แนวทางการเจรจา FTA - นโยบายสาธารณะที่ควรปฏิรูป

โดย บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

 

ท่านผู้อ่านที่ติดตามเรื่อง FTA คงจำกันได้ว่านโยบายและการเจรจาเรื่องเขตการค้าเสรี (FTA) ที่มีการเร่งรัดผลักดันในช่วงสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนโยบายสาธารณะเรื่องหนึ่งที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์และถูกคัดค้านอย่างมากจากสังคมหลายฝ่าย เพราะขาดความโปร่งใส ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ ปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ตลอดจนปัญหาผลกระทบที่เกิดขึ้นจริงต่อเกษตรกรรายย่อย

 

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงเป็นที่คาดหวังอย่างยิ่งจากภาคประชาสังคมว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันที่เข้ามาแก้ไขปัญหาวิกฤติของบ้านเมืองจะได้ทำการทบทวนนโยบายและปฏิรูปกระบวนการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ให้เป็นไปเพื่อประโยชน์ของส่วนรวมและสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นนโยบายที่รัฐบาลยึดถือเป็นหลักการพื้นฐานในการบริหารราชการแผ่นดิน

 

จากการประชุมหารือกันให้หลายเวทีระหว่างนักวิชาการหลายสาขาจากหลายสถาบันการศึกษาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบ องค์กรพัฒนาเอกชนและอดีตสมาชิกวุฒิสภา ที่ติดตามเรื่อง FTA ได้มีข้อเสนอแนะและเรียกร้องให้รัฐบาลปรับปรุงนโยบายและกระบวนการเจรจาจัดทำ FTA ของไทยหลายประการ ได้แก่

 

1. ช่วงเวลาประมาณ 1 ปี ของรัฐบาลชั่วคราว ควรระงับการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ของไทยกับทุกประเทศไว้ก่อน เนื่องจากการเจรจาและลงนามความตกลง FTA จะมีผลผูกพันทางกฎหมายต่อประเทศไทยในระยะยาว

 

2. ในระหว่างนี้รัฐบาลควรทบทวนนโยบายการจัดทำความตกลง FTA และปฏิรูปกระบวนการเจรจา FTA ของไทย กิจกรรมที่ควรดำเนินการเพื่อปฏิรูปกระบวนการเจรจา เช่น

 

     2.1 เปิดเผยร่างความตกลง FTA หรือเนื้อหาสาระการเจรจา FTA ของไทยกับทุกประเทศที่ได้เจรจาไปแล้วจนถึงปัจจุบัน เพื่อให้ประชาชน ผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ได้รับทราบข้อมูล ได้นำข้อมูลไปศึกษา

เพื่อนำไปสู่การสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในโอกาสต่อไป

 

     2.2 ควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความเป็นอิสระ เพื่อทำหน้าที่ในการศึกษาทบทวนนโยบายเรื่อง FTA ของไทย โดยทำการศึกษาประเมินผลกระทบทั้งในทางบวกและลบที่เกิดขึ้นจากความตกลง FTA ที่ประเทศไทยลงนามไปแล้ว รวมทั้งทำการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความตกลง FTA ที่ประเทศไทยเจรจาอยู่ โดยให้มีการศึกษาประเมินผลกระทบที่ครบถ้วนทั้งในมิติด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การศึกษา ที่ผ่านมามุ่งเน้นในเรื่องผลประโยชน์และผลกระทบด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุผลสำคัญส่วนหนึ่งที่ทำให้ผลการศึกษาไม่เป็นที่เชื่อถือยอมรับ และนำไปสู่การกำหนดนโยบายที่ผิดพลาด เพราะมีข้อมูลไม่รอบด้าน ดูเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ไม่ได้พิจารณาต้นทุนที่ประเทศไทยต้องจ่ายอีกมาก เช่น เรื่องต้นทุนทรัพย์สินทางปัญญา เรื่องฐานทรัพยากร เรื่องสุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม ฯลฯ

 

     2.3 ควรนำผลจากการศึกษาข้างต้นมาเผยแพร่ต่อสาธารณะ และจัดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชนต่อการกำหนดนโยบายเรื่องการจัดทำความตกลง FTA ของไทย โดยรัฐบาลควรจัดตั้งคณะกรรมการพหุภาคีที่มีความเป็นอิสระขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบการจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนด้วย

 

     2.4 รัฐบาลควรเร่งจัดทำ "พระราชบัญญัติว่าด้วยการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศ" เพื่อเป็นกรอบกติกาทางกฎหมายในการยึดถือปฏิบัติต่อไป กฎหมายดังกล่าวควรยกร่างจัดทำขึ้นโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยมีเนื้อหาสาระสำคัญเกี่ยวกับขั้นตอนการเจรจา องค์ประกอบของคณะเจรจา การมีส่วนร่วมของประชาชน รัฐสภาและองค์กรอิสระในการเจรจาและลงนามความตกลง การศึกษาเตรียมความพร้อมก่อนการเจรจา แผนการปรับโครงสร้างการผลิต แผนการรองรับผลกระทบจากความตกลง FTA ฯลฯ

 

หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าเจรจาและลงนาม FTA ตามรูปแบบและกระบวนการเดิมที่รัฐบาลชุดที่แล้วทำไว้โดยไม่มีการปฏิรูปเป็นที่คาดการณ์ได้ว่าเรื่อง FTA จะเป็นกรณีที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาอีกมาก และมีผลทำให้เป้าหมายการสร้างความสมานฉันท์ในสังคมอันเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐบาลบรรลุผลได้ยาก

 

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ 29 ต.ค. - 1 พ.ย. 49

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท