Skip to main content
sharethis

ธีระ สุธีวรางกูร  


คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์


ตอนที่ ๑ : โหมโรง 


          


( ๑ )


 


ก่อนหน้าคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙  สยามประเทศเกิดการรัฐประหารในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ เป็นการรัฐประหารซึ่งคนในยุคนั้นมิคาดว่าจะยังมีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้น แต่แล้วมันก็เกิด


 


ปีพุทธศักราช ๒๕๔๙  ในยุคที่เทคโนโลยีทางด้านวิทยาศาสตร์ของโลกก้าวหน้าไปแล้วถึงระดับนาโน  เมื่อเกิดสถานการณ์ทางการเมืองที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกในประเทศ  บุคคลกลุ่มหนึ่งก็เข้ามาแก้ไขสถานการณ์โดยอาศัยวิธีการแบบไทย  เป็นวิธีการที่หาได้ยากนักในโลกสมัยปัจจุบัน   นั่นคือ  การทำรัฐประหารอีกครั้งเพื่อล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แล้วเข้ายึดอำนาจในฐานะผู้ปกครอง แทน


 


ปฏิกิริยาอันน่าสนใจต่อการนี้จากสังคมไทยก็คือ  โพลล์หลายสำนักชี้ว่าประชาชนเห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้กว่าแปดสิบเปอร์เซ็นต์  คนจำนวนไม่น้อยต่างนำอาหารและดอกไม้ไปมอบให้กับบรรดาเหล่าทหารหาญ  พร้อมกับการถ่ายรูปและแสดงความรื่นเริงกับรถถังเสมือนหนึ่งว่ามันเป็นวันครอบครัว


 


 ผู้รับผิดชอบกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส   โดยการแนะนำให้นักท่องเที่ยวจากแดนไกลไปทัวร์ชมรถถังซึ่งตั้งมั่นอยู่ตามมุมต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร   ผู้มาท่องเที่ยวจากหลายประเทศถือโอกาสนี้แสดงความภูมิใจต่อญาติมิตรเพื่อนฝูงด้วยรูปภาพที่ถ่ายคู่กับรถถังและบรรดาเหล่าทหารในปรากฏการณ์พิเศษครั้งนี้


 


เป็นปรากฎการณ์ซึ่งมิอาจพบเห็นได้ในยุคปัจจุบันนี้ ณ ประเทศของพวกเขา


 


สำหรับคณะรัฐประหาร   เพื่อมิให้เสียภาพลักษณ์เกินไปจากการกระทำดังกล่าว  คณะบุคคลกลุ่มนี้จึงให้ชื่อของตนเองกับสังคมไทยและสังคมโลกว่า" คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข " และหากว่าชื่อดังกล่าวยังยาวเกินไปจนยากแก่การจดจำ  ไม่เป็นไร  เพราะยังมีชื่อย่อที่ได้รับอนุญาตให้เรียกจากคณะบุคคลกลุ่มนี้อีกชื่อหนึ่งว่า คปค.


 


การใช้ชื่อดังนี้ของคณะรัฐประหาร นัยว่าต้องการสื่อให้เกิดความเข้าใจกับคนทั่วไปว่าเป็นการกระทำโดยมีเจตนาเพื่อปฏิรูปบ้านเมืองให้ดียิ่งขึ้น  สำหรับนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน  ก็ดูเหมือนจะมีความเข้าใจเป็นอย่างดีต่อความมุ่งหมายของ คปค. ตามที่ได้กล่าว


 


แต่มิว่าจะอย่างไร  ชื่อหรือยี่ห้อคงไม่สำคัญมากไปกว่าเนื้อหา  เมื่อการรัฐประหารก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย โดยเฉพาะกับสถานการณ์ทางกฎหมายของประเทศ  น่าจะลองดูว่าบรรดานักกฎหมายได้ทำอะไรกันบ้าง


 



ภาพจาก AFP


 


( ๒ )


 


" เมื่อเสียงปืนดังขึ้น กฎหมายก็เงียบลง "  


 


ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ไม่เว้นแม้ในครั้งนี้  เราอาจเห็นความเคลื่อนไหวของนักกฎหมายในหลายลักษณะ  บางกลุ่มวางเฉย  บางกลุ่มเคลื่อนไหวคัดค้าน  บางกลุ่มยอมรับ  เรื่องนี้ถือเป็น " ลางเนื้อชอบลางยา " ตามรสนิยมและเหตุผลของบรรดานักกฎหมายแต่ละกลุ่ม


 


ด้วยเหตุผลที่ไม่จำเป็นต้องอธิบาย   ผู้เขียนจัดอยู่ในกลุ่มที่คัดค้านการรัฐประหาร   เป็นการคัดค้านอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าคณะรัฐประหารจะเป็นใคร มีเหตุผลต่อการกระทำอย่างไร และกระทำต่อรัฐบาลใด


 


ภาษิตโรมันดังที่ยกมาไว้ข้างต้น  อาจเป็นเหตุผลอย่างหนึ่งซึ่งควรแก่การยึดถือของกลุ่มนักกฎหมายที่วางเฉยหรือยอมรับต่อการรัฐประหาร   หากทว่าสำหรับกลุ่มนักกฎหมายที่ไม่ยอมรับกับการนี้   ภาษิตโรมันบทนี้ย่อมมีข้อจำกัดอันมิอาจใช้ได้กับทุกคน


 


( ๓ )


 


นับจากวันแรกที่มีการรัฐประหาร  ประกาศของ คปค. หลายสิบฉบับ คำสั่งของหัวหน้า คปค. อีกจำนวนหนึ่ง ถูกประกาศใช้ในต่างกรรมต่างวาระ ด้วยเนื้อหาที่แตกต่างออกไป  


 


บรรดาประกาศและคำสั่งเหล่านี้  มีผลกระทบในทางกฎหมายและสถาบันทางกฎหมายอย่างสุดคณานับ  


 


เป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับเดิม โดยอาศัยเวลาไม่กี่นาที จากบุคคลเพียงไม่กี่คน  ในขณะที่การยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวเพื่อให้มีผลบังคับใช้   ต้องใช้เวลาไปกับกระบวนการยกร่างเกือบทั้งปี  ทั้งยังต้องผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาและประมุขของรัฐ


 


นอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น  ขณะที่การก่อตั้งหรือการยกเลิกสถาบันทางกฎหมายบางสถาบัน จำต้องผ่านกระบวนการนิติบัญญัติของรัฐสภา   ทั้งยังต้องมีการชี้แจงจากผู้เกี่ยวข้องอย่างพิสดารยืดยาวว่ามีเหตุผลและความจำเป็นอย่างไร  จึงจำต้องก่อตั้งหรือยกเลิกสถาบันทางกฎหมายนั้นๆ  หากทว่าโดยอาศัยประกาศหรือคำสั่งของ คปค.  การกระทำดังนี้อาจใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง และโดยบุคคลไม่กี่คน ทุกอย่างก็เรียบร้อย


 


ที่สำคัญไม่น้อยกว่านั้น   หากจะกล่าวถึงสิทธิและเสรีภาพของบุคคล   ในขณะการยกเลิกเพิกถอนหรือการจำกัดสิ่งเหล่านี้ในสถานการณ์ปกติยังต้องมีเหตุผลในทางกฎหมาย   ทั้งยังต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบจากหน่วยงานทางปกครองและหรือกระบวนการยุติธรรมในทางศาล   แต่เมื่อเป็นยุคของการรัฐประหารแล้ว  ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลอย่างไร   สมเหตุสมผลหรือไม่  หากสิทธิเสรีภาพของบุคคลถูกคณะรัฐประหารจำกัดมิให้ใช้  ย่อมหมายความชัดว่าห้ามใช้  และห้ามวิจารณ์


 


นั่นเป็นตัวอย่างเล็กน้อย  เป็นตัวอย่างสถานการณ์ทางกฎหมายที่นักศึกษากฎหมายควรทราบและบุคคลทั่วไปควรรู้ มิว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร


 


( ๔ )


 


วันนี้ หลายคนอาจเห็นว่าทุกอย่างเริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติ


 


เป็นสภาวะที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. ๒๕๔๙ ได้ถูกประกาศใช้   และเป็นสภาวะที่เราได้มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่และคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศแล้ว


 


แน่นอน ในทางการเมืองก็เรื่องหนึ่ง  ในทางนโยบายต่างๆของรัฐบาลชุดใหม่ก็อีกเรื่องหนึ่ง


 


หากทว่าสำหรับสถานการณ์ทางนิติศาสตร์ของประเทศ  เมื่อพิจารณาถึงเนื้อหาแห่งประกาศของ คปค. ซึ่งยังถูกรับรองให้มีผลบังคับใช้ได้ต่อไป  ประกอบกับเนื้อหาของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว ที่ซ่อนความนัยหลายเรื่อง  ในฐานะของผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย  ผู้เขียนคงยังมิอาจวางใจได้กับสถานการณ์ด้านนี้


 


เมื่อ คปค. หรือรัฐบาลซึ่งมีที่มาจาก คปค. แสดงเจตน์จำนงแน่ชัดว่าการรัฐประหารในครั้งนี้  เป็นไปก็เพื่อปฏิรูประบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  แม้วันนี้สยามประเทศจะยังอยู่ในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก  


 


แต่นับจากนี้   การแสดงความเห็นสำหรับการวิเคราะห์สถานการณ์ทางกฎหมายของประเทศ  จะถูกนำมาใช้ให้เข้มข้นมากขึ้น  เพื่อตรวจสอบการใช้อำนาจของหน่วยงานทั้งหลายซึ่งมีที่มาจาก คปค.ในสถานการณ์อันไม่ปกติ


 


 


 


........................................................................................


 


 


 


   


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net