Skip to main content
sharethis






ชื่อบทความเดิม :


With Words that Appear like Bats: รัฐธรรมนูญฉบับ "ชั่วคราว" ฉบับ "ค้างคืน" และ ฉบับ "ค้างแรม"


(เผยแพร่ครั้งแรกใน www.onopen.com)



 


 


ถ้าใครเลยร่ำเรียนหนังสือทางด้านรัฐศาสตร์มาก่อนปี 2535 คงจะนึกออกว่าวิธีการเรียนวิธีหนึ่งเรื่องการเมืองไทยสมัยก่อนจะมีคำว่า "ประชาสังคม" "ภาคประชาชน" หรือ "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" นั้น เราจะเอารัฐธรรมนูญมาตั้งทีละฉบับ แล้วก็ดูไปว่า ฉบับไหนเรียกว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตย ฉบับไหนเป็นฉบับครึ่งใบ ฉบับอำมาตยาธิปไตย ฉบับไหนเป็นฉบับใต้ตุ่ม (คือเตรียมไว้ใช้เมื่อทำรัฐประหารสำเร็จ) และ/หรือฉบับชั่วคราว


 


พูดง่ายๆ คืออาจารย์ของเรา หรือนักเขียนสารคดีการเมืองนั้น จะเล่าเรื่องการเมืองไทยผ่านประวัตินายกรัฐมนตรี หรือเล่าผ่านเนื้อหาสาระของรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ แล้วก็ฟันธงตามรสนิยม/ความรู้/อุดมการณ์ของตนว่า ฉบับไหนเป็นอย่างไร [1]


 


ไอ้ประเภทการเฉลิมฉลองเหตุการณ์ 14 ตุลา ในฐานะวันประชาธิปไตย หรือพูดเรื่องพฤษภาทมิฬในฐานะจุดเริ่มต้นของประชาธิปไตยนั้น เห็นจะไม่มีหรอกครับ


 


รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น เป็นรัฐธรรมนูญที่มักจะอ้างว่าออกมาเพื่อใช้ในระยะสั้นๆ ว่าง่ายๆ ก็คือรองรับอำนาจของคณะรัฐประหาร (แต่ทั้งนี้รัฐธรรมนูญฉบับแรกของเราก็เป็นแบบชั่วคราวเช่นกัน)


 


แต่กระนั้นก็ตาม รัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเป็นฉบับชั่วคราวนั้น บางทีถ้าลอง "อยู่กันแล้วพอใจ" ก็อาจจะ "ค้างคืน" กับเราไปด้วยเลย (อิอิ) คือแบบว่า อยู่นานมาก เพราะยิ่งใช้ยิ่งติดใจ อาทิ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ๒๕๐๒ สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งครองรักกับสังคมไทยมาถึงยุคจอมพลถนอม-ประภาสนั่นแหละครับ


 


สมัยก่อนเรามักจะพูดว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวมักมีขึ้นเพื่อรองรับอำนาจเผด็จการ เราสนใจแค่จะ "ฟันธง" ว่ารัฐธรรมนูญไหนเป็นประชาธิปไตย และฉบับไหนเป็นพวก "ครึ่งใบ"  แต่เราไม่ได้สนใจรายละเอียดว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวนั้นสำคัญตรงไหน นอกจากมองแค่ว่ามันรองรับอำนาจเผด็จการ หรือรองรับอำนาจคณะปฏิวัติ


 


ผมขอเสนอว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นรองรับอำนาจเผด็จการไม่ใช่แค่การ "หมกเม็ด" หรือ "สืบสานอำนาจ" เหมือนที่เราไปสงสัยจิตเจตนาของคณะผู้ก่อการซึ่งให้ตายยังไงก็ย่อมต้องยืนหยัดในความกล้าหาญของการฉีกรัฐธรรมนูญฉบับเก่าลง ซึ่งไม่ง่ายนัก แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นทำหน้าที่ประการสำคัญในการ "ลดต้นทุน" ให้กับกระบวนการยึดอำนาจและปกครองประเทศของคณะผู้ก่อการรัฐประหารนั่นเอง


 


ว่าง่ายๆ ก็คือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวภายหลังการทำรัฐประหารไปแล้ว ทำให้คณะรัฐประหารไม่ต้องมาใช้อำนาจจากปากกระบอกปืนที่ฉีกรัฐธรรมนูญไปแล้ว (คือทำรัฐธรรมนูญฉบับค้างคืนให้เป็นฉบับค้างแรม คือเขาตั้งใจไว้ให้รัฐธรรมนูญนั้นมันค้างคืนได้ แต่กลับต้องไปค้างแรมที่อื่นซะโน่น) ในการปกครองประจำวัน ทั้งที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นมันเป็นเรื่องเหลวไหลทั้งเพ เพราะไม่มีสังคมไหนจะมีลักษณะของความชั่วคราวหรอกครับ อยู่ดีๆจะเปลี่ยนจากรัฐธรรมนูญฉบับค้างคืนมาเป็นฉบับชั่วคราวได้อย่างไร ถ้าไม่ได้ด้วยการฉีกรัฐธรรมนูญเก่า (ทำให้ฉบับค้างคืนไปค้างแรมซะ)


 


พูดง่ายๆก็คือการฉีก rule of laws นั่นเอง เพราะ rule of laws นั้นหมายถึงทุกคนอยู่ภายใต้กฏหมายเท่าเทียมกันหมด ยกเว้นผู้ที่ทำอะไรไม่ผิด (ซึ่งถกเถียงกันมาตลอดว่าการทำอะไรไม่ผิดนั้นหมายถึงควรจะทำอะไรได้บ้างถึงจะเข่าข่ายไม่ผิดนั่นแหละครับ)


 


การฉีกรัฐธรรมนูญลงแล้วผลักดันสังคมไปสู่การปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้น ก็คือการปล่อยให้สังคมตกไปอยู่ในความเสี่ยงร่วมกันภายใต้คำสัญญาว่าลักษณะชั่วคราวนั้นเป็นเพียงลักษณะชั่วคราว ซึ่งความเสี่ยงนั้นมีต้นทุนที่สูงยิ่ง


 


พูดให้ชัดเจนลงไปอีก สังคมทั้งสังคมก็ตกอยู่ในสภาวะของความเสี่ยงในความเป็นสังคมชั่วคราวร่วมกัน ยกเว้นผู้ทำการรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ในกรณีของสิทธิเสรีภาพของประชาชนหรอกครับ ลองดูในหมวดที่ว่าด้วยพระมหากษัตริย์สิครับ หายไปทั้งหมวด เหลือไม่กี่มาตราเท่านั้นเอง [2]


 


วิวัฒนาการการของการปกครองสมัยใหม่ของไทย ได้ชี้ให้เราเห็นว่า การทำรัฐประหารโดยคณะทหาร (military coup) นั้นไม่ใช่เรื่องยาก แต่การปกครองโดยทหาร (military rule) นั้นเป็นเรื่องยาก ใครจะมายืนหน้าเมื่อยแบกปืนอยู่ได้ตลอดเวลา ก็เลยต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเพื่อให้เกิดการปกครองโดย "พลเรือน" (ซึ่งต่างจากการปกครองโดย "พลเมือง") ซะ


 


หรือเมื่อห้วงจังหวะของการทำรัฐ(ธรรมนูญ)ประหารนั้นผ่านไป โดยที่ตัวผู้ทำรัฐ(ธรรมนูญ)ประหารนั้นสถาปนาตัวเองขึ้นเป็นรัฐไป และได้ออกคำสั่งออกมามากมายว่า จะให้กฏหมายตัวไหนทำงานได้หรือไม่ได้อยู่แล้ว การมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวจึงลดต้นทุนความกดดันและขัดแย้งทางการเมือง โดยคงไว้ซึ่งอำนาจของทหารเพื่อมา "ค้ำยัน" การปกครองเอาไว้ (อาทิ เป็นเปลือกหอยคอยปกป้องเนื้อหอยเอาไว้) ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องมีเลยก็ได้ เพียงแต่หัวหน้าคณะรัฐ(ธรรมนูญ)ประหารนั้นไม่ต้องการออกคำสั่งและตอบคำถามทุกวันนั่นเองครับ


 


นอกจากนี้แล้ว สิ่งที่เราพบในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่อ้างว่ากระทำด้วยความจำเป็นในลักษณะของ preemptive strike (คือต้องจัดการความชั่วร้ายเสียก่อน) นั้นอาจไม่ใช่เรื่องของการ "หมกเม็ด" หรอกครับ แต่เป็นลักษณะของการพยายามประวิงเวลาเพื่อให้เกิดลักษณะการต่อรองทางอำนาจในทางการเมือง เพื่อให้คณะทหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำการรัฐประหารนั้นสามารถกุมสภาพการนำได้ ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องหมายถึงการมีเจตนาที่ไม่ดีในการทุจริตโกงกินหรอกครับ [3]


 


แต่การลดต้นทุนที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่น่าจะทำ (อะแฮ่ม ขออนุญาตเสนอบ้าง เดี๋ยวจะตกยุคที่นักวิชาการพยายามเสนอข้อเรียกร้องให้กับทหาร ทั้งที่เขาชวนไปเป็นที่ปรึกษา หรือที่อยากจะเรียกร้องเอง ไม่ต่างจากยุคที่ทักษิณออกมาจิ้มข้าวเหนียวกินกับสมัชชาคนจนในวันแรกที่รับตำแหน่งเมื่อหลายปีก่อน) ก็คือ การย้อนกลับไปทำรัฐธรรมนูญฉบับ "ค้างแรม" ให้กลับมาเป็นฉบับ "ค้างคืน" โดยไม่ต้องไปให้นักวิชาการทั้งหลายที่พร้อมเสนอความเห็นเข้ามาวุ่นวายอีก เพราะถ้าสังเกตดีๆ ในคำปรารภของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ มิได้ระบุถึงปัญหาที่เกิดจากตัวรัฐธรรมนูญฉบับเก่าเลยแม้แต่น้อย มีแต่สภาพกว้างๆ ที่เป้นข้ออ้างในการทำรัฐประหาร ซึ่งสรุปมาจากคำประกาศและแถลงการณ์ของคณะรัฐประหาร


 


เราอาจลืมไปว่า รัฐธรรมนูญฉบับค้างแรมที่ใช้มา 9 ปีนั้น เป็นรัฐธรรมนูญพิเศษ ที่ร่างมาจากทุกภาคส่วนของสังคม และมีคนสองกลุ่มหลักที่ไม่ได้ร่าง ก็คือนักการเมืองที่รัฐธรรมนูญฉบับนั้นรังเกียจ แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วกลับเอาไปใส่มือพวกเขา แล้วก็ข้าราชการโดยเฉพาะข้าราชการทหาร (ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญ ๒๐ คน) เพราะทุกคนใช้สิทธิในฐานะเป็น "พลเมือง" ในการร่างเท่ากัน ไม่ได้แบ่งแยกตามสาขาอาชีพ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า มาตราเห่ยๆ ที่ 63 ของรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ที่ว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้" จึงโผล่ออกมาได้ และมาตรา 65 ที่ว่า "บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใดๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้" จึงไม่ได้รับการพูดถึงในช่วงที่มีการทำรัฐประหาร [4]


 


การย้อนกลับไปใช้รัฐธรรมนูญฉบับค้างแรมให้เป็นฉบับค้างคืนไม่ใช่เรื่องยาก และไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการรัฐประหารเมื่อ 2494 นั้นก็ประหารรัฐธรรมนูญปี 2492 แล้วเรียกชื่อรัฐธรรมนูญใหม่ว่า รัฐธรรมนูญ 2475 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม 2495 [5]


 


ดังนั้นถ้าจะปฏิรูปการปกครองเพื่อประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ในสภาวะที่บรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิตก็ชูจักกะแร้เชียร์ว่า ทักษิณนั้นฉีกรัฐธรรมนูญไปก่อนหน้านั้นแล้ว ก็เอารัฐธรรมนูญฉบับที่ฉีกไปแล้ว (ค้างแรม) ให้กลับมาใช้ใหม่ (ค้างคืน) แล้วก็เรียกชื่อว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อ 2549 หรือ 2550 ก็สิ้นเรื่อง คนที่เขามีศรัทธาในตัวรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกไปจะได้ไม่เสียความรู้สึกไปมากกว่านี้


 


หรือไม่ก็ไม่ต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมันซะเลย เพราะการมีรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนั้นเป็นการ "ลดต้นทุนการทำรัฐประหาร" แต่ "เพิ่มต้นทุน"ให้กับทุกสถาบันในสังคมไทย ยกเว้นสถาบันกองทัพที่ทำรัฐประหารนั่นเองครับผม


 


 


---------------------


เชิงอรรถขยายความ


[1] ดูตัวอย่างใน พงศ์เพ็ญ ศกุนตาภัย. "ประวัติรัฐธรรมนูญไทย."  รัฐธรรมนูญสำหรับชาวบ้าน. โดย ชัยอนันต์ สมทวณิช และคณะ. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์พิฆเนศ, 2516. และ กระมล ทองธรรมชาติ. วิวัฒนาการของระบอบรัฐธรรมนูญไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2524.


 


[2] ลองเปรียบเทียบมาตราที่จัดว่าเข้าข่ายหมวดพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 ซึ่งมีอยู่ 2 มาตรา คือ


            มาตรา 1 ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้ พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องในทางใดๆ มิได้ (เป็นการเขียนรวมกันระหว่างหมวดว่าด้วยบททั่วไปและหมวดพระมหากษัตริย์


            มาตรา 4 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและแต่งตั้งประธานองคมนตรีคนหนึ่ง และองคมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 18 คน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี การเลือกตั้ง การแต่งตั้ง และการพ้นจากตำแหน่งองคมนตรี และองคมนตรีอื่น ให้เป็นไปตามพระอัธยาศัย ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งประธานองมนตรี และให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งองคมนตรีอื่น


            ลองเทียบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปี 2540 ที่มีหมวดพระมหากษัตริย์อยู่ 18 มาตราดังนี้


            มาตรา 8 องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่ เคารพสัก การะผู้ใดจะละเมิดมิได้ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระ มหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้


            มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภ์


             มาตรา 10 พระมหากษัตริย์ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพไทย


            มาตรา 11 พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะสถาปนา ฐานันดรศักดิ์และพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์


            มาตรา 12 พระมหากษัตริย์ทรงเลือกและทรงแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นประธานองคมนตรีคนหนึ่งและองคมนตรีอื่นอีกไม่เกินสิบแปดคน ประกอบเป็นคณะองคมนตรี


คณะองคมนตรีมีหน้าที่ถวายความคิดเห็นต่อพระมหากษัตริย์ใน พระราชกรณียกิจทั้งปวงที่พระมหากษัตรย์ทรงปรึกษา และมีหน้าที่อื่น ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้


            มาตรา 13 การเลือกและแต่งตั้งองคมนตรีหรือการให้องคมนตรี พ้นจากตำแหน่ง ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย


ให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง ประธานองคมนตรี หรือให้ประธานองคมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ แต่งตั้งองคมนตรีอื่นหรือให้องคมนตรีอื่นพ้นจากตำแหน่ง


            มาตรา 14 องคมนตรีต้องไม่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภากรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตุลาการ ศาลปกครอง กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือน ประจำ พนักงานรัฐวิสาหกิจ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ หรือสมาชิก หรือเจ้าหน้าที่ของพรรคการเมือง และต้องไม่แสดงการฝักใฝ่ใน พรรคการเมืองใดๆ


            มาตรา 15 ก่อนเข้ารับหน้าที่ องคมนตรีต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ ต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้


 "ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้า จะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อ สัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนทั้งรักษาไว้ และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"


            มาตรา 16 องคมนตรีพ้นจากตำแหน่งเมื่อตาย ลาออก หรือ มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง


            มาตรา 17 การแต่งตั้งและการให้ข้าราชการในพระองค์และ สมุหราชองครักษ์พ้นจากตำแหน่งให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัย


            มาตรา 18 ในเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุผลก็ตามจะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และให้ประธาน รัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ


            มาตรา 19 ในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ตาม มาตรา 18 หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพราะยังไม่ ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรีเสนอชื่อผู้ใด ผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภา เพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธาน รัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์


            ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการให้ความเห็นชอบตามวรรคหนึ่ง


            มาตรา 20 ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตาม ที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรีเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน


            ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งตาม มาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน


            ในระหว่างที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามวรรคหนึ่ง หรือในระหว่างที่ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามวรรคสอง ประธานองคมนตรีจะปฎิบัติ หน้าที่ในฐานะเป็นประธานองคมนตรีมิได้         ในกรณีเช่นว่านี้ ให้คณะ องคมนตรีเลือกองคมนตรีคนหนึ่งขึ้นทำหน้าที่ประธานองคมนตรีเป็น การชั่วคราวไปพลางก่อน


            มาตรา 21 ก่อนเข้ารับหน้าที่ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้ รับการแต่งตั้งตาม มาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ต้องปฎิญาณตนในที่ประชุมรัฐสภาด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้


            "ข้าพเจ้า (ชื่อผู้ปฎิญาณ) ของปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะจงรักภักดี ต่อพระมหากษัตริย์ (พระปรมาภิไธย) และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้ และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"


             ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาตาม มาตรา นี้


 มาตรา 22 ภายใต้บังคับ มาตรา 23 การสืบราชสมบัติให้เป็นไป โดยนัยแห่งกฎหมายมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467


            การแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์โดย เฉพาะ เมื่อมีพระราชดำริประการใด ให้คณะองคมนตรีจัดทำร่าง กฎมณเฑียรบาลแก้ไขเพิ่มเติมกฎมณเฑียรบาลเดิม ขึ้นทูลเกล้าทูล กระหม่อมถวายเพื่อมีพระราชวินิจฉัยเมื่อทรงเห็นชอบและทรงลง พระปรมาภิไธยแล้ว ให้ประธานองคมนตรีดำเนินการแจ้งประธาน รัฐสภาเพื่อให้ประธานรัฐสภาแจ้งให้รัฐสภาทราบ และให้ประธาน รัฐสภาลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและเมื่อได้ประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับเป็นกฎหมายได้


            ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาผู้แทนราษฎรถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคสอง


            มาตรา 23 ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่ พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎหมาย มณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้วให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธาน รัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภา อัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


             ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ มิได้ทรงแต่งตั้ง พระรัชทายาทไว้ตามวรรคหนึ่ง ให้คณะองคมนตรี เสนอพระนามผู้สืบราชสันตติวงศ์ตาม มาตรา 22 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐสภาเพื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบ ในการนี้ จะเสนอ พระนามพระราชธิดาก็ได้ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้ว ให้ประธาน รัฐสภาอัญเชิญองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหา กษัตริย์สืบไป แล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ


 ในระหว่างที่สภาผู้แทนราษฎรสิ้นอายุหรือสภาสภาผู้แทนราษฎร ถูกยุบ ให้วุฒิสภาทำหน้าที่รัฐสภาในการรับทราบตามวรรคหนึ่ง หรือให้ความเห็นชอบตามวรรคสอง


             มาตรา 24 ในระหว่างที่ยังไม่มีประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาท หรือองค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตาม มาตรา 23 ให้ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน แต่ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลงใน ระหว่างที่ได้แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ตาม มาตรา 18 หรือ มาตรา 19 หรือระหว่างเวลาที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จ ราชการแทนพระองค์ตาม มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ให้ผู้สำเร็จราชการ แทนพระองค์นั้นๆ แล้วแต่กรณีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต่อไปนี้ ทั้งนี้ จนกว่าจะได้ประกาศอัญเชิญองค์พระรัชทายาทหรือ องค์ผู้สืบราชสันตติวงศ์ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์


            ในกรณีที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ซึ่งได้รับการแต่งตั้งไว้และ เป็นผู้สำเร็จราชาการแทนพระองค์ต่อไปตามวรรคหนึ่งไม่สามารถ ปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ประธานองคมนตรีทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทน พระองค์เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน


 ในกรณีที่ประธานองคมนตรีเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามวรรคหนึ่ง หรือทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เป็นการ ชั่วคราวตามวรรคสอง ให้นำบทบัญญัติ มาตรา 20 วรรคสาม มาใช้บังคับ


            มาตรา 25 ในกรณีที่คณะองคมนตรีจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 19 หรือ มาตรา 23 วรรคสอง หรือประธานองคมนตรีจะต้องปฎิบัติ หน้าที่ตาม มาตรา 20 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือ มาตรา 24 วรรคสอง และอยู่ในระหว่างที่ไม่มีประธานองคมนตรีหรือมีแต่ไม่ สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ให้คณะองคมนตรีที่เหลืออยู่เลือกองคมนตรี คนหนึ่งเพื่อทำหน้าที่ประธานองคมนตรี หรือปฏิบัติหน้าที่ตาม มาตรา 20 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง หรือตาม มาตรา 24 วรรคสาม แล้วแต่กรณี


 


[3] วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกของ สุรชาติ บำรุงสุขได้เสนอว่า การเปลี่ยนแปลงในความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองของไทยนับตั้งแต่ปี 2516 เป็นต้นมา มีลักษณะของ "การเปลี่ยนผ่านผ่านการเจรจา" (transition through transaction) โดยที่ทหารนั้นเป็นผู้ที่ริเริ่มกระบวนการเปลี่ยนแปลงบทบาทนี้เองด้วยความสมัครใจ ทั้งนี้เหตุปัจจัยในการต้องการเปลี่ยนบทบาทนี้ก็เพราะการมีประชาธิปไตยนั้น (ในความหมายของการลดบทบาททหารในการเกี่ยวข้องกับการเมืองในทางตรง ผ่านการควบคุมโดยพลเรือน-ซึ่งสุรชาติไม่ได้หมายถึงพลเมือง แต่หมายถึงระบบการบริหารกิจการทหารที่ให้คนที่ไม่ใช่ทหาร หรือคนที่เป็นอดีตทหารที่ทหารยอมรับมาคุมกันเอง) เป็นการลดความขัดแย้งภายในหมู่ทหารลง และขณะเดียวกันก็เป็นการทำให้ทหารนั้นยังสามารถมีบทบาทในการเมืองต่อไปได้ เพราะจากการคาดคำนวนของทหารเองนั้น ต้นทุนจากการที่จะครองอำนาจทางการเมืองทางตรงผ่านการเป็นรัฐบาลนั้นสูงกว่าการออกมาอยู่ข้างนอกในแบบผู้ทรงอิทธิพล (Surachart Bamrungsuk. "From Dominance to Power Sharing: The Military and Politics in Thailand, 1973-1992." Ph.D Dissertation. Columbia University, 1999.)


            สุรชาติเข้าถึงประเด็นของความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองด้วยกรอบคิดในทางเศรษฐกิจการเมือง และการคาดคำนวนการตัดสินใจขององค์กรในความสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆของสังคม ในขณะที่นิธิ เอียงศรีวงศ์ ได้อธิบายความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับการเมืองไว้ในกรอบของวัฒนธรรม โดยมองว่าสำหรับรัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมของไทย (ที่ไม่เคยถูกฉีก - หรือ วัฒนธรรมทางการเมืองของไทย) กองทัพนั้นเป็นผู้มีอิทธิพลมิใช่ผู้มีอำนาจ กล่าวคือ สังคมยินยอมให้กองทัพ เป็นผู้มีอิทธิพลคือเป็น "ลูกพี่" แต่เมื่อใดที่กองทัพมีอำนาจหรือเป็นผู้ปกครองสังคม ประชาชนก็จะไม่สามารถอาศัยกองทัพในฐานะผู้มีอิทธิพลหรือลูกพี่ในหลบภัยอำนาจจากผู้ที่มีอำนาจตามกฏหมาย (ดู  นิธิ เอียวศรีวงศ์. "รัฐธรรมนูญฉบับวัฒนธรรมไทย." ศิลปวัฒนธรรม 13.1 (2534): 266-84.  สำหรับแนวคิดเบื้องหลังของอาจารย์นิธิในการวิเคราะห์เรื่องอำนาจและอิทธิพลดูที่ Tamada, Yoshifumi. "Itthiphon and Amnat : An Informal Aspect of Thai Politics." Southeast Asian Studies 28.4 (1991): 445-65.)


            กรอบคิดของทั้งสุรชาติและนิธินั้นทำให้เราเห็นถึงความสลับซับซ้อนของทหารกับการเมืองไทยเพิ่มขึ้นจากการศึกษาในลักษณะเดิมคือ การศึกษาตัวบุคลิกภาพทางการเมืองของผู้นำทหาร หรือความคิดทางการเมืองของทหาร หรือกลุ่มทหาร (ดู Suchit Bunbongkarn. The Military in Thai Politics: 1981-86. Singapore: Institute of Southeast Asian Studies, 1987. ชัยอนันต์ สมุทวณิช. ยังเติร์ก กับ ทหารประชาธิปไตย: การวิเคราะห์บทบาททหารในการเมืองไทย. กรุงเทพฯ: บรรณกิจ, 2525. และ เฉลิมเกียรติ ผิวนวล. ความคิดทางการเมืองของทหารไทย 2519 - 2535. กรุงเทพฯ: ผู้จัดการ, 2535.) มาสู่ความเข้าใจในเรื่องของกรอบคิดในการตัดสินใจและกระบวนทางวัฒนธรรม โดยไม่ได้มุ่งตีความในเบื้องแรกถึงจิตเจตนาหรืออุดมการณ์ของทหาร แต่มองเห็นว่าทหารนั้นเป็นหนึ่งในตัวกระทำการทางสังคมการเมืองที่สำคัญ ที่ต้องเกี่ยวพันกับตัวแสดงอื่นๆและมีความสัมพันธ์ทางอำนาจและอิทธิพลกับตัวกระทำการอื่นทางสังคมการเมือง


 


[4]ความยอกย้อนของมาตรา 63 กลับน่าสนใจกว่ามาตรา 65 เพราะหากเราพิจารณาการตั้งชื่อคณะรัฐประหารในครั้งนี้ ที่ชื่อคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งน่าจะถอดมาจากมาตรา 63 นี้นั่นเอง หรือพูดง่ายๆว่าการทำรัฐประหารครั้งนี้เป็นการกระทำเพื่อรักษาระบอบการปกครองด้วยวิธีการนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อนับจากกระแสเรียกร้องจากนักวิชาการระดับผู้หลักผู้ใหญ่ บรรดาผู้นำองค์กรพัฒนาเอกชนระดับผู้หลักผู้ใหญ่ และสื่อมวลชนที่อยากให้เกิดสิ่งนี้ และ/หรือที่มีกระบอกปืนจ่ออยู่ในทื่ทำงานแล้ว ระบอบการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้นถือว่าไม่ได้ล้มไป ไม่ได้สูญเสียอะไรไปเลยนอกจากรัฐธรมนูญที่มีคณาจารย์สาขานิติศาสตร์จำนวนมากพร้อมเสนอร่างใหม่ของตัวเอง มากกว่าพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญฉบับพลเมืองที่ดำรงมา ๙ ปี และร่างโดยองค์รวมของสังคมที่ไม่มีนักการเมืองและทหารอยู่ในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว


 


ในจินตนาการของคนจำนวนไม่น้อยที่อุ่นใจกับระบอบการปกครองที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนั้น พวกเขาอาจจะคิดว่าการทำรัฐธรรมนูญประหารในครั้งนี้เป็นไปเพื่อรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอีกต่างหาก คือเป็นการทำรัฐ(ธรรมนูญ)ประหารเพื่อประชาธิปไตย ดังที่ได้มีความพยายามอ้างอิงการทำรัฐประหารในหลายพื้นที่ในโลก อาทิ โปรตุเกสเมื่อยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมา หรือการเน้นย้ำว่ากรอบรัฐธรรมนูญที่มีอยู่นั้นเป็นอุปสรรคต่อประชาธิปไตยเพราะกรอบนั้นมันพังไปก่อนหน้านั้นแล้วนั่นเอง


 


[5] แม้ว่าจะมีข้อถกเถียงในเนื้อหาสาระว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยมากกว่าปี 2475 และ 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ประเด็นที่ผมเสนอในเรื่องนี้อยู่เพียงแค่เรื่องของความเป็นไปได้ที่จะ "ใช้ชื่อ" ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ "จิตวิญญาน" ของรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ท่ามกลางความร้อนวิชาของนักกฏหมายมหาชนจำนวนไม่น้อยที่อยากจะเขียนกฏหมายใหม่ราวกับซอฟแวร์ไมโครซอฟ มากกว่าจะให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชนว่าความเป็นพลเมืองของพวกเขาผูกพันกับการมีรัฐธรรมนูญในการให้หลักประกันสิทธิในการดูแลตัวเองของพวกเขา ที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา "ลูกพี่" หรือ "ทนาย" ตลอดเวลา


 


………………………………………………


หมายเหตุ : บทความนี้ ปรับปรุงจากบทความที่ตีพิมพ์ครั้งแรกใน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก วันพุธที่ 27 กันยายน 2549 หน้า 4

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net