Skip to main content
sharethis

ประชาไท - วานนี้ (25 ต.ค.2549) ที่พรรคไทยรักไทย นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย แถลงภายหลังเข้าพบ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเชิญ 44 พรรคการเมืองหารือขอความเห็นกรอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยยืนยันว่า พรรคไทยรักไทยยินดีให้การสนับสนุนในเรื่องของการแก้ปัญหาภาคใต้โดยไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ส่วนเรื่องการจัดทำรัฐธรรมนูญนั้น ได้เสนอไป 2 ประเด็นคือ ทำอย่างไรให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย และมีกระบวนการที่ดี โดยพรรคการเมืองคงสามารถช่วยได้ในการเสนอความเห็นในเวทีต่างๆ หรือพรรคการเมืองเสนอเป็นความเห็นร่วมกัน เรายังยืนยันหลักการเดิมที่พร้อมจะร่วมแสดงความเห็นในเวทีที่เหมาะสม แต่จะไม่ไปร่วมเป็นคณะกรรมการใดๆ


 


นายจาตุรนต์ กล่าวต่อว่า วันนี้รัฐบาลยังไม่มีแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ก็ยังไม่รู้ เมื่อเป็นแบบนี้จึงควรเปิดโอกาสให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ซึ่งหากจะได้ร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็ว ก็อยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540เป็นต้นแบบ และแก้ไขเฉพาะเรื่องที่เป็นสาระสำคัญ แต่เบื้องต้นรัฐบาลต้องผ่อนปรน ผ่อนคลายคำสั่งที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพประชาชนเสียก่อน ซึ่งพรรคการเมืองก็จะได้รับอานิสงค์ไปด้วย จากนั้นจึงมาช่วยกันคิดเสนอความเห็นในการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เรื่องกฎอัยการศึกเราคงไปชี้แจงแทนไม่ได้ ซึ่งนายกฯเองก็มีความตั้งใจที่จะเร่งแก้คำสั่งเกี่ยวกับพรรคการเมืองรีบนำเสนอสนช.


 


สำหรับความคืบหน้าในการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล คมช. และสนช.นั้น นายจาตุรนต์กล่าวว่า ยังมีปัญหานิดหน่อย เพราะยอดสมาชิกที่สนใจร่วมงานยังไม่นิ่ง ต้องใช้เวลาอีกหน่อย ส่วนกรณีที่นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ได้รับเลือกเป็นประธานสนช.ท่ามกลางกระแสบล็อกโหวต นายจาตุรนต์กล่าวว่า ได้เสนอความเห็นไปแล้วว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะคมช.เป็นคนตั้งสนช.ขึ้นมาก็ย่อมที่จะกำหนดตัวประธานได้ ดังนั้นคงไม่วิจารณ์ตัวประธานอีกต่อไป เพราะไม่ใช่ประเด็นสำคัญอะไรแล้ว แต่ในส่วนของการทำงานนั้น เคยบอกแล้วว่าสนช.จะต้องแก้กฎหมายหรือยกร่างกฎหมายเท่าที่จำเป็นเท่านั้น เพราะไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ส่วนพรรคไทยรักไทยคงจะติดตามการทำงานของสนช. เสนอความเห็นตามความจำเป็น และวิจารณ์ร่างกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง


 


ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้คมช.ชี้มูลเหตุของการยึดอำนาจและความเลวร้ายของระบอบทักษิณ นายจาตุรนต์กล่าวว่า เรื่องนี้ห้ามไม่ได้ ใครจะชี้แจงอย่างไรเป็นสิทธิของผู้มีอำนาจ ผู้ที่เสนอความเห็นก็คงคิดว่าเป็นประโยชน์ทางการเมืองต่อผู้เสนอเอง พรรคไทยรักไทยคงไม่เอาเรื่องเกี่ยวกับบุคคลในรัฐบาลที่แล้วมาชี้แจงแทน สำหรับสาเหตุของการยึดอำนาจนั้น ส่วนตัวคิดว่าประชาชนไม่สนใจการชี้แจง แต่สนใจการปฏิบัติว่าที่ให้เหตุผลไว้ทำจริงหรือไม่ เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในความสนใจของประชาชน เพราะมีเรื่องที่ต้องเดินหน้าต่อไปเยอะแยะและประชาชนสนใจมากกว่า โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยจริงๆ


 


ด้าน พล.อ.สุรยุทธ์ แถลงหลังการหารือกับหัวหน้าพรรคต่างๆ ว่า ได้ชี้แจงกับหัวหน้าพรรคการเมืองว่า ขณะนี้ ครม. มีมติผ่อนคลายคำสั่ง คณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ที่ห้ามชุมนุมทางการเมือง โดยจะมีการนำมติ ครม.เสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)เพื่อออกเป็น พ.ร.บ.แก้ไข ประกาศ คปค. ที่สั่งห้ามชุมนุมเกิน 5 คน และมีโทษทางอาญาด้วยนั้นจะพยายามผ่อนคลายให้เร็วที่สุด คิดว่าภายในต้นเดือน พ.ย.น่าจะเป็นไปได้


        


ส่วนแนวทางในการร่างรัฐธรรมนูญนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า รัฐบาลยังไม่มีกรอบแนวคิดที่ชัดเจน มีแต่แนวคิดของตน รัฐบาลและ ครม.ยังไม่ได้หารือกันในเรื่องนี้


         


สำหรับกฎอัยการศึกนั้น พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่าก็ได้พูดคุยกับหัวหน้าพรรคการเมือง โดยได้บอกไปว่าจะพยายามทำให้เร็วที่สุด เมื่อสถานการณ์ ด้านความมั่นคงเอื้ออำนวยให้


         

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net