Skip to main content
sharethis

นายเท็ด เมเยอร์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเว็บสเตอร์ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นผู้เขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก เรื่อง "8 ขวบ ธรรมยาตรา : กระบวนการเพื่อสุขภาวะของชุมชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา" เมื่อครั้งอยู่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิล สหรัฐอเมริกา เขาได้ร่วมถอดบทเรียนในการสัมมนา "สัมมนาถอดบทเรียน : หนึ่งทศวรรษธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา" เมื่อวันที่ 16 - 18 ตุลาคม 2549 ที่คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา


 


สคริปท์ที่เขาเตรียมเพื่อการสัมมนานี้น่าสนใจ ในฐานะที่มันเป็นมุมมองของคนร่วมถอดบทเรียนที่มีต่อการใช้ศาสนธรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม


 


...................................................


 


บทเรียนจากการเดินธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา


 


ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเปิดโอกาสในฆราวาสและนักบวชบางท่านได้เติบโตด้านใน ได้ขัดเกลาตัวเอง ก็คือได้ปฏิบัติธรรม วิธีปฏิบัติในการเดินธรรมยาตรามีหลายรูปแบบ


1.       เดินเท้า


2.       อยู่แบบเรียบง่าย


3.       สัมผัสและรับรู้ความจริงของธรรมชาติแวดล้อม


4.       สัมผัสและรับรู้ความจริงของสังคมรอบข้างทะเลสาบสงขลา


5.       ฟังความทุกข์ของคนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อย่างให้เกียรติผู้พูด


6.       เผชิญหน้ากับความงดงามของตัวเองและเพื่อนมนุษย์เวลาเอื้อเฟื้อหรือสามัคคีกันดี


7.       เผชิญหน้ากับกิเลสของตนเองและเพื่อนมนุษย์เวลาเห็นแก่ตัว และพร้อมที่จะขัดแย้งพร้อมที่จะด่า


 


หรือพูดอีกแง่หนึ่งร่วมทุกข์ร่วมสุขกับคณะธรรมยาตราตลอด 24 ชั่วโมง >>> สร้างเวทีให้เห็นตัวตนของเราเองและของเพื่อน


 


พูดง่ายๆ ก็คือทุกส่วนของการเดินธรรมยาตราอาจถือเป็นการปฏิบัติธรรมได้ นี่คือบทเรียนแรกที่อยากพูดถึง การที่การเดินธรรมยาตราทั้งหมดเป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ใช่เพียงแคการทำวัตร การนั่งภวนา การเดินเท้า


 


ไม่แน่ใจว่าบทเรียนนี้ได้มาอย่างไรหรือจากใคร มีคนเคยบอกผมว่า (การที่คนเดินได้บทเรียนแบบนี้) ขึ้นอยู่กับผู้นำทางธรรมะที่ดี หรือพระที่เก่ง ซึ่งด้านหนึ่งเห็นด้วย แต่ว่าอีกด้านกลับรู้สึกว่า ได้บทเรียนนี้จากหลายฝ่าย จากเด็กที่เดินแบบเงียบ แต่ก็สังเกตได้ว่าสนุก จากคนที่เอื้อเฟื้อและเสียสละ จากคนที่คอยเตือนว่า เอ๊ะ พอคุณรู้สึกอยากจีบผู้หญิงและจีบเลย โดยไม่ได้คำนึงถึงสถานการณ์ หรือความรู้สึกของคนอื่น จากพระที่นำการภาวนาอย่างลึกซึ้งและเข้าใจง่าย


 


พูดแบบนี้ก็คือการเน้นการปฏิบัติธรรมในการเดินธรรมยาตรา ในที่สุดเป็นการดูถูกปัญหาของชาวบ้านหรือไม่ เป็นการให้ความสำคัญน้อยเกินไปกับปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือการเมืองหรือไม่


 


คำตอบของผมคือไม่ใช่ เพราะว่าในการเดินธรรมยาตราเป็นการเคลื่อนไหวสังคมอย่างจริงจัง ที่เข้าใจว่า ปัญหาด้านใน มันเชื่อมโยงกันอยู่แล้วกับปัญหาด้านนอก


 


ขอย้ำความทรงจำเรื่องนี้ว่า


 


การเคลื่อนไหวสังคมแบบนี้ค่อนข้างจะเป็นเรื่องใหม่ในประวัติศาสตร์มนุษย์ การก้าวเท้าเพื่อพัฒนาจิตใจมีตั้งแต่นานมากในหลายที่ แต่การเชื่อมโยงการพัฒนาจิตใจกับเป้าหมาย ด้านนอก เป้าหมายทางด้านสังคม ค่อนข้างใหม่


 


ตัวอย่างที่ชัดเจน มีตั้งแต่ประมาณ 75 ปีที่แล้ว เมื่อคานธี (มหาตมะ คานธี) นำการเดินเท้าไปที่ทะเล ระยะทางประมาณ 390 กิโลเมตร ช่วงเวลา 24 วัน จุดมุ่งหมายคือ เก็บเกลือ ซึ่งเป็นการแสดงออกที่ชัดเจนสำหรับชาวอินเดีย เพราะว่า ภายใต้รัฐบาลอังกฤษ การเก็บเกลือหรือทำเกลือด้วยตัวเองมันผิดกฎหมาย เพราะว่ารัฐบาลอังกฤษเก็บภาษีสูงจากเกลือที่ขาย


 


การเก็บเกลือก็เป็นสัญลักษณ์ที่ชัดเจนว่า ไม่ยอมอำนาจและกฎหมายของชาวอังกฤษอีก(ต่อไป)แล้ว


 


การที่เป้าหมายของคานธีชัดเจน ทำให้เยาวชนในทุกหมู่บ้านที่คานธีผ่าน ร่วมเดินจนในที่สุดมีถึง 3,000 คน เดินเท้าด้วยกัน


 


นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชของประเทศอินเดีย


 


ในการต่อสู้ของคานธีใช้สันติวิธีตลอด ซึ่งมีหลักการว่า คู่กรณีที่ใช้อำนาจอย่างรุนแรงกับเรา ยังเป็นคนที่มีศักดิ์ศรี เราไม่ควรใช้ความรุนแรงกับเขา คนที่ร่วมต่อสู้กับคานธีต้องมีพัฒนาการด้านในด้วย เพราะว่าในตอนนั้น นักกิจกรรมโดนตีโดนฆ่าด้วย


 


คนที่ได้บทเรียนจากการเคลื่อนไหวของคานธีและลูกสิตคานธีคนสำคัญ ก็คือคนอเมริกันชาวคริสต์ มีชื่อว่า มาร์ติน ลูเทอร์ คิง ซึ่งนำการเดินเท้าเพื่อเรียกร้อง สิทธิของคนผิวดำและคนจน ที่จะลงทะเบียนเพื่อออกเสียงในการเลือกตั้งทางการเมืองในประเทศของเขาเอง


 


การเคลื่อนไหวของมาร์ติน ลูเทอร์ คิง ก็ใช้สันติวิธีเช่นกัน ซึ่งการเคลื่อนไหวครั้งนี้ เกิดขึ้นแค่ 50 ปีที่แล้ว ที่สหรัฐอเมริกา


 


อีกกรณีที่น่าสนใจ เป็นผู้หญิงที่ตั้งชื่อตัวเองว่า Peace Pilgrim ซึ่งหมายความว่า ผู้เดินเท้าเพื่อแสวงหาสันติภาพ ในช่วงเวลาที่สหรัฐอเมริกาทำสงครามกับเกาหลี ผู้หญิงคนนี้ตัดสินใจว่า จะข้ามประเทศสหรัฐอเมริกาโดยการเดินเท้า


 


มีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1.ยุติการทำสงครามในเกาหลี 2.ตั้งกระทรวงสันติภาพ เป็นกระทรวงใหม่ของรัฐบาลอเมริกัน แล้วก็ 3.ขอให้สหประชาชาติช่วยกันกดดันให้ลดการผลิตและค้าขายอาวุธ


 


มีวันหนึ่ง Peace Pilgrim ตัดสินใจว่าจะเดินเท้าตลอดชีวิตเพื่อสันติภาพ ที่น่าสนใจก็คือ เขาเริ่มดำเนินชีวิตคล้ายๆ กับพระธุดงค์ มีเสื้อผ้าชุดเดียว ไม่ใช้เงิน และกินข้าวที่คนอื่นเอามาให้เท่านั้น โดยส่วนใหญ่แล้ว ไม่เคยอดมากกว่า 4 มื้อ เขาเคยบอกว่า ขออุทิศชีวิตของฉันให้เป็นการสวดมนต์เพื่อสันติภาพ


 


ขอโทษที่ใช้เวลาค่อนข้างเยอะในการพูดถึงกรณีอื่น ที่ไม่ได้เป็นกรณีธรรมยาตรา แต่พูดถึงเรื่องนี้เพราะว่า บทเรียนของการเดินธรรมยาตราส่วนหนึ่ง คล้ายๆกับบทเรียนของกลุ่มหรือคนที่ผ่านมา ที่เคยใช้สันติวิธี ที่เคยเน้นการขัดเกลานักเคลื่อนไหวสังคมเป็นส่วนประกอบที่สำคัญในการเคลื่อนไหวสังคมอย่างสันติและมีประสิทธิภาพ


 


บทเรียนจากกระแสการเคลื่อนไหวสังคมแบบนี้ซึ่งเคยใช้ในการดินเท้า ค่อนข้างบ่อย ก็คือ


1.                         เวลาร่วมการฝึกฝนตัวเองด้านในกับเป้าหมายทางสังคมที่ชัดเจนและยุติธรรม การเดินเท้ามีพลังมาก ทั้งในผู้เดิน ในคณะเดิน (ถ้ามี) และในสังคมรอบข้าง


2.                         ผู้เดินส่วนใหญ่จะเข้าใจปัญหาและกลไกทางสังคมหรือทางการเมืองอย่างลึกซึ้งกว่าเดิม


3.                         จากประสบการณ์การอยู่แบบเรียบง่ายในช่วงเวลาเดิน ผู้เดินบางท่านจะเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างถาวร


4.                         จากการฝึกฝนตัวเองและเสียสละสามัคคีกับคนอื่นอย่างมีวินัย ผู้เดินจะสัมผัสและรับรู้พลังที่เกิดขึ้นในใจและในคณะเดิน พูดอีกนัยหนึ่ง การเดินแบบนี้มีพลังสร้างผู้นำในสังคม แล้วก็มีพลังสร้างความผูกพันระหว่างคนเดิน ซึ่งในที่สุดอาจกลายเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับคนอื่นได้ และอาจจะรวมไปถึงสังคมรอบข้างได้


 


อีกสาเหตุหนึ่งที่พูดกรณีนานาชาติ เพราะบทเรียนของธรรมยาตราไม่ได้เป็นบทเรียนของกลุ่มที่ประชุมอยู่ที่นี่อย่างเดียวแต่เป็นบทเรียนที่อาจจะกระจายไปที่อื่นๆด้วย ซึ่งหมายถึงว่า การเคลื่อนไหวสังคมอย่างสันติของธรรมยาตรา อาจมีความสำคัญมากกว่าที่คิด เพราะว่าเป็นการทดลองดูว่า ถ้าจะเอาพื้นที่ใหม่ ก็คือทะเลสาบสงขลา ถ้าจะเอาประเด็นใหม่ ก็คือธรรมะกับสิ่งแวดล้อม ได้ผลอะไรบ้าง ได้บทเรียนอะไรบ้าง และในที่สุดอาจจะเป็นบทเรียนที่นักเคลื่อนไหวอย่างสันติ(วิธี) ที่มุ่งที่จะศึกษาตนเอง เติบโตด้านใน คงได้ประโยชน์ด้วย


 


บทเรียนของธรรมยาตรา


 


ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลามีลักษณะบางอย่างที่ทำให้การประสานงาน การจัดและการบรรลุเป้าหมายค่อนข้างยาก ลักษณะเหล่านี้ก็คือ


 


1.      เป้าหมายมันกว้าง ขอยกเป้าหมายขึ้นมาทบทวน คือ


-           การประยุกต์ใช้ศาสนธรรมในการเปลี่ยนแปลงสังคม


-           การประยุกต์ใช้ศาสนธรรมในการพัฒนาตนเอง


-           การสร้างจิตสำนึกทางวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น


-           เครือข่ายพระสงฆ์รอบทะเลสาบสงขลา


-           การประสานความร่วมมือระหว่างกลุ่ม องค์กรและชุมชนในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา


-           ความร่วมมือระหว่างศาสนา ในการหาแนวทางอนุรักษ์และฟื้นฟูทะเลสาบสงขลา


 


ในความรู้สึกของผมเป้าหมายมันไม่ผิด แล้วก็มันกว้างเกินไป แต่ว่าความกว้างทำให้เกิดความเสี่ยง 3 อย่าง


1.       เสี่ยงที่จะเสียความชัดเจนในเรื่องเป้าหมายหลัก


2.       เสี่ยงที่จะท้อแท้ โดยเฉพาะถ้าเข้าใจว่าธรรมยาตรเหมือนพรรคการเมืองหรือเอ็นจีโอที่ต้องตอบสนองความต้องการของชาวบ้าน ถ้าเข้าใจอย่างนี้และในที่สุดไม่ได้แก้ปัญหา เรารู้สึกล้มเหลวบ้าง


3.       บางครั้ง ผมรู้สึกว่ามีการยึดติดกับรูปแบบของธรรมยาตรา แล้วในที่สุดก็สร้างภาระกับตัวเองมากเกินไป (อย่างเช่นถือป้ายเยอะเกินไป) ต้องมีการตีกลอง ต้องมีอย่างน้อยปริมาณคนประมาณนี้


 


ตรงนี้ถ้าการประยุกต์ใช้ศาสนธรรม ทั้งในการพัฒนาตนเอง ในการเปลี่ยนแปลงสังคมและในการฟื้นฟูธรรมชาติ เป็นเป้าหมายหลัก เป้าหมายอื่นก็ตามมาด้วย ซึ่งหลายคนอาจจะเข้าใจอย่างนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเป็นเช่นนั้น ทำไม ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาต้องทำอะไรเยอะแยะ ทำไมต้องเครียดกับภาระเยอะ หรือยึดติดกับรูปแบบที่เคยมี


 


ถ้าวันหนึ่งมี 6 คน ได้รับพรจากกลุ่มแกน เดินเงียบๆ ถือป้ายเดียว ฟังทุกข์ของพลเมืองลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา แล้วก็ให้กำลังใจเขา เก็บข้อมูลและแบ่งปันบ้าง จะพอหรือไม่ ถือเป็นธรรมยาตราไหม ผมคิดว่าได้


 


2.      พื้นที่มันกว้างมาก


ถ้าเปรียบเทียบธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลากับธรรมยาตราที่อื่น อย่างเช่นที่เขาสมโภช จังหวัดลพบุรี หรือที่แม่น้ำลำปะทาว ที่ชัยภูมิ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาต้องจัดในพื้นที่กว้างมาก ซึ่งเป็นการท้าทายอีกอย่างหนึ่ง ในบางมุมของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาคงจะเจอคณะธรรมยาตราน้อยมาก


 


คำถามที่อยากตั้งไว้ที่นี่คือ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเคยจัดการกับการท้าทายแบบนี้อย่างเพียงพอไหม


 


3.      ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลามีลักษณะเปิดกว้าง เปิดโอกาสให้หลายๆ ฝ่ายมีส่วนร่วมได้ ไม่มีเจ้าของผู้เดียวหรือฝ่ายเดียว


-           รูปแบบของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาไม่เหมือนรูปแบบของธรรมยาตราของหลวงพี่สมบูรณ์ที่เขาสมโภชหรือของหลวงพี่ไพศาลที่ชัยภูมิ ในแง่ที่ว่า อย่างน้อยในเรื่องธรรม มีเจ้าภาพหรือผู้จัดค่อนข้างชัดเจนถึงแม้ว่ามีการมีส่วนร่วมของหลายๆผ่าย ยังมีผู้นำที่ชัดเจน แล้วก็ผู้นำเป็นพระ ซึ่งท่านมีโอกาสและความน่าเชื่อถืออย่างเพียงพอ ที่จะจัดความเข้าใจของท่านว่า การประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมน่าจะเป็นอย่างไร


 


-           ในกรณีธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลามันเปิดกว้างมาก ซึ่งบางครั้งดูเหมือนว่าธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาพยายามที่จะรับทุกคนและทุกมุมมอง ดูเหมือนว่าประนีประนอมระหว่างหลายๆผ่ายจนเสียเอกลักษณ์ของมันเอง


 


 


๔.              ความเข้าใจของหลายๆฝ่ายเรื่องการประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรมหรือแม้แต่เรื่องความหมายของคำว่า ธรรมะเอง ไม่เหมือนกัน


-           ธรรมยาตรามุ่งที่จะปฏิบัติธรรมและประยุกต์ใช้หลักศาสนธรรม ในท่ามกลางสังคมที่ถูกวัตถุนิยม บริโภคนิยม และอำนาจนิยมครอบงำโดยเป็นสังคมที่เข้าใจในขณะเดียวกันว่าเป็นสังคมพุทธอยู่แล้ว


 


-           ธรรมยาตราพึ่งพาสถาบันสงฆ์ ซึ่งในบางแห่งยังคงเป็นศูนย์กลางของหมู่บ้าน เผยแพร่คำสอนของพระพุทธเจ้า และเป็นแหล่งปฏิบัติธรรม แต่ว่ามีปัญหาอีกหลายอย่างด้วย เช่น พระคุ้ยเคยกับการทำงานผู้เดียว เจ้าอาวาสยังคงค้นเคยกับการสั่ง สถาบันสงฆ์เคยได้รับอิทธิพลจากสังคมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะจากระบบราชการ จากวัตถุนิยม บริโภคนิยมและชาตินิยมอีกด้วย


 


-           ถ้ารวมการท้าทาย 2 อย่างนี้ว่า ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาเปิดกว้างและมีความเข้าใจอย่างหลากหลาย เรื่องการประยุกต์ใช้ธรรมะ ก็มีปัญหาตามมาด้วย ตัวอย่างที่ชัดเจนสำหรับผมก็คือ เวลาพระที่เพิ่งร่วมเดิน และยังคงใหม่กับกิจกรรมธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา แต่ขึ้นไปเทศน์แล้วก็บางครั้ง พูดตรงๆ เทศน์แบบไร้สาระและผิดกับเป้าหมายของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา ทำให้ความเด่นชัดของธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลาในฐานะที่เป็นสื่อกับสังคมรอบข้าง เสื่อมไป


 


ถึงแม้ว่า ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา มีลักษณะเปิดกว้างในท่ามกลางสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและมีความเข้าใจหลายอย่างเกี่ยวกับธรรมะ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลายังสำคัญ เพราะว่าไม่มีเจ้าของฝ่ายเดียวและไม่มีคำตอบที่ตายตัวว่า ธรรมะคืออะไร(ไม่มีสูตร การเคลื่อนไหวแบบไม่มีสูตร แต่เป็นการสร้างพื้นที่ใหม่ เพื่อพิจารณาว่า การปฏิบัติธรรมคืออะไร เป็นการทดลองดูว่า ในสังคมใหม่ การปฏิบัติธรรมหมายถึงว่าอะไร


 


ยังไม่ได้พูดถึงผลในทางสังคมที่ได้มาจากการเดินธรรมยาตรา แต่ว่าสร้างความดีเด่นในแต่ละคนที่ร่วมปฏิบัติธรรมและเคลื่อนไหวสังคมอย่างสันติ แม้ว่าจะมีจัดในรูปแบบไหน แต่น่าจะมีตรงนี้ ธรรมยาตราเพื่อทะเลสาบสงขลา มีศักยภาพสูงมาก และควรจะได้รับความเกื้อหนุนต่อไป


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net