Skip to main content
sharethis

คำประกาศสมัชชาสังคมไทย


"โลกใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้"


23 ตุลาคม 2549 ณ อนุสรณ์สถาน ๑๔ ตุลา


 


เราเครือข่ายองค์กรภาคประชาชน จำนวน 70 องค์กร กว่า 3,500 คนจากทั่วประเทศ (ดังรายชื่อที่แนบมาพร้อมกันนี้) ได้จัดเวทีสมัชชาสังคมขึ้นเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 2 วัน ระหว่างวันที่ 21-22 ตุลาคม 2549 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิตได้มีมติร่วมกันดังนี้


 


การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่ผ่านมาในประเทศไทย ได้สร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อประชาชน เป็นการพัฒนาที่ทำลายชุมชน ทำลายระบบเกษตรกรรมรายย่อย ทำลายทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม กดขี่ขูดรีดแรงงาน ไม่คุ้มครองผู้บริโภค ละเลยกีดกันสิทธิและบทบาทของผู้หญิง ไม่เปิดโอกาสให้ผู้พิการได้เป็นสมาชิกสังคมอย่างเต็มขั้น ทั้งยังละเมิดสิทธิชนเผ่า ผู้ไร้สัญชาติ ตลอดจนแรงงานข้ามชาติ ที่สำคัญศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนส่วนใหญ่ได้ถูกทำลายลงไป


 


การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองระดับบนไม่ว่าจะเปลี่ยนโฉมหน้าไปเป็นรัฐบาลของกลุ่มใด ก็เป็นเพียงการจัดสรรแบ่งปันอำนาจผลประโยชน์กันเองในระหว่างกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งกลุ่มข้าราชการ ทหาร และนักธุรกิจ เท่านั้น ขณะที่กลุ่มผลประโยชน์กลุ่มใหญ่ที่สุดคือ กลุ่มประชาชน ยังคงถูกกีดกันให้อยู่วงนอก ไม่มีสิทธิส่วนในกำหนดกติกาการใช้อำนาจ และนโยบายการพัฒนาใดใด


 


เพื่อบรรลุเจตนารมณ์ในการสร้างสังคมใหม่ของภาคประชาชนเพื่อการพัฒนาที่เป็นธรรม และยั่งยืน เราขอประกาศร่วมกันดังนี้



  1. ประชาชนจะร่วมกันสร้างสังคมไทยใหม่ ที่อยู่บนพื้นฐานความเป็นธรรม ความเท่าเทียม สิทธิเสมอภาค และสันติภาพ

  2. ประชาชนจะไม่รอคอย หรือหวังพึ่งกลุ่ม องค์กร หรือคณะบุคคลใด มาทำหน้าที่แทนในการสร้าง การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง หากแต่จะเข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดและดำเนินการทุกรูปแบบด้วยตัวเอง  

  3. ในวาระที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่กระบวนการปฏิรูปการเมืองครั้งสำคัญ  ต้องยึดหลักการอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน การปฏิรูปการเมืองจึงเป็นภารกิจร่วมกันของทุกคน เพื่อพัฒนาประชาธิปไตยที่ลดอำนาจรัฐและเพิ่มอำนาจประชาชน

 


การปฏิรูปการเมืองในครั้งนี้ จะต้อง


1.     ปฏิรูปการใช้อำนาจรัฐ ที่เคารพศักดิ์ศรีของมนุษย์ ไม่แยกเพศ ความพิการ ชาติพันธุ์ และตั้งอยู่บนฐานสิทธิเสรีภาพของประชาชนทุกกลุ่ม


2.     สร้างรัฐสวัสดิการอย่างครบวงจรเพื่อเป็นหลักประกันให้ประชาชนทุกคนได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างทั่วถึง และเท่าเทียม


3.     สร้างประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถกำหนดวิถีชีวิตของตนเอง ในด้านการเมือง การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม


4.     สร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจรัฐของทุกองค์กร ทุกระดับ และเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชนในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ


5.     สร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ โดยการปรับโครงสร้างระบบภาษีที่เป็นธรรมและในอัตราก้าวหน้า อาทิ ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีการเล่นหุ้น ภาษีจากโอกาสทางนโยบาย เป็นต้น และการพัฒนาระบบเศรษฐกิจทางเลือก ที่กระจายโอกาสการเข้าถึงทรัพยากรอย่างเท่าเทียม รวมถึงการกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมกับแรงงานทุกภาคส่วนรวมทั้งแรงงานข้ามชาติด้วย


 


โดยสาระสำคัญในการปฏิรูปการเมือง กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ ความรู้ในการทำงานของแต่ละเครือข่ายเป็นเวลานับสิบปีดังนี้


 




  1. การมีส่วนร่วมทางการเมืองโดยตรง ประชาชนมีสิทธิกำหนดนโยบายสาธารณะทุกขั้นตอน มีอำนาจตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐทุกเรื่อง รวมทั้งการเสนอกฎหมายทั้งระดับชาติ ระดับท้องถิ่น  สามารถออกเสียงตัดสินใจในเรื่องที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชน เช่น การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี หรือข้อตกลงระหว่างประเทศ ข้อตกลงทางเศรษฐกิจต้องตราเป็นกฎหมายเป็นการเฉพาะ เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน

  2. การตรวจสอบอำนาจรัฐ ในกรณีทุจริตคอรัปชั่น การใช้อำนาจในทางที่ผิด การละเมิดสิทธิของประชาชน ต้องไม่มีอายุความ ประชาชนต้องมีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลได้โดยตรงและต้องมีมาตรการลงโทษ เช่น การยึดทรัพย์อาชญากรรัฐและผู้กระทำผิด ที่มีประสิทธิภาพ

  3. การระบุไว้ในรัฐธรรมนูญว่าประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ

  4. การปฏิรูปสื่อ สื่อวิทยุ/โทรทัศน์ต้องแบ่งสัดส่วน ส่งเสริมให้เกิดทั้งสื่อชุมชนและสื่อสาธารณะ ที่เป็นอิสระอย่างแท้จริงปราศจากการแทรกแซงทุกรูปแบบ และสนับสนุนการจัดทำสื่อภาคประชาชนที่ทุกกลุ่มสามารถเข้าถึงได้

  5. การส่งเสริมการรวมตัวขององค์กรประชาชนให้มีความเข้มแข็ง เช่น มีสภาประชาชนที่สามารถถ่วงดุลตรวจสอบอำนาจรัฐ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนพัฒนาการเมืองภาคประชาชน

  6. การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในองค์การอิสระ เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนทุกส่วนเข้าไปร่วมได้

  7. การมีอำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพโดยชุมชนรวมทั้งสภาพแวดล้อมด้านอื่นๆ ชุมชนสามารถสืบทอดจารีตวัฒนธรรมภูมิปัญญา กำหนดแผนการจัดการ โครงการ/กิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของชุมชนได้  โดยรัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนและคุ้มครองสิทธิของชุมชนดังกล่าวให้เป็นจริง

  8. การปฏิรูปที่ดินโดยมาตรการภาษีที่ดินก้าวหน้า กองทุนที่ดิน ระบบโฉนดที่ดินชุมชน ฯลฯ

  9. การสนับสนุนระบบเกษตรกรรมยั่งยืน และให้มีการจัดเก็บภาษีสารเคมีทางการเกษตร

  10. การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ต้องมีองค์กรอิสระเพื่อกำหนดมาตรการ/กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐ

  11. การทำข้อตกลงเขตการค้าเสรี ต้องจัดทำกฎหมายเฉพาะเพื่อเป็นกรอบในการตัดสินใจ

  12. การสร้างสันติภาพภาคใต้ การเคารพและให้สิทธิแก่คนในพื้นที่เป็นผู้กำหนดการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา และสร้างความเข้าใจในสังคมไทย

 


กระบวนการผลักดันการปฏิรูปการเมืองภาคประชาชน


1.     เราจะร่วมกันร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน   


2.     เราจะนำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน รณรงค์กับสาธารณะอย่างกว้างขวางในทุกเครือข่าย


3.     เราจะติดตามตรวจสอบการร่างรัฐธรรมนูญของรัฐ โดยนำร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนเป็นเกณฑ์ในการตรวจสอบ


4.     เราจะนำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน นำเสนอและผลักดันในทุกเวที ทุกช่องทาง


5.     เราจะปฏิบัติการ เสนอรูปธรรม ตามแนวความคิดรัฐธรรมฉบับประชาชน โดยไม่รอกฎหมาย หรือแนวนโยบายของรัฐ


 


เราขอยืนยันเจตนารมณ์อีกครั้งว่า


การปฏิรูปสังคม เศรษฐกิจและการเมืองที่เป็นธรรม


ประชาชนเท่านั้นที่สร้างได้


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net