Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 29 ก.ย. 2549  สำนักข่าว S.H.A.N. รายงานเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2549 ว่า แรงงานข้ามชาติจากพม่าส่วนใหญ่ไม่กล้าที่จะกรอกข้อมูลจริงลงในแบบฟอร์มพิสูจน์สัญชาติเพื่อจัดทำวีซ่าพิเศษตามที่รัฐบาลไทย-พม่าได้ตกลงร่วมกัน เหตุเนื่องจากเกรงว่าจะไม่ได้รับความปลอดภัย ขณะที่แรงงานบางส่วนไม่สามารถที่จะระบุข้อมูลและสถานที่อยู่ของตนเอง เพราะไม่เคยทำบัตรประชาชนมาก่อนอีกทั้งหมู่บ้านที่เคยอยู่ก็ร้างจากการถูกบังคับโยกย้ายแล้ว


หลังจากที่ทางการไทยและพม่าได้ทำข้อตกลงถึงการพิสูจน์สัญญาชาติแรงงานจากพม่า เพื่อจัดทำพาสปอร์ตและวีซ่าพิเศษดังเช่นแรงงานลาว และกัมพูชา เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2549 ที่ผ่านมา โดยผู้ร่วมลงนามฝ่ายไทยคือนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมต.กระทรวงแรงงาน และฝ่ายพม่าได้แก่อูหม่องมิ้น รมช.ต่างประเทศแล้วนั้น ต่อมาในวันที่ 12 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ทางการพม่าได้จัดทำแบบฟอร์มสำหรับจัดเก็บข้อมูลแรงงานส่งให้กับนายจ้างที่มีแรงงานข้ามชาติจากพม่าทุกแห่งผ่านเจ้าหน้าที่ของไทย โดยระบุว่าเป็นแบบฟอร์มด่วน และมีกำหนดให้ส่งกลับภายในวันที่ 29 กันยายนนี้


โดยมีรายงานว่า ขณะนี้มีนายจ้างบางส่วนได้นำแบบฟอร์มที่ได้รับไปแจกจ่ายให้กับลูกจ้างของตนแล้ว ซึ่งที่อำเภอฝางมีนายจ้างซึ่งส่วนใหญ่เป็นเจ้าของสวนส้มนำแบบฟอร์มไปแจกให้กับคนงานตนเช่นเดียวกัน โดยสวนส้มแต่ละแห่งมีคนงานจากพม่าซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนไทใหญ่ทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ตั้งแต่ 100 - 3,000 คน เฉพาะสวนธนาทรมีแรงงานไม่ต่ำกว่า 3 พันคน


อย่างไรก็ตาม แรงงานส่วนใหญ่ต่างไม่กล้าที่จะกรอกแบบฟอร์มดังกล่าว เพราะนอกจากจะต้องเปิดเผยข้อมูลแล้ว ยังต้องติดรูปถ่ายและพิมพ์ลายนิ้วมืออีกด้วย และในส่วนที่กรอกก็จะไม่เปิดเผยข้อมูลที่แท้จริง เหตุเนื่องจากเกรงว่าจะถูกลงโทษเมื่อต้องกลับเข้าไปในรัฐฉาน นอกนั้นเกรงว่าญาติพี่น้องที่อยู่ทางบ้านจะไม่ปลอดภัยตามไปด้วย เพราะการที่พวกเขาเข้ามาทำงานอยู่ในประเทศไทยนั้นถือว่าผิดกฎหมายลักลอบออกนอกประเทศ


นายกอน อายุ 22 ปี ชาวไทใหญ่จากภาคตะวันออกของรัฐฉานซึ่งเข้ามาทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ 4 ปี บอกว่า ตนจะเอาข้อมูลที่ไหนมากรอกแบบฟอร์มก็ไม่รู้ เพราะเมื่ออยู่ในรัฐฉานไม่เคยมีทะเบียนบ้านหรือบัตรประชาชน และส่วนตัวแล้วตนไม่อยากที่จะทำพาสปอร์ตหรืออะไรให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก เพราะแต่ละปีต้องจ่ายค่าทำบัตรแรงานให้กับทางการไทยปีละ 3,800 บาทแล้ว ขณะที่ทุกวันนี้ตนทำงานได้เงินเดือนเพียงเดือนละ 4,000 บาทเท่านั้น


ด้านเจ้าหน้าที่ศูนย์ช่วยเหลือแรงงานไทใหญ่ในอำเภอฝางคนหนึ่งเปิดเผยว่า การที่จะจัดเก็บข้อมูลแรงงานข้ามชาติได้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแรงงานส่วนใหญ่โดยเฉพาะที่เข้ามาทำงานอยู่ในอำเภอฝางซึ่งมีนับหมื่นคน อพยพมาจากการถูกบังคับย้ายถิ่นฐาน และไม่มีข้อมูลอยู่ในกรมทะเบียนของทางการพม่า และถึงแม้มีบางคนต้องการให้ข้อมูลจริงก็ไม่รู้จะบอกว่าอยู่ที่ใด เพราะขณะนี้หมู่บ้านที่เขาเคยอยู่ได้รกร้างไปหมดแล้ว


ขณะที่นายเที่ยงหาญ อายุ 35 ปี นายจ้างที่มีแรงงานจากพม่าทำงานเป็นลูกจ้างอยู่ 3 คน บอกกว่า ตนเพิ่งจะได้รับเอกสารแบบฟอร์มดังกล่าวเมื่อวานนี้ พอเปิดดูแล้วก็พบว่าเป็นแบบฟอร์มด่วน โดยระบุวันส่งกลับภายในวันที่ 29 กันยายนนี้ ซึ่งทำให้ไม่มีเวลาพอที่จะนำไปให้คนงานกรอกและส่งกลับทันเวลา


ทั้งนี้ นักวิเคราะห์สถานการณ์การเมืองในพม่าเชื้อสายไทใหญ่คนหนึ่งเปิดเผยว่า การที่จะให้ประชาชนให้ความร่วมมือกับทางการนั้นค่อนข้างยากพอสมควร เพราะที่ผ่านมาประชาชนเคยได้รับบทเรียนแล้วหลายครั้ง ครั้งหนึ่งที่จำได้คือเมื่อครั้งที่พม่าเข้ามาครอบครองรัฐฉานใหม่ๆ ได้ประกาศให้ประชาชนที่มีอาวุธไว้ในครอบครองไปขึ้นทะเบียนโดยบอกกว่าจะออกใบอนุญาตครอบครองอย่างถูกต้องให้ แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจยึดและลงโทษผู้เป็นเจ้าของทั้งหมด และล่าสุดคือหลังจากที่พลเอกขิ่นยุ้นต์ถูกโค่นอำนาจได้ไม่นาน ได้มีประกาศจากทางการว่า ให้ผู้มีรถจักรยานยนต์ หรือรถยนต์ที่ไม่มีใบอนุญาตไปขึ้นทะเบียนเช่นเดียวกัน แต่หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ได้ออกตรวจยึดทั่วประเทศได้รถไม่มีใบอนุญาตนับหมื่นคัน


ส่วนทางด้านนางเครือแสน โฆษกหญิงของกองกำลังไทใหญ่ SSA เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารพม่าได้แบ่งพื้นที่ควบคุมรัฐต่าง ๆ ออกเป็นสามส่วนโดยจัดเป็นเฉียดสี ซึ่งสีดำ หมายถึงพื้นที่มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มต่อต้านที่ทหารของรัฐบาลไม่สามารถควบคุมได้ สีเทา หมายถึงพื้นที่ควบคุมได้บางส่วน และสีขาว เป็นพื้นที่ควบคุมได้ทั้งหมด ซึ่งปัจจุบันในประเทศไทยมีแรงงานที่อพยพมาจากพื้นที่สีดำ และสีเท่าเป็นจำนวนมาก เพราะเมื่อปี 2539 - 2540 ทหารพม่าได้บังคับให้ชาวบ้านในพื้นที่ดังกล่าวย้ายหมู่บ้านเพื่อป้องกันการให้ความช่วยเหลือกลุ่มต่อต้าน  ดังนั้นจึงเป็นที่ยืนยันได้ว่าพวกเขาไม่เคยได้รับการสำรวจทะเบียนบ้านมาก่อนอย่างแน่นอน



-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ข่าวทั้งหมดแปลและสรุปความโดยสำนักข่าวเชื่อม เป็นหน่วยงานข่าวภาคภาษาไทยของสำนักข่าว S.H.A.N (Shan Herald Agency for News) ซึ่งเป็นเครือข่ายของศูนย์ข่าวสาละวิน (Salween News Network) ท่านสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ chuem@cm.ksc.co.th และ snn_news@cm.ksc.co.th พร้อมติดตามอ่านข่าวสารย้อนหลังรวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศพม่าภาคภาษาไทยได้ที่ www.salweennews.org

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net