Skip to main content
sharethis


โดย กรรณิการ์ กิจติเวชกุล


 


 


ประชาไท - 5 ต.ค.2549 ที่สมาคมนักข่าวฯ เครือข่ายองค์กรประชาชน องค์กรวิชาชีพและองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกันแถลงข่าวเรื่อง "ค้านรายชื่อรัฐมนตรีไม่พึงประสงค์"


           


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เครือข่ายที่มาร่วมแถลงข่าวมาจากเครือข่ายองค์กรประชาชนคัดค้านการค้าเสรี อันประกอบด้วย เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีเอดส์ ประเทศไทย, เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก, สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค, สมัชชาคนจน, เครือข่ายสลัม 4 ภาค, สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, เครือข่ายป่าไม้-ที่ดิน 4 ภาค, คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย, เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น, กลุ่มจับตาบรรษัทข้ามชาติ (Corporate Watch) และ กลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และมีมาเพิ่มอีก 2 เครือข่าย คือ สมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ และสมัชชาประชาชนภาคอีสาน


 


จากนั้น น.ส.สารีได้อ่านแถลงการณ์ "ค้านรายชื่อรัฐมนตรีไม่พึงประสงค์" (ดูเอกสารแนบ)


           


น.ส.รสนา โตสิตระกูล เครือข่าย 30 องค์กรพัฒนาเอกชนต้านคอรัปชั่น กล่าวว่า การที่ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี แถลงว่าจะทำเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อันหมายถึงเศรษฐกิจที่มุ่งความเป็นเอกราชของประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม กฎหมายต่างๆ นั้น หวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปในทิศทางที่ถูกต้อง แต่เมื่อพิจารณาจากชื่อรัฐมนตรีที่ออกมาแล้วไม่น่าจะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนไปสู่ทางที่กล่าวไว้ได้ จึงต้องการส่งเสียงให้ท่านนายกรัฐมนตรีรับฟังและพิจารณาไตร่ตรอง ประชาชนหวังจะเห็นนายกฯ ไม่เลือกชื่อบุคคลที่ต้องห้ามทั้งเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและทัศนคติที่ไม่สามารถไปได้กับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงและดัชนีความสุขประชาชาติ ไม่เช่นนั้นแล้วการรัฐประหารครั้งนี้ก็เป็นเพียงการเปลี่ยนโครงสร้างระดับบน ไม่ได้แก้ปัญหารากฐานแท้จริง และท้ายที่สุด ทั้งการรัฐประหารและรัฐบาลจะไม่ได้การยอมรับจากประชาชน


 


นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้ประสานงานกลุ่มศึกษาเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) กล่าวว่า ชื่อของว่าที่รัฐมนตรีว่าการต่างประเทศที่ออกมา เป็นอดีตหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-สหรัฐ ส่วนชื่อของว่าที่รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ ก็เป็นอดีตหัวหน้าคณะเจรจาเอฟทีเอ ไทย-เอฟต้า ซึ่งทั้งสองคนนี้ระหว่างดำเนินการเจรจาเอฟทีเอไม่เคยฟังความคิดเห็นประชาชนเลย เราต่อต้านระบอบทักษิณเพราะระบอบทักษิณเปิดเสรีอย่างบ้าคลั่ง แล้วเราจะยังเอาคนที่สนับสนุนการค้าเสรีโดยไม่สนใจผลกระทบต่อประชาชนเข้ามาได้อย่างไร


 


โดยเฉพาะเมื่อเป็นสถานการณ์ที่รัฐบาลถูกกดดันจากประเทศตะวันตกโดยอ้างเรื่องประชาธิปไตย เรามีตัวอย่างให้เห็นแล้วว่ารัฐบาลจะเอาใจชาติตะวันตก ทั้งที่พวกนี้กดดันเพื่อหวังผลประโยชน์บางอย่าง ซึ่งถ้านายกรัฐมนตรีทำเช่นนี้ ก็เท่ากับตบหน้าประชาชน


 


วิฑูรย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ชื่อของว่าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ก็เป็นชื่อของผู้บริหารธุรกิจการเกษตรขนาดใหญ่ของประเทศ ซึ่งภาคประชาชนรับไม่ได้ด้วยหลายเหตุผล เพราะบริษัทใหญ่แห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลทักษิณ และพัวพันการทุจริตหลายโครงการในรัฐบาลทักษิณ อีกทั้งยังหนุนการจัดทำเอฟทีเอเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าของตัวเอง


 


"เมื่อเช้านี้ ผมได้รับโทรศัพท์จาก ศ.ระพี สาคริก ปูชนียบุคคลของประเทศ ฝากบอกมาว่า "การคัดเลือกรัฐมนตรีเกษตรนั้น ต้องยึดหลัก  3 ประการ คือ ต้องรับใช้ใกล้ชิดเกษตรกร, ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจเกษตรขนาดใหญ่ และต้องพิสูจน์ว่าไม่เกี่ยวข้องกับระบอบทักษิณในช่วงที่ผ่านมา" ดังนั้น การคัดเลือกรัฐมนตรี แม้นายกรัฐมนตรีจะระบุว่า ประชาชนอาจไม่พอใจ แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนผิดหวัง และต้องไม่ผิดหลักการที่นายกรัฐมนตรี และ คปค.ประกาศไว้" วิฑูรย์กล่าว


 


นางสาวสายรุ้ง ทองปลอน  ผู้จัดการสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน ช่วงระบอบทักษิณ เป็นฐานผลประโยชน์ที่เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และเกิดความขัดแย้งในสังคมหลายเรื่อง ดังนั้น


 


ภารกิจสำคัญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน คือ ต้องเร่งทบทวน 3 เรื่องคือ เรื่องเร่งด่วน  ที่ต้องทบทวน 1.การทบทวนแผนกำลังการผลิตไฟฟ้า หรือ PDP ฉบับใหม่  เพื่อไม่ส่งเสริมการลงทุนเกินความจำเป็น  และต้องเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของPDP คือ การพยากรณ์ ,การเลือกเทคโนโลยีโรงไฟฟ้า,ประมูลไอพีพี,การรับซื้อไฟฟ้าต่างประเทศ,การตัดสินใจอนุมัติแผน 2.การไปลงทุนซื้อขายไฟฟ้ากับต่างประเทศ เป็นที่มาของการสร้างเขื่อนในแม่น้ำสาละวิน ซึ่งจะเป็นที่มาของการลงทุนขนาดใหญ่ที่ไม่มีแนวโน้มว่าจะคุ้มในด้านใดๆ ไม่ว่าจะต้องเกิดการขูดรีดค่าไฟจากผู้บริโภคมากขึ้น   การละเมิดสิทธิมนุษยชน ฯลฯ 3.การเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชน หรือ IPP bidding : กระทบสังคม สิ่งแวดล้อม ค่าไฟ ฯลฯ


 


นอกจากนี้ยังเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ 3 เรื่องเช่นกัน คือ 1.ยกเลิกโครงสร้างการกำหนดค่าไฟฟ้า ที่เป็นมรดกตกทอดมาจากการแปรรูปของรัฐบาลทักษิณ  ซึ่งเป็นการมุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุน 2.ยกเลิก พ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเหมือนที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องมีกระบวนการตรวจสอบจากรัฐสภา และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนอย่างเพียงพอ  เป็นกลไกการเซ็นเช็คเปล่า


 


3.เริ่ม ขบวนการปฏิรูปกิจการพลังงาน เช่น ด้านไฟฟ้า ด้านก๊าซ ด้านน้ำมัน โดยเฉพาะการออกกฎหมาย พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน เพื่อให้เกิดธรรมาภิบาลในกิจการพลังงาน  ควรแยกบทบาท การกำหนดนโยบายส่วนหนึ่ง   การกำกับดูแลส่วนหนึ่ง  การปฏิบัติหน้าที่ส่วนหนึ่ง และการประกอบกิจการส่วนหนึ่ง  โดยนำมาประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นประชาชน อย่างจริงจังกว้างขวาง, การ ขจัดปัญหาโครงสร้าง เครือข่ายผลประโยชน์ทับซ้อน, การมีองค์กรอิสระกำกับกิจการพลังงาน  ด้านต่างๆ เช่น ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ  น้ำมัน  ที่มีพระราชบัญญัติรองรับเพื่อการกำกับดูแล  เพราะเป็นการดูแลกผลประโยชน์ 100,000 ล้าน ต้องตรวจสอบ ถ่วงดุลด้านพลังงานที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค  สังคม สิ่งแวดล้อม 


 


น.ส.สายรุ้งกล่าวว่า นอกจากนี้ยังต้องมีการปฏิรูปหลักคิดของการกำหนดนโยบายกระทรวงพลังงานด้วย โดยการ ชูธงเหลือง คือความพอเพียง การพึ่งตนเองได้ และชูธงเขียว คือ สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งจะนำไปสู่การกระจายอำนาจการจัดการด้านพลังงานไปอยู่ในในมือประชาชน ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล แทนการการแปรรูปกิจการพลังงาน ลงทุนขนาดใหญ่ หรือเมกกะโปรเจ็กต์ที่ต้องกู้เงินพึ่งพาต่างประเทศ และการก่อให้เกิดกิจการผูกขาด


 


ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม  จากคณะกรรมการองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ กล่าวว่า การที่ภาคประชาชนออกมาทักท้วงเป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีต้องฟัง และควรพิจารณาแต่งตั้งคนที่ไม่ถูกทักท้วงเลย เมื่อวานนี้ (4 ต.ค.) ชมรมแพทย์ชนบทก็ทักท้วงการแต่งตั้งบุคคลดังกล่าวให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแล้ว โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการคอรัปชั่น ซึ่งชมรมแพทย์ชนบทนั้น เป็นคนมีความกล้าหาญทางจริยธรรม และเป็นแกนนำในการตรวจสอบทุจริต คอรัปชั่นมาโดยตลอด ดังนั้น ผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ควรเป็นผู้ที่เคารพสิทธิผู้ป่วย สนับสนุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ


 


นายแพทย์พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ประธานชมรมแพทย์ชนบท กล่าวว่า เป็นสภาวะที่ดีที่จะมีการพัฒนาประเทศไปในทิศทางที่เหมาะสม รัฐมนตรีสาธารณสุขต้องซื่อสัตย์สุจริต ต้องมุ่งมั่นปฏิรูปเรื่องสุขภาพและแก้วิกฤติของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ข้อเรียกร้องของชมรมแพทย์ชนบท 4 ประการคือ 1.นโยบายสาธารณสุขต้องเน้นการแพทย์แบบพอเพียงที่ตอบสนองเศรษฐกิจพอเพียง ให้บริการผู้ป่วยด้วยหัวใจซึ่งจะสามารถลดการฟ้องร้องและการหาผลประโยชน์จากผู้ป่วยได้ 2.กระทรวงสาธารณสุขต้องคิดถึงดัชนีชี้วัดความผาสุกของคนไทยที่มองการแพทย์แบบองค์รวม ทั้งกาย จิต และสังคม 3.นโยบายที่ต้องผลักดันต่อเนื่องคือ เรื่องการลดการบริโภคบุหรี่และเหล้า 4.นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม 5.ต้องแก้ปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ด้วยการสร้างอุดมการณ์ในวิชาชีพ ไม่ส่งเสริมแพทย์พาณิชย์


 


ทั้งนี้ ชมรมแพทย์ชนบท เห็นว่า นพ.มงคล ณ สงขลา และ นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


 


ภญ.ศิริพร จึงประเสริฐศิริ ตัวแทนชมรมเภสัชกรชนบท กล่าวว่า ท่ามกลางข่าวรายชื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขนั้น ทางชมรมเภสัชชนบทสนับสนุนจุดยืนชมรมแพทย์ชนบทที่แถลงไปแล้ว คือ นพ. วิฑูรย์ แสงสิงแก้วไม่ควรได้รับตำแหน่ง เพราะสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งนั้นมีข่าวการคอรัปชั่นมาก ในส่วนของรัฐมนตรีนั้น ไม่ควรมีลักษณะต้องห้าม คือการวิ่งเต้นขอเป็นรัฐมนตรี ถ้าใครวิ่งเต้นควรตัดออกไปเลย ทั้งนี้ คนที่เป็นรัฐมนตรีควรกล้าหาญ ไม่ใช่แค่รักษาผลประโยชน์กลุ่มวิชาชีพ และไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจยา


 


นายพันธ์เทพ สุรีสถิระ แกนนำสมาพันธ์คนไทยต้านค้าปลีกต่างชาติ กล่าวว่า การมีห้างใหญ่ไปตั้งในจังหวัด อำเภอ ขณะนี้ลุกลามไปจนถึงเทศบาลตำบล ได้ก่อให้เกิดความล่มสลายของตลาดเก่าซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกร และชุมชนที่ทำการเกษตรนำผลผลิตมาขายในตลาดเก่า ผลกระทบแทรกซึมไปทั่ว ดังนั้น ขอเรียกร้องดังนี้ 1.ขอให้หยุดการขยายสาขาระดับตำบล ขอให้มี พ.ร.บ.ค้าปลีก พ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า เพื่อให้เกิดความยุติธรรม 2.ขอให้กระทรวงพาณิชย์เปิดให้กลุ่มผู้ค้าปลีกไทยดั้งเดิมเข้าร่วมเป้ฯกรรมการในคณะทำงานกำหนดหลักเกณฑ์ค้าปลีกค้าส่ง 3.ขอให้ศึกษาผลกระทบที่เกิดจากพฤติกรรมเร่งการบริโภคของห้างค้าปลีกต่างชาติ 4.ให้ยึดแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 4.ขอให้คนไทยที่รับใช้ห้างค้าปลีกต่างชาติกลับตัวกลับใจ อย่าเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว


 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net