Skip to main content
sharethis

พงษ์พันธุ์ ชุ่มใจ รายงาน


 



 


ผู้คนจำนวนมากหลายพันคนเข้าร่วมงานบุญ "ปอยออกหว่า" หรือวันออกพรรษาของชาวไทใหญ่


งานบุญของชาวไทใหญ่กลายเป็นเรื่องไม่สนุก เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจฉวยจังหวะงานบุญวันออกพรรษาตั้งด่านจับแรงงานข้ามชาติไม่มีใบอนุญาตขณะจะไปวัด ชาวไทใหญ่เผยเสียใจคนจะไปทำบุญ เอ็นจีโอหวั่นสังคมไทยจะวิกฤตหากเห็นการทำบุญเป็นปัญหาความมั่งคง ชี้สังคมไทยกำลังเลือกความหวาดระแวงแทนการอยู่อย่างเป็นสุข ติงสื่อระมัดระวังการพาดหัวตื่นเต้น อาจกลายเป็นการดูถูกแรงงานข้ามชาติ


 


"ปอยออกหว่า" สุดคึกคักชาวไทใหญ่ร่วมงานวัดป่าเป้าหลายพันคน


ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" รายงานว่าเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ไม่เพียงเป็นวันออกพรรษาของชาวไทย แต่ยังเป็นวันออกพรรษาของชาวไตหลวงหรือชาวไทใหญ่ ที่เรียกว่า "ปอยออกหว่า" ซึ่งในชาวไทใหญ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งโดยส่วนมากเป็นแรงงานข้ามชาติมาจากรัฐฉานประเทศพม่า จะร่วมกันไปทำบุญที่วัดป่าเป้าซึ่งเป็นวัดสร้างโดยชาวไทใหญ่อายุกว่า 100 ปี ตั้งอยู่ตรงข้ามคูเมือง ด้านแจ่งศรีภูมิ ถ.มณีนพรัตน์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ซึ่งทุกปีจะมีชาวไทใหญ่ร่วมงานบุญและถือโอกาสพบปะเพื่อนฝูงและญาติพี่น้องจำนวนหลายพันคน ทำให้บรรยากาศในวัดป่าเป้าเป็นไปอย่างคึกคัก มีการออกร้านขายอาหารและสินค้าไทใหญ่ นอกจากนี้ชาวไทใหญ่ได้ร่วมกันถวายเครื่องสังฆทานแด่พระภิกษุสงฆ์จนแน่นขนัด ส่งผลให้พ่อค้าแม่ค้าที่นำเครื่องสังฆทานมาจำหน่ายในราคาชุดละ 50-100 บาท ขายดีเป็นพิเศษ


                    


โดยในช่วงเทศกาลออกพรรษาดังกล่าว ชาวไทใหญ่มักจะลางานและช่วยกันเหมารถสองแถว (สี่ล้อแดง) จากเขตอำเภอรอบนอกเพื่อเดินทางมายังวัดป่าเป้า


 


ฉวยจังหวะเหมาะงานบุญตั้งด่านตรวจ แรงงานข้ามชาติวิ่งหนีจ้าละหวั่น


อย่างไรก็ตาม มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.อ.เมืองเชียงใหม่ และเจ้าหน้าที่หน่วยป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยฝ่ายพลเรือน (นปพ.) เห็นงานบุญดังกล่าวเป็นโอกาสเหมาะตั้งด่านตรวจตามเส้นทางต่างๆ ที่เข้าสู่ตัวเมือง จ.เชียงใหม่ รวมทั้งบริเวณหน้าวัดป่าเป้า เพื่อตรวจบัตรประจำตัวและบัตรแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาทำบุญเนื่องในเทศกาลปอยออกหว่า (ออกพรรษา) ของชาวไทใหญ่ ที่วัดป่าเป้า ซึ่งหากชาวไทใหญ่สังเกตเห็นด่านตรวจข้างหน้าหากไกลพอที่จะหลบทันก็จะบอกให้คนขับรถสองแถวกลับรถ หรือจอดรถแล้วพากันลงรถเพื่อวิ่งหนีด่านตรวจ แต่คนขับรถสองแถวบางคันมักจะขับรถไปที่ด่านตรวจเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจค้นถึงที่ โดยมีการจับกุมแรงงานข้ามชาติที่หลบหนีเข้าเมืองและไม่พกบัตรอนุญาตทำงานได้กว่า 500 คน และนำแรงงานเหล่านั้นไปดำเนินคดีจนล้นโรงพัก


 


ทั้งนี้ จากข้อมูลในงานประชุมสื่อสารสุขภาพแรงงานข้ามชาติ ที่โรงแรมเชียงใหม่ภูคำ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 6 กันยายน ที่ผ่านมา ได้มีเจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชนแห่งหนึ่งร้องเรียนพฤติกรรมของคนขับรถสองแถวบางคันว่าหากมีแรงงานต่างด้าวขึ้นรถโดยสาร คนขับมักจะไม่นำไปส่งยังปลายทาง แต่จะพาไปส่งเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) แทนเพื่อหวังรางวัลนำจับ


 


ตำรวจอ้างจับกุมเหตุแรงงานข้ามชาติเป็นพาหะนำโรค


จากรายงานของหนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ ฉบับวันที่ 9 ตุลาคม 2549 เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าการตั้งด่านในครั้งนี้เป็นการกวดขันจับกุมแรงงานต่างด้าวทั่ว อ.เมืองเชียงใหม่และอำเภอรอบนอก เพื่อป้องกันการลักลอบมาทำงานโดยผิดกฎหมาย เนื่องจากต่างด้าวบางรายมีโรคประจำตัว เช่นโรคเท้าช้าง เชื้อโรคไข้มาลาเรีย วัณโรค ซึ่งโรคเหล่านี้ระบาดตามแนวชายแดนเป็นอันตรายและมีปัญหาที่ทางสาธารณสุขกวดขันด้วย สำหรับโรคร้ายดังกล่าวส่วนใหญ่จะเกิดจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองมาทำงานโดยผิดกฎหมาย เพราะกลุ่มเหล่านี้ไม่ผ่านการตรวจโรคจากกรมแรงงาน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกวดขันจับกุมอย่างเข้มงวดดังกล่าว ส่วนต่างด้าวที่ไม่มีบัตรอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรไทยเจ้าหน้าที่จะได้ผลักดันออกนอกพื้นที่ต่อไป


 



 


เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งด่านตรวจตรงฝั่งกำแพงเมืองก่อนถึงวัดป่าเป้า พร้อมทำการจับกุมชาวไทใหญ่รายหนึ่งหลังพบไม่มีบัตรอนุญาตทำงาน (ที่มาของภาพ : นสพ.เชียงใหม่นิวส์)


 


ชาวไทใหญ่เผยเสียใจ เพื่อนถูกจับทั้งที่มาทำบุญ


ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ได้สัมภาษณ์ชายอ่อน (นามสมมติ) อายุ 25 ปี ชาวไทใหญ่ ซึ่งปัจจุบันอาศัยอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่กล่าวว่า ทราบว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมามีการกวาดจับแรงงานไทใหญ่ ที่วัดป่าเป้า รู้สึกเสียใจและไม่เห็นด้วย ทั้งยังสงสัยว่ากรณีนี้เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่เพราะพี่น้องชาวไทใหญ่มาที่วัดป่าเป้าเพื่อมาทำบุญและพบปะญาติพี่น้องที่งานวันออกพรรษา โดยการกวาดจับครั้งนี้มีเพื่อนถูกจับด้วย ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าถูกปล่อยตัวแล้วหรือไม่


 


เอ็นจีโอติงเจ้าหน้าที่รัฐระวังละเมิดสิทธิแรงงาน


น.ส.ประนม สมวงศ์ จากมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ (Map Foundation) กล่าวว่ากรณีที่เกิดขึ้นกับชาวไทใหญ่ ที่วัดป่าเป้านี้ เป็นเพราะที่นั่นเป็นพื้นที่ในการประกอบพิธีความเชื่อทางศาสนาและพื้นที่ทางสังคมของแรงงานข้ามชาติที่จะพบปะชุมชนแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมและการสื่อสาร ขณะที่หากเป็นที่อื่นซึ่งไม่มีสถานที่ลักษณะนี้จึงทำไม่ค่อยได้ เช่น เมื่อเดือนที่แล้วที่ตำรวจจับแรงงานกะเหรี่ยงที่ไปเล่นฟุตบอลในช่วงประเพณีผูกข้อมือที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน สำหรับการจับกุมชาวไทใหญ่ดังกล่าวในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายนั้น เท่าที่ทราบแรงงานส่วนใหญ่จดทะเบียนขออนุญาตทำงานแต่นายจ้างยึดบัตรไว้ หากแรงงานไม่มีบัตรแสดงแล้วตำรวจจับก็เป็นการละเมิดสิทธิแรงงาน


 


หวังส่งเสริมสิทธิแรงงานข้ามชาติมีพื้นที่แสดงออกทางวัฒนธรรม


ทั้งนี้ น.ส.ประนม กล่าวว่าการที่แรงงานข้ามชาติได้มีพื้นที่ทางสังคมจะเป็นการแสดงออกทางวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อ และสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาการทำงานเรื่องสิทธิ หากหน่วยงานความมั่นคง ยังคงสุ่มสี่สุ่มห้าจับอยู่แบบนี้ แน่นอนว่าเราจะไปไม่ถึงความมั่นคงของมนุษย์ของพี่น้องแรงงานข้ามชาติ


 


เอ็นจีโอชี้ จ้าหน้าที่จับคนจะทำบุญ ละเมิดสิทธิทางวัฒนธรรม


นายอดิศร เกิดมงคล เจ้าหน้าที่ประจำคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยในพม่า (กรพ.) กล่าวว่า "วิธีการของตำรวจแม้จะถูกตามกฎหมายแต่ก็เป็นการละเมิดสิทธิในเชิงวัฒนธรรมอย่างร้ายแรง เพราะตำรวจจะรู้ดีว่าแรงงานข้ามชาติจะต้องมาทำบุญที่นี่ในช่วงนี้เยอะ ซึ่งทำให้พวกเขาถูกละเมิดซ้ำซ้อน เป็นการลดทอนศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติรูปแบบหนึ่งเพียงแต่วิธีการแบบนี้ตำรวจเอากฎหมายมาอ้างได้" นายอดิศรกล่าว


 


ผู้สื่อข่าวถามกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าจับกุมเพราะต่างด้าวที่ไม่มีบัตรอนุญาตอยู่ในราชอาณาจักรไทย นอกจากนี้ยังไม่ผ่านการตรวจโรคจึงเป็นพาหะนำโรค และเจ้าหน้าที่จะได้ผลักดันออกนอกพื้นที่ต่อไปนั้น เจ้าหน้าที่ กรพ. คนดังกล่าวตอบว่า "ต้องถามว่ามันแก้ปัญหาไหม ต้องตอบว่ามันแก้ปัญหาอะไรไม่ได้เลย ปัญหาคือเราไม่เคยพิจารณาในเรื่องโอกาสของแรงงานข้ามชาติในการมีใบอนุญาตทำงานที่ถูกกฎหมาย นอกจากนี้แรงงานหลายคนมีบัตรแต่นายจ้างเก็บไว้ ก็อาจทำให้ถูกจับกุม" นายอดิศรกล่าว


 


ติงสื่อนำพาดหัวตื่นเต้น เป็นการดูถูกแรงงานข้ามชาติ


ต่อกรณีที่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นบางฉบับพาดหัวข่าวว่า "แรงงานต่างด้าวเกลื่อนวัดป่าเป้า" นั้นนายอดิศรกล่าวว่าสิ่งนี้เป็นอคติและเป็นเพียงการทำให้ข่าวดูน่าตื่นเต้น แต่ในสังคมไทย มีการดูถูกแรงงานข้ามชาติก่อนหน้านี้อยู่แล้ว


 


"คือมันมีกระบวนการสร้างความเป็นอื่น ความน่าหวาดกลัวหวาดระแวงแก่แรงงานข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง


และสื่อทำหน้าที่ผลิตซ้ำแนวคิดเหล่านี้ผ่านการนำเสนอข่าว ทำให้มันดูหวือหวา ซึ่งส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต และความเป็นมนุษย์ของแรงงานข้ามชาติอย่างมาก เรากำลังสร้างสังคมแห่งความกลัวขึ้นมา เราทำให้คนไทยกลัวแรงงานข้ามชาติและแรงงานข้ามชาติก็กลัวคนไทย"


 


ชี้สังคมจะวิกฤตถ้าเห็นการทำบุญเป็นปัญหาความมั่นคง


"และแนวโน้มความกลัวก็จะกลายเป็นความเกลียดชัง มันทำให้การละเมิดสิทธิแรงงานข้ามชาติกลายเป็นเรื่องปรกติไป ทั้งๆ ที่แรงงานไทใหญ่หลายคนก็มีวัฒนธรรมมีถีชีวิตไม่ต่างจากคนเชียงใหม่ แต่อคติที่สร้างขึ้นมันไปเบียดทำให้เราคิดว่าเขาไม่เหมือนกับเรา แม้แต่การไปวัดของเขายังถูกทำให้เป็นเรื่องอันตราย น่ากลัว การทำบุญกลายเป็นปัญหาความมั่นคงในสายตาของคนไทย สิ่งนี้เริ่มเห็นได้ชัดว่าเป็นวิกฤติแล้ว" นายอดิศรกล่าว


                                                     


"ผมว่าน่าเศร้านะ สังคมไทยบอกว่าเป็นเมืองพุทธนะคุณ แต่คนจะไปทำบุญยังมาตรวจบัตร"


 


แฉปมประวัติศาสตร์จอมพล ป. คิดผนวกไทใหญ่ แต่ตอนนี้กลับเรียกพม่าหนีเข้าเมือง


นอกจากนี้นายอดิศร ยังตั้งคำถามถึงประวัติศาสตร์ "ชาติไทย" ต่อกรณีชาวไทใหญ่ว่า มีเรื่องขัดแย้งสุดๆ เพราะสมัยจอมพล ป.พิบูลสงคราม จะมีการเอาดินแดนไทยใหญ่มาเป็นส่วนหนึ่งของไทย มีการส่งทหารไปเชียงตุง แต่ตอนนี้คนไทใหญ่กลับถูกเรียกว่าพม่าหลบหนีเข้าเมือง


 


เสนอ "เสี่ยงไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น" จะอยู่อย่างสงบสุขทุกกลุ่มชาติพันธุ์


ผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ถามนายอดิศรว่าจะมีหนทางใดที่จะลดความหวาดระแวงซึ่งกันและกันระหว่างผู้คนชาติพันธุ์ต่างๆ ที่อาศัยร่วมกันหรือไม่แทนการเอากฎหมายหรือพรมแดนมาขีดคั่น นายอดิศรกล่าวว่าเราต้องเปิดรับและทำความเข้าใจกับคนกลุ่มต่างๆ มากขึ้น คิดว่าสังคมไทยมองเรื่องนี้เป็นความเสี่ยง "แต่สิ่งที่น่าจะลองทำคือ "การเสี่ยงไว้วางใจซึ่งกันและกันมากขึ้น" ผมว่ามันดูตลกนะ เราจ้างแรงงานข้ามชาติมาเป็นคนใช้ มาทำงานบ้าน มาเลี้ยงลูก แต่พอเขาจะไปทำบุญ ไปรวมกันเยอะๆ กลับมีปัญหา เห็นได้ชัดว่าหากเราเลือกที่จะไว้ใจ เราก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่หากเราเลือกจะระแวง เลือกจะไม่ไว้วางใจ เราก็จะทุกข์ใจ และจะกลายเป็นความหวาดกลัวไป" นายอดิศรกล่าว


 


นายอดิศรกล่าวว่า "สิ่งที่น่ากลัวคือ สังคมไทยปิดกั้นการแสดงออก การสื่อสาร เหมือนปิดไม่ให้คนขยับตัวมันอึดอัดนะมันอาจจะระเบิดได้ ถึงตอนนั้นสังคมไทยจะตั้งรับไม่ทัน เพราะเขาจะคิดนอกตรรกะที่สังคมไทยจะเข้าใจได้เพราะคุณไม่เคยฟังเสียงเขาเลย เราต้องการสมานฉันท์แบบกดทับ จึงต้องหุบปาก ต้องเงียบ ห้ามโวยวาย เพราะไม่เช่นนั้นมันไม่สมานฉันท์ สังคมไทยชอบแบบนี้ จึงอยากอธิบายจุดบอดนี้ให้สังคมไทยให้รัฐไทยเห็นแต่ไม่รู้เขาจะเข้าใจหรือเปล่า"


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net