Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 20 ต.ค.2549   นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ให้สัมภาษณ์นายกร เทพนรรัตน์ ผู้สื่อข่าวพิเศษไทยทาวน์ฯ ประจำกรุงวอชิงตัน ดีซี ถึงความคืบหน้าของการนำเข้าผลไม้ไทยหกชนิด คือมะม่วง มังคุด ลำไย เงาะ ลิ้นจี่ สับปะรด ว่าหลังจากผ่านขั้นตอนต่างๆ มาแล้ว คาดว่าจะสามารถนำผลไม้ไทยเข้าสหรัฐฯ ได้อย่างช้าภายในต้นปี 2007 นี้


 


"เราก็ได้รับการยอมรับจากกระทรวงเกษตรฯ สหรัฐอเมริกาว่ารายงานของเราครบถ้วนสมบูรณ์ ก็นำรายงานฉบับนี้ไปเสนอใน Propose Rule ซึ่งเมื่อเสนอแล้วก็หมายถึงว่า กระบวนการของการพิจารณาและออก Final Rule หรือการออกระเบียบการอนุญาตนำเข้าผลไม้ทั้ง 6 ชนิดนี้ เริ่มเข้าสู่กระบวนการอย่างเป็นทางการแล้ว และเมื่อ 25 กันยายนที่ผ่านมา ก็ครบกำหนดของการให้ข้อคิดเห็นต่างๆ ซึ่งเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเมื่อครบกำหนดเวลาไปแล้ว จะไม่มีการให้ข้อคิดเห็นหรือท้วงติงใดๆ อีก คิดว่าการพิจารณาคงเสร็จสิ้นในเร็วๆ นี้ และคงจะออก Final Rule ได้ อย่างช้าคงต้นปี 2550"


 


ส่วนแผนการโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคในอเมริการู้จักผลไม้ไทยทั้งหกชนิดนั้น นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวว่าเป็นหน้าที่ของกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์


 


"ทางกรมส่งเสริมการส่งออก มีสำนักงานส่งเสริมการส่งออกอยู่ในเมืองสำคัญๆ ถึง 4 แห่ง คือ ลอส แองเจลิส นิวยอร์ค ไมอามี่ ชิคาโก บวกกับกระทรวงพาณิชย์ฯ ซึ่งมีสำนักงานที่ปรึกษาฝ่ายการพาณิชย์อยู่ที่วอชิงตัน ดี ซี ซึ่งทั้งห้าสำนักงานนี้ทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตร เท่าที่ผมทราบนั้น ทั้ง 4 สำนักงานของสำนักงานส่งเสริมการส่งออก ได้มีการทำ Trade Promotion, Road Show มีการออกสื่อต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ วิทยุ หรือแม้กระทั่งจ้างเชฟที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของสหรัฐอเมริกาให้เป็น Presenter ในเรื่องของผลไม้ทั้ง 6 ชนิดนี้ด้วย"


 


อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) กล่าวด้วยว่า ระบบการฉายรังสีอิเล็กตรอน เพื่อทำให้แมลงศัตรูพืชไม่สามารถแพร่พันธุ์ได้ อันเป็นกรรมวิธีที่รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับนั้น จะไม่ทำให้ผลไม้ไทยเน่าเสียเร็ว แต่มีข้อดีอยู่มาก เช่นทำให้ผลไม้มีอายุนานขึ้น เพราะเป็นการชะลอการสุกของผลไม้, เป็นการกำจัดแมลงศัตรูพืชต่างๆ  อีกทั้งได้รับการยอมรับว่า รังสีอิเล็กตรอน มิได้มีผลตกค้าง หรือผลข้างเคียงใดๆ ต่อผู้บริโภค


 


"เราก็ได้มีการศึกษาทดลองและทดสอบความทนทานของการฉายรังสีกับผลไม้ทั้ง 6 ชนิดนี้ด้วย ผลก็ปรากฏว่า ส่วนใหญ่ก็ไม่มีผลอะไร ทั้งในเรื่องของรสชาติ, Shelf Life, เรื่องของผิว ของสีของผลไม้ แต่อาจจะมีบ้างกับผลไม้ที่เปลือกบางจริงๆ เช่น มะม่วง ก็จะมีแค่พันธุ์เดียวคือพันธุ์น้ำดอกไม้ อาจทำให้มีจุดดำบ้าง แต่ก็เป็นส่วนน้อยมาก"


 


อัครราชทูตที่ปรึกษา (ฝ่ายการเกษตร) กล่าวด้วยว่าเท่าที่ทราบ ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ต้องการนำเข้ามะม่วงดิบ ซึ่งจะไม่มีผลกระทบใดๆ กับการฉายรังสีอิเล็กตรอน


 


เช่นเดียวกับระยะเวลาที่ใช้ในการขนส่งทางเรือมายังสหรัฐฯ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ เชื่อว่าจะไม่มีผลต่อคุณภาพของผลไม้ไทยเช่นกัน


 


"ส่วนใหญ่เราจะส่งทางเรือ เพราะประหยัดต้นทุน แต่อย่างเงาะหรือมะม่วงเปลือกบางมากๆ บางพันธุ์ เราก็คงต้องส่งมาทางเครื่องบิน อยากอธิบายว่า ในเรื่องของการขนส่ง นอกจากกระบวนการฉายรังสีที่จะยืดอายุการสุกของผลไม้แล้ว การใช้ความเย็นหรือ Cold Treatment ที่เราใช้ส่งออกไปยังญี่ปุ่น ยุโรป หรือออสเตรเลียก็ใช้กระบวนการนี้ ใช้ตู้ Container ที่รักษาอุณหภูมิที่เหมาะสม เพราะฉะนั้น การขนส่งทางเรือก็ไม่เป็นเรื่องที่มีปัญหาครับ"


 


ด้านความสนใจของผู้นำเข้าในสหรัฐฯ นั้น อัครราชทูตที่ปรึกษากล่าวว่าทางสำนักงานฯ ได้ติดต่อผู้นำเข้ารายใหญ่ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกของประเทศ ได้รับความสนใจมาก


 


"ในระยะเริ่มต้น เราคงส่งเข้ามาในตลาดเอเชียก่อน เงื่อนไขอย่างแรกของเราก็คงเป็นเพราะปริมาณผลไม้ที่เราส่งออกอาจจะมีไม่มากพอด้วยซ้ำไป แต่ในระยะยาว แน่นอนครับ เราอยากจะเห็นผลไม้ไทยวางใน Giant Food, Safeway หรือซูเปอร์มาร์เก็ตใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐฯ"


 


ทั้งนี้ การนำเข้าผลไม้จากประเทศไทยนั้น จะทำให้นำรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก อีกทั้งเป็นการช่วยเหลือเกษตรกร ให้จำหน่ายผลผลิตในราคาดีขึ้น


 


"ที่ผมได้ไปคุยกับผู้นำเข้ารายใหญ่ แต่ละชนิดเขาคิดว่าจะนำเข้าประมาณ 100 ตัน ต่อสัปดาห์ มีหกชนิดก็ประมาณ 2,400 ตันต่อเดือน ถ้าคิดเป็นตัวเลขแล้ว เราคงมีรายได้เข้าปีละใกล้เคียง 3,000 ล้านบาท ถ้ามองตัวเลขนี้แล้ว เราก็คิดว่าจะเป็นรายได้มากพอสมควรที่กลับเข้ามาในประเทศ ถ้าเราสามารถจะทำตลาดได้อย่างต่อเนื่องและมีการเพิ่มตลาดอีกในอนาคตด้วย" และว่าการนำเข้าผลไม้มายังสหรัฐฯ จะส่งผลโดยตรงถึงเกษตรกรไทย


 


"ยกตัวอย่างง่ายๆ ในปีนี้ สับปะรดของเราเหลือราคาเพียงลูกละ 1 บาท ราคาซื้อหน้าสวน หรือบางทีเขาบอกเลยว่า เอาไปเลย เอาไปทำปุ๋ยเลยแล้วกัน ให้กันไปเลย สินค้าเกษตรนั้นราคาแกว่งมาก อย่างเงาะ เราเข้าไปในสวน กิโลละ 3 บาท ถ้ามาสหรัฐฯ จะได้ราคาประมาณปอนด์ละ 5 ดอลลาร์หรือ 200 บาทต่อกิโล ราคามันต่างกันเยอะมาก"


 


ส่วนการแข่งขันทางการตลาดกับผลไม้พื้นเมืองหรือผลไม้นำเข้าจากที่อื่นนั้น นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ กล่าวว่ามีการพูดถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับผลไม้จากฮาวายและฟลอริด้ามากพอสมควร ทำให้มีการกังวลว่า อาจเกิดแรงกดดันให้การประกาศใน Final Rule ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปีหน้า อาจถูกเลื่อนออกไป แต่ตนคาดว่าจะไม่มีผลใดๆ เพราะจำนวนสินค้านำเข้าของไทยไม่น่าจะมากพอที่จะส่งผลกระทบใดๆ.


 


 


 


 


ที่มา : ไทยทาวน์ยูเอสเอนิวส์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net