Skip to main content
sharethis

มีคำกล่าวว่า "รัฐประหาร เหมือนกับการหุงข้าวไม่ดี แต่ทุบทิ้งทั้งหม้อข้าว" และเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 การทุบหม้อข้าวก็เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกครั้งในรอบ 15 ปี


 


หลังหม้อข้าวแตกผ่านไปสองสัปดาห์ จะได้กินข้าวกันแบบใด มองชะตากรรมสังคมไทยจากหลากความคิดทางวิชาการผ่านงานเสวนา "เผด็จการอำพรางในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ" โดย จรัล ดิษฐาภิชัย, สุชาย ตรีรัตน์, ประวิตร โรจนพฤกษ์,ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ และศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์


 


เครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร จัดเสวนาเรื่อง เผด็จการอำพรางในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ


เจ้าภาพสถานที่คือ ห้องประชาคมศิษย์เก่ารัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2549 ก่อนครบรอบรัฐประหาร 30 ปี 6 ตุลาคม 2519 เป็นเวลา 2 วัน


 


หรือวันนี้สังคมไทยจะยังไม่ยอมไปไหน เชิญอ่าน "เต็มๆ"  "ยาวๆ"  เยอะหน้า! แต่แน่นด้วยสาระ คมด้วยความคิด  (เหมียนเดิม)


 


พบกับ...


 


ผศ. จรัล ดิษฐาภิชัย คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ … "เหตุการณ์รัฐประหารนี้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองถอยหลัง ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ระบอบประชาธิปไตยในการเมืองไทยจะลงหลักปักฐานอีกครั้ง นี่ก็ใช้เวลามา 74 ปีแล้วนับตั้งแต่ปฏิรูปการปกรองปี 2475"


 


 


สุชาย ตรีรักษ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย … "รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งตรวจสอบความจริงใจของนักการเมืองและบุคคลสาธารณะที่มีต่อประชาชน เพราะต้องเสียภาษีมากเป็นพิเศษ คนรวยก็ได้ คนจนก็ได้ เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ความโปร่งใสเกิด สิทธิเสรีภาพเกิด และรัฐประหารก็จะไม่มี"


 


 


ประวิตร โรจนพฤกษ์ สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น … "ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักหรือเรียนรู้อะไรในอดีตได้มากพอก็จะติดอยู่กับวังวนที่ซ้ำซาก คล้ายๆกัน ที่ประชาชนพอใจการรัฐประหารเพราะไม่เกิดความรุนแรง ทุกอย่างสนุก มันเหมือนกับเทปมันReplay ฉายซ้ำ การวนกลับมาของภาพ 15 ปีก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ"


 


 


ประทีป อึ้งทรงธรรม เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป... "ระบบของ พ.ต.ท.ทักษิณก็เหมือนเรามีบ้านแล้วมีหนู หรือแมลงสาบมาสร้างความรำคาญให้บ้าง แต่เราจะจัดการกับมันด้วยวิธีการเผาบ้านนั้นหรือ รัฐประหารก็เหมือนกับการเผาบ้าน คนที่เห็นด้วย คนที่สนับสนุนกับการทำรัฐประหารนั้นก็เหมือนคนที่ไขกุญแจเปิดประตู้บ้านให้ทหารเข้ามาเผาบ้านของตน"


 


 


ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวาอิ สหรัฐอเมริกา … "ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วกองทัพหนุนทหาร แล้วใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองมันเคยมีมาแล้วในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในพ.ศ. 2524-2531 ช่วงนั้นก็มีปัญหาทางการเมืองจำนวนมากตามมาว่าประชาชนไม่สามารถควบคุมผู้มีอำนาจได้เลย ทั้งทหารหรือข้าราชการ"


 


 


 


 


 


000


 


"เหตุการณ์รัฐประหารนี้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองถอยหลัง ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ระบอบประชาธิปไตยในการเมืองไทยจะลงหลักปักฐานอีกครั้ง นี่ก็ใช้เวลามา 74 ปีแล้วนับตั้งแต่ปฏิรูปการปกรองปี 2475"


 


ผศ. จรัล ดิษฐาภิชัย


คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ


 


มี 2 เรื่องที่อยากจะกล่าวเน้นย้ำ คือ


 


1. ประกาศจุดยืนที่ไม่เห็นด้วยต่อรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ซึ่งมีผู้ที่สนับสนุน แต่ผู้ที่ส่งเสียงคัดค้านก็มีมาก ทว่าสื่อไม่นำเสนอ


 


ทั้งนี้ คปค.ได้รับคำชมมา 2 สัปดาห์แล้ว จึงถึงเวลาที่ต้องยอมรับคำติ คณะรัฐประหารต้องฟังทั้ง 2 ความคิดเห็น


 


2.  15 ปีผ่านไปนับตั้งแต่เกิดรัฐประหารปี 2535 เชื่อแน่ว่ารัฐประหารจะต้องเกิดขึ้นอีกครั้ง  คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนทั่วโลกไม่มีคนไหนเห็นด้วยกับรัฐประหาร เพราะเหมือนเป็นการล้มระบอบประชาธิปไตยทั้งระบบ แต่คนไทยหลายคนไม่เห็นว่าระบอบประชาธิปไตยจะล้ม ซึ่งถ้าชาวบ้านไม่เห็นไม่ว่า แต่ถ้านักการเมือง นักวิชาการมองไม่เห็น ก็น่าเป็นห่วง


 


การล้มระบอบประชาธิปไตยกระทบถึงสิทธิในรัฐธรรมนูญที่ค้ำสิทธิพลเมืองการเมืองด้วย เช่น การคุมขังนักการเมืองโดยไม่มีข้อกล่าวหาถือว่าเป็นความผิดที่ต่างชาติไม่ยอมรับ


 


ผมได้ผ่านรัฐประหารมาแล้ว 4 ครั้ง ครั้งที่ 1 รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501  โดย พลเอกถนอม กิตติขจร ครั้งที่ 2 รัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 โดยทั่วไปมักจะพูดถึง 6 ตุลาคม ในเรื่องของการปราบปราม การฆ่าที่โหดร้าย ป่าเถื่อน โดยมีเป้าหมาย 2 อย่าง คือ ปราบนักศึกษา และล้มระบอบประชาธิปไตยทั้งระบบ


 


ครั้งที่ 3 คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) 2535 นักศึกษาถูกจับ ทหารได้เข้ายึดอำนาจการปกครองจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในตอนนั้น มีการประกาศยึดทรัพย์ การทำรัฐประหารในครั้งนั้นมีประชาชนให้การสนับสนุนด้วย


 


และครั้งที่ 4  รัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คปค. วันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนำโดยกลุ่มทหารเช่นกัน อีกทั้งมีการเรียกร้องให้ตรวจสอบทรัพย์สินของทักษิณด้วย นอกจากนี้ประชาชนก็ยังเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารในครั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวมีลักษณะคล้ายกับรัฐประหารโดยคณะ รสช.


 


ประเพณีรัฐประหารในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผู้นำคณะรัฐประหารมักออกมาบอกว่า ไม่อยากเป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นจะเชิญคนอื่นมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีเพียง 2 ครั้งเท่านั้นที่ผู้นำรัฐประหารตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี คือ 20 ตุลาคม 2501 และ 20 ตุลาคม 2520


 


นอกจากนี้ยังมีประเด็นของการการตั้งชื่อ การปฏิวัติในประเทศไทยมีเพียงครั้งเดียวคือ ในปี 2475 เท่านั้นเพราะมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นระบอบประชาธิปไตย นอกนั้นจะเรียกว่ารัฐประหารหรือการกบฏ แต่ตอนที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ก็เรียกการทำรัฐประหารครั้งนี้ว่าการปฏิวัติ ซึ่งนั้นเป็นการใช้คำผิดความหมาย แต่ถ้าในมุมมองของ พ.ต.ท.ทักษิณ อาจจะเป็นการปฏิวัติก็ได้


 


ลักษณะการทำรัฐประหารในครั้งนี้คล้ายคลึงกับการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และการรัฐประหารโดยคณะ รสช. มีแตกต่างกันบ้าง คือ เหตุการณ์ 6 ตุลา เกิดจากสถานการณ์ที่คนไทยแบ่งเป็นฝ่ายซ้าย-ขวา มีการใส่ร้ายนักศึกษาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ เป้าของคณะรัฐประหารในครั้งนั้นอยู่ที่นักศึกษา ส่วนเป้าของรัฐประหารในวันที่ 19 กันยายน อยู่ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร


 


เหตุการณ์ 19 กันยายน เกิดจากคนกลุ่มหนึ่งที่มีการวางแผนมาหลายเดือนแล้ว และไม่เห็นด้วยกับการทำรัฐประหารในครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนมีสิทธิเดินชุมนุมขับไล่นายกรัฐมนตรีเพราะสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 ประชาชนทำอะไรก็ได้ แต่อย่าใช้วิธีรัฐประหารล้มระบอบประชาธิปไตย


 


กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อมีรัฐประหารเกิดขึ้นจนถึงวันนี้ แม้ว่ายังมีเสียงชม มีการมอบดอกไม้ หรือมีกระแสให้ยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ มีประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ตอนนี้ คปค.กำลังหลอกลวงประชาชนว่าประชาชนยังคงมีสิทธิเสรีภาพอยู่ เพราะคำสั่งห้ามการชุมนุมเกิน 5 คนก็ยังคงมีอยู่ นี่เป็นระบอบเผด็จการ แต่บางคนก็ยังไม่รู้


 


นอกจากนี้ วิทยุชุมชนกว่า 600 คลื่นได้ถูกสั่งปิด เหลือเพียงคลื่น 92.25 ที่ไม่ถูกสั่งปิด แถมได้เพิ่มกำลังส่ง เพราะว่าคลื่นนี้เป็นฝ่ายเดียวกับรัฐประหาร หรือแม้ตอนนี้คลื่นวิทยุชุมชนอื่นๆ จะสามารถออกอากาศได้แล้ว แต่ก็อยู่ในข้อจำกัดที่ว่าจะต้องไม่ออกข่าวที่เกี่ยวกับคณะรัฐประหาร อย่างนี้จะเป็นประชาธิปไตยได้อย่างไร มันเป็นการเปลี่ยนอำนาจเปลือยมาเป็นอำนาจการปกครอง


 


สิ่งที่เกิดขึ้น คือการเมืองไทยถดถอยเหมือนอยู่ในปี พ.ศ. 2540 พวกนักการเมืองที่แพแตกอย่างพรรคไทยรักไทย ถ้าไปตั้งพรรคใหม่เกรงว่าจะมีกลุ่มทหารมาให้การสนับสนุน เหมือนกรณี รสช. ตั้งพรรคสามัคคีธรรม เพราะฉะนั้น 2 อาทิตย์ที่ผ่านมา แม้เป็นการทำรัฐประหารที่สวยหรู แต่นั้นเป็นเพียงตัวบุคคลหาใช่ระบบ


 


15 ปีที่ผ่านมา ไทยเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นแล้ว มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งแน่นอนว่าอาจมีข้อบกพร่องบ้าง แต่ถ้าพูดถึงในตัวระบอบประชาธิปไตย ประเทศไทยเหมือนมีระบอบประชาธิปไตยลงหลักปักฐานแล้ว แต่เมื่อมีเหตุการณ์รัฐประหารนี้ทำให้โครงสร้างทางการเมืองถอยหลัง ไม่รู่ว่าเมื่อไหร่ระบอบประชาธิปไตยในการเมืองไทยจะลงหลักปักฐานอีกครั้ง นี่ก็ใช้เวลามา 74 ปีแล้วนับตั้งแต่ปฏิรูปการปกครองปี 2475


 


 


000


 


"รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งตรวจสอบความจริงใจของนักการเมืองและบุคคลสาธารณะที่มีต่อประชาชน เพราะต้องเสียภาษีมากเป็นพิเศษ คนรวยก็ได้ คนจนก็ได้ เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ความโปร่งใสเกิด สิทธิเสรีภาพเกิด และรัฐประหารก็จะไม่มี"


 


สุชาย ตรีรักษ์


คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


 


 


หลังช่วงพฤษภาทมิฬ ไม่คิดเลยว่าจะไม่เกิดรัฐประหารอีก คิดว่าพร้อมที่จะเกิดได้ทุกเมื่อ สำหรับการรัฐประหารในครั้งนี้รู้สึกเฉยๆ ไม่ใช่เพราะอยากให้มี แต่เพราะรู้สึกว่าเป็นเรื่องความป่าเถื่อนที่จะต้องเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ มันเป็นความบัดซบ เลวทราม ถดถ่อย มันจะเกิดเป็นช่วงๆ ในสังคมไทย และต้องเตรียมรับมือกับมัน เพราะไม่มีใครรู้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไรอีกก็ได้


 


ความถ่อยความบัดซบแบบนี้ คำพวกนี้เป็นคำวิชาการ มันทำลายความเป็นมนุษย์มาก ทำลายชีวิตจิตใจ ทำลายความคิด ทำลายศักดิ์ศรี หากลองไปถามคณะ คปค. เขาจะรู้ตัวว่าเวลานี้เขากำลังทำในสิ่งที่ชั่วร้ายอยู่ จึงต้องออกมาแก้ต่างต่างๆนานา 


 


ท่านนายกฯ (พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์) คนนี้ก็เหมือนกัน พูดอยู่ตลอดว่าไม่อยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนคุณทักษิณยังเป็นนายกรัฐมนตรีก็เคยถามเขาเมื่อ พ.ศ. 2545 ตอนที่มีการสับเปลี่ยนกำลังกันระหว่างกองกำลังชายแดนพม่ากับกองทัพภาคที่ 1 ที่ไม่เคยซ้อมรบมาเลยนับสิบปี เพื่อขอไปลิ้มรสความยากลำบากที่ชายแดนบ้าง ครั้งนั้นสับเปลี่ยนกำลังกันจากกลางวันเป็นกลางคืน


 


คุณทักษิณเลยพูดคุยกับท่านสุรยุทธ์ว่า "พี่จะทำรัฐประหารผมหรือเปล่า?" ท่านสุรยุทธ์บอกว่า "ไม่เคยคิดอยู่ในหัวเลย และจะไม่ทำรัฐประหาร" แต่คราวนี้คงพูดไม่ได้เพราะเขาร่วมทำไปแล้วโดยทางอ้อม เพราะคนอื่นทำให้แล้วตัวเองก็ลงมาเป็นนายกแทน


 


นอกจากนี้ยังมีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการทำรัฐประหารครั้งนี้อีก 4 ประเด็น คือ


 


ประเด็นที่หนึ่ง คือปัญหาความสับสนวุ่นวายซึ่งยังแก้ไขไม่ได้ระหว่างคำว่าระบบกับระบอบ เป็นสิ่งที่จะต้องเข้าใจอย่างถ่องแท้ คำว่าระบบกับระบอบในภาษาไทยมันเป็นคำที่เขียนต่างกัน ปัญหาคือถ้าเขียนต่างกัน ความหมายก็ย่อมต่างกัน ถ้าเหมือนกันทำไมไม่เขียนให้เหมือนกัน ทำไมต้องเขียนต่างกัน ไม่ใช่เป็นเพราะว่าระบบตกพยัญชนะตัว อ มันจึงไม่ใช่ระบอบ ในภาษาอังกฤษ ระบบคือ System ระบอบก็คือ Regime เพราะฉะนั้นสองคำนี้ คิดว่าเป็นคำที่มีปัญหาที่เราต้องมานั่นครุ่นคิดเมื่อมีการทำรัฐประหารครั้งนี้


 


เอาง่ายๆ เรามีระบบประชาธิปไตย และเราก็มีระบอบทักษิณ แต่ที่เราทำร้ายเวลานี้ไม่ใช่เฉพาะระบอบทักษิณเท่านั้น แต่ทำลายระบบประชาธิปไตยทั้งระบบ เสมือนกับเราหุงข้าวไม่ดี แทนที่เราจะโยนทิ้งข้าวนั้นแล้วก็หุงข้าวใหม่ในหม้อใบนั้น เราโยนทิ้งทั้งข้าวและโยนทิ้งทั้งหม้อด้วย


 


ระบบประชาธิปไตยเราพยายามฟูมฟักกันอยู่ สิ่งที่พยายามจะชี้ให้เห็นบนความแตกต่างของคำว่าระบอบกับระบบก็คือ ระบอบทักษิณ แม้เป็นสิ่งที่ฉาบฉวยมาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีสิ่งดีอยู่ที่ให้ประโยชน์อะไรอย่างมหาศาลกับประชาชน อย่าง 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ถึงมือประชาชนโดยตรง เขาให้ประโยชน์เพียงแต่มันไม่พอและมันฉาบฉวยมันจึงก่อให้เกิดปัญหา โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคอาจจะเกิดปัญหากับโรงพยาบาล เกิดปัญหากับหมอ แต่ทักษิณไม่ค่อยสนใจ สนใจที่จะเอาใจชาวบ้าน ปรากฏว่าหมอและโรงพยาบาลก็เดือดร้อน


 


ส่วนระบบประชาธิปไตยเป็นระบบที่ต้องอดกลั้น ต้องสามารถพูดคุยถกเถียงกันได้ เป็นระบบที่สามารถจะเสนอความคิดเห็นต่างกันได้และอยู่ร่วมกันได้ ต้องเคารพในความแตกต่าง ทุกคนมีความเห็นต่างกันได้


 


ขอยกข้อความหนึ่งที่เขียนลงในหน้าหนังสือพิมพ์จาก คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ที่เขียนไว้ว่า "ถ้าสังคมไทยตกอยู่ภายใต้มายาคติในเรื่องความขลังของความสมานฉันท์ (แบบรักพ่อ อย่าทะเลาะกัน) สังคมไทยจึงไม่คุ้นเคยกับการปะทะกันทางความคิดแบบสุดขั้ว หรือการมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างชัด ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่เป็นจิตวิญญาณของระบบประชาธิปไตยของไทย"


 


เพราะฉะนั้นการรัฐประหารครั้งนี้ทำลายสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไม่เห็นเป็นปัญหาเลยถ้าครอบครัวหนึ่งจะมีความเห็นที่ต่างกัน พ่อแม่กับลูกทะเลาะกัน ไม่เป็นปัญหาเลย ตราบใดที่ไม่มีการฆ่ากัน ซึ่งคงจะไม่มีอย่างนั้น ทุกครอบครัวอาจจะมีความเห็นที่แตกต่างกันในบางเรื่องได้ สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ดีที่เราควรจะปลูกสร้าง ไม่ใช่ว่า คนแก่ว่ายังไงก็ถูกตลอดเวลา ถ้าคนแก่ถูกตลอดเวลาก็เหมือนการย้อนกลับไปหายุคไดโนเสาร์ โลกมันมีสิ่งใหม่ตั้งเยอะ บางครั้งพ่อแม่อาจจะผิด ลูกอาจจะถูก นั่นคือสิ่งที่เราต้องยอมรับซึ่งกันและกันต้องให้โอกาสในการลองผิดลองถูกด้วย


 


สังคมไทยที่เจริญไม่ได้ก็เพราะเหตุนี้ ประชาธิปไตยแปลว่าอธิปไตยของประชาชน จะแปลอย่างอื่นไม่ได้เด็ดขาด ถ้าแปลอย่างอื่นถือว่าหลอกลวงและหลอกลวงคนทั้งโลกด้วย เพราะฉะนั้นระบอบของทักษิณเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหา ส่วนระบบประชาธิปไตยคือสิ่งที่เราควรจะรักษาและพยายามที่จะพัฒนาให้ดีกันต่อไป


 


ประเด็นที่สอง อะไรคือสาเหตุที่แท้จริงของการทำรัฐประหารในครั้งนี้ คุณอานันท์  ปันยารชุน นายกฯ ที่รักของคนหลายคน ให้สัมภาษณ์เป็นพิเศษเกี่ยวกับรัฐประหาร น่าผิดหวังมากเลยที่พูดว่า


 


"เข้าใจว่าที่ทำไปเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุวุ่นวายกลางเมือง ป้องกันไม่ให้เกิดความแตกแยกแตกหัก ทำนองว่ามันจะเกิดจราจล ซึ่งมันจะเป็นเรื่องใหญ่โตของบ้านเมืองนี้"


 


ถ้าพูดแบบนี้รู้สึกผิดหวังมากที่ได้ยินจากนักประชาธิปไตย เพราะทหารก็พูดแบบนี้ คปค.ก็พูดแบบนี้ ผมว่าถ้ารู้ว่ามันจะเกิดแบบนั้น ทำไมต้องรัฐประหาร ถ้ารู้ว่าจะเกิดแบบนั้น ก็แค่เอาทหารไปล้อมบ้านบางคน แทนที่จะเอาไปทำรัฐประหาร ยึดบ้านยึดตู้เย็นก็ได้ ไม่ต้องทำทั้งประเทศ เอาแค่สองบ้าน แค่นั้นก็พอแล้ว หรือเอาตำรวจไปตรวจค้นก็ทำได้ ไม่เห็นจะเป็นอะไรเลย ตรวจค้นอย่างละเอียดด้วย การยกเหตุแบบนี้ออกมา เป็นการคาดการณ์แบบทรงเดช ทุบหม้อข้าวทั้งหม้อซึ่งไม่ถูกต้องเลย ยกเหตุซึ่งไม่เป็นเหตุเป็นผลขึ้นมาอ้าง คือการโกหก


 


แล้วสาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่ไหน?  คิดว่าสาเหตุของการรัฐประหารครั้งนี้คือ การแย่งชิงอำนาจในกลุ่มผู้ฝักใฝ่ทางการเมือง ระหว่างกลุ่มเก่ากับกลุ่มใหม่ และในระหว่าง 2 กลุ่มใหญ่นี้ ก็มีกลุ่มทุนเสรีที่เสียประโยชน์จากกลุ่มทุนผูกขาดทักษิณด้วย เลยรวมตัวกันคัดค้านคุณทักษิณ


 


เราต้องเข้าใจว่ารัฐธรรมนูญพูดต่อไปไม่ได้แล้วว่า เป็นกฎหมายสูงสุด เลิกพูดได้เลย หนังสือเรียนมัธยมให้ขีดคำนี้ทิ้งเลย ที่ว่า รัฐธรรมนูญไทยเป็นกฎหมายสูงสุด เพราะไม่จริงอีกต่อไป รัฐธรรมนูญคือกฎหมายต่ำสุด หรือรัฐธรรมนูญที่เป็นกฎหมายแม่บท มันก็ไม่จริงอีกต่อไป มันเป็นแค่กฎหมายลูกบท


 


เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เกิดขึ้นนี้ เป็นข้อตกลงชั่วคราวในความสัมพันธ์ทางอำนาจระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่เป็นฝ่ายผู้นำทางการเมือง รัฐธรรมนูญร่างขึ้นมาเพราะกลุ่มนำทางการเมืองสามารถตกลงกันได้ แต่คนกลุ่มหนึ่งที่โดนอ้างถึงตลอดแต่ไม่เคยได้เลย ก็คือคนชั้นล่าง เพราะนี่เป็นข้อตกลงชั่วคราว


 


แล้วถ้าข้อตกลงชั่วคราวนี้มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้เปรียบขึ้นมาอีก อีกฝ่ายหนึ่งก็จะไม่ยอมก็พยายามจะต่อสู้ คัดค้านด้วยภาษากฎหมายในเวทีต่างๆ ในที่สุดถ้าตกลงกันไม่ได้จริงๆ หรือว่าจะสูญเสียอำนาจจากข้อตกลงอันนั้นก็ต้องฉีกรัฐธรรมนูญ ฉีกกติกาอันนั้นทิ้งเสีย นี่คือความเป็นจริงของคำว่ารัฐธรรมนูญ ฉะนั้นรัฐธรรมนูญคือข้อตกลงชั่วคราว


 


ครั้งนี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้งกับการร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว และจะเป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราต้องไปอยู่ในเวทีนี้จะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม แต่ต่อไปนี้เราคงยอมไม่ได้อีกแล้วที่จะวางเฉย ต้องร่วมเรียกร้องต่อสู้เพื่อให้ฝ่ายประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย


 


ประเด็นที่สาม คือใครได้ประโยชน์จากการทำรัฐประหารครั้งนี้ แน่นอนว่ากลุ่มทุนทักษิณเป็นกลุ่มทุนที่เสียประโยชน์ ในขณะนี้ทำอะไรไม่ค่อยจะได้ แต่มีฝ่ายหนึ่งได้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และยิ้มร่าในขณะนี้


 


แต่ผู้ที่เสียประโยชน์จากเหตุการณ์นี้มากที่สุด คิดว่าคือประชาชนคนชั้นล่างทั่วๆ ไป เพราะกระดิกอะไรไม่ได้เลย ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกลุ่มคนที่สนับสนุนคุณทักษิณเท่านั้น แม้แต่ชาวนา คนจน หรือเขื่อนปากมูลที่เคยต่อสู้มาแล้ว เวลานี้ก็ต้องถูกปรามถูกสกัดอะไรต่างๆ กลุ่มคนจนต่างๆ ที่พยายามจะปฏิรูปตัวเอง พยายามจะมีส่วนร่วมก็ถูกสกัดกั้นไปหมด คนชั้นล่างเสียประโยชน์หมดเลย เขาใช้กฎหมายสกัดกั้นอย่างเป็นหน้ากระดาน


 


ก็คิดกันว่านโยบาย 30 บาทจะเลิกหรือไม่ หลังการรัฐประหารล้มล้างระบอบทักษิณ แต่เขาเลิกไม่ได้ เพราะมันเป็นประชานิยมเลยไม่กล้าเลิก เพราะถ้าเลิกก็ยิ่งเหมือนทำร้ายตัวเอง ดังนั้นอะไรต่างๆ ที่ประชานิยมเคยทำไว้ แม้จะไม่ดีที่สุดแต่ก็เป็นจุดเริ่ม และเขาก็ไม่กล้าแตะ ดังนั้นต้องรอดูต่อไปว่ามันจะเสื่อมทรามหรือจะพัฒนาปรับปรุงอย่างไร


 


ประเด็นที่สี่ การป้องกันรัฐประหารที่ดีที่สุดและเป็นประโยชน์แก่ประชาชนชนชั้นล่างมากที่สุดอยู่ที่ไหน


ข้อนี้ไทยรักไทยได้แตะเอาไว้บางส่วนแล้ว และได้บอกไว้แล้วว่า เป็นการสร้างภาพพจน์ของเขา เป็นประโยชน์เฉพาะหน้า แต่เรามีหน้าที่ที่จะต้องไปให้ไกลกว่าคุณทักษิณ ทำยังไงให้ประชาชนไม่ต้องเสียเงิน 30 บาทในการรักษาทุกโรค ทำอย่างไรให้ประชาชนมีการศึกษาฟรีจริงๆ ไม่ใช่ 12 ปีฟรี ทำอย่างไรให้คนเรามีสิทธิของคนชราที่เคยทำงานมามากมายมหาศาล ให้ได้รับประโยชน์เต็มๆ ในบั้นปลายแห่งชีวิต ได้ประโยชน์เต็มๆ ไม่ใช่อยู่อย่างยากแค้น ทำอย่างไรถึงจะทำให้สิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นมาให้มากกว่าที่รัฐบาลทักษิณทำก่อนหน้า แต่ประชาธิปัตย์ไม่เคยทำเลย


 


ที่ประเทศนอร์เวย์ สวีเดน เดนมาร์ก เบลเยี่ยม และเนเธอร์แลนด์ มีกษัตริย์เป็นประมุขทั้งหมด แต่แตกต่างที่มีนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าแก่ประชาชน ขอเสนอให้สังคมไทยได้รับรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าตั้งแต่เกิดจนตาย อย่างคำกล่าวของ ป๋วย อึ้งภากรณ์  "จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน"  ซึ่งก็คือการเก็บภาษีก้าวหน้าตามสถานภาพทางสังคมที่เป็นอยู่ คนมีมากให้มาก คนมีน้อยให้น้อย รัฐสวัสดิการเป็นสิ่งตรวจสอบความจริงใจของนักการเมืองและบุคคลสาธารณะที่มีต่อประชาชน เพราะต้องเสียภาษีมากเป็นพิเศษ คนรวยก็ได้ คนจนก็ได้ เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม ความโปร่งใสเกิด สิทธิเสรีภาพเกิด และรัฐประหารก็จะไม่มี


 


000


 


"ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักหรือเรียนรู้อะไรในอดีตได้มากพอ ก็จะติดอยู่กับวังวนที่ซ้ำซาก คล้ายๆ กัน ที่ประชาชนพอใจการรัฐประหารเพราะไม่เกิดความรุนแรง ทุกอย่างสนุก มันเหมือนกับเทปมัน Replay ฉายซ้ำการวนกลับมาของภาพ 15 ปีก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ"


 


ประวิตร โรจนพฤกษ์


สื่อมวลชนหนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น


 


การทำรัฐประหารเป็นการวัดสภาพของประชาชนคนไทยกับระบอบประชาธิปไตย แต่ก่อนแก้ปัญหา เราต้องรู้ปัญหาก่อน ลักษณะประชาธิปไตยแบบไทยๆ มี 5 อย่าง


 


1. ระบบอุปถัมภ์ แม้จะบอกว่าเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาธิปไตยก็ไม่เคยเกิดขึ้น ยังคงมีระบบนาย-บ่าว และคนไทยเคยชินไปแล้วกับระบบนี้ หากเปรียบเทียบกับประเทศในตะวันตก เขาจะให้ความสำคัญกับเรื่องยศศักดิ์น้อยมาก ดังนั้นสังคมไทยต้องเปลี่ยนความคิดเพื่อให้คนชั้นล่างสามารถตั้งคำถามได้


 


2. สังคมให้ความสำคัญกับหลักการและวิธีการน้อยกว่าผลลัพธ์ที่ได้ หรือการเน้นผลลัพธ์ระยะสั้น ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ ในช่วงแรกๆ ของทักษิณ มีผู้สนับสนุนมากมายออกไปกดดันศาลรัฐธรรมนูญ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ในคดีซุกหุ้น เพราะเชื่อว่าคุณทักษิณเป็นคนดี แต่ไม่ได้สนใจว่าตัวเองกำลังเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญ และ ปปช.


 


แต่พอรู้ว่าคุณทักษิณไม่ดีก็จะเอาลง หลายคนก็ไม่ได้สนใจหลักการอีกว่าจะเอาลงอย่างไร เลยพร้อมที่จะให้ทหารปฏิวัติ เหมือนนายสนธิ ลิ้มทองกุล ไปหาทหารตอนดึกก่อนที่กลุ่มพันธมิตรจะก่อตัว เพราะต้องการให้พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน ออกมาแสดงตัวอยู่ว่าข้างประชาชน เป็นการเรียกร้องการรัฐประหารโดยทางอ้อมที่สุดท้ายไม่ได้สนใจว่าจะใช้ยุทธวิธีอย่างไร


 


แต่เรื่องของหลักการ มีความสำคัญมาก เพราะตราบใดที่ไม่ให้ความสำคัญต่อหลักการ แก้ไขปัญหาโดยพึ่งกลุ่มผู้มีอำนาจ ก็จะยังเกิดขึ้นได้อีก เท่ากับเป็นการทิ้งบัตรเชิญให้ทหารมาใช้อำนาจจัดการแก้ปัญหา แต่จะไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวให้กับสังคมได้


 


3. การไม่มีวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตย หรือการมีรากฐานที่อ่อนมาก แทบไม่มีใครพูดถึงเลยว่าวัฒนธรรมประชาธิปไตยคืออะไร สนใจแต่ระบบประชาธิปไตย


 


เวลาระบบประชาธิปไตยถูกทำร้ายดังที่เกิดขึ้นประชาชนก็กลับยินดี คิดว่าเกิดจากการที่ผู้คนยังขาดความเข้าใจในความสำคัญของวัฒนธรรมประชาธิปไตยว่าคืออะไร ส่วนหนึ่งก็คือความกลัวในความแตกต่าง เพราะมักจะสรุปกันว่าความแตกต่างก็คือความแตกแยก กลัวการถกเถียง เพราะเข้าใจว่าคือการทะเลาะ และคุ้นเคยกับการแก้ปัญหาด้วยกำลังมากกว่าด้วยสันติวิธี ชอบความสงบแบบฉาบฉวยมากกว่า


 


ความสงบอย่างฉาบฉวยได้เกิดขึ้นแล้วในวันนี้ หลังจากที่ทหารห้ามชุมนุมเกิน 5 คน หรือห้ามสื่อรายงานข่าวที่ไม่สร้างสรรค์ แล้วก็ไปไล่ปิดวิทยุชุมชน ถึงแม้ว่าตอนนี้จะเปิดแล้ว แต่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน หรือกลุ่ม 19 กันยาต้านรัฐประหารก็ยังถูกปิดอยู่ เห็นได้ชัดว่ามันเป็นความสงบแบบชั่วคราว


 


4. ปัญหาเรื่องการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ไทย คนไทยไม่สามารถเรียนรู้ประสบการณ์ในอดีตได้ บทเรียนในอดีตเรียนรู้กันได้ลำบากเพราะโอกาสที่คนไทยจะได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ไทยในมหาวิทยาลัยยังมีน้อย เมื่อกลับไปดูบทเรียนในระดับมัธยม การควบคุมบทเรียนประวัติศาสตร์และการเมืองในมัธยมมีปัญหามาก เป็นเรื่องที่จะต้องเข้าไปจัดการ ตราบใดที่เรายังไม่ตระหนักหรือเรียนรู้อะไรในอดีตได้มากพอ ก็จะติดอยู่กับวังวนที่ซ้ำซาก คล้ายๆ กัน ที่ประชาชนพอใจการรัฐประหารเพราะไม่เกิดความรุนแรง ทุกอย่างสนุก มันเหมือนกับเทปมันReplay ฉายซ้ำ การวนกลับมาของภาพ 15 ปีก่อนอย่างไม่น่าเชื่อ


 


5. เป็นสังคมที่มีลักษณะยึดมั่นกับตัวบุคคลมาก ตราบใดที่รัฐให้ความสำคัญต่อตัวบุคคลมากไป ระบบก็จะมีความสำคัญน้อยลง เช่น การปฏิวัติครั้งนี้ยอมรับได้เพราะว่าพลเอกสนธิเป็นคนดีหรือพลเอกสุรยุทธ์เป็นคนดี ตรรกะแห่งความชอบธรรมทุกอย่างหรือการยอมรับมันไปยึดติดอยู่ที่ตัวบุคคล


 


ปัญหาตอนนี้คงต้องมองโจทย์ไปไกลอีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าว่าจริงๆ แล้วการถูกฝังรากประชาธิปไตยมันจะทำได้หรือไม่ แล้วถ้าทำได้ควรจะเริ่มว่าจะทำอย่างไร


 


 


000


 


"ระบบของ พ.ต.ท.ทักษิณก็เหมือนเรามีบ้านแล้วมีหนู หรือแมลงสาบมาสร้างความรำคาญให้บ้าง แต่เราจะจัดการกับมันด้วยวิธีการเผาบ้านนั้นหรือ รัฐประหารก็เหมือนกับการเผาบ้าน คนที่เห็นด้วย คนที่สนับสนุนกับการทำรัฐประหารนั้นก็เหมือนคนที่ไขกุญแจเปิดประตู้บ้านให้ทหารเข้ามาเผาบ้านของตน"


 


ประทีป อึ้งทรงธรรม


เลขาธิการมูลนิธิดวงประทีป


 


การยึดอำนาจในครั้งนี้ไม่ใช่เป็นการยึดครั้งแรก สิ่งเหล่านี้มันเกิดมาหลายครั้ง ในอนาคตสิ่งเหล่านี้จะเกิดอีก ครั้งนี้ไม่ใช่เป็นครั้งสุดท้าย แต่ก่อนที่เราจะรู้ว่าประชาธิปไตยหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรนั้น เราต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เรียนรู้ว่าในอดีตเขามีการจัดการกันอย่างไร สถานการณ์ในตอนนั้นมีอะไรเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดการยึดอำนาจ และมีผลกระทบอะไรตามมา


 


แน่นอนว่าหลังจากที่มีรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มันมีผลกระทบต่อสภาพชีวิตและจิตใจของผู้คนในสังคมอย่างมาก อย่างน้อยก็มี 2 กลุ่มที่รู้สึกกับเหตุการณ์นี้ กลุ่มแรกคือ กลุ่มที่ยิ้มร่าเริง สนุกสนานกับการรัฐประหารในครั้งนี้ อีกกลุ่มคือ กลุ่มที่เสียใจ เสียความรู้สึก คับแค้นใจ เช่น แท็กซี่ที่ขับรถเข้าไปชนรถถังเพราะรู้สึกกดดันที่ไม่มีใครออกมาต่อต้านอะไรเลยกับการปฏิวัติในครั้งนี้ และยังเจ็บใจที่สื่อต่างๆ ยังนำเสนอข่าวที่คนแห่ไปถ่ายรูปกับรถถัง เอาดอกไม้ไปให้ทหารที่ถือปืนอยู่ในมือ และนำเสนอภาพเด็กๆ เข้าไปเล่นบนรถถัง เล่นกับอาวุธสิ่งเหล่านี้เป็นการบ่มเพาะ ปลูกฝังให้เด็กๆ คุ้นเคยกับอำนาจนิยมและความรุ่นแรงในการใช้อาวุธแก้ไขปัญหา เขาจึงตัดสินใจขับรถแท็กซี่เข้าชนรถถังเพื่อประท้วง ต่อต้านการกระทำของคปค. และเตือนสติสังคมไม่ให้เด็กๆ เข้าไปคุ้นเคยกับอาวุธเหล่านี้ 


 


แต่การกระทำนี้ ก็ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ดี ชีวิตเรามีค่ากว่านี้ เรายังมีอนาคตที่ให้เราเก็บเกี่ยวแล้วนำมาถ่ายทอดประสบการณ์ที่ขมขืนที่ไม่รู้ว่า ความถูกต้อง ความยุติธรรมของสังคมอยู่ที่ไหน ความเป็นประชาธิปไตยที่สร้างมาถูกทำลายไปอย่างไร การทำรัฐประหารโดยออกมาอ้างว่าไม่ต้องการให้เกิดการนองเลือดในสังคม


 


แต่ต้องย้อนถามว่า ในอดีตที่มีการรัฐประหาร ใครเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการนองเลือด (เสียงตอบจากผู้ฟังว่าทหารและสื่อ) ต่อให้ประชาชนออกมาเดินขบวนประท้วง ต่อให้มีสนธิอีก 10 คนออกมาด่าก็ไม่ก่อให้เกิดการนองเลือด


 


อย่างที่ฟิลิปปินส์ ประชาชนก็ออกมาประท้วงอาโรโย ปีกว่าแล้วยังไม่เห็นมีการนองเลือด เป็นเพราะทหารเขามีวินัย ทหารเขารู้ว่าหน้าที่ของเขาคืออะไร ซึ่งไม่ใช่การเอารถถังออกมาขู่หรือเอาปืนมาถือโชว์อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจึงต้องศึกษาทำความเข้าใจและช่วยกันต่อต้านเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยกลับคืนมา แต่อย่าไปคิดว่าเราไม่มีพลัง อย่าคิดว่าหลักและจุดยืนทางประชาธิปไตยของตนเองคลอนแคลน หลายกลุ่มประท้วงว่า พ.ต.ท. ทักษิณเป็นเผด็จการ แต่ก็เป็นเผด็จการบางมาตรา แต่การยึดอำนาจนั้นเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญทั้งเล่ม อย่างนี้เรียกว่าเผด็จการยิ่งกว่า


 


ระบบของ พ.ต.ท.ทักษิณก็เหมือนเรามีบ้านแล้วมีหนู หรือแมลงสาบมาสร้างความรำคาญให้บ้าง แต่เราจะจัดการกับมันด้วยวิธีการเผาบ้านนั้นหรือ รัฐประหารก็เหมือนกับการเผาบ้าน คนที่เห็นด้วย คนที่สนับสนุนกับการทำรัฐประหารนั้นก็เหมือนคนที่ไขกุญแจเปิดประตู้บ้านให้ทหารเข้ามาเผาบ้านของตน


 


เราจะทำอย่างไรต่อไป


 


เราต้องแปลความคับแค้นของเราให้เป็นพลัง อย่าทำอย่างคุณนวมทอง ไพรวัลย์ คนขับแท็กซี่ แต่เราต้องใช้สันติวิธี ถ้าเราบอกว่าเขาบ้า เขาใช้อำนาจแล้วเราก็ไปใช้อำนาจ ไปใช้ตามรุนแรงโต้ตอบเขา นั้นแสดงว่าเราก็บ้าเหมือนกับเขานั้นแหละ การสู้แบบตาต่อตาฟันต่อฟัน ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้กลับสร้างความเสียหายเหมือนที่เป็นมาในอดีต แล้วเมื่อเจอการรัฐประหารอย่างนี้เราจะต้องมีสติปัญญา


 


เราต้องรวมพลังออกมาต่อต้านทันทีที่รู้ว่ามีการรัฐประหาร และหากมีการจัดประชุมต่อต้านการรัฐประหารที่ไหน เราเข้าไปร่วม เข้าไปรับฟังความคิด มันเป็นการแสดงออกทางประชาธิปไตยที่ถูกต้อง และรอดูว่าเราจะมีส่วนรวมอย่างไรในการแสดงความคิดลงไปในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว และมาช่วยกันตรวจสอบความ


ไม่เป็นประชาธิปไตยของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ที่สำคัญพลังของพวกเราต้องไม่เป็นไฟไหม้ฟางที่ช่วงแรกไฟมันลุกโชน แต่นานเข้ามันก็เริ่มมอดดับไปในที่สุด พวกเราต้องเป็นไฟสุมขอนที่จะช่วยกันจุดให้พลังประชาธิปไตยมันลุกโชติช่วง


 


ขอวิพากษ์วิจารณ์รัฐธรรมนูญชั่วคราว 39 มาตรา ว่าเหมือนหนังสือที่มีปกสวยงามแต่พอเปิดเข้าไปข้างในมีแต่หนอน เพราะรัฐธรรมนูญนี้กำหนดให้มีสภานิติบัญญัติตัวแทน 250 คน มาดำรงตำแหน่ง ส.ส. และส.ว. และมีนายกฯ กับรัฐมนตรี 36 คน แต่อำนาจที่เขาให้ไว้กับประธานมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งคือ คปค.เปลี่ยนชื่อและมีอำนาจมากมาย เขาได้หาสมัชชาคนจน 2,000 คน และเลือกกันเองให้เหลือ 200 คน แล้วทางสภามนตรีความมั่นคงเลือกไป 100 คนเพื่อไปร่าง และอีก 25 คนเป็นคณะร่าง และจะมีนักวิชาการอีก 10 คนเข้าไปเป็น 35 คนไปร่างใช้เวลา 180 วัน


 


แต่ถ้าไม่เสร็จก็ยกเลิกแล้วเอารัฐธรรมนูญ 2540 ที่สมบูรณ์มากมาปรับแก้แล้วเอามาใช้ใหม่ ซึ่งทำไมต้องยุ่งยากก็เอารัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงแก้ไขข้อที่เป็นปัญหาแล้วเอามาใช้เลย เช่น การเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีถ้าทำได้ยากก็ปรับเปลี่ยนโดยลดจำนวน ส.ส. ที่จะใช้ลงมติเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรี แต่ไม่จำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งทั้งเล่ม


 


การทำรัฐประหารครั้งนี้มันก็เหมือนการย้อนกลับไปสู่ปี 2535 ที่พรรคเล็กพรรคน้อย ประสบปัญหาที่ส.ส.ย้ายพรรคไปมา มันก็ทำให้เกิดคำเรียกที่ว่า "ส.ส. โสเภณี" นำไปสู่การปฏิวัติ การร่างรัฐธรรมนูญ และฉีกรัฐธรรมนูญ มันกลายเป็นวัฏจักรไปแล้ว


 


แต่ตอนนี้เราไม่สามารถออกมาเคลื่อนไหวได้อย่างเสรีภาพ เพราะมีการประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ทั้งที่บอกว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ประกาศฉบับที่ 5 ที่ออกควบคุมและทำลายการเผยแพร่ของมูลข่าวสารต่างๆ เช่นการปิดเวบที่มีการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ยกเลิกสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุบางส่วน ประกาศฉบับที่ 6 ห้ามผู้ใช้แรงงาน ชาวนาชาวไร่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องใดๆ ให้อยู่ในความสงบ และประกาศฉบับที่ 7 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน


 


คปค.ออกมาบอกว่าเขาคืนประชาธิปไตยให้ประชาชนแล้ว เขาคืนมาอย่างไร เราต้องไปยื่นหนังสือที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อเรียกร้องเสรีในการแสดงความคิดเห็น เราต้องค่อยๆ เลื่อนไปทีละก้าวทีก้าวอย่างมั่นคง


 


000


 


"ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วกองทัพหนุนทหาร แล้วใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองมันเคยมีมาแล้วในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในพ.ศ. 2524-2531 ช่วงนั้นก็มีปัญหาทางการเมืองจำนวนมากตามมาว่าประชาชนไม่สามารถควบคุมผู้มีอำนาจได้เลย ทั้งทหารหรือข้าราชการ"


 


ศิโรตน์ คล้ามไพบูลย์


นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยลัยฮาวายอิ สหรัฐอเมริกา


 


ประเด็นจะเริ่มจากชื่อการอภิปรายที่ว่า "เผด็จการอำพรางในระบอบประชาธิปไตยแบบไทยๆ"


คำว่า "ประชาธิปไตยแบบไทยๆ" เป็นคำที่อันตรายมาก เพราะเป็นคำที่เผด็จการทหารคิดขึ้นมาเพื่ออ้างว่าบ้านเมืองในประเทศนี้สามารถเป็นประชาธิปไตยได้ต่อให้มีทหารเป็นนายกรัฐมนตรีก็ตาม


 


แต่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันไม่มี มีแต่ "เผด็จการแบบไทยๆ" ตั้งแต่การรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน เรากำลังเข้าสู่บ้านเมืองที่เป็นระบอบแบบใหม่ อาจเรียกว่าเป็น "ระบอบรัฐทหาร" ก็ได้


 


เผด็จการแบบไทยๆ คืออะไร


ปกติแล้วเมื่อพูดถึงเผด็จการ เราจะนึกถึงประเทศที่ปกครองโดยผู้นำซึ่งป่าเถื่อน โหดร้าย บ้าอำนาจ อยากเอาใครขังก็ขัง ในประเทศไทยเราอาจจะนึกถึงจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ชอบจับคนขังคุก ไม่พอใจใครก็เอาไปยิงเป้า หรือคนอย่างถนอม กิตติขจร หรือคนอย่างสุจินดา คราประยูร ที่พอประชาชนมาชุมนุมกันมาก ก็เอาทหารไปไล่ยิงประชาชน


 


แต่เผด็จการแบบไทยๆ มันไม่ได้มีหน้าตาแบบนั้นแบบเดียว ในสังคมไทยมีเผด็จการอีกแบบหน้าตาละมุนละไม ยิ้มแย้มแจ่มใส ถือปืนเป็นอาวุธในการข่มขู่ประชาชน แต่ก็ทำท่าเหมือนจะไม่ยิงเรา มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก แต่ก็ทำเหมือนให้เราพูดอะไรได้ตามอำเภอใจ ตอนนี้เราอยู่ในระบอบเผด็จการแบบไทยๆ แบบนี้ ที่มีโครงสร้างเยอะแยะไปหมดที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน


 


เรื่องการห้ามประชาชนชุมนุมเกิน 5 คน การใช้กฎอัยการศึก การห้ามกรรมกรและชาวนาเคลื่อนไหว เป็นการออกกฎหมาย ที่ในที่สุดแล้วก็คือการจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่เผด็จการแบบไทยๆ ทำให้คนจำนวนมากรู้สึกว่าเขาเป็นคนดี เหมือนบอกว่าจำกัดสิทธิเสรีภาพทางกฎหมายแต่ก็ไม่เคยไปจับ เขาจะบอกเราตลอดเวลาว่า เขาให้เราพูดได้ ด่าได้ เขาไม่จับหรอก


 


นี่เป็นการอธิบายเหตุผลในการยึดอำนาจโดยทำให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการปกครอง คือทำให้คนจำนวนหนึ่งรู้สึกว่าตัวเองยังมีเสรีภาพ อยากพูดอะไรก็ได้ แต่ในโครงสร้างแท้จริงแล้วเราไม่มี อยากให้ทำความเข้าใจตรงกันว่ามันไม่ใช่ประชาธิปไตย มันคือเผด็จการแบบไทยๆ ซึ่งบางช่วงก็จะมีหน้าตาโหดร้าย เช่น คุณสุจินดา บางช่วงก็มีหน้าตาที่ดูเป็นคนธรรมะธรรมโม ชอบเดินป่า


 


หลักการสำคัญของเผด็จการแบบไทยๆ คือมีการใช้อำนาจทางการทหารเป็นฐานอำนาจทางการเมือง แล้วการตัดสินใจทางการเมืองทุกชนิดถูกกำหนดด้วยวิธีคิดแบบทหาร สภาพหลังจากวันที่ 19 กันยายน เห็นชัดเจนว่ามีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยอ้างว่าการให้ประชาชนจำนวนหนึ่งมีสิทธิเสรีภาพจะทำให้ระบอบทักษิณกลับมา


 


ที่น่าเศร้าใจคือ ผู้ที่พูดแบบนี้ไม่ได้มีแต่ทหารหรือคณะปฏิรูปการปกครอง แต่นักเคลื่อนไหว เช่น สุริยะใส กตะศิลา ก็พูดตลอดเวลาว่า ขอให้ประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร อย่าตกเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณ พูดทุกวันตั้งแต่เดือนเมษายน จนกระทั่งทักษิณลาออกจากหัวหน้าพรรคไปแล้ว ไม่มีพรรคไทยรักไทยเหลืออยู่แล้ว ก็ยังพูดอยู่ว่าระบอบทักษิณจะฟื้นขึ้นมา เป็นการสร้างผีของทักษิณขึ้นมาเพื่อปิดปากประชาชนไม่ให้ต่อต้านคณะปฏิรูปการปกครอง


 


วิธีการแบบนี้เผด็จการทหารใช้มาตลอด ในช่วง 6 ตุลาคม 2519 ก็ใช้ โดยบอกว่าถ้ามีการชุมนุมของประชาชนมากๆ จะตกเป็นเครื่องมือของคอมมิวนิสต์ที่ทำลายประเทศไทย หรือในช่วง รสช.ก็พูดว่าถ้ามีการชุมนุมกันมากๆ จะตกเป็นเครื่องมือของบิ๊กจิ๋ว (พล.อ.เชาวลิตร ยงใจยุทธ ) และพลตรีจำลอง (ศรีเมือง)


 


ใน พ.ศ.2549 สิ่งที่เผด็จการทหารใช้คือ บอกตลอดเวลาว่า ถ้าประชาชนพูดกันมากๆ จะตกเป็นเครื่องมือของระบอบทักษิณ คิดว่าคำนี้ถูกนำมาใช้ตลอดจนถึงแม้คุณทักษิณจะตายไปแล้วเกิดใหม่อีก 3 ชาติ ก็จะมีการใช้คำว่าระวังระบอบทักษิณ เหมือนกับบอกเด็กๆที่ร้องไห้มากๆให้ระวังตุ๊กแกจะมากินตับ ดังนั้นภูมิปัญญาหนึ่งของคนเหล่านี้ก็ไม่ได้ฉลาดเท่าไหร่


                    


เผด็จการแบบไทยๆ ทำงานอย่างไร


สภาพการณ์หลัง 19 กันยายน ที่ตั้งคุณสุรยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้การเมืองของประเทศไทยกลับมาอยู่ภายใต้สิ่งที่นักวิชาการทางรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งเรียกว่า "ระบอบอำมาตยาธิปไตย" หรือการปกครองประเทศที่อาศัยข้าราชการทั้งหมดเป็นฐานการปกครอง


 


หากพิจารณาจากข่าวในหนังสือพิมพ์มติชน ฉบับวันที่ 4 ตุลาคม 2549 เมื่อวางโผคณะรัฐมนตรี ข่าวจะระบุว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตเลขาสำนักงานนโยบายพลังงานแห่งชาติ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสถาพร กวิตานนท์ อดีตเลขาธิการบีโอไอ (สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายนิตย์ พิบูลสงคราม อดีตปลัดกระทรวงต่างประเทศเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ


 


ดังนั้น การเมืองแบบที่คณะปฏิรูปกำลังทำให้เกิดขึ้นคือ การนำปลัดกระทรวงมาเป็นรัฐมนตรี ทีนี้ลองมาคิดดูว่าประชาชนธรรมดาเวลาเจอข้าราชการเอาแค่ปลายแถวถูกปฏิบัติดีหรือไม่ แล้วหากคิดถึงในระดับประเทศที่อนุญาตให้ปลัดกระทรวงขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีจะมีหลักประกันได้อย่างไรว่ารัฐมนตรีที่มาจากปลัดกระทรวงเหล่านี้จะทำงานให้ประชาชน และเราก็ไม่สามารถตรวจสอบควบคุมได้


 


ประเด็นสำคัญคือ เวลาเราโจมตีระบอบทักษิณว่าเลวร้าย คอรัปชั่น คนจำนวนมากที่เป็นส่วนหนึ่งในการคอรัปชั่นของคุณทักษิณก็คือ ปลัดกระทรวงเหล่านี้ นักการเมืองทุกยุคสมัยไม่สามารถคอรัปชั่นได้ถ้าไม่มีข้าราชประจำให้ความร่วมมือ


 


ถ้ามองภาพรวมในสิ่งที่กำลังจะเกิด ข้อแรกคือ มีรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ สอง มีนายกรัฐมนตรีที่มาจากทหาร สาม นายกรัฐมนตรีที่มาจากทหารใช้ระบบราชการทั้งหมดเป็นฐานในการปกครองประเทศ ข้อสี่  คณะทหารล้มรัฐธรรมนูญและทำลายสถาบันการเมืองในระบบรัฐสภา ห้า พรรคการเมืองถูกแบล็กเมล์ไม่ให้เคลื่อนไหวอะไรมาก คำสั่งของคณะปฏิรูปเรื่องการยุบพรรค คือการแบล็กเมล์ทางการเมืองต่อประชาธิปไตยรัฐสภา


 


หก องค์กรอิสระที่เมื่อก่อนโจมตีว่าทักษิณแทรกแซงโดยใช้คนของตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกองค์กรอิสระ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจากคณะปฏิรูปการปกครองแย่กว่า เพราะว่าตั้งคนของตัวเองเข้าไปเลย ไม่ต้องใช้รัฐสภาหรือวุฒิสภา เป็นปัญหาทางการเมืองแน่นอน เพราะท่านกำลังอยู่ในประเทศที่ทหารยึดอำนาจ และทหารที่ยึดอำนาจก็ให้รุ่นพี่ที่มาจากหน่วยเดียวกันเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วทหารที่เป็นนายกรัฐมนตรีก็ตั้งรัฐมนตรีที่มาจากข้าราชการ แล้วรัฐมนตรีเหล่านี้ก็อ้างว่าตัวเองเป็นคนดี สนใจประชาชน แล้วปกครองประเทศตามอำเภอใจ แต่ตรวจสอบจากสภาไม่ได้ ใช้พรรคการเมืองตรวจสอบก็ไม่ได้ ใช้องค์กรอิสระตรวจสอบก็ไม่ได้ 


 


ดังนั้น ครั้งนี้เราถอยหลังไปไกลกว่า 6 ตุลา 2519 โมเดลแบบนี้เคยมีมาแล้วในเมืองไทย ที่ทหารเป็นนายกรัฐมนตรี แล้วกองทัพหนุนทหาร แล้วใช้ข้าราชการเป็นเครื่องมือในการปกครองมันเคยมีมาแล้วในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใน พ.ศ. 2524-2531 ช่วงนั้นก็มีปัญหาทางการเมืองจำนวนมากตามมาว่าประชาชนไม่สามารถควบคุมผู้มีอำนาจได้เลย ทั้งทหารหรือข้าราชการ


 


โมเดลแบบ "เปรมาธิปไตย" ซึ่งเป็นคำที่ อาจารย์ชัยอนันต์ สมุทวนิชใช้ในช่วง พ.ศ. 2530-2531 ที่ถล่มป๋าทุกวันแล้วล่ารายชื่อนักวิชาการ 99 คน ไล่ป๋าออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน พ.ศ. 2549 ก็บอกว่าป๋าดีที่สุด


 


ใน พ.ศ.2530-2531 อาจารย์ชัยอนันต์ บอกว่าปัญหาของประเทศไทยคือการอยู่ในระบอบ "เปรมาธิปไตย" ที่มีข้าราชการเป็นฐาน แต่พอปี พ.ศ. 2549 ซึ่งกำลังจะได้เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงคมนาคม โดยใช้นโยบายและประวัติการทำงานที่ได้รับมาจากคุณทักษิณคือการเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ซึ่งท่านบอกว่าระบอบทักษิณเป็นเรื่องเลวร้ายและโกงที่สุด ก็ใช้ประวัตินี้บอกว่าเหมาะสมที่จะเป็นรัฐมนตีกระทรวงคมนาคม


 


อย่างไรก็ตาม โมเดลแบบนี้สมัยหลัง พฤษภาคม พ.ศ.2535 คำนูญ สิทธิสมาน บรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันเรียกว่า เป็นระบอบไดโนเสาร์ แต่คำถามที่สำคัญคือ ระบอบแบบนี้จะอยู่ได้หรือไม่ใน พ.ศ. 2549 ซึ่งผ่านเหตุการณ์ พฤษภาคม พ.ศ.2535 มาเป็นเวลา 14 ปี บรรยากาศทางการเมืองที่สำคัญหลังจากนั้น คือ


 


ประชาชนหรือกลุ่มประชาสังคมต่างๆ มีโอกาสรวมกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองได้อย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเคลื่อนดีหรือไม่ดี ฉลาดหรือไม่ฉลาดอย่างไรก็ตาม ประชาชนสามารถจะใช้เสรีภาพทางการเมืองเรียกร้องในเรื่องที่ต้องการได้


 


ข้อสอง มีประชาธิปไตยในระบอบรัฐสภาต่อเนื่องมาเป็นเวลา 14 ปี จะดีหรือไม่ดีก็ตาม แต่มีระบบตรวจสอบ มีระบบพรรคการเมืองอยู่


 


ข้อสาม ประเทศไทยผูกพันกับเศรษฐกิจและการเมืองโลกมากขึ้นเรื่อยๆ


 


ในเงื่อนไขทั้ง 3 ข้อ น่าจะเห็นภาพว่า การปฏิรูปของคปค.จะอยู่รอดได้นานแค่ไหน ส่วนตัวคิดว่าน้อยมาก และคิดว่าการไม่สามารถปรับให้เข้ากับโลกได้ในสิ่งที่เปลี่ยนไปแล้วคือสิ่งที่พวกเขากลัวมากที่สุด


 


แต่อีกประเด็นที่ต้องคิดเพื่อไม่ให้มองสถานการณ์เป็นบวกกับฝ่ายตัวเองมากเกินไป การรัฐประหาร 19 กันยา เกิดขึ้นในวาระที่เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ครบ 30 ปี คิดว่าถ้ามองให้เชื่อมโยงมากขึ้นจะเห็นภาพบางอย่างคือ เป็นการรัฐประหารที่ฝ่ายรัฐประหารพยายามอ้างสถาบันหลักๆของชาติว่าอยู่ฝ่ายตัวเอง


 


คณะทหารที่ยึดอำนาจเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 คือคุณสงัด ชลออยู่ อ้างตลอดเวลาว่าทำการรัฐประหาร ฆ่านักศึกษาประชาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะจำเป็น เนื่องจากต้องปกป้องสถาบันหลักๆ ของชาติไว้ เขาบอกว่า ชาติ ศาสนาพุทธ และสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกคุกคามจากภัยคอมมิวนิสต์


 


ในการรัฐประหาร 2549 คล้ายคลึงกันกับเหตุการณ์นั้นมาก เพราะคณะปฏิรูปพยายามพูดตลอดเวลาว่าสถาบันหลักๆ ของชาติถูกคุกคาม เช่น มีการปล่อยข่าวว่านายกฯ ทักษิณจะแบ่งเกาะกูดให้เขมร หรือบอกว่าทักษิณเป็นแนวร่วมของพวกปัตตานี โดยจะกันบางส่วนให้ปัตตานี หรือบอกจะกันชายแดนบางส่วนให้ลาว ปล่อยข่าวจนคุณทักษิณเหมือนคนติงต๊องขึ้นไปเรื่อยๆ แต่พอไล่ไปได้แล้วก็ไม่เห็นมีใครพูดถึงเรื่องเหล่านี้อีก


 


เรื่องศาสนาก็มีการพูดกันมากเรื่องการแต่งตั้งพระสังฆราช 2 องค์ ตอนนี้ก็ไม่มีใครพูดอีกแล้ว ทั้งที่ระบบนี้ก็ยังอยู่ เรื่องสถาบันหลักก็เป็นอีกเรื่องที่พูดกันเยอะแต่ตอนนี้ไม่มีใครพูดอะไรแล้ว


 


เรื่องที่คล้ายกันมากอีกเรื่องคือ  6 ตุลา 2519 นำไปสู่การจัดตั้งประชาชนกลุ่มหนึ่งเพื่อฆ่าคนที่ต้องสงสัยว่าเป็นฝ่ายที่เป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง คำถามที่อยากให้ชวนคิดกันคือ ในรัฐประหาร 2549 กระบวนการทางความคิดหรือทางอุดมการณ์ที่พยายามจะบอกว่าชาติ ศาสนา สถาบัน ถูกคุกคาม ในที่สุดจะนำไปสู่การกำจัด ทำร้าย ปราบปรามคนที่ไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารหรือไม่ ต้องระวังเพราะทั้งสองเหตุการณ์นี้คล้ายคลึงทางอุดมการณ์


 


รัฐประหาร 6 ตุลา 2519 เมื่อเกิดขึ้นแล้วมีการใช้สถาบันการทหารสร้างระบบการเมืองแบบใหม่ขึ้นมา มีการให้ทหารเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ มีการตั้งสภานิติบัญญัติซึ่งคนส่วนใหญ่มาจากทหาร สถิติน่าเศร้าในช่วงพ.ศ.2519-2521 สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติร้อยละ 70 เป็นทหาร แม้แต่พันเอกก็สามารถทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนได้ ส่วนในพ.ศ.2549 ถ้าเป็นแบบนี้จะเป็นเรื่องที่ถอยหลังไปมาก


 


อีกเรื่องที่คล้ายกันมาก และเป็นเรื่องใหญ่ที่ยังไม่ค่อยมีใครพูดถึงคือ การใช้อำนาจพิเศษบางอย่างนอกเหนือกฎหมายมาทำลายสถาบันทางการเมืองทั้งหมดลงไป เป็นเรื่องที่อันตรายที่จะอยู่คู่กับระบบการเมืองไทยไปอีกหลายปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าคนเหล่านี้สามารถร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นอย่างต้องการได้ เราจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ซึ่งถูกออกแบบมาให้สถาบันทหาร ส่วนพรรคการเมืองจะไม่มีบทบาทอะไรเลยสถาบันรัฐสภาจะกลายเป็นปาหี่เพื่อให้การมีนายกรัฐมนตรีคนใหม่กลายเป็นคนที่ชอบธรรม


 


อีกเรื่องที่สำคัญคือ เราจะต้องย้ำให้คนในประเทศเห็นว่าคณะรัฐประหารชุดนี้พยายามจะบอกคนไทยว่าต่อให้ยึดอำนาจไปแล้ว ประชาชนไทยจะยังมีเสรีภาพ พูดได้ อ่านหนังสือพิมพ์ แต่ประเด็นสำคัญคือเรามีเสรีภาพแต่ไม่มีอิสรภาพ


 


อิสรภาพต่างจากเสรีภาพ อิสรภาพคือการที่คนเราสามารถทำอะไรทุกอย่างตามที่เชื่อได้โดยไม่มีข้อผูกมัดหรือความกลัวใดๆ มาปิดกั้น สามารถพูดได้ว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ไม่ใช่แค่ในรั้วมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นการพูดที่หน่อมแน๊ม


 


เผด็จการทุกครั้งไม่เคยห้ามการพูดเรื่องรัฐประหารในมหาวิทยาลัย แต่จะห้ามเมื่อเราไปพูดข้างนอก ในกรณีรัฐประหารเมื่อ พ.ศ.2534 นักศึกษาธรรมศาสตร์หรือรามคำแหงก็สามารถพูดในมหาวิทยาลัยได้ แต่พอเริ่มมีการปราศรัยข้างนอกก็มีการจับกุมนักศึกษา


 


เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเผด็จการทำคือ การให้ยากล่อมประสาทว่า คนไทยมีเสรีภาพ แต่อันที่จริงไม่มี เสรีภาพ คนไทยเป็นเสรีภาพภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ทหารเป็นคนบอกว่าทำได้แค่ไหน คือพูดได้แต่ในมหาวิทยาลัย ในชั้นเรียน หรือในการสัมมนาทางวิชาการเท่านั้น แต่ทำข้างนอกไม่ได้จึงไม่อนุญาตให้เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนเผยแพร่ความเห็น


 


เว็บไซต์มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ ไม่ได้ทำความผิดอะไรทางการเมืองเลยนอกจากจัดกิจกรรมทางการเมืองครั้งหนึ่งซึ่งทหารเห็นแล้วสะเทือนใจคือ ฉีกรัฐธรรมนูญที่ทหารร่าง แต่คิดว่าเหตุผลที่ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นเหตุผลที่ฟังได้เพราะกลุ่มอาจารย์นิธิ อ้างว่า


 


"ถ้าทหารฉีกรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนได้ ทำไมประชาชนจะฉีกรัฐธรรมนูญของทหารไม่ได้บ้าง"


 


เพราะฉะนั้นการปิดเว็บไซต์ของอาจารย์นิธิ เป็นภาพที่ชัดเจนว่า เสรีภาพของคุณอย่าล้ำเส้นเกินไป คุณมีเสรีภาพได้แค่ที่ในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่อย่ามาพูดที่สาธารณะและให้เป็นประเด็นทางการเมือง


 


เพื่อนนักวิชาการบางคนเขาบอกตลอดเวลาว่ายังมีเสรีภาพอยู่นะ เขาไม่ได้ปิดกั้นอะไร แต่อยากจะบอกว่าแบบนี้เป็น "เสรีภาพแบบขอทาน" นายจะให้หรือจะยึดคืนเมื่อไหร่ก็ได้ เพราะในระดับภาพรวมมีกฎหมาย มีรัฐธรรมนูญบางอย่างค้ำอยู่ มีกระบอกปืนล็อกอยู่ เป็นเสรีภาพที่เป็นประโยชน์ทางการเมืองแต่ไม่ได้เป็นประโยชน์กับการสร้างประชาธิปไตยของประชาชนในระยะยาว


 


ข้อเสนอ


ข้อเสนอที่ควรจะเรียกร้องจากคณะปฏิรูปการปกครองหรือคณะมนตรีความมั่นคงมีหลักการคือ คณะปฏิรูปพยายามบอกคนในชาติว่าได้ยึดอำนาจด้วยประชาธิปไตยและเพื่อส่วนรวม ซึ่งจะอ้างอย่างไรก็แล้วแต่ แต่เรามีสิทธิจับโกหกได้ เพราะในชีวิตจริงเราก็เจอคนโกหกมามากมาย วิธีหนึ่งที่จะจับโกหกคือดูว่าคนที่พูดทำอะไรบางอย่างที่พูดหรือโม้ไว้หรือไม่


 


สิ่งที่น่าทำคือการเรียกร้องมาตรการตรวจสอบทุกอย่างซึ่งประชาชนไทยเคยเรียกร้องจากรัฐบาลทักษิณ จะต้องถูกเรียกร้องจากรัฐบาล คปค. คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลสุรยุทธ์ด้วย


                      


เช่น มาตรการซึ่งบอกให้นักการเมืองจะต้องถูกตรวจสอบทรัพย์สิน ในเมื่อ 15 ปี หลังพฤษภาคม 2535 สังคมไทยได้สร้างบรรทัดฐานบางอย่างว่า นักการเมืองและญาติพี่น้องทั้งหมดจะต้องถูกจับแก้ผ้า ในเมื่อท่านยึดอำนาจแล้ว ท่านก็มีสถานะเป็นนักการเมืองไปแล้ว จะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานแบบเดียวกัน คือการเปิดเผยทรัพย์สินก่อนยึดอำนาจ หลังยึดอำนาจ รวมทั้งหลังจากที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย


 


ข้อสองคือ เรื่องการสืบทอดอำนาจของ คปค. คณะปฏิรูปการปกครองอ้างอยู่เสมอว่าไม่มีเจตนาจะสืบทอดอำนาจโดยได้ระบุไว้ในธรรมนูญการปกครองแล้วว่าจะไม่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ เป็นเวลา 2 ปี


 


อยากให้เปรียบเทียบว่าการยึดอำนาจเป็นการฉีกรัฐธรรมนูญ หลักการคือถ้าคิดว่าการรัฐประหารเป็นเรื่องที่ผิดรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 เรามีหลักการที่สำคัญข้อหนึ่งคือ เวลานักการเมืองคนใดทำผิดรัฐธรรมนูญจะลงโทษไม่ให้ดำรงตำแหน่งทาการเมืองเป็นเวลา 5 ปี หลักการนี้ควรจะนำมาใช้กับคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ และคณะปฏิรูปการปกครองด้วย ในเมื่ออ้างว่าไม่มีเจตนารมณ์จะสืบทอดอำนาจและท่านเป็นคนดี ควรจะประกาศไว้ในธรรมนูญการปกครองและรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ท่านสามารถทำได้เพราะเป็นคนตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาเอง


 


นี่ไม่ใช่หลักการที่รุนแรงแต่เป็นหลักการที่ประชาชนไทยเรียกร้องจากคุณทักษิณ ชินวัตร และนักการเมืองเลวๆ ในรัฐสภามาตลอด 15 ปี หลักการข้อนี้ควรจะถูกสืบทอดต่อไป


 


สาม หลักการเรื่องการห้ามไม่ให้ข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนไทยต่อสู้อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ. 2521 คือการบอกว่ารัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือสมาชิกองค์กรอิสระจะต้องไม่ใช่ข้าราชการ ปลัดกระทรวงไม่มีสิทธิ์ดำรงตำแหน่งควบ ทหารไม่ควรมีสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศพร้อมกันได้


 


หลักการนี้ถูกทำลายลงจากคณะปฏิรูปการปกครองชุดนี้หากดูจากวิธีการตั้งรัฐบาลชุดใหม่ คนกลุ่มที่พยายามจะทำลายหลักการนี้คือ คนกลุ่มที่มีอำนาจในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.2524-2531


 


ประเด็นนี้สำคัญและควรเรียกร้องว่ารัฐธรรมนูญของคณะปฏิรูปการปกครองต้องห้ามไม่ให้ข้าราชประจำดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพราะเกรงว่าหลักการนี้จะถูกล้มลงไปในการร่างรัฐธรรมนูญ


 


ดังนั้น เวลาพูดกันเยอะๆ ว่าขอให้เอารัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาใช้ ในความเป็นจริงแล้วคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะบุคลิกที่สำคัญของคณะรัฐประหารครั้งนี้ เป็นรัฐประหารโดยทหารแต่ไม่ใช่เพื่อทหาร ฉะนั้นสิ่งที่คนเหล่านี้ต้องการคือการสร้างระบอบการเมืองบางอย่างขึ้นมา และเขามีธงอย่างชัดเจนว่าต้องการการสร้างระบอบการเมืองแบบไหน สร้างรัฐธรรมนูญแบบไหน ต้องการรัฐสภาแบบไหน จึงจำเป็นต้องฉีกรัฐธรรมนูญทิ้ง และจะเป็นชนวนของนความขัดแย้งทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดในรอบเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net