สำรวจความรุนแรงภาคใต้หลังรัฐประหาร : ลดลงจริงหรือ?

นโยบายการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้เปลี่ยนไปจากเดิมในยุครัฐบาลชุดปฏิวัติ ที่มี พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี มีการจัดกระบวนทัพใหม่ในการแก้ปัญหา หนึ่งในนั้นคือ การรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยใช้ชื่อใหม่ว่า ศูนย์อำนวยการในการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอพ.จชต. หลายฝ่ายเชื่อว่าสถานการณ์จะดีขึ้น จังหวัดชายแดนภาคใต้จะสงบลง

 

ประกอบกับเมื่อครั้งก่อนและหลังวันเกิดการก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่นำโดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการหารบก เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีข่าวการเจรจากับแกนนำก่อความไม่สงบ หลายคนก็ยิ่งเชื่อว่ามีความหวังว่าจะเกิดสันติสุขขึ้นอีกครั้ง

 

จาก 2 ปัจจัยดังกล่าว ได้ส่งผลต่อสถานการณ์ความไม่สงบรายวันในทางที่ดีขึ้นหรือเลวลงอย่างไร ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จะให้คำตอบ

 

000

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ได้รวบสถิติเหตุการณ์ความสงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และบางส่วนของจังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งเป็นวันที่มีการก่อรัฐประหาร จนถึงวันที่ 13 ตุลาคม 2549 โดยเชื่อว่าน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงที่มีนัยยะสำคัญ

 

ผลการรวบรวบ พบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 64 ครั้ง

 

เมื่อเปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม 2549 กับเดือนกันยายน 2549 จะพบว่า เดือนสิงหาคม 2549 เกิดเหตุการณ์ทั้งหมด 286 ครั้ง โดยเป็นการลอบยิง 71 ครั้ง และวางระเบิด 35 ครั้ง ส่วนเดือนกันยายน 2549 เกิดเหตุการณ์ 82 ครั้ง โดยเป็นการลอบยิง 50 ครั้ง และการวางระเบิด 13 ครั้ง

 

ส่วนเดือนตุลาคม 2549 ที่นับสถิติจนถึงวันที่ 13 จะพบว่า มีเหตุการณ์เกิดขึ้น 34 ครั้ง

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ ชี้ว่า หากดูแนวโน้มในภาพรวมถือว่าสถานการณ์ความรุนแรงลดลง แต่ก็ไม่ได้ลดลงมาก และไม่ได้หมายความว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ขึ้นอีก เพราะหลังจากวันที่ 13 ตุลาคม 2549 เป็นต้นมา ก็ยังเกิดเหตุรุนแรงอยู่

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกว่า จำนวนเหตุการณ์ที่ลดลงในช่วงดังกล่าวน่าจะมีสาเหตุมาจาก 2 ปัจจัย

 

ปัจจัยแรก คือ เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญ หากมองในแง่ผลกระทบต่อพื้นที่ความไม่สงบ ก็อาจจะมีผลต่อนโยบายการแก้ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้กลุ่มก่อความไม่สงบต้องเฝ้ารอดูสถานการณ์ด้วย จึงทำให้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นมีจำนวนลดลง ซึ่งลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 2 - 3 วันแรก หลังจากวันก่อรัฐประหาร จากนั้นเหตุการณ์รุนแรงก็ยิ่งถี่ขึ้น

 

ส่วนอีกปัจจัย คือ ในช่วงก่อนและหลังการก่อรัฐประหารมีข่าวเรื่องการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายไทยกับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบ ซึ่งอาจมีผลกระทบในแง่ของสถานการณ์ความไม่สงบด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ผศ.ดร.ศรีสมภพ ยังได้เตือนด้วยว่า เนื่องจากช่วงนี้ยังอยู่ในเดือนรอมฎอน ซึ่งเป็นเดือนที่ชาวมุสลิมถือศีลอด โดยในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา มักจะเกิดเหตุรุนแรงครั้งใหญ่ขึ้นในเดือนรอมฎอน โดยเฉพาะในช่วง 10 วันสุดท้ายของการถือศีลอด ซึ่งความรุนแรงในช่วง 10 วันสุดท้ายเป็นความรุนแรงอย่างมีนัยยะอะไรบางอย่าง ส่วนจะเป็นอะไรนั้นก็ต้องจับตาดู

 

หากย้อยดูสถิติการเกิดเหตุรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า ในปี 2547 ซึ่งตรงช่วงวันที่ 14 ตุลาคม - 12 พฤศจิกายน มีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น 185 ครั้ง ในจำนวนนี้ รวมเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้าสถานีตำรวจภูธรอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ด้วย ซึ่งครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 7 ราย และเสียชีวิตจากการขนย้ายไปยังค่ายอิงคยุทธบริหาร อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี อีก 78 คน

 

ส่วนช่วงเดือนถือศีลอดในปี 2548 ระหว่างวันที่ 5 ตุลาคม - 2 พฤศจิกายน มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 126 ครั้ง

ช่วง 10 วันสุดท้ายของการถือศีลอด อย่าชะล่าใจ

ส่วนเรื่องการเจรจากับแกนนำก่อความไม่สงบจะแก้ปัญหาความไม่สงบได้หรือไม่นั้น ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับรัฐบาลไทยว่า มีแนวทางอย่างไร แต่ถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่ดี

 

"การที่นายมหาธีร์ โมฮำหมัด อดีตนายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย เป็นคนกลางเจรจานั้น ผมมองว่าถ้ามองที่ตัวบุคคลก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะมหาธีร์ มีความสัมพันธ์ที่ดีและสามารถเข้าถึงแกนนำก่อความไม่สงบบางคนหรือบางกลุ่มได้

 

แต่สิ่งที่คนสงสัยคือ แกนนำที่จะไปเจรจาด้วยนั้น เป็นตัวจริงหรือไม่ หากแม้เป็นตัวจริงแล้วสามารถเชื่อมโยงกับกลุ่มที่ปฏิบัติการได้หรือไม่ สำหรับผมแล้ว ถ้าเป็นตัวจริงก็คิดว่าน่าจะมีผลกับความไม่สงบ แต่ถ้าไม่ใช่ ต้องถามว่า ตัวแทนเจรจาเป็นที่ยอมรับของกลุ่มอื่นๆ หรือไม่ นอกจากนี้ก็น่าจะมีกลุ่มที่ไม่ยอมรับการเจรจาอีกด้วยหรือไม่

 

อย่างไรก็ตาม หากจะเจรจาก็ต้องเจรจากับทุกกลุ่ม ส่วนกลุ่มที่ยังเข้าไม่ถึง ก็ให้แกนนำที่เจรจาแล้ว ไปเชื่อมต่อกันอีกได้ ซึ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวยังไม่ยอมรับอีก เชื่อสุดท้ายเขาก็จะถูกโดดเดี่ยว" นั่นคือความเห็นของผศ.ดร.ศรีสมภพ

 

ผศ.ดร.ศรีสมภพ บอกอีกว่า จากประสบการณ์การแก้ปัญหาความขัดแย้งทั่วโลก การเจรจาก็ไม่ได้หมายความว่าเหตุการณ์จะสงบลง จนกว่าจะมีข้อตกลงหรือข้อยุติที่ชัดเจน แต่ก็ไม่อาจทำให้เหตุการณ์สงบลงทันทีได้ สำหรับประเทศไทย คิดว่ามันยังอยู่ในช่วงรอยต่อของสถานการณ์

 

ส่วนเรื่องการรื้อฟื้นศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ ศอ.บต. รวมทั้งการเพิ่มพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็น 5 จังหวัด ครอบคลุมจังหวัดสงขลาและสตูล ก็คือแนวทางเดิมของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้

 

"การรวม 5 จังหวัด เราก็ไม่น่าจะมองว่าเป็นพื้นที่ปัญหาทั้งหมด เพราะอย่างน้อยคนสงขลาและสตูล ไม่ต้องการแน่นอน เพราะกลัวว่าจะได้รับผลกระทบ ทั้งด้านเศรษฐกิจและอื่นๆอีก แต่ถ้ามองในแง่ที่จะทำให้คนในจังหวัดสงขลาและสตูล หรือจังหวัดอื่นๆ มีความเห็นอกเห็นใจคนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น ก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี เพราะฉะนั้นการรวม 5 จังหวัดดังกล่าวจะต้องพิจารณาผลดีผลเสียให้ชัดเจนด้วย" ผศ.ดร.ศรีสมภพ กล่าวเป็นการทิ้งท้ายว่า

 

ความเปลี่ยนแปลงทางนโยบายที่เกิดขึ้น จะส่งผลให้สถานการณ์เปลี่ยนไปหรือไม่ มีเวลาไม่นานนักที่จะพิสูจน์ฝีมือสำหรับรัฐบาลชุดปฏิวัติและกองทัพภายใต้การนำของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท