Skip to main content
sharethis

 



 


สัมภาษณ์โดย พิณผกา งามสม


 


บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่ากันด้วยฐานอำนาจและอุดมการณ์ทางการเมืองที่รองรับการรัฐประหารไปแล้ว คราวนี้จะว่ากันด้วยผลที่สืบเนื่องตามมา ทั้งในแง่ของนักวิชาการที่ออกมารองรับการรัฐประหาร และการเสนอตัวเข้าร่วมวงปฏิรูปการเมืองภายใต้คณะรัฐประหารครั้งนี้ และผลสืบเนื่องของการรัฐประหารจะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะถูกร่างขึ้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร


 


เรื่องที่เราควรจะจำไว้ให้มากๆ ก็คือ


ปัญญาชนกลุ่มที่ไหนและคนกลุ่มไหนที่สนับสนุนการรัฐประหาร


นี่จะเป็นตราบาปที่สำคัญ และจะเป็นเส้นแบ่งของคนรุ่นนี้ไปอีกนาน


 


 


"ใครๆ ก็เป็นเนติบริกรได้ ถ้าพร้อมจะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร หรือทุกครั้งที่ผู้มีอำนาจต้องการ"



 


ผมคิดว่าเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการโจมตีคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ของนักกฎหมายมหาชน ซึ่งนักกฎหมายมหาชนกลุ่มหนึ่งพยายามให้เหตุผลว่าคุณมีชัยเป็นเนติบริการที่เลวร้าย รับใช้ระบอบทักษิณ ร่างกฎหมายให้เผด็จการทหารหลายชุด ฯลฯ จึงไม่ควรให้คนอย่างนี้มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญหรือทำงานด้านกฎหมายให้คณะปฏิรูปการปกครอง


 


สำหรับนักกฎหมายเหล่านี้ ความเป็นเนติบริกรผูกพันกับใบหน้าของคุณมีชัย, คุณวิษณุ หรือคุณบวรศักดิ์


ขณะที่ผมกลับคิดว่าความเป็นเนติบริกรหมายความถึงสภาพที่นักกฎหมายมหาชนพร้อมที่จะเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร ร่างกฎหมายได้ทุกอย่างตามแต่ผู้มีอำนาจจะต้องการ


 


เนติบริกรไม่ใช่ตัวบุคคล แต่คือสภาพทางความคิดที่สยบยอมต่อการรัฐประหาร ดิ้นรนเข้าหาผู้มีอำนาจ หรือไม่ก็วิพากษ์วิจารณ์เป็นพิธี เพื่อรักษาภาพความเป็นนักประชาธิปไตยของตัวเองเอาไว้ ทั้งที่ลึกๆ แล้วก็เชื่อว่าการเข้าไปคลุกวงในกับผู้มีอำนาจคือเป้าหมายขั้นสูงสุดของการทำหน้าที่นักกฎหมายมหาชน


 


นักกฎหมายมหาชนบางกลุ่มโจมตีเนติบริกรอาวุโสอย่างคุณมีชัย คนเหล่านี้พยายามสื่อสารไปยังคณะรัฐประหารว่าอย่าไปยุ่งกับคนเลวๆ แบบนี้ เรียกใช้คนดีๆ อย่างพวกผมดีกว่า และนี่คือการเกิดขึ้นของเนติบริกรรุ่นใหม่ซึ่งไม่ได้มีศูนย์กลางอยู่ที่คุณมีชัย และคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอีกต่อไป


 


ในที่สุด คำว่าเนติบริกรจะแปรสภาพเป็นการใส่ร้ายป้ายสีที่เนติบริกรรุ่นใหม่โจมตีเนติบริกรรุ่นเก่า เป้าหมายของการโจมตีนี้ไม่มีอะไรมาก นอกจากบอกว่าเอาพวกฉันเข้าไปร่างรัฐธรรมนูญได้เป็นดี


 


อย่าลืมว่าคุณมีชัยและพวกไม่ได้เป็นนักกฎหมายมหาชนกลุ่มที่มีบทบาทมากที่สุดในสังคมไทยเพียงกลุ่มเดียว อ.อมร จันทรสมบูรณ์ และลูกศิษย์ของท่านอีกหลายคน ก็เป็นนักกฎหมายมหาชนกลุ่มที่ใหญ่และมีอิทธิพลต่อสังคมไทยมาก โดยเฉพาะในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว รวมทั้งการทำงานด้านกฎหมายให้ระบอบรัฐประหารครั้งนี้


 


อันที่จริง ชุมชนวิชาการเองก็ต้องรับผิดชอบต่อสภาพแบบนี้ด้วย นักกฎหมายมหาชนบางคนทำงานผ่านสื่อ แล้วใช้สื่อไปอุปโลกตัวเองเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญของประเทศ ทั้งที่บางคนไม่เคยมีผลงานทางวิชาการแม้แต่ชิ้นเดียว ทำให้ผู้เชี่ยวชาญคือใครก็ได้ที่ถวายตัวให้สื่อเรียกใช้ได้ 24 ชั่วโมง ต่อให้จะพ่นความเห็นที่เลื่อนเปื้อนเหลวไหลไปตามสถานการณ์ก็ตามที


 


จำเป็นที่คนเราต้องคัดค้านรัฐประหารเหมือนกันทั้งหมดหรือ


ตอบยาก....แต่ผมคิดว่าสังคมไทยควรจดจำว่าปัญญาชนคนไหนสนับสนุนการรัฐประหาร ผมคิดว่านี่จะเป็นตราบาปทางการเมืองที่สำคัญ และตราบาปนี้จะเป็นเส้นแบ่งของปัญญาชนรุ่นนี้ไปอีกนาน


 


ต้องตระหนักก่อนว่าคนที่มีสติสัมปชัญญะทุกคนรู้ว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องผิด จึงไม่มีใครพูดตรงๆ ว่าเห็นด้วยกับการรัฐประหาร แม้กระทั่งทหารที่ยึดอำนาจในวันที่ 19 กันยา ก็พูดว่าไม่เต็มใจทำอย่างนั้น ปัญญาชนที่สนับสนุนรัฐประหารจึงไม่ได้หมายถึงปัญญาชนที่ยกย่องการรัฐประหารอย่างไร้สติ แต่คือปัญญาชนที่สร้างคำอธิบายต่างๆ ที่ทำให้การรัฐประหารมีเหตุมีผล ฟังได้ เช่นรัฐประหารครั้งนี้เป็นวิธีการสร้างประชาธิปไตย เป็นรัฐประหารเพื่อระบบเศรษฐกิจทวนกระแส เป็นรัฐประหารที่ไม่ใช้ความรุนแรง หรือบางคนก็ไปไกลถึงขั้นประกันว่าหัวหน้าคณะรัฐประหารเป็นคนดี


 


ประเด็นสำคัญคือปัญญาชนเหล่านี้ไม่ตั้งคำถามกับการรัฐประหาร ต่อให้เขาตั้งคำถามกับเรื่องอื่นๆ ที่แวดล้อมการรัฐประหาร เช่นใครทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ คณะรัฐประหารแต่งตั้งคณะรัฐบาลได้ดีหรือไม่ ฯลฯ แต่เขาไม่มีความกล้าหาญทางจริยธรรมพอที่จะยืนยันหลักการทางการเมืองที่สำคัญที่สุดว่าเราใช้ปืนและความรุนแรงแก้ปัญหาการเมืองไม่ได้ กองทัพไม่มีสิทธิล้มล้างรัฐบาล หัวหน้าคณะรัฐประหารไม่มีสิทธิออกกฎหมาย และคณะรัฐประหารไม่มีความชอบธรรมที่จะตั้งรัฐบาลใหม่โดยไม่เคยฟังเสียงประชาชน


 


สำหรับผมแล้ว การต่อต้านรัฐประหารเป็นหลักการทางจริยศาสตร์พอๆ กับที่เป็นหลักการทางการเมือง


 


ไม่ว่าจะมีจุดยืนทางการเมืองแบบไหน การรัฐประหารคือการทำลายล้างโอกาสที่จะแสดงความเห็นทางการเมืองได้อย่างเปิดเผย คนส่วนใหญ่เป็นแค่ไพร่ทาสที่มีหน้าที่ฟังประกาศฉบับต่างๆ ของผู้ยึดอำนาจ มีหน้าที่แค่ถูกปกครองโดยรัฐบาลที่ผู้ยึดอำนาจแต่งตั้งจากสมัครพรรคพวก และทำได้แค่ก้มหัวปฏิบัติตามกฎหมายที่สภานิติบัญญัติเก๊ออกกันเอง


 


เราควรจะต้องขีดเส้นแบ่งแบบนี้หรือ เพราะบางคนก็พูดว่าถ้าปล่อยให้ คปค. ร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะได้รัฐธรรมนูญแย่ๆ แต่ถ้าเราเข้าไปร่วมก็จะได้ช่วยกัน


คำพูดแบบนี้เป็นคำพูดของปัญญาชนที่หลงตัวเอง เพราะปัญญาชนทุกคนเชื่อว่าตัวเองเป็นคนที่มีเหตุผลและมีความรู้ และเมื่อเชื่อแบบนี้ ก็คิดเองเออเองต่อไปว่าถ้าตัวเองได้เข้าไปใกล้ศูนย์กลางอำนาจ เหตุผลที่ดีของตัวเองก็จะหว่านล้อมให้ผู้มีอำนาจ เกิดดวงตาเห็นธรรม หันมาทำสิ่งที่ดีๆ ให้กับบ้านเมือง


 


ถ้าไปดูประวัติศาสตร์ของการรัฐประหารในอดีต ก็จะพบว่านิทานเรื่องนี้ไม่เคยเป็นจริง ในสมัยที่จอมพลสฤษดิ์ยึดอำนาจ อาจารย์ป๋วยก็ไปเป็นผู้ว่าแบงก์ชาติ และในที่สุดแล้วอาจารย์ป๋วยก็ไม่สามารถอยู่กับจอมพลถนอมได้


 


ในสมัยพลเอกเปรมเป็นนายกรัฐมนตรี อาจารย์เสน่ห์ จามริก อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวณิช และ น.พ.ประเวศ วะสี ก็เคยเป็นที่ปรึกษาให้ แต่ในที่สุด ในช่วงปลายของพลเอกเปรม คนเหล่านี้ก็ออกมาล่ารายชื่อคัดค้านไม่ให้พลเอกเปรมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป


 


ทหารที่รัฐประหารชนะ ย่อมไม่ใช่คนโง่ เขามีสมัครพรรคพวก มีความคิดความเชื่อ มีผลประโยชน์ มีรุ่นพี่รุ่นน้อง มีความรู้สึกนึกคิดที่ปลูกฝังมาเป็นเวลาสิบๆ ปี ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่ทำให้เขาต้องฟังปัญญาชนเหล่านี้ หากปัญญาชนไม่ได้พูดสิ่งที่พวกเขาต้องการ


 


ปัญญาชนที่วิ่งเข้าหาทหารหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยทหาร หากไม่ไร้เดียงสาเกินไป ก็คงลืมประเด็นพื้นฐานไปหนึ่งข้อ นั่นก็คือไม่ว่าจะมีเจตนาดีต่อสังคมแค่ไหน ปัญญาชนก็ไม่ใช่ตัวแทนของคนในสังคม


 


ถ้าคำพูดนี้มาจากนักรัฐศาสตร์ ก็พูดได้ว่านักรัฐศาสตร์เหล่านี้ไม่ทำการบ้านของนักรัฐศาสตร์เพียงพอ นั่นก็คือไม่วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างทหารและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ , ความสัมพันธ์ระหว่างชนชั้นนำทางการเมือง หรือบทบาทของอุดมการณ์ทางการเมืองในสังคม


 


ถ้าคำพูดนี้มาจากนักนิติศาสตร์ ก็ถือว่านักนิติศาสตร์กลุ่มนี้มีส่วนทำลายหลักการปกครองโดยกฎหมาย ทำให้กฎหมายขึ้นอยู่กับความพอใจของผู้มีอำนาจ อันเป็นหลักคิดทางกฎหมายที่เกิดขึ้นในยุคเผด็จการทหารของจอมพลสฤษดิ์ แต่ถูกวิจารณ์มากจากกลุ่มนักรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะอาจารย์เสน่ห์ จามริก ซึ่งวิจารณ์ว่าสิ่งนี้คือหลักนิติธรรมจำยอม หรือหลักการปกครองโดยกฎหมายเฉพาะในกรอบที่ทหารกำหนดให้เท่านั้นเอง


 


ที่น่าเศร้าก็คือในปี 2549 แม้กระทั่งอธิการบดีของธรรมศาสตร์เองก็ให้สัมภาษณ์ว่าคณะรัฐประหารมีความชอบธรรมที่จะออกกฎหมาย ส่วนประชาชนก็มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตาม


 



สภาพของฐานอำนาจที่ไม่เป็นประชาธิปไตยจะโยงไปถึงปัญหารัฐธรรมนูญที่กำลังจะถูกร่างขึ้นใหม่อย่างไร



ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา มีคนวิจารณ์ว่า คปค.จะไม่ถอยทัพกลับเข้ากรมกอง แต่จริงๆ แล้ว การถอยทัพกลับกรมกองของทหารเป็นเรื่องเล็ก เรื่องใหญ่กว่าคือเรื่องการสร้างระบอบการเมืองแบบใหม่ที่เอื้อต่อชนชั้นนำทั้งหมดที่มีส่วนในการรัฐประหาร เพราะรัฐประหารหนนี้เป็นรัฐประหารโดยทหาร แต่ไม่ใช่การรัฐประหารของทหาร และยิ่งไม่ใช่การรัฐประหารเพื่อทหารเอง


 


นักวิชาการจำนวนมากบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ไม่ผิด จึงไม่ควรฉีกรัฐธรรมนูญ แต่ผมกลับคิดตรงกันข้าม รัฐประหารครั้งนี้ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐประหารครั้งนี้เกิดขึ้นบนจิตวิญญาณทางการเมืองที่ขัดแย้งกับจิตวิญญาณของรัฐธรรมนูญปี 40


 


คำถามก็คือแล้วรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดโครงสร้างการเมืองไทยไว้อย่างไร


 


เรื่องนี้ตอบยาก แต่ถ้าเราดูแนวคิดในธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ก็คงเห็นแนวโน้มบางอย่างที่น่าสนใจ และสะท้อน "จิตวิญญาณทางการเมือง" ของการรัฐประหารครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาในเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี


 


ถ้าดูธรรมนูญการปกครองของคณะ คปค. ชุดนี้ เทียบกับธรรมนูญการปกครองของคณะรัฐประหารรุ่นก่อนคือยุค รสช. นั้น ธรรมนูญการปกครองของรสช. ปี 2534 มาตราที่ 21 เขียนไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งตามคำกราบบังคมทูลของประธานสภารักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ และรัฐมนตรีตามจำนวนที่นายกรัฐมนตรีกราบบังคมทูล ฯ"


 


สำหรับธรรมนูญการปกครองฉบับ 2549 ที่มาของนายกรัฐมนตรีถูกเขียนไว้ในมาตรา 14 อย่างชัดเจนว่า "พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีตามที่นายกรัฐมนตรีถวายคำแนะนำ"


 


ในขณะที่ธรรมนูญการปกครองของทหารเมื่อ 15 ปีที่แล้ว กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจาก "คำกราบบังคมทูล" ของหัวหน้าคณะผู้ยึดอำนาจ ธรรมนูญการปกครองฉบับนี้กลับไม่ให้ทหารมีอำนาจแบบนี้


 


ในพ.ศ.2549 อำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีถูกโอนไปที่พระมหากษัตริย์ ทำให้พระองค์มีสิทธิขั้นเด็ดขาดในการแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้บริหารประเทศ และผู้ที่พระองค์ทรงแต่งตั้งนั้นก็มีอำนาจเต็มที่ในการเลือกบุคคลมาเป็นคณะรัฐมนตรี


 


รัฐประหารครั้งนี้ทำให้ได้มาซึ่งสิ่งที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเคยเรียกร้องโดยอ้างอิงกับมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นั่นคือได้มาซึ่ง "นายกพระราชทาน" ซึ่งมีปัญหาหลายข้อที่ทำให้เกิดขึ้นไม่ได้ในรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว จึงต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และร่างธรรมนูญใหม่ เพื่อให้มีนายกรัฐมนตรีแบบนี้ได้อย่างถูกกฎหมายและชอบธรรม


 


การเลือกพล.อ.สุรยุทธ์ เป็นนายกฯ นั้น เป็นหลักหมายที่สำคัญมากของประวัติศาสตร์การเมืองไทย หรืออาจจะการเมืองโลกด้วยซ้ำไป เพราะไม่เคยมีปรากฏกที่ไหนมาก่อนว่าที่ปรึกษาของพระมหากษัตริย์จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ


 


ทหารจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองหรือไม่?



ประเด็นที่มีคนพูดถึงมากก็คือคณะทหารจะผูกขาดอำนาจในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะทหาร จะในนามของคณะมนตรีความมั่นคง หรือในนามของนายกรัฐมนตรีก็ตามแต่ มีอำนาจสิทธิขาดในการตั้งคน 2,000 คน เป็นสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งหมายความว่าทหารกำลังจะทำให้การยึดอำนาจแปรสภาพเป็นสถาบันทางการเมือง


 


 


คำถามทางการเมืองที่สำคัญก็คือ ข้อแรก คน 2,000 คนนี้มีความชอบธรรมที่จะเป็นตัวแทนทางการเมืองในการร่างรัฐธรรมนูญแทนประชาชนทุกคนแค่ไหน


 


ข้อสอง เรามีหลักประกันอย่างไรว่าคน 2,000 คนนี้จะร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างที่ประชาชนต้องการโดยปราศจากการแทรกแซงจากคนที่เสนอชื่อเขาเข้ามา


 


ประเด็นที่ต้องเข้าใจให้ชัดก็คือเราไม่ได้มาเถียงกันว่าทหารจะแต่งตั้งใคร ไม่ได้มาเถียงว่าทหารจะแต่งตั้งคนที่สังคมยอมรับหรือไม่ เพราะแน่นอนว่าทหารต้องแต่งตั้งคนแบบนี้ แต่งตั้งคนอย่างผู้ใหญ่วิบูลย์ คนอย่างคุณรสนา คนอย่างปราชญ์ชาวบ้าน, เอ็นจีโอ, หรือนักวิชาการที่มีภาพดีๆ เพราะเขาต้องการใช้คนเหล่านี้เป็นผงซักฟอกให้สมัชชาของทหารดูสะอาดและเป็นประชาธิปไตย


 


ทหารที่ยึดอำนาจในอดีตก็ทำแบบนี้ แต่งตั้งผู้นำแรงงานอย่างคุณเอกชัย เอกหาญกมล แต่งตั้งอธิการบดีธรรมศาสตร์อย่างอาจารย์เกริกเกียรติ พิพัฒน์เสรีธรรม แต่งตั้งนักรัฐศาสตร์อย่างอาจารย์สุจิต บญบงการแล้วใช้ภาพของคนเหล่านี้มาบอกสังคมว่าทหารฟังเสียงของประชาชน


 


เรื่องที่น่าเสียใจก็คือปัญญาชนและนักกฎหมายจำนวนหนึ่งเข้าไปรับใช้กระบวนการนี้ หาวิธีการให้การร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดูดี สร้างภาพว่ามีคน 2,000 คนเข้ามาเกี่ยวข้อง บอกว่ากระบวนการคัดเลือกแบบนี้เป็นประชาธิปไตย แต่ความจริงก็คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เริ่มต้นจากการรัฐประหาร ผิดกฎหมายอาญา และฉีกรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว


 


อย่าลืมว่าไม่มีรัฐธรรมนูญประชาธิปไตยฉบับไหนเกิดจากการใช้กำลังทหารโค่นล้มสถาบันการเมือง


 


แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นแนวทางแบบ "สภาสนามม้า" ที่เคยใช้ในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวทรงแต่งตั้งคนจำนวนมากเข้ามาประชุมที่สนามม้า แล้วก็ให้คนเหล่านี้คัดเลือกกันเองว่าจะเอาใครไปเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้มีอำนาจและผู้มีบารมีฝ่ายต่างๆ ควบคุมการร่างรัฐธรรมนูญผ่านการคัดเลือกสมาชิกสภาสนามม้ามาตั้งแต่ต้น นอกจากนั้น คนกลุ่มนี้ก็มีอิทธิพลในการล็อบบี้ให้สมาชิกสภา คัดเลือกคนของตัวเองไปทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญ


 


เราไม่ควรลืมว่าบุคคลสำคัญของชาติท่านหนึ่งวิจารณ์การร่างรัฐธรรรมนูญแบบนี้ไว้อย่างรุนแรง คนๆ นี้คือ ปรีดี พนมยงค์ แกนนำคนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศให้เป็นประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ ซึ่งปรีดีเห็นว่าวิธีการแบบสภาสนามม้านั้น "บิดเบือนเจตนารมณ์ประชาธิปไตย" ของวีรชน 14 ตุลา เพราะลึกๆ แล้ว ทำให้คนเพียงหยิบมือเดียวเป็นคนควบคุมกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญทั้งหมด หลอกลวงประชาชนว่ากระบวนการนี้เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเท่ากับว่าวิธีการแบบนี้อาศัยอาภรณ์ประชาธิปไตยไปห่อหุ้มคราบไคลเผด็จการ


 


 


หลังมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การประกันสิทธิเสรีภาพอาจจะอยู่ร่วมกับสิ่งที่ไม่เป็นประชาธิปไตยได้ เพราะอะไร



ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพนี่เป็นเรื่องประหลาดมาก เพราะเมื่อมีการปฏิวัติปั๊บ ทหารก็บอกว่าจะเคารพสิทธิเสรีภาพ และคุณมีชัย ฤชุพันธุ์ ก็พูดในเรื่องที่ประหลาดอีกเช่นกัน นั่นก็คือพูดว่าจะร่างธรรมนูญการปกครองโดยยึดรัฐธรรมนูญปี 2540 ในหมวดที่ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพ เป็นแนวทาง


 


ประเด็นที่ผมคิดว่าต้องชัดเจน ก็คือ สิทธิเสรีภาพในรัฐธรรมนูญปี 2540 มีหลักการสำคัญว่าสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องระดับปัจเจกบุคคล สิทธิเสรีภาพจึงหมายถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิเสรีภาพในทางความเชื่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นสิทธิเสรีภาพในการดำรงชีวิต ในการทำมาหากิน


 


ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้น ผมคิดว่าสิทธิเสรีภาพในความหมายนี้จะถูกบัญญัติลงไป เพราะสิทธิเสรีภาพแบบนี้ไม่ได้ขัดแย้งอะไรกับผู้ถือครองอำนาจรัฐ แต่สิทธิในทางการเมือง หรือสิทธิในความหมายของเสรีภาพทางการเมือง สิทธิในความหมายของการสร้างความเท่าเทียม สิทธิเสรีภาพในความหมายที่จะทำให้ประชาชนกำหนดชีวิตตัวเองได้อย่างถึงที่สุด สิทธิที่จะทำให้ทุกคนเสมอภาคอย่างแท้จริงตามกฎหมาย สิทธิแบบนี้จะไม่ถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ


 


ในรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังจะร่างขึ้น กฎหมายประเภทกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ จะยังคงมีอยู่ต่อไป


 


ในการสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของทุกประเทศ


เราปฏิเสธความสำคัญของพรรคการเมืองไม่ได้


 


ผมคิดว่าประเด็นสำคัญของการเมืองหลังการรัฐประหารไม่ได้อยู่ที่ธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพียงอย่างเดียว แต่อีกเรื่องที่สำคัญกว่าก็คือคนทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร เขาจะอาศัยสถานการณ์ทางการเมืองที่เรียกว่า "ระบอบรัฐประหาร" ไป design ระบบการเมืองไทยอย่างไร ซึ่งผมคิดว่ามันจะมีทิศทางใหญ่ๆ อยู่ที่การทำให้พรรคการเมืองและรัฐสภาอ่อนแอลง


 


ปรากฏการณ์ที่ประหลาดที่สุดในการพูดถึงการปฏิรูปการเมืองรอบนี้ ก็คือ ไม่มีใครพูดถึงเรื่องพรรคการเมืองเลย ทั้งๆ ที่ในการสร้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาของทุกประเทศ เราปฏิเสธความสำคัญของพรรคการเมืองไม่ได้ แต่สิ่งที่เกิดขั้นในการปฏิรูปการเมืองรอบนี้ก็คือ ทหาร นักกฎหมายมหาชน และชนชั้นนำบางกลุ่ม อยู่ดีๆ ก็อุปโลกตัวเองเป็นเจ้าภาพในการปฏิรูปการเมือง กำหนดวาระในการปฏิรูปการเมืองทั้งหมด แล้วกีดกันไม่ให้พรรคการเมืองเข้ามีส่วนร่วมแม้แต่นิดเดียว


 


แน่นอนว่าคณะรัฐประหารคงอนุญาติให้ประชาชนบางกลุ่มเข้ามาร่วมกระบวนการปฏิรูปการเมือง แต่พรรคการเมืองกลับไม่ได้รับโอกาสนี้ และนี่จะส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภาจะไม่มีรากในสังคมไทย


 


ทุกวันนี้มีแต่คนคิดว่าคุณทักษิณเป็นปัญหาหลักของการเมืองไทย แต่จริงๆ แล้ว คุณทักษิณไม่ใช่ปัญหาหลักขนาดนั้น ปัญหาหลักของการเมืองไทยคือการไม่มีระบอบรัฐสภาที่เข้มแข็ง ประชาธิปไตยรัฐสภาถูกทำลายด้วยอุดมการแบบอนุรักษ์นิยมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการปฏิวัติรัฐประหารที่เกิดขึ้นทุก ๑๕ ปี


 


นี่ต่างหากที่เป็นปัญหาพื้นฐานของประชาธิปไตยไทย


 


ในระดับสถาบันการเมือง แนวทางการร่างรัฐธรรมนูญแบบนี้ทำให้ประชาธิปไตยแบบรัฐสภาอ่อนแอลง แต่ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญฉบับนี้คงสืบทอดแนวทางการสร้างผู้บริหารและรัฐบาลที่เข้มแข็งมากขึ้น นั่นเท่ากับรัฐธรรมนูญฉบับนี้มุ่งสืบทอดแนวทางการเมืองแบบที่พล.อ. เปรม เคยทำ เมื่อท่านอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อันเป็นสิ่งเดียวกับที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ทำเหมือนกันด้วย นั่นก็คือการมีฝ่ายบริหารเข้มแข็งเหนือประชาธิปไตยรัฐสภาที่อ่อนแอ


 


โดยปกติของการปกครองในระบบประชาธิปไตยรัฐสภานั้น ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งต้องมีฐานที่เข้มแข็งในรัฐสภา ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งต้องเกิดขึ้นจากการพรรคการเมืองที่เข้มแข็งเป็นพื้นฐาน มีสมาชิกกว้างขวางและกระจัดกระจายไปทุกส่วนของประเทศ แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของไทยนั้น ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง อาจไม่ได้มีฐานสนับสนุนในรัฐสภาเลยก็เป็นได้ หากได้รับการค้ำยันอำนาจจากสถาบันทางการเมืองที่อยู่นอกรัฐสภาออกไป


 


ความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เป็นทางการในสังคมไทย ทำให้ฝ่ายบริหารถูกตัดตอนให้เป็นอิสระจากรัฐสภา


 


ถ้าคิดในแง่นี้ ผมจะไม่แปลกใจเลยที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะกำหนดว่านายกไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง เปิดโอกาสให้ฝ่ายบริหารมาจากใครก็ได้ที่อยู่นอกรัฐสภาและพรรคการเมือง


 


ผมคิดว่าคนที่กลุ่มเกี่ยวข้องกับการรัฐประหารทั้งหมดจะร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญที่วางอยู่บนแนวทางนี้ นั่นคือการสร้างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็ง สืบทอดคติแบบรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่เห็นว่าว่าอำนาจบริหารที่เข้มแข็งคือกุญแจไปสู่การเมืองที่ดี


 


ในรอบสามสิบปีที่ผ่านมานี้ ทั้งคุณทักษิณและ พล.อ.เปรม คือนายกรัฐมนตรีที่เป็นตัวแทนแนวคิดเรื่องฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งเหมือนๆ กัน ทั้งสองท่านจึงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ลอยตัวอยู่เหนือการตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร


 


คุณทักษิณอาศัยระบบเสียงข้างมาทำให้ฝ่ายค้านตรวจสอบท่านไม่ได้ ขณะที่ พล.อ.เปรม อาศัยทหารบางคนไปกดดันให้ฝ่ายค้านถอนญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี


 


ปัญหาของคุณทักษิณเกิดขึ้นเมื่อคุณทักษิณเข้มแข็งเกินไป จนสถาบันอื่นเริ่มรู้สึกว่าควบคุมไม่ได้ ความเข้มแข็งของฝ่ายบริหารเป็นความเข้มแข็งในระดับที่ถูกจำกัดอยู่ในขอบเขตที่สถาบันอื่นๆ จะควบคุมได้ แต่ต้องไม่คุกคามอำนาจของสถาบันอื่นๆ ที่อยู่นอกการเมืองออกไป


 


พูดจริงๆ แล้ว ปรากฎการณ์แบบนี้ไม่ได้มีแต่ในเมืองไทย ประเทศยุโรปหลายแห่งก็เกิดสถานการณ์แบบนี้ คาร์ล ชมิทท์ ถึงเขียนไว้ตั้งแต่ห้าสิบปีที่แล้วว่าประชาธิปไตยรัฐสภาเป็นประชาธิปไตยแต่ในแง่เปิดโอกาสให้คนได้พูด แต่ในระดับของการตัดสินใจทางการเมืองเรื่องสำคัญๆ แล้ว คนเพียงหยิบมือเดียวต่างหากที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าอะไรจะเป็นอะไร


 


 


ในความเป็นจริง ความเข้มแข็งหรืออ่อนแอของพรรคการเมืองไม่ได้เกี่ยวกับกฎหมายมากเท่ากับวัฒนธรรมทางการเมืองไม่ใช่หรือ


วัฒนธรรมทางการเมือง ในที่สุดแล้วเป็นเรื่องที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่ถูกกำหนดโดยโครงสร้างและพฤติกรรมทางการเมืองในสังคม อย่างเช่น ถ้าเราอยู่ในบริบทที่พรรคการเมืองไม่สามารถทำงานการเมืองได้อย่างต่อเนื่อง ในบริบทที่พรรคการเมืองไม่สามารถนำเสนอนโยบายของตนเองได้อย่างเต็มที่ เพราะไม่มีทุนบ้าง เพราะถูกทหารล้มกระดานตลอดเวลาบ้าง ก็คงเป็นเรื่องยากมากที่วัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตยจะเติบโตขึ้นมา


 


ต้องไม่ลืมว่าขณะที่สถาบันการเมืองที่ไม่เป็นทางการ สถาบันการเมืองที่อยู่นอกรัฐสภา หรือกองทัพ สามารถจะใช้กลไกรัฐและสื่อสารมวลชนต่างๆ ทำการโฆษณาชวนเชื่อทางอุดมการณ์ได้อย่างต่อเนื่อง พรรคการเมืองไม่ได้โอกาสเช่นนี้


 


ขณะที่สถาบันอื่นๆ เข้าถึงประชาชนได้ด้วยเพลงปลุกใจ ข่าว กิจกรรม พิธีกรรมต่างๆ พรรคการเมืองจะพบประชาชนได้ก็เฉพาะในเวลาที่มีการเลือกตั้ง ทำให้ในที่สุดแล้ว พรรคการเมืองไม่สามารถเข้าถึงประชาชนโดยตรงได้มากเท่ากับสถาบันอื่นๆ ที่ไม่ใช่พรรคการเมือง


 


ถ้าพรรคการเมืองใดสามารถพัฒนาให้ตัวเองเป็นสถาบันที่เข้มแข็ง พรรคการเมืองนั้นก็จะมีสมาชิกในระดับประเทศอย่างกว้างขวาง ซึ่งยิ่งเป็นแบบนี้มากขึ้นเท่าไร สถาบันหลักๆ หลายฝ่าย ก็คงไม่ค่อยพอใจ


 


อย่าลามว่าเหตุผลหนึ่งที่ทหารไม่ยอมเลิกกฎอัยการศึกคือเขาไม่รู้จะทำอย่างไรกับสมาชิก 14 ล้านคน ของพรรคไทยรักไทย


 


ที่ผ่านมามีข้อกล่าวหาประการหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ให้ความสำคัญกับพรรคการเมืองมากเกินไป ทำให้พรรคไทยรักไทยฟอร์มพรรคขึ้นมาจนเข้มแข็งได้มากขนาดนี้


 


ข้อกล่าวหานี้ไม่จริง เพราะรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่ได้ให้ความสำคัญกับพรรคการเมือง รัฐธรรมนูญ ปี 2540 จำกัดพรรคการเมืองให้มีจำนวนน้อย และทำให้การตั้งพรรคทำได้ยาก การทำกิจกรรมทางการเมืองทำได้ยาก อภิปรายไม่ไว้วางใจแทบไม่ได้ การตรวจสอบรัฐบาลผ่านกระบวนการทางรัฐสภา ผ่านระบบกรรมาธิการทำไม่ได้เลย


 


รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ไม่ได้ต้องการพรรคการเมืองที่เข้มแข็ง แต่ต้องการการบริหารที่เข้มแข็ง แล้วใช้วิธี Hijack ฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งไปอยู่ในเครือข่ายฐานอำนาจที่ตัวเองต้องการ นั่นก็คืออาศัยเครือข่ายความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายบริหารที่เข้มแข็งกับสถาบันนอกรัฐสภาเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง อันเป็นแนวทางทางการเมืองที่เคยเกิดขึ้นในสมัย พล.อ.เปรม


 


ในที่สุดแล้ว คปค.ก็คือคนที่รับมรดกอำนาจนิยมมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


รับมรดกรัฐอำนาจนิยมแบบเดียวกับที่ พล.อ.เปรม เคยใช้


 


จุดเปราะบางที่สุดของรัฐประหารครั้งนี้ก็คือ ข้อหนึ่ง คปค.จะเข้าใจสถานภาพของตัวเองอย่างแท้จริงหรือไม่ ข้อสองก็คือ ความสัมพันธ์ของ คปค.กับคนที่พยายามทำให้เกิดการรัฐประหารทั้งหมดจะเป็นอย่างไรต่อไป


 


ปัญหาที่เริ่มเกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ คปค.เริ่มตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับคณะรัฐประหารอื่นๆ และเป็นชะตากรรมที่เลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ ความกลัวที่ว่าเมื่อตัวเองยึดอำนาจแล้วกลัวจะถูกล้างแค้น ความกลัวว่าเมื่อตัวเองยึดอำนาจแล้วจะมีศัตรู โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นศัตรูจากรัฐบาลเก่าซึ่งมีเสียงจากคน 19 ล้านคนหนุนหลัง


 


สิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ก็คือ คปค.พยายามจัดการทางการเมืองด้วยวิธีการแบบทหาร และนี่คือจุดตายของคณะรัฐประหารทุกชุดที่ใช้วิธีการทางทหารมาจัดการปัญหาการเมือง การจำกัดคนไม่ให้ชุมนุมกัน การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ เป็นปัญหาสะท้อนให้เห็นว่า คปค.กำลังตกหลุมแบบเดียวกับที่คณะรัฐประหารอื่นๆ และ คปค.ไม่เข้าใจว่าตัวเองอยู่ในสมรภูมิที่ได้เปรียบมากในทางอุดมการณ์ จนไม่จำเป็นที่จะต้องเกรงว่าจะถต่อต้าน จนไม่จำเป็นที่จะต้องจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างคณะรัฐประหารทุกชุดที่ผ่านมา


 


ความไม่เข้าใจข้อนี้ของ คปค.จะทำให้ในที่สุดแล้ว คปค.ทำสิ่งซึ่งคณะรัฐประหารทั้งหมดทำ นั่นก็คือการพยายามจะสร้างกลไกเพื่อพิทักษ์อำนาจทางการเมืองและการทหารของตัวเองเอาไว้ผ่านกระบวนการ 2 ข้อ


 


ข้อแรกคือ การแทรกแซงทางการทหาร การคุมกองทัพไว้ใต้บังคับบัญชาของตัวเองอย่างเต็มที่ รวมทั้งการล้วงลูกในการแต่งตั้งตำแหน่งสำคัญๆ ของตำรวจ ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็นชนวนให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ ในกองทัพ ทหารกลุ่มที่ไม่ได้รับการแต่งตั้งก็จะเกิดความไม่พอใจ ผู้บังคับบัญชากองทัพบล๊อกการเติบโตของผู้บังคับบัญชาระดับล่าง และในที่สุดก็จะเกิดความขัดแย้งในผู้นำกองทัพกลุ่มต่างๆ ขึ้นมา


 


นอกจากนั้นความพยายามของ คปค.ข้อที่สองคือ การพยายามจะปกป้องตัวเองในทางการเมืองด้วยการตั้งตัวเองเป็นคณะมนตรีความมั่นคง ในที่สุดแล้วจะทำให้ตัวเองกลายเป็นอย่าง รสช. นั่นก็คือเป็นเป้านิ่งทางการเมืองให้คนโจมตีต่อไปเรื่อยๆ ไม่ว่า คปค.จะถอนตัวจากการเมืองที่เป็นทางการ โดยการมีรัฐบาลชั่วคราวขึ้นมาหรือไม่ก็ตามที


 


การมีคณะมนตรีความมั่นคงนั้น ในที่สุดแล้วก็จะทำให้คณะมนตรีชุดนี้ถูกตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์ถากถางในทางการเมืองตลอดไป ไม่ว่ารัฐบาลจะทำดีหรือไม่ดี คณะมนตรีจะถูกวิจารณ์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ารัฐบาลทำไม่ดี คณะมนตรีความมั่นคงจะถูกวิจารณ์มากขึ้นไปอีก


 


สิ่งที่ คปค.ไม่เข้าใจก็คือ ชัยชนะของตัวเองไม่ใช่ชัยชนะทางการทหาร แต่คือชัยชนะทางการเมือง โดยเฉพาะชัยชนะทางอุดมการณ์ จึงไม่จำเป็นเลยที่ คปค.หรือคณะรัฐประหารจะใช้วิธีการแบบนี้


เพราะการกระทำแบบนี้จะทำให้ คปค.ไปสู่จุดจบเร็วขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น


 


อีกประการหนึ่งที่น่าสนใจมากๆ คือ ในที่สุดแล้ว คปค.ก็คือคนที่รับมรดกอำนาจนิยมมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร รับมรดกรัฐอำนาจนิยมแบบเดียวกับที่ พล.อ.เปรม เคยใช้ และในที่สุดแล้วการที่เราเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในรัฐแบบอำนาจนิยมแบบนี้ มันทำให้ผู้ที่มีอิทธิพลทั้งหมดในสังคมวิ่งเข้ามาหา คปค. กลุ่มทุนขนาดใหญ่ก็จะวิ่งเข้ามา นักการเมืองท้องถิ่นก็วิ่งเข้ามา เจ้าพ่อหรือผู้มีบารมีต่างๆ ก็จะวิ่งเข้ามา


 


ในที่สุดแล้ว คปค.ก็จะเผชิญกับความขัดแย้งทางศีลธรรม ความขัดแย้งทางสังคมกับกลุ่มประชาชนต่างๆ ที่เคยเป็นฐานสนับสนุนทางอุดมการณ์ให้กับ คปค.มาตั้งแต่ต้น


 


จอมพลถนอม กิตติขจร ก็จบชีวิตทางการเมืองไปด้วยเรื่องแบบนี้ คณะ รสช.เองก็จบชีวิตทางการเมืองไปด้วยเหตุผลแบบนี้ นั่นก็คือรับมรดกอำนาจนิยม แล้วแทนตัวเองลงไปบนจุดยอดสุดของอำนาจนิยม แล้วก็ถูกอำนาจนิยมทำลายตัวเองลงไป เพราะว่าไม่สามารถเข้าใจความเป็นไปทางการเมืองได้ดีพอ


 


ในที่สุดแล้ว การเมืองในอนาคตจะเผชิญกับปัญหาคลาสสิกที่ทำลายคณะรัฐประหารมาทุกชุด เช่น กระบวนการทางงบประมาณที่ไม่โปร่งใส การแต่งตั้งคนใกล้ชิดไปบริหารรัฐวิสาหกิจ การแต่งตั้งคนใกล้ชิดไปอยู่ในคณะรัฐบาล งบทหารหรืองบประมาณลับ การตัดถนนไปสู่เขตป่าไม้โดยอ้างเรื่องความมั่นคงแห่งชาติ การแต่งตั้งรุ่นพี่เป็นนายกรัฐมนตรี การตั้งรัฐบาลที่มาจากคนใกล้ชิดหัวหน้าคณะรัฐประหาร ฯลฯ ซึ่งเป็นจุดตายของคณะรัฐประหารทุกชุด


 


เพราะฉะนั้น ในทางการเมือง การที่ คปค.ไม่เข้าใจว่าตัวเองประสบความสำเร็จด้วยเหตุผลทางอุดมการณ์ จะทำให้ คปค.ถูกโจมตีทางการเมืองไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเงื่อนไขที่รัฐรวมศูนย์อำนาจมาก จะทำให้ผู้นำถูกกดดันจากคนกลุ่มต่างๆ โดยไม่รู้จบ ถูกคาดหวังจากคนกลุ่มต่างๆ ว่าจะต้องตอบสนองปัญหาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่การแก้ปัญหาความยากจนของคนในเมือง-คนในชนบท ตั้งแต่ปัญหาเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตประจำวัน ปัญหาเรื่องน้ำท่วม ค่าเงินตกต่ำ ปัญหาที่แก้ได้และปัญหาที่แก้ไม่ได้


 


ต่อให้ คปค.แก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งรัฐบาลเข้ามารับหน้าเสื่อ แต่ในที่สุด รัฐบาลแบบนี้ไม่มีทางแก้ปัญหานี้ได้ ความล้มเหลวของรัฐบาลจะกลายเป็นปัญหาทางการเมืองต่อ คปค.


 


 


แต่ คปค.ก็บอกว่าเขาจะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง บอกด้วยซ้ำไปว่าจะไม่เป็น สส.หรือ สว. ในเวลา ๒ ปี



คำถามที่สำคัญก็คือว่าลำพังการไม่ลงสมัครรับตำแหน่งทางการเมืองในรอบ 2 ปีนั้น เป็นบรรทัดฐานที่เข้าข้างตัวเองเกินไปหรือเปล่า เพราะว่า คปค. มีอำนาจจากการรัฐประหาร จากการฉีกรัฐธรรมนูญ และเรื่องทั้งหมดนี้ผิดกฎหมายอาญาทั้งนั้น


 


ในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 นักการเมืองที่ผิด นักการเมืองที่โกง นักการเมืองที่ละเมิดกฎหมาย ถูกห้ามไม่ให้ลงสมัครรับตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี แต่กรณีของ คปค. นั้น ทำทั้งฉีกรัฐธรรมนูญ ทั้งผิดกฎหมายอาญา ทั้งกระทำการที่ผิดรัฐธรรมนูญทุกอย่าง แต่กลับบอกว่าตัวเองจะไม่ลงสมัคร สส. และสว.แค่ 2 ปี


 


คำถามก็คือในแง่ระยะเวลา ทำไมจึงไม่เป็น 5 ปี อย่างที่รัฐธรรมนูญฉบับเก่ากำหนดเอาไว้ว่าเป็นบทลงโทษที่นักการเมืองควรจะได้รับ คปค.มีอภิสิทธิ์มาจากไหน ถึงได้ยึดอำนาจและเปิดโอกาสให้ตัวเองกลับเข้ามามีอำนาได้ในเวลารวดเร็วขนาดนี้


 


คำถามข้อที่ 2 ก็คือ คปค. พยายามจะบอกว่าตัวเองต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมาโดยการที่ไม่เอาญาติของตัวเองมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่สิ่งที่คปค. ไม่เคยพูดก็คือการสร้างระบบตรวจสอบเครือข่ายของ คปค. ทหารที่เกี่ยวข้องกับการยึดอำนาจของ คปค. หรือคนที่กุมกำลังสำคัญในการยึดอำนาจ ในที่สุดแล้วคนเหล่านี้จะเข้าไปอยู่ในสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญหรือเปล่า เข้าไปอยู่ในรัฐสภาในอนาคตหรือไม่ หรือเข้าไปอยู่ในคณะผู้บริหารในรัฐบาลชุดใหม่หรือเปล่า


 


การเข้าไปตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของคปค. ทั้งหมด โดยเฉพาะในช่วงก่อนและหลังจากยึดอำนาจ ก็เป็นเรื่องที่ คปค. ไม่เคยพูดอีกเช่นกัน


 


ผมคิดว่า บรรทัดฐานอะไรก็ตามที่สังคมไทยเคยได้รับจากรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้ว ก็เป็นหน้าที่ที่ทางคปค. จะต้องแสดงความรับผิดชอบออกมาให้ปรากฎ แต่ คปค. ก็ไม่ได้ทำ เพราะถึงที่สุดแล้ว คปค. ก็ไม่ได้มีเจตนารมณ์ทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐบาลชุดที่ผ่านมา


 


นอกจากนั้น อย่าลืมด้วยว่า คปค.ประกาศว่าไม่เป็น สส.และสว. แต่ไม่เคยพูดว่าจะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี หรือคณะรัฐมนตรี


 


องค์กรหรือบุคคลที่กำลังทำหน้าที่ตามคำสั่งของ คปค. เช่น ปปช. ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งนั้น มีคำถามเกี่ยวกับความชอบธรรมหรือไม่


 


คนพวกนี้ก็คือคนที่ทำหน้าที่ในการทำให้ประชาชนรู้สึกว่าคณะรัฐประหารทำสิ่งที่คณะรัฐประหารสัญญาไว้ก็คือ การขจัดการคอร์รัปชั่น แต่ประเด็นสำคัญที่สุดที่คนเหล่านี้ไม่เคยพูดก็คือปัญหาการคอร์รัปชั่นในสังคมไทย ไม่ได้เกิดขึ้นโดยนักการเมืองหรือโดยทักษิณ แต่ปัญหาการคอร์รัปชั่นนั้นเกิดขึ้นเพราะว่ามีระบบราชการสนับสนุน


 


ลำพังนักการเมืองเองไม่สามารถคอร์รัปชั่นได้ ถ้าไม่มีราชการสนับสนุน และราชการในที่นี้ก็กินความไปถึงทหารด้วยเช่นกัน


 


นี่คือประวัติศาสตร์ของการคอร์รัปชั่น และวาทกรรมเรื่องประชาธิปไตยทุกวันนี้ไม่ยอมพูดเรื่องนี้ ในขณะที่ปี 2530 โดยเฉพาะในช่วงที่เรามีนายกฯ ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือ


พล.อ.เปรม ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกฯตั้งแต่ช่วงปี 2524-2531 เวลาเราวิจารณ์การเมืองไทย ประเด็นหนึ่งที่ปัญญาชนจำนวนมากพูดก็คือการไม่มีประชาธิปไตยทำให้ราชการและทหารคอร์รัปชั่น


 


แต่หลังจากปี 2540 เป็นต้นมา เวลาเราวิจารณ์ประชาธิปไตย เราจะวิจารณ์ว่าประชาธิปไตยทำให้นักการเมืองคอร์รัปชั่น ในขณะที่ทหารและราชการคือสถาบันที่ไม่คอร์รัปชั่น


 


นี่คือจุดเปลี่ยนของความคิดที่สำคัญมากนั่นก็คือ ประชาชนหันไปยอมรับว่าทหารและข้าราชการคือพลังที่บริสุทธิ์ ในขณะที่นักการเมืองเป็นสถาบันที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชั่นด้วยวิธีการต่างๆ


 


สิ่งที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑะกาหรือคณะของคุณสวัสดิ์ โชติพานิชเข้ามาทำก็คือเข้ามาในกรอบของความคิดแบบนี้ นั่นก็คือการโจมตีการคอร์รัปชั่นซึ่งเกิดเฉพาะในกลุ่มของนักการเมือง แต่สิ่งที่เราไม่เคยได้ยินจาก คปค. ก็คือว่าข้าราชการทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้อกับการคอร์รัปชั่นของรัฐบาลจะถูกจัดการอย่างไร


 


หรือยิ่งกว่านั้นก็คือ การคอร์รัปชั่นในระบบที่ไม่มีพรรคการเมืองหรือรัฐสภา เช่น การคอร์รัปชั่นในกองทัพหรือการคอร์รัปชั่นของข้าราชการชั้นสูงจะถูกจัดการอย่างไร นี่เป็นประเด็นที่ คปค. ไม่ได้พูดเลย


 


ฉะนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากนี้ก็คือเราจะไม่คิดว่าเรื่องประเภทงบลับของทหารเป็นปัญหาทางการเมือง การที่ราชการตั้งงบประมาณของตัวเองประจำปีขึ้นมาแล้วได้รับการอนุมัติจาก คปค. แล้วไม่มีใครตรวจสอบ ไม่มีใครรู้ว่างบประมาณนี้จะถูกใช้อย่างไร.....นี่เป็นปัญหาทางการเมือง เพราะเราเชื่ออยู่ก่อนแล้วว่าการคอร์รัปชั่นนั้นจำกัดแค่นักการเมือง เราเชื่อไปก่อนแล้วว่าทหารและข้าราชการไม่คอร์รัปชั่น


ทั้งๆ ที่ระบบที่เกิดขึ้นอยู่ทุกวันนี้ เป็นระบบที่ทำให้การคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าเพราะมันไม่มีการตรวจสอบอะไร


 


วิธีที่จะทำให้ประชาชนได้อะไรมากที่สุดจากการอยู่ในระบบรัฐประหาร ก็คือ การต่อต้านระบบรัฐประหาร ไม่ใช่การเข้าไปขอทานจากระบบรัฐประหาร


 



สังคมไทยยังพอมีทางออกไหม


ทางออกทางการเมืองมันมีหลายระดับ ทางออกในระดับปฏิบัติที่หวังจะให้เขาทำโน่นทำนี่ให้เราก็มี


 


ทางออกในระดับ practical บางอย่างก็อาจจำเป็นสำหรับภาคประชาชนบางส่วน เช่น ผมคิดว่าคนที่อาจจะได้รับความเดือดร้อนในชีวิตประจำวัน อย่างคนมุสลิมใน 3 จังหวัดภาคใต้ ซึ่งเขาพยายามไปขอร้องให้ คปค.ช่วยเหลือเขา ไม่ให้ตำรวจไปอุ้มฆ่า เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ แต่ว่าในระดับภาพรวมแล้ว ผมคิดว่าการหันไปหาทางออกแบบนี้ มันทำให้เราอยู่ในสภาพซึ่งเป็นเสมือนไพร่ฟ้า ที่จะได้อะไรมา


ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะเมตตาเราอย่างไร


 


ในด้านหลักการนั้น ผมคิดว่า วิธีที่จะทำให้ประชาชนได้อะไรมากที่สุดจากการอยู่ในระบบรัฐประหารก็คือการต่อต้านระบบรัฐประหาร ไม่ใช่การเข้าไปขอทานจากระบบรัฐประหาร เพราะมีแต่การต่อต้านรัฐประหารอย่างเต็มที่ที่จะทำให้ระบบทหารมารับฟังเสียงของประชาชน และรู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อเอาใจประชาชน ไม่ใช่การเข้าไปหวัง connection เล็กๆ น้อยๆ แล้วหว่านล้อมจูงใจเขาให้ได้อย่างที่เราอยากได้


 


ในทางการเมืองแล้ว การเข้าไปขอร้องให้คณะรัฐประหารช่วยนู่นช่วยนี่ ในที่สุดแล้วก็คือการมีส่วนรับรองว่าคณะรัฐประหารคือคนที่มีอำนาจทางการเมืองโดยชอบธรรม เท่ากับว่าภาคประชาชนไปยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ยอมรับว่าการยึดอำนาจเป็นวิธีการที่ถูกต้อง และนี่คือสัญญาณที่อันตรายต่อระบอบประชาธิปไตย


 


ทางเดียวที่ประชาชนจะได้อะไรจากระบอบรัฐประหารก็คือต้องต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์คนกลุ่มนี้ เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐประหารครั้งนี้รู้ว่าตัวเองไม่ชอบธรรม รู้ว่ารัฐบาลที่แล้วมีนโยบายที่เข้าถึงคนจนและคนชั้นล่างอยู่มาก เขาถึงพยายามทำอะไรหลายอย่างเพื่อลบปมด้อยข้อนี้ เช่นพยายามแก้ปัญหาภาคใต้ ยกเลิกการเก็บเงิน 30 บาท รวมทั้งประกาศขึ้นค่าแรงให้กรรมกร


 


ว่าไปแล้ว ปมด้อยของคณะรัฐประหารชุดนี้อาจกดดันให้รัฐบาลสุรยุทธ์เป็นประชานิยมยิ่งกว่ารัฐบาลที่ผ่านมา และถ้าเป็นอย่างนั้น รัฐประหารครั้งนี้ก็คงเป็นยิ่งกว่าปาหี่ทางการเมือง


 


ถ้าย้อนกลับไปคำถามเดิมว่า ตอนนี้มีคนเห็นด้วยกับรัฐประหารค่อนข้างมาก แล้วการจะร่างกฎหมาย ประเด็นอยู่ที่ว่าการจัดวางของกลุ่มต่างๆ จะจัดวางกันยังไง


ประเด็นสำคัญในเรื่องนี้ต้องระวังด้วยนะว่า การบอกว่าคนเห็นด้วยจำนวนมากเราพูดผ่านความเห็นของสื่อมวลชนซึ่งไม่ได้สะท้อนเสียงของคน 19 ล้านคนที่เลือกทักษิณ แล้วมันเป็นไปไม่ได้ในโลกที่คน 19 ล้านคนที่เลือกทักษิณอยู่ดีๆ จะหายสาบสูญไปจากโลกนี้


 


ทุกวันนี้ อย่าลืมว่าสื่อมวลชนยังไม่ยอมรายงานข่าวของคนที่คัดค้านการรัฐประหารแม้แต่ครั้งเดียว ทั้งที่ในประเทศที่อยู่ใต้กฎอัยการศึกนั้น การชุมนุมของคนหลายร้อยต้องเป็นข่าวหน้าหนึ่งแน่ๆ แต่สื่อมวลชนในประเทศไทยก็ไม่ทำหน้าที่ขั้นพื้นฐานของตัวเอง


 


แล้ว 19 ล้านเสียงที่ว่ามันหายไปไหน


ไม่ได้หายไป แต่มันไม่ถูกรายงานเฉยๆ ปัญหาของคุณทักษิณก็คือแกไม่มีความสามารถเลยในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ แกไม่เคยคิดว่าการต่อสู้ทางอุดมการณ์เป็นเรื่องความสำคัญ แกปล่อยให้พลังอีกฝ่ายหนึ่งเป็นคน set agenda ในเรื่องทางอุดมการณ์ทั้งหมด แกคิดเพียงอย่างเดียวว่าผลประโยชน์ทางวัตถุจะทำให้แกมีฐานทางการเมืองที่เข้มแข็ง แกไม่เข้าใจว่าผู้นำทางการเมืองในอดีตหลายคนก็เคยเล่นเกมนี้ แต่พอผู้นำเหล่านี้หมดอำนาจ ฐานทางการเมืองแบบนี้ก็หมดไป


 


หลังรัฐประหารล้มจอมพล ป. รัฐบาลใหม่ของจอมพลสฤษดิ์ก็มีนโยบายจำนวนมากที่เอาใจคนอีสาน หลัง พล.อ.เปรม ออกจากตำแหน่ง พล.อ.ชาติชายก็มีนโยบายจำนวนมากที่เอาใจคนอีสานเหมือนกัน แต่ใน


 


ที่สุดแล้ว ไม่มีใครสามารถใช้ผลประโยชน์ทางวัตถุไปคุมจิตใจคนอีสานให้เป็นฐานการเมืองในระยะยาวได้ เพราะชาวบ้านสนับสนุนใครก็ได้ที่ให้ผลประโยชน์เขามากพอ


 


อันนี้เป็นจุดที่ผมคิดว่าคุณทักษิณไม่เข้าใจ คนที่เข้าใจเรื่องนี้มากคือคุณไกรศักดิ์ ชุนหะวัณ เพราะคุณไกรศักดิ์แกลงพื้นที่ภาคอีสานกับพ่อตลอด แล้วแกจะเห็นภาพว่าเวลาที่พลเอกชาติชายมีตำแหน่งนายกฯ อยู่เอาเงินไปให้คนอีสาน คนอีสานรักมาก แต่พอลงไปพื้นที่อีกครั้งหลัง รสช.ยึดอำนาจ ชาวบ้านไม่พูดด้วยเลย


 


หลังจากทักษิณถูกทำลายลงไป ก็เกิดสภาพที่สถาบันต่างๆ ทั้งศาล ทหาร สถาบันทางประเพณี และประชาชนก็อยู่ร่วมกัน รวมทั้งมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่มารับรองอำนาจ ปัญหาคือว่าถ้าไม่มีสถาบันทางการเมือง เช่น พรรคการเมือง การจัดวางอำนาจแบบนี้ก็จะมี conflict เกิดขึ้นอีกหรือเปล่า


ถ้ามีนักวิชาการคนไหนคิดอย่างนี้ ก็ต้องบอกว่านักวิชาการคนนั้นเชื่อเรื่องการสร้างการครอบงำมากกว่าชนชั้นนำเองด้วยซ้ำไป เพราะว่าแม้กระทั่งพันธมิตรฯ ที่อยู่ในเครือข่ายของคนชั้นนำเขาก็ยังคิดว่าเขายังไม่สามารถ maintain สิ่งนี้ได้ การรัฐประหารครั้งมันเป็นสัญลักษณ์อันหนึ่งว่าคนอย่างคนทักษิณคือสิ่งที่คนชั้นนำทั้งหมดกลัว นั่นก็คือมันเกิดคนซึ่งท้าทายระบบขึ้นมา


 


ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่สำคัญมาก ทำอย่างไรจะให้ระบบทั้งหมดถูกควบคุมได้อีกครั้งหนึ่งแล้วไม่เกิดคนอย่างทักษิณขึ้นมาใหม่


 


ประเด็นที่อาจจะเป็นประเด็นชี้ขาดก็คือ มาตราอย่างมาตรา 22-23 ของรัฐธรรมนูญฉบับ ปี 2540 เป็นประเด็นสำคัญ หรือแม้กระทั่งการเกิดมาตรา 7 ในรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็น่าสนใจ เพราะมันไม่เคยมีคำๆ นี้มาก่อนว่า ถ้าในกรณีที่เกิดอะไรแบบนี้ขึ้นมา ก็เปิดโอกาสให้มีอำนาจพิเศษเข้ามาแทรกแซง


 


คำถามก็คือทำไมรัฐธรรมนูญปี 2540 กำหนด concept แบบนี้ว่า เมื่อเกิดวิกฤตการณ์แบบนี้ต้องให้พระมหากษัตริย์เข้ามาแทรกแซง แสดงว่าในคนหมู่ชั้นนำเขารู้ว่าในอนาคตจะมีความขัดแย้งทางการเมืองบางอย่างที่รุนแรงและไม่สามารถแก้ไขได้โดยกระบวนการปรกติ


 



คิดอย่างไรที่มีคนบอกว่าคนที่ต้านการรัฐประหารหน่อมแน้ม หรือบอกว่ารัฐประหารก็เกิดขึ้นแล้วก็ให้ยอมรับความเป็นจริง หรือบอกว่าเป็นพวกที่เชื่อประชาธิปไตยแบบตำราฝรั่งเกินไปหรือเปล่า


ก็เวลาที่ทักษิณมีอำนาจทำไมไม่ยอมรับล่ะ ถ้า argument หลักก็คือ ใครมีอำนาจก็ยอมรับเขาไป เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ต้องยอมรับ คุณก็ต้องยอมรับทักษิณเป็นนายกฯ ได้สิ


 


สำหรับผมแล้ว คนที่อ้างแบบนี้เป็นพวก double standard คืออ้างหลักการอะไรก็ได้ เพื่อผลทางการเมืองบางอย่างตลอดเวลา


 


……………………………………..


อ่านตอนที่ 1 สัมภาษณ์พิเศษ ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ : 30 ปี 6 ตุลา ประชาธิปไตยแพ้แล้ว?


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net