย่างไรให้พี่น้องชาวบ้านเข้าถึงทรัพยากรน้ำ หรือเพื่อให้มีการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝายต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการประชุมสมัชชาเหมืองฝายจะจัดขึ้นในวันที่ 29-30 กันยายน นี้สนามกีฬาเชียงใหม่ 700 ปี โดยคาดว่าจะมีพี่น้องเกษตรกรเข้าร่วม 500-600 คน


 


แล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดกิจกรรมหรือไม่ เช่น การเชิญทหารมาเป็นประธานในพิธี


 


คือรูปแบบที่กำหนดไว้ เป็นการประชุมสมาชิกสมัชชาเหมืองฝาย ซึ่งกิจกรรมนี้จะดำเนินการโดยองค์กรชาวบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการกล่าวรายงานเปิด หรือเป็นประธานในพิธีเปิดก็เป็นชาวบ้าน หลังจากนั้นจะมีนักวิชาการมาแสดงความเห็น วิเคราะห์สถานการณ์ที่ผ่านมา พูดถึงแนวโน้มทั้งเศรษฐกิจ การเมือง และการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม ดิน น้ำ ป่า การเปลี่ยนแปลงของผลการผลิต


 


ในส่วนของการวิเคราะห์การเมืองเราจะพูดเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กลไกระบบราชการที่จะเข้ามาสนับสนุนการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย ไม่เกี่ยวกับการเมืองที่เขาจะปฏิรูป และหลังจากนั้นจะมีกรณีตัวอย่างของกลุ่มชาวนาที่มีการปรับตัวแต่ละพื้นที่ว่าถ้าเผชิญปัญหาจะแก้ไขอย่างไร เช่น กรณีฝายวังไฮ ซึ่งกั้นลำน้ำปิง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ ซึ่งที่นั่นมีฝายยางที่กรมชลประทานมาทำขึ้น แต่ชาวบ้านก็ยังมีฝายดั้งเดิมอยู่ นี่ก็จะเป็นกรณีศึกษาว่าลุ่มชาวนาที่ใช้น้ำจะจัดการร่วมกันระหว่างฝายยาง กับ ฝายดั้งเดิม อย่างไร


 


หรือกรณีกลุ่มชาวนา ที่เผชิญกับสวนส้มขนาดใหญ่ ในน้ำแม่ฝาง ซึ่งสวนส้มขยายตัวและใช้น้ำมากแต่ชาวบ้านก็ต้องใช้น้ำทำนา จึงต้องแย่งน้ำกัน ชาวบ้านก็จะนำเสนอว่าจะปรับตัวอย่างไร


 


ซึ่งในช่วงบ่ายเราจะเชิญกรมชลประทานและกรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มารับทราบและแสดงความคิดเห็น ซึ่งทีนี้งานประชุมนี้จะจัดได้หรือไม่ได้ จะประสานกับทหารและผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่อีกครั้งหนึ่งว่าจะมีต่อไปหรือยกเลิก


 


ท้ายที่สุดมองการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนหลังจากนี้อย่างไร


 


คือเรื่องของการมีส่วนร่วมของประชาชน เป็นที่รับรู้และยอมรับอย่างกว้างขวางในขณะนี้ ในกฎหมายรัฐธรรมนูญที่จะร่าง คิดว่าต้องมีหมวดการมีส่วนร่วมของประชาชนต้องเป็นหมวด ไม่ใช่มาตรา และในหมวดนี้ต้องระบุชัดเจนว่าจะต้องออกกฎหมายลูกคือ พระราชบัญญัติการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน พ.ศ. ...


 


โดยเฉพาะการให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการพัฒนาภาครัฐ อย่างเมกะโปรเจคท์เชียงใหม่ ทั้งโครงการเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี โครงการกระเช้าขึ้นดอยหลวงเชียงดาว อุทยานช้าง โครงการแก้ไขน้ำท่วมการขุดลอกแม่น้ำปิง การตัดถนน หรือพัฒนาเมืองเชียงใหม่ คือต้องยอมรับว่าที่ผ่านมาชาวบ้านหรือภาคประชาชนไม่มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งประชาชนจะต้องมีส่วนร่วมในการรับรู้ข่าวสาร ข้อมูล การมีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นในการดำเนินงาน และมีส่วนร่วมในการกำกับตรวจสอบโครงการให้มีความโปร่งใสเป็นธรรม ซึ่งจะเกิดการถ่วงดุลอำนาจ หรือพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป


 


แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนในขณะนี้ ก็มีอย่างจำกัดภายใต้ประกาศของ คปค. เช่น ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน และหลายฝ่ายก็เป็นห่วงว่าคณะรัฐประหารจะไม่คืนอำนาจ


 


มันขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือหนึ่ง คปค.ต้องยืนยันในเจตนาที่เคยประกาศ คล้ายเป็นสัญญาประชาคม กับประชาชน


 


สอง ภาคประชาชนไม่ควรจะนิ่งเฉยต้องเข้ามามีส่วนร่วม ต้องมีข้อเสนอ ต้องมีข้อเรียกร้องหรือแสดงให้เห็นว่าประชาชนต้องการอำนาจบริหารที่มาจากประชาธิปไตยและออกมาเคลื่อนไหวก็ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตของคณะปฏิรูป คือเราต้องใช้กติกาอันนี้ไปก่อน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net