นักกฎหมายเสนอรธน.ภาคประชาชน คู่ขนานฉบับ "มีชัย"

28 ก.ย.2549  -  พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ประธานคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ได้เปิดโอกาสให้กลุ่มนักวิชาการด้านกฎหมายจำนวน 4 คน และนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จำนวน 2 คน จาก 3 มหาวิทยาลัย เข้าพบเพื่อแสดงข้อกังวลกับธรรมนูญฉบับปกครองประเทศฉบับชั่วคราว 2549 ที่ คปค.กำลังจะประกาศใช้ในเร็ว ๆ นี้

 

ประกอบด้วยนายบรรเจิด สิงคะเนติ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช มี 3 คน ได้แก่ นายคมสัน โพธิ์คง นายทวี สุรฤทธิกุล คณบดีคณะรัฐศาสตร์ และนายวรรณธรรม กาญจนสุวรรณ คณะรัฐศาสตร์ ส่วนมหาวิทยาลัยศิลปากร คือ นายเจริญ คัมภีรภาพ และมหาวิทยาลัยรังสิต คือ นายศาสตรา โตอ่อน โดยมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ คปค.ร่วมรับฟังด้วย

 

ทั้งนี้ การรับฟังข้อกังวลของนักวิชาการด้านกฎหมายและรัฐศาสตร์ดังกล่าวมี พล.อ.เรืองโรจน์ มหาศรานนท์ ผบ.สส.พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ ผบ.ตร. พล.อ.ชลิต พุกผาสุก ผบ.ทอ และ พล.ร.อ.สถิรพันธุ์ เกยานนท์ ผบ.ทร. โดยระหว่างการหารือนักกฎหมายกลุ่มดังกล่าวยังได้มอบร่างธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่ได้ร่วมกันร่างพร้อมกับโครงสร้างของสมาชิกร่างรัฐธรรมนูญให้กับ คปค.ด้วย

 

นายบรรเจิด กล่าวว่า จากการนำเสนอร่างธรรมนูญชั่วคราวฉบับที่กำลังจะประกาศใช้มีจุดอ่อนในเรื่องที่มาของสมัชชาประชาชนจำนวน 2 พันคน ที่เป็นตัวแทนจากหลากหลายสาขาอาชีพแล้ว กำหนดให้คัดเลือกกันเองให้เหลือ 200 คนนั้น จะเป็นกระบวนการว่าท้ายที่สุดทั้ง 200 คนจะเป็นตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ที่อาจถูกครอบงำจากใครบางคนได้ เพราะเรื่องนี้เคยมีปัญหามาแล้วจากสภาสนามม้า ดังนั้น การได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างดังกล่าวควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เสนออย่างมีส่วนร่วมมากที่สุด

 

นอกจากนี้นายบรรเจิด ยังกล่าวว่า ได้เสนอกับ คปค.อีกว่า ที่มากรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญมาจากการคัดเลือกกันเองจากสภาร่างรัฐธรรมนูญจาก 100 คน มา 15 คน แต่งตั้งโดยคณะมนตรีฯ อีก 10 ส่วนอีก 10 คน ควรมาจากผู้นำทางความคิดที่เป็นนักวิชาการ-ภาคประชาชน ที่สามารถมองปัญหาของบ้านเมืองอย่างแจ่มแจ้ง อาทิ นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ เป็นต้น เป็นผู้ร่วมยกร่างด้วย ที่มาของบุคคลดังกล่าวควรมาจากมาจากการแนะนำของคณะที่ปรึกษาที่ คปค. ที่เสนอรายชื่อมา 50 คน แล้วเลือกให้เหลือ 10 คนส่วนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 100 คน ก็ควรมีหน้าที่ในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนโดยใช้ช่องทางผ่านเครือข่ายสมัชชาประชานที่อยู่ในแต่ละจังหวัด ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ร่วมเรียนรู้กฎหมายซึ่งเป็นกติกาสำคัญของประเทศ อีกทั้งถือเป็นการให้ข้อมูลกับประชาชนก่อนที่จะถึงกระบวนการลงประชามติ

 

"เราควรมีผู้รู้และมองปัญหาของประเทศชาติอย่างเจาะลึกมาเป็นผู้ร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย และเราไม่ควรปล่อยให้ใครคนใดคนหนึ่งครอบงำสภาร่างอย่างเบ็ดเสร็จ เพราะสุดท้ายหากได้กฎหมายออกมาก็มีปัญหาอีก ดังนั้นกระบวนการเขียนกฎหมายไม่ควรเขียนเสร็จแล้ว ค่อยเอาไปให้ประชาชนดู แต่ควรให้ประชาชนร่วมกันเสนอความคิดเห็นว่าต้องการทำอะไร ซึ่งกระบวนการร่างทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 10 เดือน"นายบรรเจิด กล่าวและว่าการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็นการต่อยอดรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 เริ่มจากปัญหาของหมวดที่ว่าด้วยสถาบันการเมือง หมวดที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระและวุฒิสภา เป็นต้น

ขณะที่นายคมสัน กล่าวว่า การนำเสนอข้อกฎหมายดังกล่าว คปค.ค่อนข้างจะเห็นด้วย โดยเฉพาะ พล.อ.สนธิ ได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่า ควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมร่างกติกาสังคมให้มากที่สุดและบอกว่าจะรับข้อเสนอของเราไปพิจารณา

 

ทั้งนี้ มีรายงานว่า เหตุที่กลุ่มนักวิชาการดังกล่าวต้องเข้ายื่นข้อเสนอในกรณีคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ด้วยเกรงว่านายมีชัย จะเข้ามีบทบาทในการเป็นประธานสภาร่างฯ หากได้ที่มาอย่างที่นายมีชัยเสนอก็จะทำให้ไม่มีใครสามารถแย้งข้อกฎหมายของนายมีชัยได้ ซึ่งอาจจะทำให้ทิศทางการร่างกฎหมายเป็นไปตามแนวคิดของนายมีชัยเหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ที่เคยเป็นฤาษีแปลงสารในการร่างกฎหมายหลายฉบับ

 

มีรายงานอีกว่า ระหว่างที่กลุ่มนักวิชาการได้เสนอข้อคิดเห็นด้านกฎหมายนั้น นายมีชัย ได้แต่นิ่งฟังอย่างเงียบ ไม่แสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะช่วงที่ พล.อ.สนธิ กล่าวกับที่ประชุมว่า ข้อเสนอดังกล่าวน่าสนใจ สอดรับกับแนวคิดของ คปค. พร้อมกับรับปากว่าจะผลักดัน โดยร่างธรรมนูญปกครองประเทศชั่วคราวของนักวิชาการดังกล่าวมีด้วยกัน 70 มาตรา มีบทบัญญัติที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชนอยู่ไม่น้อยกว่า 10 มาตรา

 

ขณะเดียวกันที่สภาทนายความ นายสมัคร เชาวภานันท์ อุปนายกฝ่ายบริหารสภาทนายความ นายดนัย อนันตโย อุปนายกฝ่ายกิจการพิเศษ นายชอบ ดงเพชร กรรมการฝ่ายบริหารฯ ภาค 2 ร่วมแถลงข่าวเสนอต่อคปค. ประกอบด้วย 1.ให้ใช้หลักกติกาสากล และกฎหมายให้มีความใกล้เคียงกับมาตรฐานกฎบัตรของสหประชาชาติ การบริหารประเทศ 2.ส่งเสริมปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทั้ง 30 ข้อ 3.ต้องให้การเคารพสิทธิเสรีภาพของบุคคล

 

4.ให้หลักประกันในความมีอิสระในการแสดงออกทางความคิดเห็น โดยปราศจากการถูกแทรกแซง การแจกจ่ายข่าวสารทางสื่อมวลย่อมสามารถปฏิบัติได้โดยปกติ  5.ธรรมนูญชั่วคราวจะต้องยอมรับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของสหประชาชาติ ให้รัฐบาล หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดใหม่ดำเนินการ 6.ให้รัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติให้สัตยาบันรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการต่อต้านคอรัปชันของสหประชาชาติ 7.ให้หน่วยงานการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินตราตรวจสอบการโอนย้ายเงินที่ผิดปกติจากธุรกิจโดยทั่วไปอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะข้อมูลเกี่ยวกับการส่งเงินเข้าออกประเทศไทยตามกฎหมายจากแหล่งเงินประเภทกองทุนจากต่างประเทศ (Trust fund) ที่เข้ามาทำการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

 

ด้านนายโคทม อารียา ประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติปฏิเสธที่จะแสดงความเห็นถึงความพร้อมที่จะรับตำแหน่งที่ปรึกษา คปค. พร้อมกับวิจารณ์แนวคิดคปค.ที่จะตั้งสมัชชาแห่งชาติ ซึ่งถอดแบบมาจากสภาสนามม้า พ.ศ.2517ขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า สิ่งไม่ดีคือการให้คน 2 พันเลือกกันนั้นก็จะเลือกแต่คนที่มีชื่อเสียง คนต่างจังหวัดไม่ได้ติดเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ และแทนที่สภาดังกล่าวจะมีอำนาจเบ็ดเสร็จโดยแต่งตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเอง แต่กลับต้องไปบวกอีกสิบคนที่มาจาก คปค. ถ้ารูปแบบการร่างมาจากผู้ทรงคุณวุฒิ รัฐธรรมนูญจึงเอื้อต่อผู้ทรงคุณวุฒิ

         

จากนั้นเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านเข้าไปสมัชชาแห่งชาติ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพื่อรับรองกฎหมาย หรือ ประมาณ 67 คนใน 100 คน ดูผิวเผินแล้วคิดว่าดี แต่ความจริงคือกรรมการยกร่างฯ ที่มาจากสมัชชาแห่งชาติ มีอยู่แล้ว 25 คน โดยมารยาทแล้วต้องสนับสนุนกฎหมาย แค่ไปดึงเสียงมาอีก 9 เสียง ก็จะทำให้ฝ่ายที่ไม่เห็นมีเสียงไม่ถึง 2 ใน 3 ไม่สามารถค้านกฎหมายได้ ก็เท่ากับว่าในทางปฏิบัติสภาไม่สามารถคัดค้านร่างฉบับนี้ได้เลย ดังนั้นอำนาจเกือบเบ็ดเสร็จอยู่ในกรรมการร่าง

         

"ผมเห็นว่ารูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญของสภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร. ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ดีกว่า เพราะได้คนจากทุกจังหวัดแล้วไปบวกกับผู้ทรงคุณวุฒิ ผมเคยไปเป็นผู้เลือกในสมัยสภาสนามม้า มีการโทรศัพท์ขอคะแนน แลกคะแนนกันเต็มไปหมด เวลาเลือกเราพยายามจะเลือกแบบกระจายอาชีพออกไปให้มีความหลากหลาย แต่ผมกลัวว่าถึงกระจายอาชีพแต่ก็ไม่กระจายทางภูมิศาสตร์ จะได้แต่คนที่มีชื่อเสียงในส่วนกลาง" นายโคทม กล่าว

 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ธรรมนูญชั่วคราวให้อำนาจ คปค.มากเกินไปหรือไม่ นายโคทม กล่าวว่า มากแต่จะน่ากลัวหรือไม่แล้วแต่จะคิด เพราะการเขียนกฎหมายกับการใช้อำนาจเป็นคนละเรื่องกัน คปค.อาจจะใช้หรือไม่ใช่ก็แล้วแต่ปรีชาสามารถของแต่ละกลุ่มแต่ละคน ถ้าคิดตามหลักพุทธศาสนาแล้วถ้ามีอำนาจแล้วใช้โดยมีธรรมมะก็ดี

 

 

 

ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก ผู้จัดการ สำนักข่าวเนชั่น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท