Skip to main content
sharethis

ประชาไท - 1 พ.ย.2549 สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทยจัดการเสวนา "เหลียวหลังแลหน้า 11 ปีกรณีผู้ป่วยโรคฝุ่นฝ้ายจากการทำงาน" ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2549 ที่ผ่านมา


 


สมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อสิบกว่าปีก่อน ลูกจ้างบริษัทโรงงานทอผ้ากรุงเทพฯ ป่วยกว่า 100 คน จึงต่อสู้เพื่อขอรับเงินในกองทุนเงินทดแทน เมื่อต่อสู้จนได้สิทธิก็กลับถูกนายจ้างฟ้องกลับ ให้ถอนคำฟ้อง โดยนายจ้างหาบุคคลมายันว่าไม่ได้ป่วยจากการทำงานจริง


 


อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 10 พ.ค. กลุ่มคนงานได้ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานกลาง ว่า บ.โรงงานทอผ้ากรุงเทพละเมิดแก่คนงาน 38 คน ทำให้ป่วยเป็นโรคปอดอักเสบ หรือโรคฝุ่นฝ้าย (บิส ซิโนซิส) และเรียกร้องค่าเสียหาย ต่อมาศาลชั้นต้นพิพากษาให้โรงงานทอผ้ากรุงเทพมีความผิดฐานประมาทเลินเล่อปล่อยมลพิษฝุ่นฝ้ายจนเป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนงาน และให้โรงงานชดใช้ค่าเสียหายแก่คนงาน


 


ในช่วงต่อสู้คดีต้องแบกภาระหลายด้าน ไม่มีที่อาศัย ต้องถูกปลดจากการทำงาน เมื่อไปพบแพทย์ แพทย์ที่เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคจากการทำงาน อย่างหมออรพรรณ์ (พ.ญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล) กลับถูกปลดจากราชการ ทำให้ผู้ป่วยไม่มีที่พึ่ง นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขกฎการจ่ายเงินชดเชย จากเดิมที่วินิจฉัยแล้วส่งเอกสารเบิกเงินได้เลย มาให้คณะกรรมการต้องตรวจจากเวชระเบียนก่อน ทำให้กระบวนการล่าช้า


 


ไพโรจน์ พลเพชร สมาคมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า การทำงานในสถานประกอบการที่ปลอดภัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงาน แต่กลับได้รับความสนใจน้อยที่สุด เขามองว่า อุตสาหกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อชีวิตมนุษย์และสิ่งแวดล้อม ดังนั้น หน่วยงานที่ต้องปฏิรูปคือ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เนื่องจากเป็นด่านแรกที่ให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนด้านอุตสาหกรรม


 


เขาตั้งคำถามว่า หลังจากที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนแล้ว บีโอไอจะดูแลคนงาน สิทธิการรวมตัวและมาตรการป้องกันความปลอดภัยให้คนงานได้อย่างไร 


 


ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองก็ไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องสุขภาพของแรงงานทั้งที่เป็นที่รู้กันมานานว่า อุตสาหกรรมก่อให้เกิดโรค


 


ด้านศาลแรงงานควรต้องหาข้อเท็จจริงในกระบวนการพิจารณาคดีได้ด้วยตัวเอง โดยต้องมีผู้พิพากษาที่เชี่ยวชาญมาดูแล ไม่ใช่ให้ศาลแรงงานเป็นเพียงทางผ่านไปสู่ตำแหน่งที่สูงกว่า


 


ธีรศักดิ์ ชึขุนทด ทนายความที่รับผิดชอบคดี นายกสมาคมนักกฎหมายพิทักษ์สิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีที่ศาลฏีกาตีกลับให้ทบทวนกรณีอายุความของคดีว่า ด้วยความเคารพ เขาไม่เห็นด้วย เพราะศาลชั้นต้นได้ตัดสินแล้วว่า คดียังไม่หมดอายุความเนื่องจากเป็นการฟ้องละเมิดตามกฎหมายสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่ได้ระบุอายุความไว้


 


นอกจากนี้ เห็นว่าขั้นตอนการสืบพยานของศาลซึ่งให้จำเลยเป็นผู้สืบพยาน ทำให้เป็นภาระตกอยู่ที่จำเลย ดังนั้น จึงมีคำถามว่า จะนำเอาวิธีพิจารณามาปรับอย่างไรให้ได้ความจริงที่สุดพร้อมพยานหลักฐาน


 


จรรยา ยิ้มประเสริฐ ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย กล่าวว่า กรณีฝุ่นฝ้าย หากมีการรณรงค์ทางสากล กับผู้บริโภค อาจประสบความสำเร็จในการฟ้องร้องเนื่องจากโรงงานคู่กรณีผลิตสินค้าให้กับสินค้ายี่ห้อดัง อาทิ บานาน่า รีพับลิค เควินไคลน์ เป็นต้น


 


สำหรับการเบิกค่ารักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยของคนงานนั้นทำได้ยาก เนื่องจากหากมีคนงานเจ็บป่วยจากการทำงาน นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนเพิ่ม ทั้งยังเสียประวัติของโรงงาน จึงโยนให้เป็นภาระของประกันสังคม ทำให้ตัวเลขของอุบัติเหตุจากการทำงานเป็นศูนย์ โรงงานก็ได้ทั้งโล่และได้ลดสัดส่วนการจ่ายเงินกองทุน ขณะเดียวกัน ประกันสังคมเองก็ไม่อยากจ่ายเงินค่ารักษาซึ่งต้องจ่ายอย่างต่อเนื่องเช่นกัน


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net