Skip to main content
sharethis




 


เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สมาคมนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โครงการสร้างองค์ความรู้เพื่อปฏิรูปการเมือง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกันจัดเวทีเสวนา "การปฏิรูปการเมืองของภาคประชาชน : จะปฏิรูปการเมืองอย่างไรให้กินได้" โดยมีองค์กรเครือข่ายภาคประชาชนภาคเหนือกว่า 10 องค์กรเข้าร่วม


 


นายมนตรี อิ่มเอก ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชนภาคเหนือ กล่าวถึงผลกระทบหลังจากทหารได้เข้าทำการปฏิรูปการเมืองว่า ได้กระทบต่อสื่อภาคประชาชนเป็นอย่างมาก มีการสั่งปิดสถานีวิทยุชุมชนกว่า 3,000 แห่ง และพื้นที่เชียงใหม่โดนกระทำมากที่สุด ทั้งที่วิทยุชุมชน เกิดขึ้นก็เพื่อทำงานให้สังคม ไม่ได้มุ่งหวังในทางธุรกิจเชิงพาณิชย์ แต่การปฏิรูปการเมืองในขณะนี้ กลับถูกอำนาจควบคุม จึงทำให้สื่อในบ้านเราอยู่ในสภาพตกอยู่ในความกลัว กลัวว่าจะกระทบต่อผู้อื่นและกลัวว่าจะกระทบต่อตัวเอง


 


"ตนรู้สึกเสียดายรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่ถูกทำลาย ซึ่งถือว่าดีมากสำหรับภาคประชาชนในหลายๆ เรื่อง และเป็นรัฐธรรมนูญที่ประชาชนได้ร่วมกันร่างขึ้นมา แต่อาจไปกระทบคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง พอถูกฉีก ก็มีเจ้านายใหม่ คอยสั่งหันซ้ายหันขวา และสุดท้ายก็ต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่" นายมนตรี กล่าว


 


ตัวแทนเครือข่ายสื่อภาคประชาชน ภาคเหนือ ยังกล่าวในตอนท้ายด้วยว่า หากต้องการสื่อที่มีความอิสระอย่างแท้จริง ก็ควรเปิดโอกาสให้สื่อได้ออกมานำเสนอวิพากษ์ทั้งระบอบทักษิณ และรัฐบาลสุรยุทธ์ หรือบทบาทการทำงานของ คมช.ได้


 


ด้าน นายมนูญ ไทยนุรักษ์ ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชนภาคเหนือ กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ทางเครือข่ายป่าชุมชน ได้ต่อสู้กันมานาน อีกทั้งต้องสูญเสียผู้นำกันก็มากหลาย เราได้มีการเรียกร้องปัญหา เสนอผ่านกฎหมายตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปแล้ว แต่ก็ถูกบิดเบือน ถูกขัดขวางจากเจ้าหน้าที่หลายๆ ฝ่าย ไม่ว่าหน่วยงานของรัฐ นักการเมือง หรือตัวแทนในสภา


 


"เมื่อดูรัฐธรรมนูญปี 2540 ทีเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรฯ แล้ว โดยเฉพาะมาตรา 46 ที่ระบุว่าให้ชุมชนท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากรฯ ได้ แต่เอาเข้าจริงแทบใช้ไม่ได้เลย เพราะติดขัดตอนท้ายของแต่ละมาตรา ที่บอกว่า ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งต่อมาเราพยายามผลักดัน พ.ร.บ.ป่าชุมชน ฉบับประชาชนเข้าไป โดยมีการผสมผสานระหว่างกฎหมาย ภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อจะทำอย่างไรที่จะให้คนอยู่กับป่าได้อย่างพึ่งพาและยั่งยืน แต่สุดท้ายก็ไปไม่ถึงไหน"


 


ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชน ภาคเหนือ ได้มีข้อเสนอต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ว่า 1. ขอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่ละมาตราที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ขอให้มีการตัดคำว่า "ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ" ทิ้งไป 2.ขอให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทรัพยากรฯ อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมา เมื่อเสนอขึ้นไป มักติดขัดกับทางอำเภอ โดยอ้างว่าขัดกับกฎหมายเดิม คือ พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ,ป่าสงวนฯ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า


 


"และ 3.ควรเปิดโอกาสให้ชุมชน มีอำนาจ คิดและตัดสินใจ ในการบริหารจัดการ การใช้ทรัพยากรดิน น้ำ ป่า อย่างมีประสิทิภาพด้วยตนเอง เพราะที่ผ่านมาประชาชน ไม่มีสิทธิในอำนาจจัดการใดๆ เลย ในกรณีรัฐนำเมกกะโปรเจ็ค หรือโครงการใหญ่ๆ เข้ามา โดยไม่ ได้ฟังเสียงของประชาชนในท้องที่ หรือแม้กระทั่ง มีกลุ่มนายทุนเข้าไปครอบครองทำรีสอร์ท แหล่งท่องเที่ยว ชุมชนจะต้องมีอำนาจในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้"


 


ตัวแทนเครือข่ายป่าชุมชน ภาคเหนือ ได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในอนาคต เราไม่ได้หวังว่ารัฐบาลชุดต่อไป แต่เราหวังอย่างเดียวว่า สิทธิของชุมชน คนท้องถิ่นจะต้องเพิ่มมากขึ้น


 


ในขณะที่ นายมณเทียน พรหมลัทธิศร จากกลุ่มชายรักชาย กล่าวว่า ตนในฐานะคนทำงานในเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ อยากเสนอให้กลุ่มคนรักเพศเดียวกัน ไม่ว่าหญิงรักหญิง หรือชายรักชาย ได้ใช้สิทธิเข้าไปเสนอการร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะทำกันอยู่นี้ ไปร่วมแก้ไขตัวบทกฎหมายที่กระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล แต่เมื่อย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ของโลก ในสมัยพระเจ้าเอล็กซานเดอร์มหาราชนั้นได้มีการออกกฎหมายโฮโมเซ็กส์ซ่วลมานานแล้ว และถือว่าเป็นกฎหมายฉบับแรกของโลก แต่เมื่อมาดูเมืองไทยเรา ยกตัวอย่าง ใน ทร.13 ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ยังมีการระบุอยู่ว่า คนที่รักเพศเดียวกันนั้น ถือว่าเป็น "วิปริต" ซึ่งกระทบต่อคนกลุ่มนี้อย่างมาก


 


"แท้จริงแล้ว กลุ่มชายรักชาย ไม่ใช่โรคจิต แต่เราเป็นหน่วยย่อยๆ หน่วยหนึ่งในสังคม และคนกลุ่มดังกล่าวนั้นมีอยู่จริง และมีมานานแล้ว ไม่ว่าในสังคมใด ล้วนมีคนรักเพศเดียวกันอยู่ทุกสาขาอาชีพ แม้กระทั่งอดีตรัฐมนตรี นักการเมืองบางคน เชื่อว่ามีคนรักเพศเดียวกันเป็นจำนวนมาก แต่อาจไม่กล้าเปิดเผย ดังนั้น จึงขอเสนอให้มีกลุ่มคนรักเพศเดียวกันเข้าไปร่วมปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ด้วย"


 


ด้าน นายไททัศน์ ภัยภิลัย ผู้ประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ ภาคเหนือ ได้บอกเล่าถึงสถานการณ์ด้านเอดส์ในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ว่า จากการสำรวจกลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์ในพื้นที่ภาคเหนือตั้งแต่เริ่มมีการแพร่ระบาดจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนทั้งหมด 984,000 ราย และเสียชีวิตไปแล้วกว่า 2 แสนราย ที่มีชีวิตอยู่ก็มีแนวโน้มว่าสามารถที่จะแพร่เชื้อออกไปได้อีกเรื่อยๆ ซึ่งเมื่อดูภาพรวมแล้ว คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีในประเทศไทย ประมาณ 9,000 รายต่อปี


 


"และดูกลุ่มเสี่ยงในขณะนี้ กลุ่มที่มาแรงมากที่สุดคือกลุ่มเยาวชน และกลุ่มชายรักชาย ซึ่งแต่เดิมทุกฝ่ายเกรงกันว่า กลุ่มเสี่ยงคือกลุ่มหญิงบริการ แต่ปัจจุบันกลับลดลง อาจเป็นเพราะมีการรณรงค์การป้องกัน การใช้ถุงยางอนามัยเพิ่มมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ส่งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการร่วมทั้งในระดับชาติ ระดับภาค แต่ก็ยังมีปัญหาในแง่การบริหารจัดการ ไม่สามารถแก้ไขปัญหาในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติได้"


 


นายไททัศน์ ยังได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่กำลังดำเนินการไว้ว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งตัวแทนภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพเข้าไปร่วมเสนอนโยบายให้มากที่สุด ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องโรคเอดส์ แต่หมายถึงการใช้นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราไม่ได้แบ่งแยกเพราะว่าทุกคนต้องเข้าถึงหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ไม่ใช่นโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค เพราะนั่นเป็นเพียงนโยบายหาเสียงของรัฐบาลทักษิณ


 


นายอนุชา มีทรัพย์ รองประธานสหภาพแรงงานฯ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้ง สหภาพแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับสัมพันธ์ นิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน ได้เป็นผลสำเร็จ นับเป็นสหภาพแรงงานแห่งแรกของภาคเหนือ ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีรัฐบาลชุดใหม่นั้น ก็มีกระแสว่าจะมีหลายฝ่ายเข้ามาสนับสนุน ซึ่งถ้าหากมีรัฐธรรมนูญใหม่ ก็อยากให้มีนำเรื่องสหภาพแรงงานให้เดินหน้าต่อไป เพื่อให้สมาชิกแรงงานได้มีสิทธิมีเสียง ได้รู้สิทธิที่ควรจะได้รับตามรัฐธรรมนูญ


 


ในขณะที่ นายวิกิจ เพ็ญภาค เครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือตอนล่าง ได้พูดถึงปัญหาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ว่า ยอมรับว่าปัญหาสังคมไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นสังคมอุปถัมภ์ โดยจะเห็นได้เวลามีการเลือกตั้งก็มักจะได้คนหน้าเดิมๆ ที่เป็นพวกคนมีฐานะ เป็นนายทุนท้องถิ่น หรือข้าราชการเกษียณ แต่ก็ยอมรับว่า ไม่ว่า อบต. เทศบาล หรือ อบจ.ยังเป็นหน่วยงานสำคัญและควรเอาไว้ แต่ว่าคนที่เข้าไปทำงานบริหารนั้น ต้องเป็นคนมีคุณภาพ


 


"และเมื่อถามว่า มีข้อเสนอกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างไรนั้น ก็อยากจะให้องค์กรการเมืองภาคประชาชนได้เข้าไปมีปากมีเสียงให้มาก ทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับชาติ และทำอย่างไรถึงจะให้ชาวบ้านได้รับรู้เรื่องสิทธิต่างๆ ให้มากกว่านี้"


 


อย่างไรก็ตาม นายสุแก้ว ฟุงฟู ตัวแทนสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ(สกน.)ได้เสนอเรียกร้องให้องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ได้ขับเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่ออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องลำไย ก็มีเพียงกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกลำไยเพียงกลุ่มเดียวออกมาเรียกร้อง หรือมีเพียง 2-3 กลุ่มเท่านั้น ซึ่งมันไม่มีพลัง แต่อยากให้ออกมาเคลื่อนไปพร้อมๆ กัน เหมือนกรณีเช่น การขับเคลื่อนในเรื่องการคัดค้านเอฟทีเอ ซึ่งมีทุกฝ่ายร่วมกัน ทำให้ดูมีพลังอย่างมาก


 


"เพราะฉะนั้น ถึงแม้เรามีกฎหมายอย่างไร แต่ถ้าเราไม่มีพลังในการขับเคลื่อน กฎหมายก็ไม่มีผล และก็เป็นไปได้ยาก" นายสุแก้ว กล่าวทิ้งท้าย


 


นี่เป็นเพียงบางส่วนของเวทีแสดงความคิดเห็น เวทีเสวนา "การปฏิรูปการเมืองของภาคประชาชน : จะปฏิรูปการเมืองอย่างไรให้กินได้" ที่องค์กรเครือข่ายภาคประชาชน ภาคเหนือ กว่า 10 องค์กรเข้าร่วม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net