Skip to main content
sharethis

สถานการณ์นำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา หลายครั้งที่ผ่านมา สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล ยังไม่นำรวมความเสียหายทางด้านจิตใจอีกมากมาย หลายหน่วยงานจึงหามาตรการป้องกันต่างๆนาๆ ไม่ว่า การสร้างกำแพงป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจไว้ หรือการขุดคลองระบายน้ำผ่านที่ดินปลูกบ้านเรียน หรือเรือกสวน ไร่นาของชาวบ้าน


 


แต่อีกมาตรการหนึ่งในการป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว ก็คือมาตรการด้านผังเมือง ซึ่งกรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำผังเมืองรวมหาดใหญ่ขึ้นมา โดยเมื่อวันที่ 12 ตุลาคมที่ผ่านมา เครือข่ายผังเมืองสงขลา จัดระดมความคิดเห็น "ทิศทางการพัฒนา หาดใหญ่ - สงขลา สู่การเป็นศูนย์กลางของภาคใต้


 


เป็นการจัดภายใต้โครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา และโครงการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่" ที่ ลานกิจกรรมชั้น 5 ห้างโอเดียนชอปปิ้งมอลล์ อำเภอหาดใหญ่ มีตัวแทนภาคประชาชน นักธุรกิจ นักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าร่วมประมาณ 60 คน


 


นายศักดิ์ชัย ประโยชน์วนิชย์ วิศวกรผังเมือง บริษัทคอนซัลแตนท์ ออฟ เทคโนโลยี จำกัด ผู้รับศึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ ให้ข้อมูลและแนวคิดที่น่าสนใจดังนี้


 


การศึกษาการจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ เน้นหนักไปที่การป้องกันปัญหาน้ำท่วม ซึ่งในรอบปีที่ผ่านมาได้เกิดภัยธรรมชาติขึ้นทั่วโลก โดยทวีปเอเชียมีความถี่สูงสุด ซึ่งภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือ น้ำท่วม


 


สำหรับอำเภอหาดใหญ่นั้น ในช่วงหน้าฝนพื้นที่รอบๆ ตลองอู่ตะเภาและลำคลองสาขามีน้ำหลากมาก แม้จะมีการขุดคลองระบายน้ำแล้ว แต่ก็ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ โดยตัวเมืองหาดใหญ่จะมีลักษณะเป็นแอ่งกระทะ เมื่อมีฝนตกหนัก น้ำจะไหลมารวมในเขตตัวเมืองหาดใหญ่ ทำให้หาดใหญ่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยหลายครั้ง


 


อุทกภัยครั้งใหญ่ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2459 แล้ว ครั้งนั้นระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร จากนั้นก็ท่วมมาตลอดแต่ไม่หนักมาก จนกระทั่งปี 2531 น้ำท่วมสูงอีกกว่า 1.43 เมตร ต่อมาปี 2543 ระดับน้ำท่วมสูงถึง 3.50 เมตร พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เช่น ตำบลบ้านหาร ตำบลน้ำน้อยและตำบลคูเต่า ซึ่งเป็นชุมชนรอบคลองอู่ตะเภา


 


สำหรับการจัดทำผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ ได้มีการปรับปรุงผังเดิม โดยได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมเขตปริมณฑล รวม 808 ตารางกิโลเมตร จากเดิม 254.52 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เขตการปกครอง 5 อำเภอ คือ อำเภอหาดใหญ่ อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่ำ อำเภอคลองหอยโข่ง และอำเภอควนเนียง คลุมพื้นที่เทศบาลนคร 1 แห่ง เทศบาลเมือง 1 แห่ง เทศบาลตำบล 3 แห่ง และองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 21 แห่ง (อ่านข้อมูลล้อมกรอบ)


 


โดยมีแนวคิดหลักคือ ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพปลอดจากอุทกภัยและเป็นการพัฒนาเมืองระบบหลายศูนย์กลาง จะมีการพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง ซึ่งกำหนดไว้ 2 แห่ง คือ พื้นที่ บริเวณทางเข้าสนามบินนานาชาติหาดใหญ่และพื้นที่ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ฯระดับชุมชน 4 แห่ง และศูนย์ระดับชุมชนชนบท 9 แห่ง รอบๆ ตัวเมืองหาดใหญ่


 


สำหรับมาตรการแก้ปัญหาน้ำท่วมในทางผังเมือง มีทั้งมาตรการการใช้สิ่งปลูกสร้าง เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำต่างๆ มารองรับน้ำช่วงน้ำหลาก ส่วนมาตรการการที่ไม่ใช่สิ่งปลูกสร้าง จะเน้นที่การจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ที่ดิน และวิเคราะห์ปริมาณน้ำควบคู่กัน


 


ซึ่งจะเห็นได้ว่าศักยภาพของพื้นที่ บริเวณอำเภอบางกล่ำ พื้นที่ทางเข้าสนามบินหาดใหญ่ พื้นที่เทศบาลตำบลคลองแห และพื้นที่ตำบลฉลุง อำเภอหาดใหญ่ มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นชุมชนเมือง เพราะมีความปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วมมากกว่าที่อื่น


 


ดังนั้น การกำหนดการใช้ประโยชน์ที่ดิน ซึ่งระบุตามผังเป็นพื้นที่สีเขียวลาย ถูกกำหนดเป็นพื้นที่อนุรักษ์ป้องกันปัญหาน้ำท่วม กฎหมายจะไม่บังคับย้อนหลัง แต่หลังประกาศใช้ผังเมืองใหม่แล้ว จะไม่ส่งเสริมให้มีการสร้างสิ่งปลูกสร้างใหญ่ๆ โดยจะมีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุมด้วย


 


อย่าไรก็ตาม นายศักดิ์ชัย ยืนยันด้วยว่า ที่ผ่านมา การบังคับใช้กฎหมายผังเมือง ไม่สามารถบังคับใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ อาจเป็นเพราะหน่วยงานที่มีอำนาจเองก็ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ตามกฎหมายผังเมือง เช่นองค์กรปกครองท้องถิ่น เป็นต้น


 


นอกจากนี้ยังได้ยกตัวอย่างถึงการใช้ประโยชน์ที่ดินที่ไม่ถูกต้องด้วยว่า เช่นในกรณีภาคเหนือที่มีการส่งเสริมให้ปลูกยางพารามากขึ้น โดยเฉพาะการปลูกบนภูเขาจำนวนมากจะส่งผลให้เกิดปัญหาดินถล่มขึ้นมาได้ในช่วงหน้าฝน เนื่องจากยางพาราเป็นพืชรากสั้น


 


โครงการพัฒนาอื่นๆ ก็เช่นกัน นายศักดิ์ชัยยกตัวอย่างอีกว่า ที่หาดใหญ่ มีแผนที่จะก่อสร้างถนนเลี่ยงเมือง ถ้าพิจารณาดูจากแผนที่แล้ว ตนไม่เห็นด้วยเนื่องจาก เป็นถนนที่ขวางทางน้ำ จะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังได้


 


นอกจากนี้ ระบบการป้องกันน้ำท่วมหาดใหญ่ มีการตั้งข้อสังเกตว่า ป้องกันเฉพาะในตัวเมืองหาดใหญ่เท่านั้น อย่างกรณีสถานการณ์น้ำท่วมทางภาคกลางขณะนี้ ที่ได้มีความพยายามที่จะผันน้ำเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมในกรุงเทพมหานคร เพื่อมิให้คนกรุงเทพมหานครไม่ต้องเดือนร้อน แต่คนที่อยู่รอบนอกกลับได้รับความเดือดแทน


 


กรณีเช่นนี้น่าจะมีการพิจารณาถึงเรื่องการชดเชยให้กับคนที่เดือดร้อน ก็ต้องมีกระบวนการพิจารณาดูว่า มีทรัพย์สินเสียหายเท่าไหร่ ที่นาเท่าไหร่


 


ในส่วนผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา นายสมชาย โพธิวงศาจารย์ วิศวกรผังเมือง บริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ผู้รับศึกษาโครงการวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา ให้ข้อมูลว่า มีประเด็นที่น่าสนใจคือการกำหนดพื้นที่รองรับการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ โดยกำหนดให้ พื้นที่ อำเภอสิงหนคร, รัตภูมิ, ควนเนียง และบางกล่ำ เป็นพื้นที่บริการด้านขนส่งสินค้า เน้นการส่งเสริมให้พื้นที่เกิดการขยายตัวทางการพัฒนาในรูปแบบของการคมนาคมและขนส่ง เชื่อมโยงกับท่าเรือปากบาราจังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลา เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการขนส่ง


 


นอกจากนี้ ยังกำหนดพื้นที่กลุ่มเศรษฐกิจใหม่ ประกอบด้วย อำเภอจะนะ, เทพา, สะบ้าย้อย และนาทวี เน้นการส่งเสริมบทบาทการเป็นศูนย์กลางพลังงานของจังหวัดสงขลาและภาคใต้ บทบาทการผลิตด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าชธรรมชาติเป็นฐาน และอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการเกษตร โดยเฉพาะยางพารา รวมทั้งเชื่อมโยงอุตสาหกรรมอาหารฮาลาลในพื้นที่ใกล้เคียง


 


การวางผังจะสอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของพื้นที่ ซึ่งจะเห็นว่ามีโครงการวางท่อส่งก๊าซและโรงแยกก๊าซธรรมชาติ รวมทั้งโรงไฟฟ้าสงขลาเกิดขึ้นแล้ว และยังมีการศึกษาการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ 2 เพื่อแก้ปัญหาท่าเรือน้ำลึกสงขลาเดิมที่มีปัญหาการกีดขวางทางน้ำ ซึ่งมีการว่างจ้างบริษัทที่ปรึกษาแล้ว


 


แต่พื้นที่ภาคใต้มีการต่อต้านการพัฒนาสูง จึงพัฒนาไปได้ช้า ทั้งๆ ที่มีศักยภาพสูงมาก อย่างกรณีโครงการท่อก๊าซไทย - มาเลเซีย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้รับผลประโยชน์ ชาวบ้านเขาก็เลยต้าน


 


ส่วนการกำหนดให้พื้นที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ ตำบลฉลุง อำเภอบางกล่ำ เป็นพื้นที่ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ทั้งที่ก่อนหน้านี้นิคมอุตสาหกรรมไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากการพัฒนาติดปัญหาหลายอย่าง


 


ผู้ประกอบการจึงแย่งกันตั้งโรงงานบริเวณริมถนน ไม่ยอมเข้าไปใช้พื้นที่นิคมฯ ซึ่งการวางผังเมืองใหม่ จะกำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ เข้าไปตั้งในนิคมฯ เป็นการขีดวงไม่ให้โรงงานอุตสาหกรรมรบกวนชุมชนที่อยู่อาศัย


 


ที่ผ่านมาการบริหารจัดการทั้งด้านการตลาดและสิ่งต่างๆ ที่จะสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ในนิคมฯ เกิดการติดขัด ทั้งแหล่งน้ำและการขนส่ง ขณะที่ยังไม่มีมาตรการด้านผังเมืองมาเป็นตัวควบคุมการตั้งโรงงาน ดังนั้นการจัดทำผังเมืองใหม่จึงเป็นมาตรการที่จะกำกับให้มีการใช้ประโยชน์พื้นที่ดังกล่าวตามกรอบและแนวคิดที่กำหนดไว้ เมื่อผังเมืองได้ประกาศใช้ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้น


 


การวางและจัดทำผังเมืองรวมจังหวัดสงขลา และผังเมืองหาดใหญ่ ถึงแม้จะแยกส่วนต่างคนต่างทำ แต่คำนึงถึงความสอดคล้องและความเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ ในรูปแบบทวินซิตี้ โดยเน้นให้หาดใหญ่เป็นศูนย์กลางทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและบริการ ส่วนสงขลาเป็นศูนย์กลางทางการปกครอง และส่งเสริมการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวให้มีศักยภาพมากกว่าที่เป็นอยู่


 


การพัฒนาผังเมืองจะมองศักยภาพของเมืองเป็นตัวตั้ง เช่น การพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว เห็นว่าพื้นที่เขตทหารบริเวณถนนชลาทัศน์ ในเขต อำเภอเมืองสงขลา เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวและบริการได้ หากมีการย้ายเขตทหารออกไป จะเป็นเขตดึงดูดเงินลงทุนเข้ามาอย่างมหาศาล แค่จุดเดียวก็สามารถเปลี่ยนอะไรได้อีกมาก


 


......................................................................


 



 


15 ศูนย์ความเจริญใหม่รอบเมืองหาดใหญ่


 


ผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่ ได้มีการปรับปรุงผังเดิม โดยได้ขยายพื้นที่ครอบคลุมเขตปริมณฑล รวม 808 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย เขตการปกครอง 5 อำเภอ 1 เทศบาลนคร(ทน.) 1 เทศบาลเมือง(ทม.) 3 เทศบาลตำบล(ทต.) 21 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)


 


โดยพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ประกอบด้วย พื้นที่เขตตำบลคลองอู่ตะเภา, คูเต่า, ฉลุง, ท่าข้าม, ทุ่งตำเสา, ทุ่งใหญ่, น้ำน้อย, บ้านพรุ, เทศบาลตำบลคลองแห, เทศบาลตำบลควนลัง, เทศบาลตำบลคอหงส์, เทศบาลเมืองบ้านพรุ และเทศบาลนครหาดใหญ่


 


อำเภอนาหม่อม ประกอบด้วย ตำบลนาหม่อม, คลองหรั่ง, ทุ่งขมิ้น และพิจิตร


อำเภอบางกล่ำ ประกอบด้วย ตำบลท่าช้าง, บ้านหาร และแม่ทอม


อำเภอคลองหอยโข่ง ประกอบด้วย ตำบลคลองหลาและคลองหอยโข่ง


อำเภอควนเนียง ประกอบด้วย ตำบลบางเหรียง


 


แนวคิดในการวางผังเมืองรวมเมืองหาดใหญ่


1.การพัฒนาเมืองที่สนับสนุนแผนพัฒนาประเทศ และตั้งอยู่บนพื้นที่ที่มีศักยภาพปลอดจากอุทกภัย


 


2.กรอบแนวคิดในการวางผังระยะยาว เป็นการพัฒนาเมืองระบบหลายศูนย์กลาง


 


3.การพัฒนาย่านพาณิชยกรรมศูนย์กลางรอง โดยอาศัยศักยภาพของระบบขนส่งมวลชน เพื่อสนับสนุนบทบาทการเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ และลดความจำเป็นในการเดินทางเข้าสู่เขตเมืองชั้นใน


 


4.การสงวนและรักษาความอุดมสมบูรณ์ และความสามารถในการระบายน้ำ ของพื้นที่ชนบทและเกษตรกรรมในเขตชานเมืองของเมืองหาดใหญ่


 


การขยายพื้นที่จากเดิม 254.52 ตารางกิโลเมตร เป็น 808 ตารางกิโลเมตร เพิ่มบทบาทศูนย์พาณิชยกรรมหรือพื้นที่ปลอดภัยจากอุทกภัย


 


สำหรับศูนย์พาณิชยกรรมที่กำหนดขึ้น ได้แก่ศูนย์พาณิชยกรรมรอง 2 แห่ง คือ พื้นที่บริเวณทางเข้าสนามบินนานาชาติหาดใหญ่ และพื้นที่ตำบลท่าช้าง อำเภอบางกล่ำ


 


ศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนมี 4 แห่ง คือ ศูนย์ฯ ชุมชนเมืองบางกล่ำ, ศูนย์ฯ นาหน่อม, ศูนย์ฯ คลองหอยโข่ง และศูนย์ฯ ทุ่งตำเสา


 


นอกจากนี้ยังมีศูนย์พาณิชยกรรมชุมชนชนบท 9 แห่ง คือ ศูนย์ฯชุมชนบางเหรียง, ท่าช้าง, ทุ่งตำเสา, ทุ่งขมิ้น, คลองหรัง, พิจิตร, ท่าข้ามและน้ำน้อย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net