Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 7 ต.ค. 49 วานนี้ (6 ต.ค.) ในวาระครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร จัดการชุมนุมใหญ่เพื่อประกาศจุดยืนไม่เห็นด้วยต่อการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) บริเวณสนามบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีผู้มาร่วมกว่า 200 คน ซึ่งมากขึ้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ในขณะที่สื่อมวลชนที่เคยให้ความสนใจทำข่าวกลุ่มนี้อย่างล้นหลาม กลับให้ความสนใจกับการชุมนุมครั้งนี้น้อยกว่าทุกครั้ง นอกจากนี้ยังไม่ปรากฏเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจในเครื่องแบบมาควบคุมการชุมนุมแต่อย่างใด


 


นักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งอภิปรายเป็นคนแรกกล่าวแนะนำหนังสือประเภทวรรณกรรมคลาสสิกเล่มหนึ่งเพื่อเป็นการประกาศจุดยืนของตัวเอง นั่นคือเรื่อง Animal Farm : A Fairy Story ของ จอร์จ ออร์เวล (George Orwell) ที่มีเนื้อหาเชิงเสียดสี-ล้อเลียนการเมือง โดยในเรื่องบรรดาสัตว์ชนิดต่างๆ ลุกฮือขึ้นปฏิวัติขับไล่พวกมนุษย์ออกไปจากฟาร์มเพื่อเรียกร้องสิทธิ์ปกครองตนเอง และสถาปนารัฐของสรรพสัตว์ที่เชื่อในความเท่าเทียมของสัตว์ทั้งหลาย


 


จากนั้นเขาได้เปรียบเทียบ คปค.เป็นหมูตัวหนึ่งที่มีอำนาจมากกว่าหมูตัวอื่นๆ แล้วพยายามเอาสีป้ายที่ตัวเขียนเป็นบทกฎหมายของตนเองขึ้นเพื่อให้หมูตัวอื่นๆ ได้อ่านจนใส่ไว้ในจิตใต้สำนึก คล้ายกับที่การอธิบายว่า กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ผ่านมายังมีปัญหา มีความผิดพลาด จึงต้องเอารัฐธรรมนูญฉบับปี 2549 มาใช้แทน


 


พัชณีย์ คำหนัก ศิษย์เก่าคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้ได้ประสานงานกับนักศึกษาไทยที่ประเทศเกาหลี ทราบมาว่านักศึกษาไทยที่นั่นก็กำลังเคลื่อนไหวประท้วงเรื่องการทำรัฐประหารหน้าสถานทูตไทยด้วย


 


ด้านกิติภูมิ จุฑาสมิต นายแพทย์ประจำชายแดนไทย-กัมพูชา กล่าวว่า ตอนนี้ได้ลาออกจากชมรมแพทย์ชนบทแล้ว เพราะชมรมนี้ออกมาสนับสนุนรัฐประหาร สำหรับสาเหตุที่ตนเองคัดค้านรัฐประหารนั้น เพราะเชื่อในสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สิทธิจะลิดรอนได้ เมื่อก่อนนี้ตนเองก็เคยออกมาด่ารัฐบาลทักษิณในหลายเรื่อง แต่ตอนนี้ต้องออกมาด่า คปค. เพราะการทำรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมาก็ยึดอำนาจยึดเสรีภาพของประชาชน


 


นอกจากนี้เขายังมองว่า การรัฐประหาร 6 ตุลา 2519 กับครั้งนี้ ไม่ได้มีความแตกต่างกันในเนื้อหาสาระ แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือ ในครั้งนี้เรายกธงขาวยอมแพ้ต่ออำนาจ ในขณะที่เมื่อครั้ง 6 ตุลา ประชาชนลุกขึ้นสู้ ทหารจึงต้องทำการปราบปรามเข่นฆ่า ดังนั้นแล้ว เราอาจสรุปได้ว่าที่เขาไม่ฆ่าก็เพราะเราไม่สู้


 


ในการชุมนุมครั้งนี้ยังมีตัวแทนแรงงานหลายคนมาร่วมอภิปราย คนหนึ่งในนั้นกล่าวถึงความกังวลกรณีที่มีข่าวว่ารัฐบาลยืนยันจะเดินหน้าต่อเรื่องเอฟทีเอ และเขตเศรษฐกิจพิเศษ สิ่งเหล่านี้ล้วนกระทบต่อแรงงานโดยเฉพาะการเข้ามาของแรงงานข้ามชาติ แม้จะไม่ได้รังเกียจแรงงานข้ามชาติเหล่านั้น แต่กฎหมายก็ยังไม่ได้ดูถึงแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ปัญหาเหล่านี้ยังอยู่เหมือนเดิมแม้ คปค.จะทำรัฐประหารแล้ว ดังนั้นจึงเป็นภารระที่หนักขึ้นในกระบวนการต่อสู้ในยุค คปค.


 


ส่วน จรรยา ยิ้มประเสริฐ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวถึงปัญหาของแรงงานที่ประสบหลังการยึดอำนาจของ คปค. ว่า เมื่อวันที่ 5 ต.ค. สหภาพแรงงานมีการนัดคุยกัน แต่ใช้เวลาได้เพียง 5 นาที ตำรวจก็มา ตอนนี้จึงอยู่ในบรรยากาศที่พูดอะไรกันไม่ได้เลย เครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหารจึงเป็นความหวัง รวมไปถึงอีกความหวังหนึ่งคือ คำประกาศของชาวบ่อนอก-บ้านกรูด ที่ว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องเลือกเพียงแค่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือทหาร และไม่จำเป็นต้องเป็นกบเลือกนาย ประชาธิปไตยไม่มีทางลัด ประชาชนมีสิทธิอยู่ตลอด ดังนั้น จึงขอประกาศจุดยืนว่าจะไม่ยอมรับคำสั่ง คปค.ทุกคำสั่ง เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ยังอยู่ คปค.ไม่ได้ถูกเลือกมาให้ล้มรัฐธรรมนูญนี้


 


ผู้ใช้แรงงานจากสหภาพแรงงานไซแอม กล่าวแสดงความเห็นต่อการรัฐประหารครั้งนี้ว่า สิทธิกรรมกรมาจากการต่อสู้และการรวมตัวกัน แต่เมื่อยังมีคำสั่ง คปค.อยู่ก็ทำการรวมตัวและต่อสู้เพื่อสิทธิไม่ได้ ความหวังที่ยังต้องมองคือกรรมกรเป็นคนส่วนใหญ่ แต่เพราะการทำมาหากินทำให้ไม่มีโอกาสเรียนรู้เรื่องการเมือง ในเมื่อมีโอกาสได้มารู้ก็จะนำไปเผยแพร่ต่อเพื่อนต่อไป


 


 


การอภิปรายดำเนินไปสลับกับการแสดงดนตรี ซึ่งนักดนตรีก็มีความเห็นระหว่างการแสดง โดยอดีตนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่งได้พูดถึงความสับสนของคนทั่วไปที่มีต่อปรากฏการณ์รัฐประหารครั้งนี้ก่อนเล่นดนตรีให้ผู้มาชุมนุมฟังว่า รุ่นน้องธรรมศาสตร์คนหนึ่งได้มาถามว่า กลุ่มที่ต่อต้านการรัฐประหารเป็นคนส่วนน้อย มีความชอบธรรมอะไรที่จะบอกว่าการรัฐประหารไม่ดี เขาตอบว่า อย่างหนึ่งที่พอเป็นคำตอบได้คือเรื่องหลักการ ไม่ต้องการให้คนอื่นเอาปืนมาจี้หัวแล้วบอกว่า นี่คือประชาธิปไตย


 


เขาอธิบายต่อว่า ในแง่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยเรื่องประชาธิปไตยก็น่าจะเป็นคำตอบได้เช่นกันว่าการรัฐประหารไม่ถูกอย่างไร ใน พ.ศ. 2490 จอมพลป. พิบูลสงครามก็ทำกับรัฐประหารรัฐบาลพลเรือนของนายปรีดี พนมยงค์ ใน พ.ศ.2495 จอมพล ป. พิบูลสงครามก็ทำรัฐประหารแล้วจับปัญญาชนไปขังคุก ซึ่งปัญญาชนที่โดนจับเหล่านั้นก็เป็นอาจารย์ของอาจารย์ธรรมศาสตร์ที่สนับสนุนการรัฐประหารตอนนี้หลายคน


 


พ.ศ.2501 มีการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัตน์ ก็มีการจับปัญญาชนเข้าคุกเช่นกัน ในพ.ศ.2514 ทุกคนก็ไม่ชอบจอมพลถนอม จนกระทั่ง พ.ศ.2519 ทหารก็ฉวยโอกาสรัฐประหารอีกโดยอ้างว่ามาช่วยเพื่อไม่ให้สถานการณ์เลวร้ายลงไปกว่าเดิม แต่ก็ปล่อยให้มีการฆ่ากันก่อน


 


ใน พ.ศ.2534 มีการรัฐประหารอีกครั้ง คนก็ด่า พล.อ.สุจินดา คราประยูร มากมาย แล้วก็บอกว่าอยากได้นายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง อยากให้ประชาชนมีส่วนร่วมทางการเมืองจนมีการเคลื่อนไหวอย่างกว้างขวางจนได้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และบอกว่าไม่อยากเห็นรัฐประหารอีก แต่พอ พ.ศ.2549 คนที่เคยเกลียดการรัฐประหารกลับมายอมรับการรัฐประหาร


 


หลังพูดจบเขาก็ร้องเพลงคำตอบในสายลม ที่แต่งโดยมงคล อุทก และเพลงฝนแรก ที่แต่งโดย เอี้ยว ณ ปานนั้น จากบทกลอนของจีระนันท์ พิตรปรีชา กล่าวถึงการนองเลือดในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 ท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างดีจากผู้มาร่วมชุมนุม


 


หลังจากนั้น นายสมบัติ บุญงามอนงค์ จากเครือข่าย 19 กันยาฯ และผู้เปิดเว็บไซต์ www.19sep.org กล่าวว่า ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2535 นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันได้นำลูกน้องของตัวเองออกมาทำความรุนแรงกับประชาชนเพราะต้องการล้มล้างอำนาจ เป็นการใช้ความเกลียดและความกลัวในการปกครองคน ขณะนี้ คปค.ได้เปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นค่ายทหารไปแล้ว ทุกอย่างถูกจับให้อยู่ในระเบียบ ให้ประชาชนคิดเหมือนกันโดยไม่เปิดโอกาสให้มีการเห็นต่าง


 


สมบัติกล่าวต่อว่า ดังนั้น ถ้าบอกว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นการทำเพื่อชาติ จะต้องไม่ผูกขาดความคิด เพราะสังคมมันซับซ้อน สังคมประชาธิปไตยจึงมีการกระจายอำนาจ เพราะรู้ว่าการมีคนที่เก่งหรือดีไม่สามารถปกครองได้แม้จะมาจากการเลือกตั้งก็ตาม ดังนั้น ประชาชนจะต้องเป็นผู้ตรวจสอบ แต่ตอนนี้แม้แต่การคิดยังทำไม่ได้ ใน 2 สัปดาห์นี้จึงเห็นความตระบัดสัตย์ที่ไม่ต่างจากการรัฐประหารทุกครั้งที่ผ่านมา


 


ข้อแรกคือมีการรีแบรนด์ใหม่ โดยเปลี่ยนชื่อจาก คปค. เป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) แต่อยากให้สื่อมวลชนช่วยไปถามทีว่ามันต่างกันอย่างไร


 


ข้อสองมีการแทรกซึมกลไกบริหาร ก่อนหน้านี้บอกว่าจะมีรัฐบาลพลเรือนแต่กลับได้พลเรือนแบบทหารเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งทหารเป็นได้แต่ต้องผ่านระบอบ นอกจากนี้นายกฯยังมีความเกี่ยวกันกับ คปค.ด้วย เราต้องจับโกหกที่ซ้อนอยู่ให้ได้


 


ข้อสาม ตอนคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2534 พูดว่าจะคืนอำนาจให้ประชาชนในเวลา 1 ปี ก็ไม่คืนจริง ตอนนี้เริ่มมีเสียงจาก คปค.แว่วมาแล้วว่า ถ้างานไม่เสร็จจะขออยู่ 2 ปี


 


"เพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมทางสังคมและทางประชาธิปไตยบอกว่า คปค.ขอให้รอดู 2 สัปดาห์ ก็รอกัน แต่สุดท้ายเขาก็ยังไม่ไปจริง ขอให้เพื่อนๆ ที่ทำกิจกรรมทางสังคมออกมายืนยันได้แล้วว่าจะให้เขาอยู่กันอีกกี่สัปดาห์" สมบัติกล่าว


 


เขายังกล่าวถึงกรณีการปิดเว็บไซต์ www.19sep.org ว่าถามไปยังกระทรวงไอซีทีว่า ปิดเว็บไซต์ด้วยเหตุผลอะไร เขาตอบว่า ไม่ได้ปิด ซึ่งถ้าจะปิดไม่ว่า แต่ขอให้เอาหนังสือมาปิดอย่างเป็นทางการจะได้เอาหนังสือนั้นไปฟ้องศาลปกครองเพื่อถามว่าสิทธิในการคิดอย่างเปิดเผยนั้นเป็นความผิดอะไร


 


 


ทั้งนี้ การชุมนุมครั้งนี้เริ่มต้นเวลาประมาณ 16.00 น.จนถึง 20.00 น. โดยกิจกรรมมีทั้งการแสดงดนตรี อ่านกวี และการแสดงความคิดเห็นสลับกันไปกับเสียงตะโกน "คปค. ออกไป" ที่ดังขึ้นเป็นระยะ ในช่วงสุดท้ายมีการจุดเทียนล้อมรอบนกกระดาษที่วางเรียงเป็นคำว่า "รธน 2540" และอ่านประกาศจุดยืนการไม่ยอมรับการรัฐประหารทุกรูปแบบ


 


นอกจากนี้ยังได้รับบริจาคเงินจากผู้ร่วมชุมนุมเพื่อนำมาใช้เป็นทุนในการดำเนินกิจกรรมต่อไปเป็นเงินราว 24,000 บาท และมีการนัดมาชุมนุมกันอีกครั้งในวันที่ 14 ต.ค.นี้ เวลา 16.00 น. บริเวณสนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เดิม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net