Skip to main content
sharethis


หลังการพูดคุยแลกเปลี่ยนในวงสมัชชาสังคมไทยกันมากว่า 2 วัน ก็คลี่คลายไปสู่การเคลื่อนไหวในวันที่ 23 ต.ค. 49


เป็นการเคลื่อนไหวอย่างมีนัยยะสำคัญ


เนื่องจากการเคลื่อนไหวนั้นมีความหมายเชื่อมโยงไปถึงการเคลื่อนไหวในบรรยากาศการสั่งห้ามชุมนุมทางการเมืองในที่สาธารณะ ภายในสถานการณ์กฎอัยการศึกอันเป็นอาญาศักดิ์สิทธิ์ของทหาร ผู้ทรงอำนาจสูงสุดในสังคมไทยปัจจุบัน


การเคลื่อนไหวแบบนี้จึงคล้ายกับการทำอารยะขัดขืนอย่างมีเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการพูดถึงสิทธิในการแสดงออกถึงความต้องการมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างชัดเจน


ย้อนกลับไปในวันที่ 19 ต.ค. กลุ่มเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น 500 คน ที่เดินทางมากจังหวัดระนอง ประจวบคีรีขันธ์ ก็ถูกห้ามเข้าร่วมงานสมัชชาสังคมไทยเพื่อบอกกล่าวปัญหาของตนเอง


ย้อนกลับไปก่อนหน้าวันที่ 17 ต.ค. คนไทยทุกคนถูกสั่งห้ามชุมนุมแสดงความคิดเห็นทางการเมืองเกิน 5 คน ภายใต้ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรีเพิ่งแก้ให้พูดได้แบบแอบๆ เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้เอง เช่น ให้อิงในรั้วมหาวิทยาลัยก่อนพูด


เมื่อไปพูดคุยกับเครือข่ายบางเครือข่ายในงานสมัชชาสังคมไทย หลายคนก็พูดถึงการมีใบสั่งห้ามเดินขบวนในงานนี้จากในพื้นที่ พร้อมคำข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่น เรื่องแบบนี้มีปรากฏอย่างชัดเจน


ดังนั้น การเคลื่อนไหวครั้งนี้ภายใต้สถานการณ์กฎอัยการศึกของภาคประชาชน จึงเต็มไปด้วยบรรยากาศที่หลากหลายของประชาชนอันมีประสบการณ์ต่างกันตามสถานการณ์และพื้นที่ที่ต่างกันไปทั่วประเทศ


อย่างไรก็ตาม เมื่อความเคลื่อนไหวเกิดขึ้น ความวิตกของทหารก็เกิดขึ้น การคุกคามก็เกิดขึ้น !!!


ก่อนการเดินขบวนของภาคประชาชนบางส่วนของสมัชชาสังคมไทย เวลา 14.00 น. ทหารได้เริ่มเตรียมการเฝ้าระวังบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอันเป็นเป้าหมายของขบวนภาคประชาชนหลายจุด โดยกระจายกำลังจุดละ 2 นาย ในมุมตึกต่างๆ รวมด้วยตาเปล่าราว  20 นาย ทั้งหมดมีอาวุธพร้อมรบ(เอ็ม 16 ปืนพก บางคนมีระเบิดมือ) ที่แขนซ้ายระบุสังกัด 'รักษาพระองค์'


มองไปที่การเคลื่อนไหวระว่างการเดินทางเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น รูปขบวนสมัชชาสังคมไทยไม่ได้ต่างไปจากขบวนงานกีฬาสีตามโรงเรียนที่ไม่มีความรุนแรงแต่มีสีสัน ขบวนเริ่มต้นด้วยเครือข่ายผู้พิการ รถเครื่องเสียง ป้ายสมัชชาสังคมไทย ตัวแทนกลุ่มแรงงาน โดยตั้งต้นที่อนุสรณ์สถน 14 ตุลา และค่อยๆ เดินมาอย่างช้าๆ ด้วยเสียงที่ต้องการป่าวประกาศสู่สาธารณะว่า 'โลกใหม่ที่เท่าเทียม ประชาชนสร้างได้' ไปตามท้องถนนราชดำเนินมุ่งสู่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยอย่างสันติ


เมื่อไปถึงอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสียง 'เพลงสู้ไม่ถอย' ก็ดังขึ้น จากนั้นขบวนได้เดินเวียนซ้าย 3 รอบ ก่อนจะไปล้อมอนุสาวรีย์เพื่ออ่านคำประกาศของสมัชชาสังคมไทยโดย จอน อึ๊งภากรณ์  และเรวดี ประเสริฐเจริญสุข


งานเหมือนจะเรียบร้อยและจบลงไปอย่างง่ายๆ แค่นั้น แต่ในความเป็นจริงของสถานการณ์การจับตาการเคลื่อนไหวของประชาชนทุกฝีก้าวมันไม่ยอมให้จบเช่นนั้น


อุณหภูมิที่ทหารเริ่มรำคาญประชาชนเริ่มสูงขึ้น เมื่อร้อยโทท่านหนึ่งเหลือบไปเห็นใบปลิวแถลงการณ์นัดชุมนุม 'คัดค้านร่างสภาร่างทรงเผด็จการ  ของเครือข่าย 19 กันยาต้านรัฐประหาร ในวันที่ 24 ต.ค. หน้ารัฐสภาเวลา 10.00 น. จากผู้พิการท่านหนึ่ง ร้อยโทถึงกับหน้าเปลี่ยนสี คาดคั้นเอากับผู้พิการท่านนั้นว่า 'เอามาจากไหน' แต่ก็ได้คำตอบเพียงว่ามีคนเอามาแจก สีหน้าร้อยโทดูอึดอัด การพยายามคาดคั้นตามมาอีกครั้งทำให้ผู้พิการท่านนั้นหน้าเสียเล็กน้อย แต่ร้อยโทก็ผละออกไป


ทว่าก่อนที่ขบวนจะเดินทางกลับสู่อนุสรณ์สถานฯ ร้อยโทท่านเดิมนำทหาร 5 นาย พร้อมอาวุธเอ็ม 16 ไปที่กลุ่มสมัชชาฯ เพื่อจะขอเชิญตัวหนึ่งในผู้แจกใบปลิวกลุ่ม 19 กันยาฯ  โดยระบุความผิดว่า "ข้อความในใบปลิวขัดต่อกฎอัยการศึก" ทำให้ภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวและสื่อมวลชนเข้ามาห้อมล้อม จนร้อยโทคนนั้นต้องกล่าวกับผู้ใต้บังคับบัญชาว่า


"ถ่ายรูปไว้ก่อน ค่อยเชิญตัววันหลัง"


ก่อนจะกลับออกไปสังเกตการณ์ห่างๆ ท่ามกลางความขุ่นเคืองของภาคประชาชน มีการประกาศผ่านเครื่องเสียงว่า


"ถ้ามีการจับกุมหรือมีใครหายไป เป็นเรื่องใหญ่แน่นอน"


สุดท้ายแม้ว่าจะไม่เกิดอะไรที่เป็นการปะทะรุนแรง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าการปะทะทางอารมณ์ได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้


ดังนั้น บนความแตกต่างท่ามกลางกฎอัยการศึกของของกลุ่มประชาชนแต่ละพื้นที่ที่ต้องเผชิญในสภาวการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ อารมณ์แห่งการท้าทาย การเกรงกลัว ความหวาดหวั่น ความรู้สึกไม่มั่นคงต่อชีวิตคงกำลังก่อตัวขึ้นในหมู่มวลชน ภาพของการมอบดอกไม้ให้กับทหารในวันที่ 19 ก.ย. กำลังกลายเป็นสิ่งที่ถูกตั้งคำถาม เพราะหลังการมีอำนาจของทหารเพียง 1 เดือน สิ่งที่ประชาชนต้องเผชิญกำลังเปลี่ยนความรู้สึกนั้นไป


เพราะวันนี้ทหารแสดงให้เห็นแล้วว่ารอยยิ้มเมื่อวันนั้น ในวันพรุ่งนี้อาจกลายเป็น'กระสุนปืน'!  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net