"สนทนากับพระเจ้า" สนทนากับ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

 

วงเสวนาเรื่อง "ชีวิต ความหมาย และการลืมหายของจิตวิญญาณ"

ในงานเปิดตัวหนังสือ "สนทนากับพระเจ้า"

7 ตุลาคม 2549 ณ สถาบันปรีดี

 

 

การอุบัติขึ้นของหนังสือแปลเล่มหนึ่งก่อนจะถึงช่วงเวลาจัดงาน "มหกรรมหนังสือแห่งชาติ" ปลายเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้-ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร เพราะใครๆ ก็พอเข้าใจได้ว่านี่คือนาทีทองแห่งการโฆษณาสินค้าในธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์

 

แต่เมื่อมีการพูดถึงหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า "สนทนากับพระเจ้า" กลับกลายเป็นเรื่องราวน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะผู้ที่ถูกเรียกขานว่าเป็น "คนเดือนตุลา" (ไม่ว่าเขาจะนิยมยินดีกับคำนี้หรือไม่) อดีตผู้นำนักศึกษาคนหนึ่งซึ่งมีอิทธิพลทางความคิดต่อสังคมอย่าง "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" รวมถึงสถานะนักคิด-นักเขียน-นักเดินทาง (นักอะไรต่างๆ อีกมากมาย) และตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปัจจุบัน ยินยอมมาพูดคุยถึงหนังสือเล่มนี้ร่วมกับนักแปลและวิทยากรอื่นๆ อีก 3 คน เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2549 ที่ผ่านมา

 

ห้องประชุมใหญ่ของสถาบันปรีดีดูแคบไปถนัดใจ เมื่อคนมากมายมางานเปิดตัวหนังสือเล่มนี้อย่างคับคั่ง ส่วนหนึ่งมาเพราะสนใจว่าหนังสือชื่อเหมือนกับความเชื่อในศาสนาเล่มนี้-มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรแน่ แต่อีกบางส่วนก็มาเพราะอยากรู้ว่า "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล" คิดอย่างไร

 

ในระหว่างที่เสวนากัน "รวิวาร โฉมเฉลา" ผู้แปลหนังสือเล่ม "สนทนากับพระเจ้า: Conversation with God" กล่าวว่า "การได้เจอหนังสือเล่มนี้ในต้นฉบับภาษาอังกฤษในช่วงเวลาที่ต้องการคำตอบให้กับชีวิต" เป็นเหมือนสัญญาณบางอย่างที่บอกว่าการอ่านและแปลหนังสือเล่มนี้ออกมาเป็นภาษาไทย ช่วยให้มองปัญหาในชีวิตได้อย่างเข้าใจมากขึ้น จนสามารถข้ามพ้นปัญหาบางอย่างมาได้

 

ทางด้าน "มณฑาณี ตันติสุข" ผู้ร่วมเสวนาอีกคนหนึ่งได้ถ่ายทอดประสบการณ์ในการศึกษาเรื่องของการยกระดับจิตวิญญาณผ่านวิธีคิดแบบนิวเอจที่มุ่งเน้นการยอมรับสภาพการณ์ต่างๆ โดยดุษณี รวมไปถึงการฝึกสมาธิและหาคำตอบให้กับชีวิตด้วยวิธีแตกต่างกันไป จนกระทั่งมีโอกาสได้อ่านหนังสือ Conversation with God ก็ดูเหมือนจะหาทางออกในชีวิตได้ง่ายดายขึ้น

 

ถ้าอย่างนั้น หากจัดหมวดหมู่ให้หนังสือเล่มนี้อยู่ในประเภท "คู่มือของนักแสวงหา" จะได้หรือไม่ คำตอบที่น่าสนใจก็หลั่งไหลผ่านบทสนทนาจากปากของ "เสกสรรค์ ประเสริฐกุล"

 

และประชาไทได้นำมาเรียบเรียงและลงให้อ่านกันแบบเต็มๆ...

 

 

 

ในหนังสือเล่มนี้ "พระเจ้า" บอกว่า "ฉันไม่อาจบอกสัจจะแก่เธอได้ ถ้าเธอไม่หยุดพูดสัจจะของตัวเอง" เพราะฉะนั้นหลายคนจะเห็นว่าหลายปีมานี้ผมไม่ค่อยพูด-เพราะผมอยากได้ยิน

-เสกสรรค์ ประเสริฐกุล-

 

 

"ถ้าเราจะเริ่มด้วยการให้คำจำกัดความหนังสือเล่มนี้ ผมว่าเราเริ่มผิดแล้ว เพราะที่จริงแล้วมันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เราจะไปตั้งชื่อหรือว่าให้คำนิยามได้ ในแต่ละบรรทัดของหนังสือเล่มนี้สามารถนำไปคิดต่อได้อีกเป็นเดือนเป็นปี เพราะฉะนั้นผมขอพูดเพียงว่า "หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่ให้คำตอบกับจิตวิญญาณ" ซึ่งอาจจะไม่ใช่แง่มุมเดียวหรือสองมุม แต่ถ้าเรามีคำถามอะไรในเรื่องราวที่เกี่ยวกับจิตวิญญาณ นี่เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่ผมคิดว่ามันให้ความกระจ่างได้ในหลายๆ เรื่อง แล้วแต่เนื้อนาบุญของแต่ละคนว่าสิ่งไหนรับได้ สิ่งไหนรับไม่ได้

 

บางท่านอาจมีปัญหากับคำว่า "พระเจ้า" แต่อย่างผมไม่ค่อยมีปัญหา เพราะคนโบราณเขาก็เรียกรวมๆ ถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลโลกว่า ฟ้าดิน เจ้าป่าเจ้าเขา ... มันก็เหมือนกัน ผมก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ถ้าได้ยินถ้อยคำเหล่านี้

 

ปีหลังๆ นี่ไม่ทราบเป็นเพราะอะไร ผมมักจะแสวงหาทางด้านจิตวิญญาณ พยายามหาคำตอบ เพราะรู้สึกว่าชีวิตในทางโลกมันตัน แล้วก็รู้สึกว่ามันไม่จีรังยั่งยืน ก็มีคนเดินเอาหนังสือดีๆ มาส่งให้อ่าน รวมทั้งหนังสือเล่มนี้ด้วย

 

หนังสือทางด้านจิตวิญญาณเป็นหนังสือที่มีเหตุและผลกับตัวเอง ช่วยให้เราตอบคำถามเกี่ยวกับตัวเองได้ แต่อย่าทะลึ่งไปตอบเกี่ยวกับคนอื่น เพราะว่ามันจะผิด เพราะเราไม่เข้าใจเพียงพอ มันก็ต้องตอบเกี่ยวกับตัวเรา ถามไปเกี่ยวกับชีวิตของเรา ถ้าเราตอบได้ มันก็จะปลดล็อคลงไปทีละข้อ-ทีละข้อ

 

ผมคิดว่าคนในโลกนี้มีอยู่ 2 ประเภท คือ หนึ่ง - คือคนที่ทำชั่วเพราะอยากทำชั่ว และสอง - ทำชั่วเพราะอยากทำดี และในการทำความดีแต่กลายเป็นทำชั่วเพราะที่จริงอยากทำดีนี่ เป็นเพราะว่าเรามักจะทำดีโดยไม่ถามความต้องการของผู้อื่น

 

ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่ทั้งชีวิตพยายามทำความดี แต่กลายเป็นว่าต้องลงเอยด้วยการทำไม่ดีเอาไว้เยอะ ซึ่งผมมีประสบการณ์เยอะในการทำสิ่งที่ตั้งใจดี แต่ถึงที่สุดก็ให้ผลเป็นความเจ็บปวด ทั้งกับตัวเองและผู้อื่น มันทำให้ผมต้องตั้งคำถามใหม่ว่า "ผมมองโลกถูกต้องแล้วหรือ?"

 

สมัยเด็กๆ ผมจำได้ว่าผมเป็น8oจิตใจดีมาก ตอนอายุ 4 ขวบก็ชอบวาดรูป รักสัตว์ ร้องเพลง ชอบเล่นคนเดียวเงียบๆ อยู่ที่วัดตั้งแต่ 4 ขวบจนถึง 13 แล้วทำไมถึงเปลี่ยนไป จนท้ายที่สุดคนในประเทศไทยกลับจดจำผมไว้ในฐานะ "นักรบ"

 

ผมเข้าไปข้องเกี่ยวกับวิธีคิดแบบตะวันตก ซึ่งเราเรียกว่าลัทธิมากซ์ ผมเข้าไปมีส่วนในความขัดแย้งทางการเมืองที่เราพยายามใช้คำจำกัดความที่ตายตัวมาเป็นธงฆ่ากัน ทำให้สภาพจิตของผมหมุนวนอยู่กับการพิพากษาและตัดสินสิ่งต่างๆ อยู่นานมาก ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่อยู่ในตัวเองหรืออยู่ในตัวผู้อื่น ซึ่งผลที่ออกมาก็คือเจ็บกันทุกฝ่าย ตัวเองก็เจ็บ

 

ในที่สุดสิ่งเหล่านี้ก็นำผมมาสู่คำถามว่า-แนวคิดที่เป็นอยู่นี้มันถูกแล้วหรือ มันเป็นมุมมองที่ถูกต้องจริงหรือ ซึ่งแน่นอนว่านี่คือการค้นคว้าทางด้านจิตวิญญาณของผม ทำให้ผมเรียนรู้ว่าในโลกนี้มันมีสิ่งที่มากกว่าการดำรงอยู่ของวัตถุ ทำไมผมจะต้องคอยต่อสู้ทำสงครามเพื่อกระจายรายได้ ทำไมผมถึงไม่คิดในอีกมุมหนึ่งว่าสิ่งทีเป็นอยู่มันอาจจะมีเหตุผลของมัน บางทีผมอาจจะมีวิธีที่ดีกว่านั้นในการอยู่ร่วมและปรับปรุงมันด้วย"

 

"หนังสือบางเล่มต้องอาศัยประสบการณ์ชีวิตในการเข้าถึง"

 

แรงบันดาลใจที่ทำให้ "รวิวาร" หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมาแปล สืบเนื่องมาจากขอ้ความในปกหลังของหนังสือฉบับภาษาอังกฤษที่บอกว่า "ฉันได้ยินทุกเสียงที่เธอเคยพูด ทุกการร่ำไห้ และทุกความพยายามทุกอย่างที่เธอเคยถามหาจากฉัน หนังสือทุกเล่มที่อ่าน และเมื่อไรก็ตามทีเธอคิดว่าไม่มีคำตอบ เธอก็ดิ้นทุรนทุรายไป" เมื่ออ่านรวดเดียวจนจบภายในเวลาอันรวดเร็ว รวิวารจึงเรียกขานว่านั่นคือช่วงประสบการณ์พิเศษ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณก็ได้

 

ในขณะที่อาจารย์เสกสรรค์บอกกล่าวกันตรงๆ ว่าไม่ได้ผูกพันหรือรู้สึกอะไรกับหนังสือเล่มนี้เป็นพิเศษ แต่เห็นด้วยว่า "สนทนากับพระเจ้า" เป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าใจอะไรๆ เกี่ยวกับตัวเองได้ชัดขึ้น

 

"ผมคิดว่าคนที่จะอ่านหนังสือแบบนี้ได้ ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าชีวิตมันมีมากกว่าการดำรงอยู่ทางกายภาพ ชีวิตไม่ได้มีแค่ร่างกาย และไม่ได้แค่เกิดมาแวบเดียวในโลก เพียงแค่ 60 ปี 70 ปีแล้วก็แตกสลายไป ไม่มีความหมายใดๆ เพราะฉะนั้นคำถามทางด้านจิตวิญญาณมันอาจจะมีนัยยะอยู่บนพื้นฐานของความคิดที่ว่าชีวิตมันมีอะไรที่ลึกซึ้ง และมีความหมายมากกว่าการดำรงอยู่ภายนอก ซึ่งรวมทั้งร่างกายที่เป็นเนื้อหนังมังสาด้วย

 

ในหนังสือเล่มนี้ ได้ให้คำตอบที่ผมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือส่วนที่เหมือนกับเล่มอื่นๆ และส่วนที่เป็นพิเศษ ส่วนที่เหมือนกับหนังสือหรือคำสอนทางด้านจิตวิญญาณอื่นๆ ก็คือการที่หนังสือเล่มนี้พูดถึงความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต การสนทนากับพระเจ้า หรือ Conversation with God เป็นพื้นฐานทางศาสนา อาจจะรวมไปถึงศาสนาฮินดูก็ยังได้ นั่นคือความคิดที่ว่ามนุษย์ทุกคนล้วนมาจากพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์เราไม่ได้เป็นแค่เศษเนื้อเศษหนังที่เกิดมาหายใจทิ้งหายใจขว้าง แต่เราคือการแสดงออกซึ่งตัวตนของพระผู้เป็นเจ้า

 

ถ้าพูดในทางฮินดู เราก็มีส่วนหนึ่งของ "พรหม" อยู่ในตัวเรา มี "อาตมัน" เพราะฉะนั้น - ชีวิตทางด้านจิตวิญญาณของเราจะรำลึกนึกถึงสิ่งที่เราเป็นอย่างแท้จริง ซึ่งจะมีมากกว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่ในสังคมแคบๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ผมเห็นว่าคล้ายกับหนังสือเล่มอื่น แต่อาจจะมีรายละเอียดแตกต่างออกไปบ้างเล็กน้อย

 

สิ่งที่หนังสือเล่มนี้ให้มากเป็นพิเศษคือการ "ปลอบประโลม" หนังสือเล่มนี้จะปลอบประโลมว่าในระหว่างที่เธอยังค้นหาไม่พบ และเธอยังเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเธอ คือยังไม่มีลักษณะที่เป็นบุตรของพระเจ้าหรือเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้า พูดง่ายๆ คือยังระยำอยู่ ก็ไม่เป็นไร เพราะเธอเลือกที่จะเป็นเช่นนั้น เธอยังไม่พร้อมจะเลือกเป็นอย่างอื่น ก็เป็นอย่างนั้นไปก่อน และสอนว่าอย่าไปแทรกแซงคนอื่น อย่าไปตัดสินใคร ต้องรอให้เจ้าตัวเขาพร้อม

 

จากนั้นถ้าเขาพร้อมแล้ว เขาต้องการสิ่งแวดล้อมที่ดี เขาอยากจะเปลี่ยนไปสู่พัฒนาการที่ดีขึ้น หรือกลับไปสู่ความเป็นบุตรของพระเจ้า เราค่อยเข้าไปช่วย แต่ตราบใดที่เขายังไม่ขอร้อง เราไม่ต้องเข้าไปยุ่ง มันทำให้ผมเข้าใจและนึกถึงคำพูดของยิบรานที่บอกว่า "โลกที่เป็นธรรมนี้ยาก มันมากไปด้วยความหวังดีที่ล้นเกิน"

 

 "ความเจ็บปวดเป็นผลมาจากการพิพากษาที่เธอมีต่อจิตใจตัวเอง

ลบคำพิพากษานั้นเสีย บาดแผลจะหายไป"

 

"หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจเพิ่มเติมขึ้นเยอะเลยในแง่ของมุมมองที่มีต่อชีวิต อย่างเช่น เขาบอกว่า "ความเจ็บปวดเป็นผลมาจากการพิพากษาที่เธอมีต่อจิตใจตัวเอง ลบคำพิพากษานั้นเสีย บาดแผลจะหายไป" ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราต้องคิดและทำตามให้ได้

 

การไม่พิพากษาในสิ่งที่มันเป็นความผิดในทัศนะของเรา การไม่ลงโทษกับผู้อื่นและเคร่งครัดกับตัวเอง พูดอย่างนี้เหมือนง่าย แต่จริงๆ ยากมาก แต่ก็ต้องทำ เพราะมันไม่มีทางเลือกอื่น

 

ปกติแล้วคนเราจะเอาอัตตาของตัวเองไปประกบเสียเยอะ มองสังคมก็เอาอัตตาไปประกบว่า "กูไม่ชอบ" มองคนอื่นกูก็ไม่ชอบ มองอะไรก็ไม่ชอบ หรือถ้ากูชอบ ต่อให้ใครไม่ชอบ กูก็จะชอบต่อไป อันนั้นเป็นทวิภาวะที่เราก้าวไม่พ้น เราก็จะมีความทุกข์ ในหนังสือเล่มนี้ยังอนุญาตให้เรามีอะไรอย่างนี้บ้างในตอนแรก แต่ในช่วงหลังๆ เราต้องก้าวข้ามให้พ้น

 

การจะไปถึงขั้นปรมัตถ์ เราต้องก้าวพ้นการจับคู่ความขัดแย้งของสรรพสิ่ง เพราะการจับคู่จะทำให้เราอยากกลับไปทำลายสิ่งที่เราไม่ชอบ กลับไปทำลายสิ่งที่เราขัดแย้ง และยึดมั่นในสิ่งที่เราปรารถนา สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ความทุกข์ทั้งนั้น ผมก็ต้องเลือกแล้วว่าชีวิตผมจะเป็นหนึ่งเดียวกับสรรพสิ่งได้ยังไง เป็นหนึ่งเดียวหมายความว่าเข้าใจความสัมพันธ์ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดได้ยังไง

 

จะเรียกว่านั่นคือพระผู้เป็นเจ้าหรือจะเรียกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์อะไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่เป็นโจทย์ทางด้านวิชาการ ไม่ใช่เป็นสมการทางด้านฟิสิกส์ แต่เป็นวิถีปฏิบัติที่คุณต้องชี้นำตัวเองอยู่ตลอดเวลา

 

ขับรถออกจากบ้าน มีคนปาดหน้าแล้วผมด่าแม่ง-ก็เป็นอันจบ จบเลยวันนั้น ล้มเหลว... มันจะต้องนิ่งและเข้าอกเข้าใจ อย่างผม เมื่อ 2-3 เดือนมานี้ก็มีเรื่องท้าทาย คือที่คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ มีหมาเยอะ เพราะบางคนมีความสุขกับการเลี้ยงหมา มันก็เลยชอบ แต่แล้วก็มีตัวหนึ่งไม่ชอบคนใส่หมวก ซึ่งมันเห็นผมก็จ้องจะกัด จะกระโจนใส่ ผมก็คิดคำถาม ทำไมคนอื่นมันไม่กัด หรือเพราะมันไม่ชอบคนใส่หมวก ปกติคนจะมาจับผมถอดหมวกไม่ได้ ผมจะมีอีโก้มาก แต่ผมไปคิดอยู่ 2-3 วัน ผมก็ถอดหมวก คือผมต้องเลือกแล้วว่า ระหว่างการถอดหมวกให้หมาเพื่อสละความสุขแล้วอยู่ร่วมกัน กับการรักษาเหลี่ยมนักเลงแล้วโดนกัดเอา ผมก็เลยเลือกถอดหมวก เพื่อให้หมารู้ว่าเราเป็นพวกเดียวกัน

 

หรือเมื่อ 2 วันก่อน มีงูเห่าเข้ามาในบ้าน มาเผชิญหน้ากับหมาที่ผมเลี้ยง เป็นทางเลือกที่หวาดเสียวมาก ว่าผมจะฆ่างูหรือจะปล่อยให้งูฆ่าหมา เพราะในชีวิตที่ผ่านมา ผมฆ่าทั้งหมาและงูมาเยอะแล้วตอนที่ผมอยู่ในป่า ผมคิดอยู่ว่าจะทำยังไง ผมควรจะอยู่ร่วมกับมันไหม ในฐานะที่มันเป็นส่วนหนึ่งของพระเจ้าเหมือนกัน ในที่สุดผมก็ตัดสินใจไม่ทำร้ายงู แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้หมาของผมไปยุ่งกับงู ผมก็ต้องลงคลานสี่ขาเข้าไปใกล้ๆ ทั้งหมาทั้งงู เพื่อเอาไม้ตีหมาให้หนีไป แล้วก็บอกงูว่า คุณกับผมไม่เคยมีอะไรกันนะเว้ย ฉะนั้น-ต่างคนต่างอยู่ และงูมันก็ไป ไม่ทำร้ายกัน

 

ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร นั่นหมายถึงว่าชีวิตในด้านจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องวิชาการ ซึ่งในหนังสือเล่มนี้เขาก็พูดถึง 3 ขั้นตอน ก็คือ หนึ่ง คุณจะต้องรู้ สอง มีประสบการณ์ ก็คือ Know, Experience และ สาม คือ Be หรือการเป็นอยู่ คือถ้าคุณมีประสบการณ์และความรู้ คุณก็จะดำรงอยู่ในสภาวะที่เป็นตัวตนที่แท้จริง ซึ่งก็คือการเป็นบุตรของพระเจ้า

 

อันนี้จะตรงกับหลักของศาสนาพุทธที่พูดถึง "ปฏิบัติ ปฏิยัติ ปฏิเวช" 3 ขั้นตอน ถ้าเราแยกกันแล้ว เราไม่อาจบรรลุอะไรเลย ทีนี้ชีวิตด้านจิตวิญญาณของผมที่ผ่านมา มันเป็นการปฏิบัติเสียมาก แต่ผมคิดว่ามันต้องเป็นองค์ 3 มันต้องครบถ้วนด้วยตัวของมัน คือจะแยกออกจากกันไม่ได้ มันจึงเป็นวัฎจักรที่หมุนเวียนอยู่ตลอดเวลา ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละวัน แต่ละชั่วโมง มีโจทย์อะไรที่คุณจะต้องทำ

 

อาจสรุปได้สั้นๆ ว่าทุกคนล้วนดับ-เกิด ทุกชั่วโมง อย่าไปแยกว่าความดีต้องทำเวลาไหน หรือความดีต้องสงวนไว้ทำกับใคร ผมคิดว่ามันทำให้หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่สมบูรณ์แบบในแง่ของการแนะแนวทาง ในฐานะที่เราอยู่ในโลกปัจจุบันด้วยกัน

 

ในหนังสือเล่มนี้ "พระเจ้า" บอกว่า "ฉันไม่อาจบอกสัจจะแก่เธอได้ ถ้าเธอไม่หยุดพูดสัจจะของตัวเอง" เพราะฉะนั้นหลายคนจะเห็นว่าหลายปีมานี้ผมไม่ค่อยพูด เพราะผมอยากได้ยิน ผมอยากให้ฟ้าดินบอกผมบ้างว่าอะไรควรพูดไม่ควรพูด เพราะโดยปกติคนในสังคมนี้คาดหวังจะให้ผมเป็นคนบอก แล้วผมก็บอกอะไรไปผิดๆ ตั้งเยอะแยะจนไม่รู้จะตามไปลบล้างยังไง เพราะมันนานมาก หลายปีด้วย

 

ชีวิตได้พาผมมาถึงจุดที่ไม่มีทางเลือก ผมก็ต้องทำ ผมต้องเงียบ เมื่อได้ทำแล้วก็รู้ว่าผลของมันออกมามหัศจรรย์มาก และประโยคที่หนังสือเล่มนี้เขียนคล้ายๆ คำสอนของศาสนาพุทธ นิกายเซน คือเซนถือว่าถ้าอยากรู้ถึงสัจธรรมต้องเงียบก่อน หยุดพูดสัจธรรม ต้องเงียบ ต้องนิ่ง แล้วความจริง "สัจจะ" จะเข้ามาหาเธอเอง"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท