Skip to main content
sharethis

ในบรรยากาศของกฎอัยการศึกเมื่อ วันที่ 25 ตุลาคม 2547ที่ สภ.อ.ตากใบ จังหวัดนราธิวาส เมื่อมีการชุมนุมของชาวบ้าน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการดำเนินการปราบปราบปรามด้วยกำลังอาวุธ มีการยิงปืนใส่ประชาชนในแนวราบ มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 6 คน หลังการปราบปรามมีการปฏิบัติต่อผู้ถูกควบคุมราวกับไม่ใช่มนุษย์ โดยเฉพาะเคลื่อนย้ายผู้ถูกจับกุมด้วยวิธีการจับมัดนอนเรียงซ้อนกันขึ้นไป 4-5 ชั้น ต่อรถ 1 คัน ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 78 คน


 


จนถึงวันนี้ยังไม่มีการขอโทษและการดำเนินคดีกับผู้รับผิดชอบการสั่งการณ์ในเหตุการณ์ดังกล่าว ในทางกลับกันชาวบ้านตากใบ 58 คน กลับถูกดำเนินคดีด้วย "ข้อหาบังคับขืนใจเจ้าหน้าที่รัฐ"


 


นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงภายใต้กฎอัยการศึกอันมีทหารเป็นผู้มีอำนาจในพื้นที่ !


 


"มีน้องนักศึกษาร่วมสถาบันถึงเหตุการณ์ตากใบว่าเกิดอะไรขึ้น และเกิดจริงหรือ เป็นคำถามที่น่าสนใจพร้อมๆกับกังวลใจ เพราะเหตุการณ์ที่เกิดมักจะประกอบด้วยคนได้รับผลกระทบอยู่เสมอ ตลอด 2 ปีที่ผ่านมาชีวิตเล็กๆที่ได้รับผลกระทบเหล่านี้คืออะไร ดังนั้นการพูดถึงจะเป็นบทเรียนครั้งสำคัญต่อสังคมไทย การใช้ความรุนแรงต่อประชาชนครั้งนี้แม้จะไม่ใช่ครั้งแรก แต่ถ้าไม่พูดก็จะเกิดขึ้นอีก"เบื้องต้นคือคำพูดของ น.ส.ประทับจิตร นีละไพจิตร หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบจากเจ้าหน้าที่รัฐในเหตุการณ์ภาคใต้ที่จะขอใช้นำไปสู่การทบทวนความทรงจำ


 


เพราะในตอนนี้การทบทวนความทรงจำยิ่งเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจากสถานการณ์ประกาศใช้กฎอัยการศึกกับประกาศใช้ทั่วประเทศ แม้ว่าจะมาจากต่างสาเหตุแต่ก็นับเป็นสภาวะการณ์เดียวกัน


 


ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ตุลาคม 2549 คณะทำงานยุติธรรมเพื่อสันติภาพ จัดเสวนาสาธารณะเรื่อง "สองปีเหตุการณ์ตากใบกับแนวทางการแก้ปัญหาการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและการละเมิดสิทธิมนุษยชนใน 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้" ณ อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


โปรดใช้งานเสวนานี้ทบทวนความทรงจำอีกครั้งหนึ่ง


 


                                                                  000


มามะรีกะห์ บินอุมา


หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ตากใบ


ติดคดีมา 2 ปีแล้ว ถึงวันนี้ไม่สบายใจทุกวันไม่รู้จะอยู่อย่างไรเพราะมีครอบครัวหลายคน จะทำงานก็ลำบาก เพราะคนติดคดีและกลัวจะมีการตามไปเก็บ ก็ลำบากจะออกจากบ้านก็ไม่กล้าออก


 


ในวันนั้นเป็นวันถือศีลอดจะไปซื้อของหวานกับเสื้อผ้าลูกที่ตลาดตากใบ มองเห็นที่ สภ.อ.ตากใบ มีคนมุง จึงขอเมียไปดู ตั้งแต่ตอนนั้นเขาก็ยิงใส่เลย เรื่องในสภ.อ.ตากใบไม่รู้เรื่องเลย จะออกเขาก็กั้นไม่ให้ออกโดยมีด่านตำรวจ ที่รอดมาถึงทุกวันนี้เพราะบังเอิญอยู่ข้างบนสุด ส่วน 14-15 คน ที่ข้างล่างถูกทับตายหมด เพราะใช้เวลาเดินทาง 6 ชม.


 


ตอนโดนจับไปสอบสวนที่ปัตตานี ตอบเขาว่าไปซื้อของกับเมีย ไม่รู้เขาคิดอย่างไรจึงติดคดี อาจจะเป็นได้ว่ามีภาพติดในภาพวิดิโอ แต่ผมก็ไม่อยู่ข้างหน้า เขาอาจเห็นว่าผมหน้าตาไม่ดีเป็นโจร


 


000


จอน อึ๊งภากรณ์


หนังสือพิมพ์บนอินเตอร์เน็ตประชาไท


การถามว่าเหตุการณ์ตากใบเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ถือเป็นความด้อยของสังคมไทยในหลายเรื่อง ทั้งสื่อมวลชนและปัญญาชนที่ไม่รับรู้เรื่องใหญ่ๆที่เกิดในสังคม สื่อก็มีแต่เกมโชว์ระหว่างเกิดเหตุการณ์ร้ายๆ เรื่องเหล่านี้ต้องจารึกในประวัติศาสตร์และต้องเรียนรู้ทุกคน


 


ได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับภาคใต้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืนวันที่ 4 มกราคม 2547 ได้ลงพื้นที่ร่วมกับเพื่อน ส.ว. ได้รู้สึกถึงความโหดร้ายของการฆ่าทหารที่ใช้วิธีปาดที่คอโดยส่วนตัวไม่คิดว่าทหารจะทำกันเองเหมือนที่มีกระแสความเชื่ออกมา เพราะทหารไม่น่าจะทำร้ายพวกเดียวกันด้วยวิธีการที่โหดร้ายเช่นนี้


 


อีกเรื่องที่ประทับใจในทางลบคือการลงไปเยี่ยมชุมชนและปอเนาะใกล้เคียง ก็ถูกมองอย่างระแวงว่าเป็นใคร ที่มองลบคือชุมชนถูกกระทำจากเจ้าหน้าที่รัฐโดยถูกปราบปรามจนบอบช้ำจากคนภายนอกที่เข้าไป


 


อีกเรื่อง ชาวบ้านผู้หญิงเล่าเรื่องการถูกกอุ้มหายไปของสามีแต่รอดมาเล่าให้ฟังว่า ถูกจับไปตอนกรีดยาง สำเนียงที่พูดของคนจับเป็นคนจากภาคอื่นและปกปิดหน้า แต่พอถามเสร็จก็ปล่อย จากคำบอกเล่านี้ทำให้รู้เรื่องการนำกำลังคนจากรัฐเข้าพื้นที่โดยไม่มีความสัมพันธ์กับชุมชนแต่ใช้วิธีรุนแรงในการหาข้อเท็จจริง


 


ภายหลังบิ๊กจิ๋ว(พล.อ.ชวลิตร ยงใจยุทธ)ออกมายอมรับว่ามีการทำแบบนี้และการอุ้มฆ่าจริง เป็นการยอมรับโดยนักการเมืองในรัฐบาลทักษิณ บอกอีกว่าเป็นเรื่องผ่านไปแล้ว จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้อีก แต่หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์กรือเซะที่สื่อมวลชนไม่มีโอกาสเข้าไปรับรู้ เช่น ทำไมคนหนุ่มสะบ้าย้อยจึงตายหมด ตายอย่างไร ถูกยิงแบบเลือดเย็นหรือมีการต่อสู้


 


ต่อมาเมื่อเกิดเหตุการณ์ตากใบ หลังเหตุการณ์ประมาณ 2-3 วันได้ลงไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร กับเพื่อนส.ว.ทหารมารายงานให้ฟัง พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ จึงถามแม่ทัพภาคที่ 4 (พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี)อย่างตรงไปตรงมาว่า มีภาพทางสื่อเนชั่นออกมาว่ามีการยิงปืนในแนวราบด้วยที่รายงานว่าไม่มียิงลักษณะนี้ รูปมีปลอกกระสุนกระเด็นออกมาคือรูปอะไร แม่ทัพภาคที่ 4 จึงยอมรับว่ามีการยิงต่อสู้กันจริง ใช้คำว่าต่อสู้เพื่อแสดงว่ามีการยิงแลกกัน แต่ไม่มีรายงานออกมาเลยว่ามีผู้ชุมนุมยิงใส่ตำรวจ มีแต่ปืนขึ้นสนิมที่เอาขึ้นมาจากน้ำ ซึ่งไม่รู้ว่าใช้ยิงทหารหรือไม่


 


จากนั้นมีโอกาสเยี่ยมผู้ถูกจับและโดยมีทหารคุม เขาก็ให้ผู้ถูกจับแสดงบรรยากาศร้องเพลงช้างและเล่นเกมกับ ส.ว. นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณจึงขอแยกให้เป็นคุยกลุ่มย่อย ทหารจึงคุมไม่ได้ ทำให้ได้ฟังความจริงว่าถูกกองบนรถอย่างไรบนรถ


 


เคยนึกว่าเป็นอุบัติเหตุในการขนย้าย แต่ในรถแต่ละคันมีทหารเฝ้า พอมีการร้องขอความช่วยเหลือก็ถูกด่าและใช้เท้าเหยียบ จึงเป็นการตายต่อหน้าทหารและทหารรับรู้ ก็ถามไปโดยตลอดว่าทำไมไม่วิทยุสื่อสารแจ้ง หรือไม่ปลดแก้มัดก็ไม่ได้คำตอบ


 


เมื่อคุยอีกก็มีข้อเท็จจริงอีกว่า ที่สั่งให้สลายแล้วแต่ไม่สามารถสลายตัวได้เพราะมีการปิดกั้นทางออก อีกทั้งคนที่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์มากมายก็ถูกจับด้วย เช่น ช่างไฟที่ไปซ่อมไฟฟ้าใน อ.ตากใบ ในวันนั้น เมื่อกำลังกลับบ้านก็เจอด่านตรวจ ด่านแรกตรวจเป็นเวลานานแต่ปล่อย พอเจอด่านสองก็ถูกยึดมอเตอร์ไซค์จากนั้นก็ถูกจับแล้วเอาขึ้นรถ มาที่ สภ.อ.ตากใบ โดยไม่เกี่ยวข้องเหตุการณ์เลย ดังนั้นในการชุมนุมบางส่วนก็เป็นการชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยผู้ต้องหา บางส่วนก็เป็นคนอยากไปดูจนกลายเป็นผู้ต้องหา


 


ข้อเท็จจริงคือไม่รู้ใครสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ตรงไหนในเหตุการณ์ อย่างไรก็ตาม มีการสั่งออกมาว่าให้จับให้หมด โดยเชื่อว่าถ้าจับได้จะเจอคนหัวรุนแรงอยู่ในนั้น แต่ในการจับทหารไม่ได้เตรียมที่จะจับให้หมดจึงมีรถเพียง 24 คันทำให้ต้องกองคนขึ้นไปหลายชั้น


 


นอกจากนี้ ในช่วง 2-3 เดือนมานี้ เพื่อน ส.ว.ลงพื้นที่อีกครั้งแล้วมาเล่าให้ฟังว่า มีโอกาสไปเจอมือปืนภาครัฐเป็นทหารที่ถูกปลดแล้วแต่ถูกจ้างให้ไปเก็บชาวบ้าน เขาให้คณะดูสำเนาบัตรประชาชนคนที่จะต้องสังหารทั้งหมด


 


ดังนั้นเราจะเห็นว่ารัฐบาลทักษิณมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในการทำให้ความรุนแรงในภาคใต้ทวีคูณด้วยการเปิดไฟเขียวให้มีอาชญากรรมของรัฐต่อประชาชนใน 3 จังหวัดภาคใต้ และไม่มีความชอบธรรมใดๆแม้จะมีอาชญากรรมจากส่วนอื่นก็ตาม


 


ส่วนผู้ที่ได้ผลกระทบในเหตุการณ์มีทั้งมุสลิมและศาสนาอื่น โดยมุสลิมตายมากกว่าแต่มีการเข้าใจผิดว่าเป็นชาวพุทธตายมากกว่า และสิ่งที่ต้องอธิบายต่อทั่วโลกคือไม่ใช่ความขัดแยงทางศาสนาอีกทั้งควรต้องมีการเจรจา แต่มีคำถามจากเวทีสมัชชาสังคมไทยที่เพิ่งจัดไปว่าจะเจรจากับใคร


 


คิดว่าคำตอบคือการเจรจาระหว่างรัฐกับชุมชนในพื้นที่เป็นสำคัญ การแก้ปัญหาความไม่ยุติธรรมในภาคใต้คงทำได้ยาก โดยเฉพาะอาชญากรรมที่ก่อโดยคนของรัฐ การแก้ไขในที่สุดจะต้องมาจากทุกฝ่ายโดยเฉพาะชุมชนใน 3 จังหวัด ส่วนตัวสนใจรูปแบบการแก้ปัญหาระหว่างคนขาวกับคนสีของอาฟริกาใต้ คือมีคณะกรรมการสมานฉันท์กับข้อเท็จจริง เราไม่มีทางแก้ไขดื้ถ้าความจริงไม่ปรากฏ และต้องเป็นความจริงของทุกส่วน และถ้าปรากฏแล้วอาจต้องลงเอยด้วยอภัยโทษให้ทุกฝ่าย


 


แต่ต้องเป็นอภัยโทษหลังจากแต่ละส่วนได้ยอมรับความผิดในบทบาทของตนเองแล้ว ในอนาคตเป็นเรื่องที่น่าจะพิจารณาแต่คิดว่ายากที่จะเอาอาชญากรภาครัฐโดยเฉพาะที่ใหญ่ๆมาดำเนินคดี เพราะสังคมไทยมีความไม่ยุติธรรม คนที่รับคำสั่งก็ต้องรับแทนคนที่ออกคำสั่ง อยากจะบอกว่าจะสร้างความสมานฉันท์ได้ต้องมีองค์ประกอบส่วนแรกคือความจริงปรากฏบันทึกไว้


 


ประการที่สองต้องชดเชยต่อทุกครอบครัวที่เสียหาย แน่นอนว่าชดเชยการตายไม่ได้ แต่ต้องชดเชยทุกทางเพื่อไม่ให้มีการซ้ำรอย และบนพื้นฐานนั้นคือการอภัยโทษเพื่อยุติความรุนแรง


 


อย่างไรก็ตาม นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน บอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะความเชื่อทางศาสนาต้องรับโทษทางกฎหมาย เว้นแต่ผู้เสียหายยอมก็ให้ผ่อนปรนได้ เป็นการอภัยโทษที่มาจากผู้เสียหาย ก็อาจพิจารณาคุยได้เพียงแต่ยังเร็วไปในตอนนี้ อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้จะเป็นส่วนประกอบการแก้ไขปัญหาในระยาว


 


ขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในฐานะประชาชนคนหนึ่ง เราไม่น่าเปิดโอกาสให้รัฐมาดำเนินอาชญากรรมต่อประชนของเรา เราจะต้องสร้างความเข้าใจต่อประชาชนทุกส่วน จะทำได้จริงก็ต้องอยู่ในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริงซึ่งตอนนี้ไม่ใช่ ต้องอยู่ในบรรยากาศสื่ออิสระแท้จริงตอนนี้ก็ไม่ใช่ และต้องอยู่ในการศึกษาที่ต้องสอนเรื่องสันติภาพ การอยู่ร่วมกันในวัฒธรรม เชื้อชาติ ศาสนาที่ต่างกัน


 


000


นายแพทย์อนันตชัย ไทยประทาน


อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อคามสมานฉันท์แห่งชาติ


ข้อเท็จคือตอนนี้มีการถูกฆ่าทุกวันวันละ 4 คนและมากขึ้น มันหดหู่ที่ต้องดูการตายที่ไม่จำเป็นในฐานะหมอ ทำไมคนที่ทำให้ตายไม่คิดบ้างว่าคนที่ตายเขาก็มีครอบครัว ในพื้นที่วันนี้มีพระตาย พรุ่งนี้จะต้องมีโต๊ะครูตาย หรือพอทหารตายชาวบ้านก็ต้องตาย รัฐก็เป็นมือปืน ชาวบ้านก็มีมือปืน แต่รัฐต้องเริ่มหยุดก่อน และมีสัญญาณดีที่รับจากรับทหารแม้จะไม่เป็นประชาธิปไตย คือแม้นายกรัฐมนตรี(พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์)จะถูกลองของก็พูดด้วยการระวังคำพูด ยังเน้นใช้แนวสันติผิดจากผู้นำคน ก่อนประการต่อมาคือยกภาคใต้เป็นข้อที่ที่รีบทำด่วน


 


ข้อสามคือการไปเยือนประเทศในอาเซียนแม้จะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติแต่ก็เอาวาระภาคใต้ไปพูดทุกประเทศโดยเฉพาะกับประเทศมาเลเซียซึ่งต้องใช้ความจริงใจในการร่วมมือจริงๆ มาเลเซียก็อยากช่วยแต่รัฐไม่เปิด ภาคประชาชนทางมาเลเซียจะช่วยก็แทรกตัวมาลำบาก ส่วนการเจรจาก็น่าจะหาทางได้ แม้แต่คนที่ถูกตั้งค่าหัว หาคนคุยเปิดทางได้


 


เพียงแต่ตอนนี้ทางผู้ก่อการได้เปรียบ แต่ถ้ารัฐเคลียร์คดีออกมาทีละคดี ความชอบธรรมเขาจะลด แต่ตอนนี้รัฐยังต้องถูกทดสอบทั้งจากเจ้าหน้าที่รัฐนอกลู่ กลุ่มอำนาจเก่า และกลุ่มก่อการ ปมนี้เขาต้องการไม่ให้ถูกแก้ทันที ถ้ามันถูกแก้ เขาจะต้องเจรจาเองเพราะหมดความชอบธรรม


 


ส่วนการนิรโทษกรรมถ้าไม่มีการเคลียร์ความจริงกันก็ทำไม่ได้ คำสั่งพระเจ้าสอนว่าทายาทมีสิทธิจะเรียกชีวิตกลับคืนหรืออาจเรียกสินไหม หรืออาจให้อภัย ดังนั้นการนิรโทษกรรมเป็นสิ่งกำหนดแทนโดยรัฐไม่ได้ ต้องเป็นการกำหนดโดยมีส่วนร่วมของผู้ได้รับผลกระทบ รัฐไปกำหนดจากข้างบนเมื่อเขาตายแล้วเขารับไม่ได้ ต้องส่งเสริมไปที่รากหญ้าโดยต้องมีการรับความผิดก่อน เหตุการณ์ที่ยะลามีภาพในวิดิโอคนที่ยังไม่ตายก็ปล่อยให้ตาย ทั้งที่ทหารก็เหมือนหมอ เขารู้ว่าว่าจุดตายอยู่ตรงไหน เมื่อมีคนเอามีดวิ่งเข้ามาสู้ปืนจะไว้ชีวิตไม่ได้หรือ ในวิดิโอที่ไม่เปิดเผยมีการปล่อยให้ตาย บางคนยังมีชีวิตพลิกตัวได้ก็ไม่ช่วย ถ้าเปิดเผยจริงก็ต้องขึ้นศาลโลกด้วยซ้ำ หลังการปะทะก็ต้องช่วยเหลือตามสมควรไม่ใช่ปล่อยให้ตาย


 


000


จันจิรา สมบัติพูนศิริ


ศูนย์ข่าวสารสันติภาพ


ได้เข้าเกี่ยวข้องกับเรื่องในภาคใต้เมื่อเข้าไปช่วยในเรื่องการเยียวยาฐานะอาสาสมัครซึ่งจะมองมลายูมุสลิมจากฐานะลูกจีนคนนอก เห็นว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ตากใบ ถ้าวัดจากระยะเวลาหลังเหตุการณ์มาถึงวันนี้มีคนตายมากกว่า86 คน บางคนถูกยิง บางคนมีอาการไตวายเสียชีวิตภายหลังเพราะการถูกซ้อนทับวันนั้น


 


ผลกระทบมีไปถึงคนในครอบครัว แม่ เมีย ลูก เพราะส่วนมากคนที่ตายจะเป็นเสาหลักครอบครัว จะทำงานเช่นเดิมไม่ได้ ลูกบางคนต้องออกจากโรงเรียนเพราะต้องมาช่วยพ่อแม่ แม่บางคนไม่มีเงินซื้อนมให้ลูกกินต้องใช้นมข้นหวานชงแทน คนชราไม่มีเงินรักษาโรคประจำตัว หลายคนมีอาการซึมเศร้า เครียด กลัว โกรธแค้น มีถึงสติฟั่นเฟือนหรือความจำเสื่อม ปัญหาในอนาคต ลูกหลานของผู้ที่เสียชีวิตจะมีปัญหาการจัดการความทรงจำโดยไม่เข้าใจว่าพ่อหรือญาติของเขาทำไมต้องตายโดยหกระทันหัน และใครป็นผู้พรากชีวิตไป


 


ประเด็นต่อมา ปัญหาในในภาคใต้มีวัฒนธรรมที่ยอมรับกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ โดยคิดว่าสิทธิมนุษยชนมันเป็นจริตนักวิชาการ เอ็นจีโอ หรือเป็นของฝรั่งไม่มีในสังคมไทย แต่ถ้าคิดว่ามนนุษย์คืออะไร ควรได้รับการปฏิบัติต่อกันแบบใด ความคิดง่ายๆแบบนี้มันรองรับสิทธิมนุษยชนอยู่


 


บางคนบอกว่าเหตุการณ์ที่ตากใบเป็นการทำกับลูกเราเหมือนเป็นสัตว์ มันเป็นการปฏิบัติที่ผิดปกติทำให้คนไม่ใช่คน ชาวบ้านรู้สึกชัดเจนว่าเป็นการละเมิดชีวิตลูกหรือสามี ความผิดปกติเหล่านี้อยู่ๆก็กลายเป็นเรื่องปกติ สิ่งหนึ่งที่เขาใช้จัดการคือความจริงคือการจัดการกับความรู้สึกหรือความกลัวโดยทำให้สิ่งผิดปกติกลายเป็นเรื่องปกติ


 


ดังนั้น จึงน่าสนใจสังคมไทยกับประเด็นที่มีนักศึกษาถามว่าเหตุการณ์ตากใบมีจริงหรือไม่ และมันมีทั้งคนสงสาร หรือสะใจต่อเหตุการณ์ ดีกรีบางอย่างที่สะใจ ทำให้เกิดการยอมรับได้ พยายามตั้งข้อสังเกตปัญหานี้คิดว่าคงเหมือนกับที่อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เคยพูดว่าเป็นเพราะปุ่มกลางหลังที่เรียกว่าปุ่มชาตินิยม จึงมองคนที่ไม่ใช่ไทยด้อยกว่าและถูกปฏิบัติอย่างไรก็ได้ ต้องยอมรับว่ามีอยู่จริงและเป็นการรองรับการละเมิดสิทธิมนุษยชน


 


ส่วนจะแก้ไขทำอย่างไร คิดว่าต้องตั้งคำถามกับประเด็นต่างๆทางสังคม จะช่วยให้คุณค่าความเป็นมนุษย์ปรากฏขึ้นมาบ้าง


 


000


เสน่ห์ จามริก


ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


ต้องมีขบวนการคิดร่วมกันในการพัฒนาร่วมกันอย่างมองอะไรยาวๆในแนวทางการแก้ไขกระบวนการยุติธรรม ซึ่งมันเกิดขึ้นทั่วไปในประเทศไทยไม่เพียงเฉพาะภาคใต้ เพียงแต่ภาคใต้เป็นผู้แสดงกลุ่มใหญ่


 


สังคมไทยมีความแตกต่างแต่เราไม่ยอมรับความแตกต่าง ส่วนความยุติธรรมก็ไม่ใช่เรื่องของ ศาล อัยการ เท่านั้น แต่เริ่มที่ชุมชน


 


ความยุติธรรมต้องเข้าถึงประชาชนและมาจากขบวนการทางสังคม ต้องอยู่ในความควบคุมดูแลของภาคสังคมบนความแตกต่าง เริ่มจากที่จะให้มีการยอมรับจากกฏธรรมเนียมประเพณีเป็นธรรมนูญชุมชน มองความเป็นตัวตนของชุมชน ชุมชนต้องรู้จักตัวเอง ฟื้นฟูตัวเอง หรือการจะสมานฉันท์กับอะไรนำไปสู่อะไรบ้างก็ต้องกลับมาดูที่ชุมชน


 


แต่การปฏิรูปการเมืองที่กำลังเกิดเป็นเรื่องของนักกฎหมายไปเสียแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเคยออกกฎหมายมา 2 ครั้งก่อนหน้าการปฏิรูประบุว่า การปฏิรูปการเมืองไม่ได้เริ่มจากการแก้รัฐธรรมนูญ เพราะเป็นเกมทางการเมืองที่ไม่อำนวยประโยชน์ให้ประชาชนเลย ต้องให้ชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งขึ้น ไม่ใช่เฉพาะภาคใต้เท่านั้น แต่ต้องเป็นทุกส่วนทั่วประเทศ


 


ตอนนี้เรามองประชาธิปไตยแบบฝรั่งคือ มีเลือกตั้ง มีสภา มีอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ แต่การถ่วงดุลอำนาจระดับชาติจะไม่เกิดขึ้นถ้าไม่เริ่มจากท้องถิ่น ดังนั้นจึงไม่ใช่นิติบัญญัติควบคุมรัฐ ถ่วงดุลย์บริหาร องค์กรอิสระในรัฐธรรมนูญก็อย่ามีดีกว่าเพราะเราไม่มีฐานอะไรที่ถ่วงดุลย์เลย


 


การแก้ปัญหาภาคใต้ไม่ใช่มองแค่เรื่องกรือเซะ ตากใบ ปัญหามีมาเยอะตั้งแต่ในอดีตเช่น ถังแดง หรือการมองท้องถิ่นก็ไม่ใช่แค่ มองไปที่อบต.(องค์การบริหารส่วนตำบล) หรืออบจ.(องค์การบริหารส่วนจังหวัด) เพราะระดับนั้นเป็นพันธมิตรกับอำนาจส่วนกลาง เว้นไม่กี่ที่เช่น จะนะ บ่อนอก หรือบ่อบำบัดน้ำเสียที่สมุทรปราการ


 


ทั้งนี้ เวลาพูดถึงความเข้มแข็งท้องถิ่นเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์ ความเข้มแข็งของท้องถิ่นเท่านั้นที่จะทำให้เรามีความยุติธรรม ในภาคใต้นอกเหนือจากการเยียวยา ลงโทษ การพัฒนาฟื้นฟูทำไม่ได้ในเวลาอันสั้น คนในท้องถิ่นเองต้องจัดการด้วยตัวเอง แต่ถ้ากระบวนการการเมืองเป็นแบบนี้ มีตากใบ 1ก็มีตากใบ 2 ได้


 


ดังนั้น ในกรณีกรือเซะ หรือตากใบต้องมองไปไกลกว่าการสูญเสีย ขณะนี้ คณะกรรมการสิทธิ์ ฯ ร่วมมือกับสภาทนายความตั้ง ศูนย์นิติธรรมสมานฉันท์ มีภาระกิจในการสร้างความเข้มแข็งกับท้องถิ่น เพียงแต่ตอนนี้ยังทำหนักไปในทางคดี ซึ่งจะต้องให้มากกว่านั้นคือให้ความเข้มแข็งกับท้องถิ่น จากนั้น นักวิชาการหรือหลายๆฝ่ายให้มาผนึกกำลังกันยืนยันแนวทางการปฏิรูปการเมืองให้เข้มแข็งขึ้นในมือของประชาชนไม่ใช่ในมือนักกฎหมาย


 


การกระจายอำนาจไปที่ อบต. หรือ อบจ.หรือ ในระดับเล็กๆ ต้องถูกถ่วงดุลด้วยชุมชน สามารถทำงานร่วมกับชุมชนท้องถิ่น  และถึงเวลาที่ชุมชนต้องทำเองไม่ใช่ราชการเป็นฝ่ายเริ่มต้น ความสมานฉันท์ ต้องมองไปถึงชุมชน อยากให้ท้องถิ่นมองไปที่คนที่มีความแตกต่างบ้าง เพราะถ้าในชุมชนไม่มีความสมานฉันท์คนที่คิดต่างก็จะถูกแบ่งแยกตลอดเวลา ต้องมีศิลปะในการคิด การกระทำ ไม่ดูถูกดูแคลนกัน เข้าใจกันภายในชุมชน


 


ดังนั้นแนวทางแก้ไขปัญหาต้องมองให้ลึกและไกล เหตุการณ์ตากใบได้บอกให้เรารู้ว่ากระบวนการยุติธรรมได้ล้มเหลวไปเสียแล้ว เรากำลังเผชิญกับวัฒนธรรมองค์กรรัฐที่มองว่าการละเมิด กดขี่ข่มเหงประชาชนเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งน่ากลัวมาก


 


ปัญหาวัฒนธรรมองค์กรที่กำลังประสบนี้หนักมากแก้ไขได้โดยท้องถิ่นเท่านั้น ทุกฝ่ายต้องทำงานให้ชาวบ้านลุกขึ้นมาทำเอง ต้องแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คนในท้องถิ่นมีศักยภาพพอที่จะทำอะไรด้วยตัวเองได้ มองสังคมในวงกว้างก้าวข้ามตัวตน สร้างกระบวนการให้เกิดขึ้น ย้ำว่าเราไม่ได้เริ่มจากศูนย์


 


000


กิจจา อาลีฮิจเฮาะห์


เลขานุการศูนย์นิติธรรม


คดีตากใบมีชาวบ้านเป็นจำเลย 58 คน ผ่านไปสามปีมีการสืบพยานไป 3 ปาก โดยอัยการยื่นไปเกือบ 2000 ปาก อัยการอ้างว่าส่งหมายไปเรียก พล.ท.พิศาล วัฒนวงษ์คีรี ไม่ได้ เพราะไม่รู้ไปอยู่ไหน หรือคดีแพ่งที่มีการฟ้องเจ้าหน้าที่ก็บอกแบบเดียวกัน เป็นเรื่องที่น่าตลกมาก


 


เมื่อฟ้องแพ่งไปแล้วมีข้อที่น่าสังเกตว่าตำรวจได้เรียกโจทย์ในคดีมาสอบปากคำเรื่องที่ครอบครัวผู้ตายได้รับเงินเยียวยาแล้ว 3-4 แสนบาท โดยถามประเด็นเดียวว่ายังติดใจเรียกค่าเสียหายหรือไม่ บางคนถูกลงบันทึกว่าไม่ติดใจ ซึ่งการกระทำแบบนี้ทั้งที่มีการยื่นฟ้องไปแล้วไม่น่าเกิดขึ้น และต้องมีคำสั่งมาจากระดับสูง


 


นอกจากนี้ในองค์กรที่เกี่ยวกับการยุติธรรมตำรวจมีปัญหาที่สุด เพราะเป็นกระบวนการยุติธรรมลำดับต้นที่ทำให้สำนวนคดีเป็นไปตามครรลองกฎมาย แต่คดีที่ศูนย์นิติธรรมรับผิดชอบ 8 คดี ศาลได้ตัดสินแล้วว่ายกฟ้องทั้งหมด ดังนั้นองค์กรตำรวจต้องมองตัวเอง เพราะตอนทำสำนวนแน่นหนามาก แต่เมื่อถึงศาลกลับไม่มีพยานเลย หรือพยานปากสำคัญเบิกความแล้วก็ไม่ได้อะไร มีจำเลยคนหนึ่งซึ่งเคยปฏิเสธข้อหา แต่กลับมีบันทึกพนักงานสอบสวนรับผิด 7 หน้ากระดาษ เขาบอกว่าถูกเจ้าหน้าที่เขียนขึ้นไวท์บอร์ดให้เขียนตาม ส่วนเจ้าหน้าที่อีกคนก็เอาปืนขึ้นพาดบ่า คดีใต้เป็นแบบนี้อีกหลายคดี


 


000


สุรินทร์ พิศสุวรรณ


อดีตคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ


เหตุผลที่จะทำนำไปสู่การถอนฟ้องผู้ต้องหาคดีตากใบ คือการบอกว่าเป็นการเริ่มต้นการเรียกความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมกลับมา เพราะมันถูกทำลาย ละเมิดและสูญหายไป สังคมเราอ่อนแอที่ปล่อยให้วิธีคิดแบบนี้เกิด และบางครั้งเราก็ชื่นชมวิธีคิดแบบนี้ เช่น สงครามการปราบปรามยาเสพติด คนในสังคมจำนวนมากสะใจ เพราะมีความเด็ดขาด รวดเร็ว แต่สิ่งที่เสียไปคือหลักแผ่นดินหรือกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาภาคใต้โดยตรง


 


เราพอใจในมาตรการนั้นไม่ได้ เพราะสังคมที่ขึ้นกับความสะใจ พอใจ มันอ่อนแอ ต้องฟื้นฟูกลับมาให้ประชาชนยอมรับ ทำอย่างไร นั่งวิเคราะห์เองเงียบๆ เพราะว่าถ้าลงไปวุ่นวายกว่านี้อาจจะไม่เหลือแล้ว เพราะก่อนหน้านี้มีทั้งการปล่อยข่าว หรือดักฟัง และคนต้องเรียนรู้เองจากการรับรู้และเจ็บปวด


 


สิ่งที่วิเคราะห์ก็คือ ถ้าหากคุณ สมชาย นีละไพจิตร มีเครือข่ายมากกว่านี้ในองค์กรสิทธิมนุษยชนทั่วโลก อำนาจรัฐจะไม่กล้าทำอะไร เช่นถ้าเป็นนายทองใบ ทองเปาด์ จะไม่เกิดแบบเดียวกัน ดังนั้นสิ่งที่ต้องทำคือให้องค์กรสากลช่วยสร้างเครือข่ายให้กับนักสิทธิมนุษยชนในพื้นที่ท้องถิ่น เพื่อให้คนในพื้นที่กล้าที่จะทำเองได้ ตอนนี้ก็เริ่มมีการทำแล้ว หรือปรากฏการณ์ในวันนี้ก็เป็นหน่ออ่อนๆว่า เมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ต้องรวมตัวกันเพราะอยู่ในรัฐเดียวกันแล้วค่อยๆขยายไปข้างนอก เมื่อนั้นสิทธิมนุษยชนก็จะปลอดภัย


 


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net