ก้าวต่อไปหลักประกันสุขภาพยุค คปค.

29 ก.ย. 2549 -  วานนี้ (28 ก.ย.2549) สมาคมนักข่าวจัดจัดเสวนาเรื่อง "ก้าวต่อไปการปฏิรูปหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ"

 

จอน อึ๊งภากรณ์ แกนนำเครือข่ายประกันสุขภาพภาคประชาชน กล่าวว่า โครงการ 30 บาท ถือเป็นโครงการที่ดีของพรรคไทยรักไทย ซึ่งแท้จริงนั้นริเริ่มโดยกลุ่มหมอ และผลักดันโดยภาคประชาชนตั้งแต่ปี  2543  มีการล่ารายชื่อ 50,000 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ต้องให้เครดิตพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรที่ขานรับนโยบายนี้ ในขณะที่รัฐบาลอื่นๆ ไม่สนใจ

 

จอนกล่าวว่า ข้อเสนอเฉพาะหน้านั้นคณะปฏิรูปฯ ไม่ควรรื้อระบบหลักประกันสุขภาพ แม้มันจะมีปัญหาอยู่มาก ในระยะยาวกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ต้องไม่ครอบงำสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งต้องเป็นตัวแทนประชาชน ในต่างประเทศจะมีการแบ่งหน้าที่กันชัดเจน สปสช.เป็นผู้กำหนดสิทธิประโยชน์ของประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดหาบริการการรักษาพยาบาล ส่วนสธ.เป็นผู้กำหนดนโยบายและด้านวิชาการ

 

ศ.ดร.อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า

ปัญหาสำคัญของโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติคือ งบประมาณไม่เพียงพอกับความเป็นจริง รัฐบาลสัญญาว่าจะให้แต่ก็ไม่ได้ตามนั้น ขณะเดียวกันสธ.ก็มีปัญหาความโปร่งใสของข้อมูล ไม่มีความพยายามเพียงพอที่จะพิสูจน์ความจำเป็นว่าต้องใช้งบประมาณจำนวนเท่าใด อาศัยเพียงข้อมูลเชิงสถิติซึ่งไม่เพียงพอ ที่สำคัญ รัฐบาลชุดที่แล้วก็มักนำงบประมาณไปสร้างนโยบายใหม่ๆ เพื่อคะแนนเสียงมากกว่าปรับปรุงนโยบายเก่าๆ ที่ได้คะแนนเสียงมาแล้ว

 

นายอัมมาร กล่าวว่า บทบาทของ สธ. ต้องปรับจากการเป็นเถ้าแก่โรงพยาบาลที่รักษาผลประโยชน์ให้แพทย์โดยไม่ดูแลประชาชน ดังนั้นจึงต้องผ่องถ่ายอำนาจการบริหารออกจาก สธ. โดยโอนไปให้องค์อิสระหรือท้องถิ่น

 

นายอัมมาร กล่าวว่า ผลกระทบจากงบประมาณที่ไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาบุคลากรขาดแคลนในถิ่นทุรกันดารโดยแพทย์ส่วนใหญ่ไปกระจุกอยู่เฉพาะในเมืองเพราะต้องการเปิดคลินิกส่วนตัว ทางออก 3 ทาง คือ 1.การเพิ่มงบประมาณที่ผ่านมา สธ.ไร้ความรับผิดชอบเรื่องบัญชีไม่เคยพยายามที่จะพิสูจน์ว่าต้องใช้งบประมาณเท่าใดจึงจะเพียงพอกับการให้บริการ 2.บทบาทของ สธ. จะต้องถอดตัวออกจากการเป็นเถ้าแก่โรงพยาบาลเลิกเป็นเจ้าของโรงพยาบาลต้องผ่องถ่ายโรงพยาบาลออกไป จะออกไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หรือออกมาเป็นอิสระแบบโรงพยาบาลบ้านแพ้ว และ 3.ต้องแก้ไขปัญหาขาดแคลนบุคลากร นอกจากนี้ ศ.ดร.อัมมาร ยังกล่าวถึงคุณสมบัติของรัฐมนตรีที่จะเข้ามาทำงานใน สธ. จะต้องมีทั้งคนนอก คนใน

 

นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาล ภูกระดึง กล่าวว่า คณะปฏิรูปฯ ควรจัดสรรงบประมาณที่รัฐบาลที่แล้วสัญญาว่าจะให้ 9.7 พันล้านโดยด่วน เพื่อเพิ่มให้งบประมาณต่อหัวในโครงการนี้เป็น 2,069 บาท เพราะที่ผ่านมาโครงการนี้เกิดปัญหาเรื่องงบประมาณ รวมทั้งปัญหาเรื่องการกระ จายทรัพยากร ซึ่งที่ผ่านมาสธ.ก็ทุ่มเททรัพยากรให้ในเมือง แข่งกับเอกชน แล้วละเลยชนบท ดังนั้น ต้องเพิ่มงบประมาณโดยอิงข้อมูลจำนวนประชากรไม่ใช่อิงกับกำลังซื้อ

 

 

นอกจากนี้สธ.ควรต้องดูแลบุคลากรที่ทำงานอยู่ห่างไกล อาจเพิ่มเงินเดือนเพื่อเป็นแรงจูงใจในการทำงาน เพราะปัจจุบันบุคลากรเหล่านี้มีรายได้เพียง 30-40% ของรายได้เพื่อนๆที่ทำงานในโรงพยาบาลเอกชน นอกจากนี้เรายังไม่เคยมีหมอกายภาพบำบัดในท้องถิ่นชนบท ดังนั้นคนพิการในชนบทจึงไม่ได้รับการดูแล

 

ด้านคุณยุพดี ศิริสินสุข กรรมการหลักประกันสุขภาพ ได้กล่าวถึงปัจจัยภายนอกที่เพิ่มน้ำหนักให้กับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคที่ควรจะเดินหน้าสานต่อไปสำหรับรัฐบาลชุดใหม่ไว้ 5 ประเด็น

1.การรับรู้เรื่องของสิทธิ และการเข้าถึงการบริการที่มันชัดเจนยิ่งขึ้น 2.การสร้างและพัฒนาระบบโรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจ ที่ทำให้เข้าถึงประชาชนได้มากขึ้น แต่ก็มีปัญหาเรื่องการชักเข้าชักออกของงบประมาณ ทำให้โรงพยาบาลใกล้บ้านใกล้ใจค่อยๆถอนตัวและยุติลง 3. เรื่องของกระบวนการบริหารระบบหลักประกันซึ่งแบ่งแยกผู้ซื้อกับผู้ให้บริการ 4. เรื่องของงบประมาณควรใช้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริงของสถานพยาบาล 5. การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต้องมากขึ้น   

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท