Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 10 ต.ค.2549 จากรายงานของสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า นับตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.ค.2549 เป็นต้นมา สถิติการเข้าไปใช้บริการของผู้ประกันตน สูงถึง 11,664,496 ครั้ง จ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีเจ็บป่วยไปแล้วถึง 8,433 ล้านบาท และด้วยปริมาณคนที่มาขอรับบริการขนาดนี้ ทำให้บางช่วงเวลาไม่สามารถให้บริการผู้ที่มาใช้สิทธิทางโรงพยาบาลตามบัตรฯ ได้อย่างทั่วถึง ทั้งยังมีโรงพยาบาลบางแห่งพยามยามลดหรือเลี่ยงการให้บริการทางการแพทย์ จนทำให้เกิดข้อร้องเรียนจากผู้ประกันตนมาตลอด ทั้งเรื่องมาตรฐานการรักษา การจ่ายยา การวินิจฉัยโรคของแพทย์ รวมถึงระยะเวลารอพบแพทย์


 


ปัญหาข้อร้องเรียนส่วนใหญ่ เกิดจากผู้ประกันตนเองไม่ทราบถึงสิทธิและขั้นตอนการขอรับบริการ และจากโรงพยาบาลบางแห่งที่ไม่ตระหนักถึงการเป็นผู้ให้บริการที่ดี ไม่สร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้น จึงมีภาพลบในการให้บริการเกิดขึ้น และมีคำกล่าวที่ว่า "ผู้ประกันตนเป็นคนไข้ชั้น 2 ของโรงพยาบาล" ซึ่งมีสาเหตุจากที่ผู้ประกันตนส่วนใหญ่รู้สึกว่าตนถูกเลือกปฏิบัติจากบุคลากรในโรงพยาบาล


 


ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กำหนดขอบเขต 'การให้บริการทางการแพทย์' ซึ่งครอบคลุมการให้ บริการและดูแลผู้ประกันตนไว้ชัดเจน โดยสปส.กำหนดว่าสถานพยาบาลต้องดูแลให้บริการทางการแพทย์แก่ลูกจ้างผู้ประกันตนได้รับสิทธิ ได้แก่ (1) การตรวจวินิจฉัยและบำบัดทางการแพทย์จนสิ้นสุดการรักษา (2) ได้รับบริการการกินอยู่และการรักษาพยาบาลสำหรับคนไข้ใน (3) สามารถได้รับยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ (4) การจัดส่งต่อเพื่อการรักษาระหว่างสถานพยาบาล (5) การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยมีการให้สุขศึกษาและภูมิคุ้มกันโรคตามโครงการแห่งชาติ 


 


โดยสปส.จะจ่ายค่าบริการทางการแพทย์แบบเหมาจ่ายให้แก่สถานพยาบาลประกันสังคม ตามจำนวนผู้ประกันตนที่เป็นสมาชิกของสถานพยาบาล ไม่ว่าผู้ประกันตนมีการเจ็บป่วยและเข้ารับการรักษาหรือไม่ก็ตาม และสถานพยาบาลต้องให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนจนสิ้นสุดการรักษา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง และจำนวนเงินที่ใช้ในการรักษา


 


จากรายงานถึงปัญหาที่กล่าวมาแล้ว สปส.พร้อมแก้ไขจุดบกพร่อง จุดด้อย และรอยโหว่ให้ดีขึ้น โดยวางแนวทางและมาตรการในการรักษาคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคมให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน นั่นคือ


 


(1) กำหนดมาตรฐานการตรวจสอบโรงพยาบาลทุก ๆ 6 เดือน โดยคณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.เป็นผู้ตรวจสอบความพร้อมของโรงพยาบาลในการให้บริการ


 


(2) จัดให้มีตู้แสดงความคิดเห็นให้กับผู้ประกันตนที่มีต่อการใช้บริการว่ามีความพอใจหรือไม่-อย่างไร ที่โรงพยาบาลทุกแห่งในโครงการฯ ทุกข้อมูลจะถูกรวบรวมนำไปปรับปรุงและพัฒนาต่อไป


 


(3) การให้บริการของโรงพยาบาลในโครงการประกันสังคมทุกแห่งจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกับการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป คือ เวลาที่ต้องใช้ในการลงทะเบียนและทำบัตรผู้ป่วยไม่เกิน 30 นาที รอตรวจโรคไม่เกิน 1 ชั่วโมง รอรับยาและชำระเงิน ไม่เกิน 30 นาที เวลาเฉลี่ยที่ผู้ป่วยพบแพทย์ในการตรวจไม่ต่ำกว่าคนละ 5 นาที ดังนั้น ในกรณีการตรวจทั่วไป เวลาที่ใช้ในการรับบริการทั้งหมดไม่เกิน 3 ชั่วโมง


 


นอกจากนี้ มีการชี้แจงสาเหตุที่ต้องแยกผู้ป่วยประกันสังคมออกจากผู้ป่วยทั่วไปด้วย โดยการแยกผู้ป่วยประกันสังคมออกจากผู้ป่วยทั่วไป ก็เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกันตนในการใช้สิทธิเต็มที่ ซึ่งทาง สปส.ได้กำหนดมาตรฐานการให้บริการเช่นเดียวกับผู้ป่วยทั่วไป โดยเฉพาะการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ประกันตนจะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานบัญชียาหลักแห่งชาติ และไม่เรียกเก็บเงินเพิ่ม ตลอดจนมีมาตรการควบคุมคุณภาพของโรงพยาบาล โดยสุ่มตรวจเป็นระยะ ๆ หากโรงพยาบาลใดไม่ปฏิบัติตามตามข้อตกลงจะมีบทลงโทษ คือ ว่ากล่าวตักเตือน ลดจำนวนโควตาผู้ประกันตนในปีต่อไป ส่งเรื่องให้แพทยสภา และยกเลิกสัญญาจ้าง


 


ในส่วนของการเลือกโรงพยาบาลนั้น สปส.จะให้ผู้ประกันตนเลือกโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการรักษาได้ด้วยตัวเอง และเพื่อให้เกิดความพึงพอใจและสะดวกยิ่งขึ้น ได้จัดให้มีการเปลี่ยนโรงพยาบาลเป็นประจำทุกปี ซึ่งช่วงเวลาที่เปลี่ยนได้อยู่ระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม โดย สปส.จัดส่งรายละเอียดให้กับนายจ้างและสถานประกอบการทุกแห่ง


 


หากมีเหตุการณ์ทำให้ไม่ได้รับการบริการที่ดี หรือต่ำกว่ามาตรฐาน ให้ผู้ประกันตนแจ้งรายละเอียดต่างๆ ที่สามารถนำไปสู่การตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ เช่น ชื่อ -นามสกุล หมายเลขบัตรประชาชน วัน/เวลาที่รับการรักษา แพทย์ผู้รักษาไปยัง สปส.หรือเว็บไซต์ www.sso.go.th และสายด่วน 1506 เพื่อที่จะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการตามขั้นตอนกับโรงพยาบาลต่อไป


 


ในขณะนี้ สปส.เน้นเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อลบความรู้สึก "การเป็นคนไข้ชั้น 2" ของผู้ประกันตนให้ได้ โดยเพิ่มคุณค่าบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาลให้มีศักดิ์ศรีในการรับบริการทางการแพทย์ มีการจัดตั้งศูนย์พึ่งได้ รับเรื่องและให้คำปรึกษาบริการทางการแพทย์ ให้รางวัลแก่โรงพยาบาลเพื่อกระตุ้นให้มีการส่งเสริมการบริการที่มีประสิทธิภาพ พยายามลดขั้นตอนต่าง ๆ ที่ยุ่งยากลง ผู้ประกันตนจะได้รับบริการแบบ one stop service


 


รวมถึงปรับปรุงและเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและสังคม เช่น เพิ่มสิทธิประโยชน์กรณีคลอดบุตร ทุพพลภาพ ตาย ขยายสิทธิประโยชน์กรณีการรักษาโรคจิต เพิ่มสิทธิการบำบัดรักษาจากการเสพยาเสพติด ปรับเพิ่มอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ ปรับปรุงสิทธิประโยชน์กรณี ชราภาพ รวมถึงกรณีทันตกรรมด้วย


 


เรียบเรียงจาก: เวบไซต์แนวหน้า

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net