Skip to main content
sharethis


20 ต.ค. 2549 เมื่อเวลา 11.00 น. ที่พรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงข่าวชี้แจงแนวทางการทำงานของพรรคในช่วงนี้ว่า มีการหารือกับแกนนำพรรคบางคน และได้ข้อสรุปว่า พรรคอยากสื่อสารกับสมาชิกพรรค แต่ในช่วงนี้ หากพรรคสื่อสารในรูปแบบจดหมายที่เป็นกิจจะลักษณะ จะเข้าข่ายการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพราะยังไม่แน่ใจว่า ประกาศและคำสั่ง คปค.ได้ยกเลิกไปแล้วหรือไม่


 


ดังนั้น ขอประกาศผ่านสื่อมวลชนไปยังอดีต ส.ส.และสมาชิกพรรคว่า กรรมการบริหารพรรครักษาการชุดนี้จะช่วยกันรักษาพรรค เพราะช่วงนี้พรรคมีชีวิตชีวามากขึ้น อยู่ในสภาพที่มีชีวิตและทำงานบางส่วนที่จำเป็นได้แล้ว พรรคต้องติดตามการทำงานองค์กรต่างๆ ของรัฐบาล จึงขอเชิญชวนสมาชิกพรรค โดยเฉพาะอดีต ส.ส.และผู้เคยช่วยงานพรรค สามารถแวะมาที่พรรคได้ เพราะยังมีกาแฟ โทรทัศน์ และบุคคลให้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองเสมอๆ แม้อาจไม่คึกคักเหมือนปกติ แต่คนที่ติดตามและคิดจะช่วยบ้านเมืองก็พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความเห็นกัน


        


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่ารัฐบาลชุดนี้จะทำงานให้เร็วและอยู่ให้สั้นที่สุด เพราะมีรัฐมนตรีบางคนบอกว่ารัฐบาลอาจทำงาน 1 ปี 5 เดือนนั้น ต้องชมเชยนายกฯที่เข้าใจความรู้สึกและฟังความเห็นประชาชน นายกฯ คงเข้าใจดีว่า รัฐบาลชุดนี้ไม่มีความชอบธรรมในการอยู่นานๆ การทำงานให้เร็วที่สุดมันโยงกับว่าคำว่าจะอยู่นานหรือไม่ และมันโยงกับคำว่า จะทำงานเสร็จหรือไม่ ฟังดูแล้วมันจะสับสน รัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่แก้รัฐธรรมนูญ หากแก้รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ไม่ว่ารัฐบาลจะทำงานใดที่ค้างอยู่ ก็ต้องพ้นหน้าที่ทันที ในช่วงนี้รัฐบาลจึงควรเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนและเร่งการแก้รัฐธรรมนูญ


         


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พรรคจำเป็นต้องเสนอความเห็นต่อ ครม. องค์กรของรัฐที่สร้างขึ้นใหม่ๆ และประชาชนว่า ตอนนี้มีรัฐมนตรีหลายคนบอกว่าอยากทำงานนั้น ทำงานนี้ สังคมก็เรียกร้องให้รัฐบาลทำงานอื่นๆ ด้วย และยังมีการเสนอแก้กฎหมายหลายฉบับ จึงมีคำถามว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติฯจะทำหน้าที่มากหรือน้อยเพียงใดกันแน่ มันดูสับสน เพราะทั้งสององค์กรไม่ได้มาจากประชาชน และไม่เคยให้สัญญาประชาคมว่าจะมาทำงานอะไร


 


"ทั้งสององค์กรมาจากการยึดอำนาจ จึงไม่ควรคิดทำอะไรให้มากมายเกินไป ควรทำงานเท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่นประคับประคองเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ การแก้ปัญหาภาคใต้ การแก้ปัญหาน้ำท่วม"


         


นายจาตุรนต์กล่าวว่า การคิดนโยบายต่างๆ นั้น ไม่น่าจะมีความชอบธรรม รัฐบาลชั่วคราวชุดนี้มีสภาพเสมือนรัฐบาลรักษาการ ควรทำหน้าที่เฉพาะและจำเป็นจริงๆ รวมทั้งสภานิติบัญญัติฯ ด้วย ไม่ควรคิดแก้กฎหมายสารพัดไปหมด เขาพูดชัดๆ และเสนอให้สังคมช่วยกันคิดว่า รัฐบาลและสภานิติบัญญัติฯว่าควรทำหน้าที่อย่างจำเป็น ไม่ควรคิดอะไรฟุ้งซ่านมากเกินไป


 


"ตอนนี้รัฐบาลกำลังร่างนโยบายรัฐบาล แต่ก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า มีการคิดนโยบายใหม่ๆ ออกมาแล้ว ทั้งๆ ที่นโยบายรัฐบาลยังร่างไม่เสร็จ รัฐมนตรีแต่ละคนก็ทำงานแบบต่างคนต่างคิด เช่น ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มันสะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีการหารือกันมาก่อน แต่กลับออกมาพูดและทำจนเจอเสียงต่อต้านและต้องถอยไป หากปล่อยให้เป็นแบบนี้ คือไม่คุยกันเอง ต่างคนต่างคิดนั้น เสนอว่ารัฐมนตรีทั้งหลายควรรอนโยบายรัฐบาลเสียก่อน อย่าคิดทำเรื่องต่างๆ ให้เต็มไปหมด"


 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การรื้อนโยบายของรัฐบาลชุดที่แล้วนั้น เป็นสิทธิของรัฐบาลชุดนี้ ขอเพียงอย่างเดียวว่า การรื้อนโยบายหรือปรับของเดิมที่ใช้อยู่ในช่วงนี้ ขอให้ศึกษาทำความเข้าใจเสียก่อนว่า นโยบายเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร เท่าที่ติดตามการทำงานของรัฐบาลชุดนี้ เขาเห็นว่ามีการแสดงความเห็นโดยไม่เข้าใจนโยบายนั้นๆ เลย เช่น 30บาทรักษาทุกโรค ที่บอกว่าจะเปลี่ยนเป็นรักษาฟรี ประชาชนเข้าใจว่ารักษาที่ใดก็ฟรี


 


แต่หากยังใช้คำว่า ระบบหลักประกันทั่วหน้า ก็คือยังใช้นโยบายเดิมอยู่ แม้โครงการ 30 บาทจะมีเงินเพียงพันกว่าล้านบาทก็ตาม แต่เปลี่ยนมาเป็นการรักษาฟรีนั้น ต้องทำให้เสียงบประมาณจำนวนหลายหมื่นล้านบาทที่มาจากภาษีประชาชน หากบอกว่ารักษาฟรี ประชาชนก็จะไม่มีการระวังตัว เพราะเห็นว่ารักษาฟรี


       


นายจาตุรนต์ กล่าวถึงเรื่องหวยบนดิน ก็เงื้อง่าราคาแพง แต่สุดท้ายบอกว่าโครงการนี้เอาไว้บนดินดีกว่าไปอยู่ใต้ดิน การใช้เงินจากหวยบนดินนั้น ใช้สำหรับการศึกษาและเด็กด้อยโอกาส ซึ่งเขาเป็นประธานโครงการนี้มาตลอดจนพ้นจากตำแหน่ง มีนักวิชาการมาช่วยพิจารณาเงินที่ได้มาจากการขายหวยบนดินว่า เงินนี้ใช้เฉพาะเหตุผลข้างต้นเท่านั้น ไม่นำไปใช้ในโครงการอื่นๆ


         


"ผมขอรับรองว่าเงินทุกบาททุกสตางค์บริสุทธิ์ หากพบทุจริตแม้แต่บาทเดียว ผมยินดีแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและขอย้ำว่า รัฐบาลจะรื้ออะไรก็มีสิทธิรื้อ ขอเพียงว่าควรศึกษาและทำความเข้าใจกันหน่อย"         


 


นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การแต่งตั้งบุคคลไปทำหน้าที่ต่างๆ เช่น สภานิติบัญญัติฯ ต่อไปจะเป็นการแต่งตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ และองค์กรต่างๆ แต่พบว่า บรรทัดฐานการคัดเลือกบุคคลไปทำหน้าที่ต่างๆ เหล่านั้น ดูเหมือนว่าจะคัดเลือกบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลทักษิณเป็นหลัก แต่ก็ใช้เหตุผลอื่นๆประกอบด้วย เช่น ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ใช้เหตุผลเช่นนี้ แต่การแต่งตั้งบางคนที่สนับสนุน หรือคัดค้านรัฐบาลทักษิณมันห้ามกันไม่ได้


       


ตอนนี้มีการคัดค้านบุคคลที่จะทำหน้าที่ประธานสภานิติบัญญัติฯ ที่มีการเสนอว่า ต้องเป็นกลางทางการเมือง เป็นประชาธิปไตย เหตุผลนี้จะเสนอทำไม เพราะบุคคลที่ไปร่วมงานในองค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ เห็นดีเห็นงามกับการยึดอำนาจแล้ว จะคัดเลือกบุคคลที่มีความเป็นกลางทางประชาธิปไตยไปทำไม การล้มและฉีกรัฐธรรมนูญก็ทำไปแล้ว ฉะนั้นการแต่งตั้งก็เป็นเรื่องเล็ก


         


"ในส่วนการแต่งตั้งข้าราชการนั้น ข้าราชการมีหน้าที่ทำตามคำสั่งและนโยบายรัฐบาล อย่าเหมาว่าสนับสนุนหรือฝักใฝ่รัฐบาลทักษิณ จนปิดกั้นโอกาสเติบโตก้าวหน้าทางราชการ หากรัฐบาลทำแบบนั้นก็ไม่ถูก อย่าคำนึงว่าใครเป็นพวกทักษิณ เพราะข้าราชการบางส่วนมีความเป็นกลาง ต้องทำตามหน้าที่และนโยบายรัฐบาล หากโดนแบบนี้จะสูญเสียโอกาสไป" นายจาตุรนต์ ย้ำ


 


เมื่อถามว่า แสดงว่านายกรัฐมนตรีจะต้องคืนอำนาจทันทีหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จใช่หรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า จะพูดแบบนั้นก็ได้ หากโยงไปถึงเรื่องทำงานให้เร็วที่สุดเช่น การพูดเรื่องการแก้ปัญหาภาคใต้ หากรัฐบาลทำไม่เสร็จ เพราะไม่รู้ว่าจะใช้เวลากี่สิบปี หรือการแก้ปัญหาความแตกแยกทางความคิดในสังคม ไม่รู้ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด และทำไปก็ไม่รู้ว่าจะยิ่งแตกแยกหรือไม่


 


เมื่อถามว่า รัฐบาลและ คมช.กังวลเรื่องคลื่นใต้น้ำที่พาดพิงพรรคไทยรักไทยนั้นจะชี้แจงอย่างไร นายจาตุรนต์ กล่าวว่า พูดชัดเจนแล้วว่า ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวแบบเผชิญหน้า การแสดงพลังและใช้กำลัง การสร้างความปั่นป่วนนั้น ขอยืนยันว่าเราไม่ส่งเสริม แต่ประชาชนที่มีความคิดแตกต่างกันก็มีเยอะ พรรคคงไปดูแลไม่ทั่วถึง ซึ่ง คมช.ไม่ต้องกังวลว่า พรรคจะสนับสนุนให้มีคลื่นใต้น้ำ หากจะแสดงความเห็นใดๆ ก็จะแถลงข่าวและพูดตรงๆ ให้เห็นเป็นคลื่นชัดๆ แบบนี้ไปเลย


 


ต่อคำถามว่า ได้สอบถามอดีต ส.ส.ในพรรคว่า สนับสนุนคลื่นใต้น้ำหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ไม่รู้จะสอบถามใคร เพราะคนเยอะแยะไปหมด และคิดว่ารัฐบาล หน่วยข่าว และฝ่ายความมั่นคง มามั่วเพ่งเล็งพรรคอยู่ว่าจะเคลื่อนไหวต่อต้านนั้น เกรงว่าจะผิดเป้าและหลงทิศ เพราะคลื่นใต้น้ำนั้น อาจเป็นกลุ่มอื่นๆ ดำเนินการ เพราะมีแสดงความไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจและไม่สังกัดพรรค


 


"สิ่งสำคัญ กลุ่มที่เคลื่อนไหว ยังเป็นกลุ่มที่เคยต่อต้านรัฐบาลทักษิณ ดังนั้น ขอให้เข้าใจว่า พรรคไม่ได้ตั้งตัวและคิดว่าเป็นคู่ต่อสู้กับรัฐบาลและ คมช.แต่การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยจะมาจากบุคคลและองค์กรต่างๆ ที่หลากหลาย"


 


เมื่อถามว่า พรรคจะแต่งตั้งคณะทำงานติดตามการทำงานของรัฐบาลและองค์กรต่างๆ หรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุป เบื้องต้นคิดว่าจะมีการตั้งคณะทำงานฯ 3-4 คณะ เช่น การติดตามการทำงานของรัฐบาล การร่างรัฐธรรมนูญ การทำงานของสภานิติบัญญัติฯ นโยบายและฝ่ายวิชาการ อาจจะรวมกันเพื่อความเหมาะสม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net