Skip to main content
sharethis

มาแล้วครับ "อยากตอบ forever" เพื่อตอบคำถามของ มาม่าบลูส์ เรื่องบทบาทนักศึกษา และการเมืองเรื่องของเด็ก (อ่านจบมีรางวัล กรุณาเปิดลำโพงของคุณไว้)

 
โดย พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์
 
 
From:   "Caredio Delle"
To:       askpitch@yahoo.com
Subject: บทบาทนักศึกษากับการเมือง
Date:   Mon, 02 Oct 2006 22:47:04 +0700

กราบสวัสดี จาน'พิด

เนื่อง ด้วยกระผมเป็นนักศึกษาคณะที่บ้าอำนาจคณะหนึ่ง ของมหาลัยชื่อดังบนแผ่นฟิล์มแห่งหนึ่ง ในประเทศที่มีนักการเมืองเกรียนมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกอันเน่าเฟะ
 
แต่..จะให้ผมพล่ามไปก็เหม็นกลิ่นเพ็ดดีกรีเปล่าๆ เอาเป็นว่า ขอเข้าเรื่องเลยละกันนะครับ
      
เรื่องของเรื่องคือหลังจากที่เขาก่อการปฏิวัติ เอ้ย! ปฏิรูปการปกครองในระบอบ บลา-บลา-บลา นั้น กระผมก็เป็นอันงงงวยว่า เหตุไฉนในมหาลัยจึงมีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์กันอึงมี่ ผมถามผู้รู้ท่านหนึ่ง (ซึ่งมันก็เป็น เพื่อนผมนั่นแหละ แต่มันตั้งตนว่าเป็น 'ผู้รู้')
 
มันให้เหตุผลกับผมว่า "ก็ถูกแล้วนี่ยะหล่อน ที่ปัญญาชนอย่างเราจะต้องมานั่งวิเคราะห์การบ้านการเมือง" ....เอ๋? มันเป็นหน้าที่กรูเหรอเนี่ย? ตกลงมันเป็นงานกรูใช่ม๊ายย !!?? ผมตะโกนดังลั่น แต่ก็เพียงภายในกบาลเท่านั้น แล้วก็เก็บเอาเสียงอันกังวานกว่า 500 เมกกะเฮิร์ตซ์ (มากกว่าจำนวน ส.ส.ในสภาเก่า) ไว้ในกบาลได้หลายวัน ทนอัดอั้นตันใจไม่ไหว จึงส่งมาถามอาจารย์นี่หละครับ ว่า
 
"จำเป็นด้วยหรือครับที่นักศึกษาอย่างพวกผมจะต้องมาแสดงบทบาททางการเมืองในสถานการณ์ต่างๆ"
 
หรือมันจะเป็นแค่การ 'โชว์พาว' ครับ
 
ผมอยากรู้คำตอบอย่างมาก เพราะทุกวันนี้ แค่เรียนอย่างเดียวก็เหนื่อยแย่แล้ว
 
แล้วไหนจะ ต้องทำตัวประจบประแจงกินเหล้ากับรุ่นพี่ที่คณะ
 
แล้ว ไหนจะต้องแทงบอลตามร้านบอลที่เปิดแทงบนโต๊ะ แล้วส่งส่วยใต้โต๊ะ ร้านอยู่หลัง ม. ตำรวจอยู่หน้า ม. ไปมาหาสู่กันสะดวกโยธิน แล้วไหนจะต้องมานั่งเล่นดอทเอ เกมส์ออนไลน์ แค่นี้ก็ปวดขมองจะตายอยู่แล้ว ครับ
 
แล้วยังจะเรียกร้องให้มาคอยวิเคราะห์วิพากษ์วิจารณ์การเมืองอีก ชีวีผมบรรลัยแน่ครับ จึงอยากจะให้จาน'พิด ช่วยชี้ชัดด้วยครับ ขอบคุณฮะ
        
                                                                                                   ด้วยความเคารพอย่างสูง
                                                                                                                   มาม่าบลูส์

 

หมายเหตุจาก "อยากตอบ" : อยากตอบในฉบับนี้จะยาวมากๆๆๆๆ ค่อยๆ อ่านแล้วกันนะครับ
 
 
 
"อยากตอบ" มาม่าบลูส์ : เรื่อง นักศึกษากับการเมืองเนี่ย เป็นคำถามที่อยู่คู่กับสังคมเรามานานแล้วครับ ผมเองก็เคยเป็นนักศึกษามาในช่วงปี 2531 ถึง 2534 ผมก็ยังจำได้ว่าเรื่องนี้ก็ถกเถียงกันมาตลอด จนกระทั่งมาวันที่มา "รับจ้างพายเรือ" แล้วคำถามแบบนี้ก็ยังมีอยู่เรื่อยๆ ครับผม เหมือนเป็นคำถามที่อยู่คู่มหาวิทยาลัยยังไงก็ไม่ทราบ (แม้ว่าคนจำนวนไม่น้อยจะไม่สนใจก็ตาม)
 
จำ ได้ว่าเมื่อหลายเดือนก่อนผมไปบรรยายพิเศษนอกสถานที่ ก็มีคนฟังที่เป็นแฟนคอลัมน์ของผมคนหนึ่งเข้ามาถามผมว่า เมื่อไหร่ผมจะเขียนเรื่องบทบาทของนักศึกษากับสังคมไทย
 
ผมได้แต่ยิ้มๆ แต่ในใจพูดว่า "น้องเอ๋ย ... คำถามเชยโคตรๆ"
 
คืออารมณ์เดียวกับสมัยผมเรียนแล้วต้องจัดสัมมนาด้วยหัวข้อประมาณ "เหลียวหลังแลหน้า" ... แบบว่าลอกแล่กยังไงไม่รู้ เหลียวกันจนเมื่อยคอนั่นแหละครับ
 
เฮ้อ ... อายุก็สามสิบกว่าเข้าไปแล้ว ก็เพิ่งจะค้นหาคำตอบให้กับตัวเอง ว่าจะตอบเรื่องบทบาทของนักศึกษากับการเมืองและสังคมได้อย่างไร ... เอาเป็นว่ามาลองดู "บททดลองตอบ" ของผมแล้วกันนะครับ (ใช้ภาษาฝรั่งซักกะนิ๊ด จะเรียกว่า Notes towards an Investigation ก็ได้ ครับ ส่วนใครอยากรู้ว่าผมไปเอาความคิดแผลงๆ แบบนี้มาจากไหนก็ตามไปอ่านในเชิงอรรถท้ายอยากตอบโดยพลัน และสำหรับเชิงอรรถนั้นก็ใส่ไว้ขำๆ ครับ ไม่ต้องอ่านก็ได้ครับผม ไม่ได้เสียอรรถรสแต่ประการใด)          
 
 
ก่อนจะเข้าประเด็น "อยากตอบ" ผมขอเสนอให้คนที่อยากได้คำตอบแบบจริงจังหนักแน่น (ถูกใจบรรดา "ปัญญาชนเว็บบอร์ด" ทั้งหลาย) ให้ไปอ่านหนังสือของ อาจารย์ ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ชื่อว่า  "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ : การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548)" ครับผม
 
 
ที่ ยกงานของอาจารย์ประจักษ์ขึ้นมากล่าวไว้ก่อนนั้น ก็เพื่อจะแจ้งให้บรรดาท่านปัญญาชนเว็บบอร์ดทั้งหลายได้ทราบไว้ว่า สิ่งที่ผมอยากจะตอบนั้นไม่ได้ "หนักแน่น และ ทำงานหนัก" เหมือนงานของอาจารย์ประจักษ์ครับ คำตอบของผมเป็นเพียงคำตอบที่ทำให้ผม "นอนหลับ" ได้ หรือเป็นคำตอบมีความหมายกับชีวิตอ้วนๆ ของผมเท่านั้นเอง
 
 
งาน ของอาจารย์ประจักษ์นั้นได้ทิ้งประเด็นที่น่าสนใจเอาไว้ในความเห็นของผมอยู่ สามประเด็น (หมายความว่าทำให้ผมนอนไม่ค่อยหลับ แต่ไม่ใช่เพราะคิดถึงหน้าอาจารย์ประจักษ์นะครับ)
 
1. จำเป็นหรือไม่ที่นักศึกษาในปัจจุบันจะต้องดำเนินตามทิศทางของนักศึกษาในสมัย เดือนตุลา (หมายความว่าบทบาทของนักศึกษาเมื่อเดือนตุลาเมื่อปี 16 กับ 19 นั้นเป็นลักษณะทั่วไป หรือลักษณะยกเว้น/เฉพาะ ?
 
2. แล้วตกลงนักศึกษานั้นถือเป็น "กลุ่มพลังทางการเมือง" ด้วยตัวของเขาเองหรือไม่? หรือว่านักศึกษาเป็นเพียง "เด็ก" ที่ควรจะรอให้เรียนจบเสียก่อนค่อยมีบทบาททางการเมือง? ซึ่งประเด็นนี้มักนำไปสู่คำถามอมตะนิรันดร์กาลว่า "กิจกรรมนักศึกษา" นั้นควรจะเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับ "การเมือง" หรือเป็นกิจกรรมอื่นๆ ที่โชว์ความเป็น "วัยใส"
 
3. แล้วถ้า "การศึกษา" หมายถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิตเนี่ย นักศึกษาจะกินความถึงใครได้บ้างหล่ะครับ? จะรวมถึงนักศึกษาปริญญาโท เอก นักศึกษามหาวิทยาลัยเปิด หรือคนที่ยังศึกษาหาความรู้จะได้ไหม?
 
 
... ในสังคมยุค "16 ตุลา" ที่สร้างความสับสนกับนักศึกษาในการท่องจำประวัติศาสตร์ของพวกเขา (ก็ ... เหตุการณ์ 14 ตุลามันเกิดก่อน 6 ตุลานี่หน่า ก็เลยเรียกมันรวมๆ ไม่ได้เหรอ ... เอ่อ .... น้อง ... มันคนละปีกัน)  
 
หรือนักศึกษาจำนวนไม่น้อยอาจจะนึกไม่ออก ว่า "พี่เสก" นี่คือใคร?
 
นั่น หมายถึงพี่เสก โลโซ อันนี้ก็ออกจะลำบากหน่อยว่าบทบาทของนักศึกษากับการเมืองจะเกี่ยวข้องกัน อย่างไร ยิ่งเมื่อช่วงที่เรามีรัฐธรรมนูญที่ให้เราเลือกตั้งได้นั้น อายุของการเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ลดลงมาที่ 18 ปี จากเดิมคือ 20 ปี นักศึกษาก็สามารถเป็นพลเมืองที่มีบทบาทในการเลือกตั้งทางตรงได้ ทำไมจะต้อง "เคลื่อนไหวในฐานะของการเป็นนักศึกษา" ที่เชื่อว่าตนนั้นเป็น "พลังบริสุทธิ์" ?
 
 
เขียนมาเสียยืดยาว ก็ดูเหมือนว่านักศึกษานั้นไม่น่าจะมีบทบาทอะไรในทางการเมืองแล้ว ทางนึงบรรดา "พี่ๆ" (ผมว่าขั้นน้าขั้นลุงแล้ว) อาจจะตัดพ้อว่า ก็นักศึกษาสมัยนี้มันไม่สนใจการเมือง เพราะมันเป็นพวกชนชั้นกลางที่ได้เปรียบอยู่แล้ว
 
ในขณะที่อีกด้านนึง นักศึกษาเองอาจจะบอกว่าก็พวกผม/หนูเป็น "พลเมือง" อยู่แล้ว ก็ไป "เลือกตั้ง" ได้อยู่แล้ว ไปเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือไปทำงานเอ็นจีโอก็ได้ ทำไมจะต้องมีส่วนร่วมทางการเมือง "ในนาม/ในสถานะ" ของนักศึกษา หรือขบวนการนักศึกษาด้วยล่าววววว ... พวกน้าๆ ลุงๆ เนี่ยไม่เข้าใจเลย ...วัยรุ่นเซ็ง ...
 
เหตุการณ์ การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา ทำให้ผมได้คำตอบบางประการในเรื่องบทบาทของนักศึกษากับการเมือง โดยขอเริ่มก่อนว่า จะเข้าใจบทบาทของนักศึกษากับการเมืองได้ ต้องตั้งต้นด้วยความเข้าใจว่าการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ผ่านมา เป็นการจัด "งานวันเด็กครั้งที่สอง" ของปีนี้นั่นเองครับ
 
 
 
นอก เหนือจากรูปการ์ตูนดังกล่าวแล้วนะครับ คำประกาศงานวันเด็กครั้งที่สองของปีนี้จะพบได้จาก คำประกาศจัดงานวันเด็กสองฉบับ นั่นก็คือ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ฉบับที่ 5 เรื่อง การให้นิสิตนักศึกษามีส่วนร่วมในทางการเมือง และ ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็น ประมุข ฉบับที่ 7 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง (โปรดดูรายละเอียดประกอบ)
 
 
                 โดย เฉพาะอย่างยิ่ง การมีส่วนร่วมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการซื้อเสียง และอิทธิพลใดๆ และหากนิสิตนักศึกษาท่านใด มีแนวความคิดในการพัฒนาการเมืองไทยในนระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นแล้ว ขอให้ส่งความเห็นไปที่สำนักงาน เลขานุการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200
 
                ประกาศ ณ วันที่  20 กันยายน. พุทธศักราช 2549
 
                ลงชื่อ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 
                ตามที่ คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอณาจักร ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พุทธศักราช 2549 เวลา 21.05 น.เป็นต้นไปแล้วนั้น
 
                เพื่อมิให้เกิดปัญหา และอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในระหว่างประกาศกฎอัยการศึก
 
                จึงห้ามมิให้มั่วสุม ประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ  ที่มีจำนวน ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหมื่นบาท  หรือทั้งจำทั้งปรับ
 
                ประกาศ ณ วันที่  20 กันยายน พุทธศักราช 2549
 
                ลงชื่อ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

 

 
 
ย้อน กลับไปที่คำถามที่ผมตั้งเอาไว้ตั้งแต่ต้น ในเรื่องบทบาทของนักศึกษา ... ภายหลังจากการอ่านประกาศ คปค. ทั้ง 2 ฉบับนี้แล้ว ผมมีความเห็นว่า นักศึกษานั้นจะมี "ตัวตน" มาก่อนวันที่ 19 กันยาหรือไม่ นั้น "ไม่สำคัญ"
 
แต่นับจากวันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมานี้เองครับที่นักศึกษา "ในฐานะผู้มีบทบาททางการเมือง" นั้นถูก "เรียก (หา)" (interpellate) โดยผู้ที่ยึดอำนาจทางการเมือง ก่อน "กลุ่มทางการเมืองกลุ่มอื่นๆ" ด้วยซ้ำ
 
เป็น "ความจงใจ" ในการประกาศที่ "ไม่ได้จงใจ" ที่สุด (ถ้า Louise Althusser ยังมีชีวิตอยู่ น่าจะเรียก คำประกาศของ คปค. ว่าเป็นคำประกาศที่ unconscious ที่สุด ... ไม่น่าเลยครับท่านประธานฯ)
 
น่าแปลกประหลาดว่าทำไม "ประกาศในฐานะคำสั่ง" ดังกล่าวจึงต้องออกมาอีก ทั้งที่ "กฏอัยการศึกของคปค" (ในฐานะคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งต่างจากกฏอัยการศึกที่ออกภายใต้ภายใต้รัฐธรรมนูญ) ก็ระบุการห้ามชุมนุมทางการเมืองของพลเมืองอยู่แล้ว ทำไมจะต้องระบุห้ามการเคลื่อนไหวของนักศึกษาออกมาเป็นพิเศษ? และดันแถลงก่อนจะมีแถลงการณ์ห้ามการชุมนุมของบุคคลทั่วไป?
 
 
ผม กำลังจะบอกว่า เนื่องจากผมไม่ได้ใช้แนวทางประวัติศาสตร์การเมืองในการอธิบายเรื่องนักศึกษา กับการเมือง (น่าจะอ่านได้ว่า ข้อเสนอผมไม่หนักแน่น เพราะไม่ได้ทำงานหนัก เหมือนคำวิจารณ์ของบรรดาปัญญาชนเว็บบอร์ดที่คนชอบวิจารณ์งานเขียนในเน็ตของ ผม) ผมก็ขอเสนอว่า การพิจารณาว่านักศึกษาจะมีบทบาททางการเมืองหรือไม่ (อย่างน้อยในปัจจุบัน) คำอธิบายด้วยมิติทางประวัติศาสตร์ หรือการเมืองเชิงวัฒนธรรม อาจไม่ใช่คำอธิบายในแบบเดียวที่จะเข้าใจบทบาทนักศึกษาในทางการเมืองได้ (คำ อธิบายทางประวัติศาสตร์การเมือง และการเมืองเชิงวัฒนธรรม อาจจะสนใจอธิบายว่า พวกนักศึกษาเหล่านั้น เขามาจากชนชั้นไหน มีจำนวนเท่าไหร่ พ่อแม่ให้ตังค่าขนมมามหาลัยเท่าไหร่ จัดเป็นกี่กลุ่ม มีงานเขียนอะไรบ้างที่สะท้อนออกมาซึ่งความคิด อุดมการณ์ รูปการณ์จิตสำนึก และสิ่งเหล่านั้นมีความเกี่ยวเนื่องอย่างไรกับขบวนการนักศึกษาในอดีต? เป็นต้น)  
 
ผม ขอลองเสนอว่า ... เมื่อใดที่การเมืองนั้นถูกทหารแทรกแซงอย่างโจ๋งครึ่มเช่นนี้ คู่ปรับตัวสำคัญของทหารก็คือนักศึกษานั่นเอง และทหารนั่นแหละเป็นคนทำให้นักศึกษาอยากชุมนุมทางการเมืองมากกว่าแค่เขียน จดหมายและรอเลือกตั้งตามที่ระบุไว้ในประกาศฉบับ คปค. ฉบับที่ 5
 
 
พูดง่ายๆ ว่า เมื่อใดที่ "ทหาร" นั้นเข้ามามีบทบาททางการเมืองด้วยความเป็น "ทหาร" เมื่อนั้นคู่ขัดแย้งที่สำคัญที่สุดของ "ทหาร" ก็คือ "นักศึกษา" นั่นแหละครับ เพราะทั้งคู่จะเข้ามามีบทบาททางการเมืองภายใต้การอ้างอิงว่าตนเองนั้นเป็น "พลังบริสุทธิ์" ทางการเมืองทั้งคู่ ในความหมายที่ว่าพวกเขาทั้งคู่ต่างมีความบริสุทธิ์ใจในการมีส่วนร่วมทางการเมือง และปราศจากผลประโยชน์
 
และถ้าดูในประกาศฉบับที่ 5 ก็จะเห็นว่า คปค เองก็รับรองว่านักศึกษานั้นเป็น "พลังบริสุทธิ์"
 
 
ความขัดแย้งทางการเมืองของทหารกับนักศึกษาจึงเป็นความขัดแย้งในการทำ "สงครามทางอุดมการณ์" (war of ideology) นั่นแหละครับ (1)
 
และเมื่อใดที่ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ในลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้น ทหารก็จะเป็นฝ่าย "แพ้ทาง" เพราะเมื่อวัดกันด้วย "ความบริสุทธิ์" ทางการเมืองเมื่อใด ทหารก็ "บริสุทธิ์น้อยกว่านักศึกษา" เมื่อนั้น เพราะการสืบทอดอำนาจของทหารนั้นมักเกิดขึ้นมาโดยตลอด จะด้วยความจงใจ หรือคนอื่นมาหยิบยื่นให้ก็ตามแต่สถานการณ์ (เขียนแบบนี้ไม่ได้ลบหลู่สถาบันทหารแต่อย่างใด มันเป็นเรื่องของ "ทาง" ครับ เพราะผมเองก็ผ่านการเรียนหลักสูตรรักษาดินแดน และก็เป็นทหารกองหนุน แต่ผมไม่มีความจำเป็นจะต้องนำเอา "ความเป็นทหาร" หรือ "สถานะความเป็นทหาร" มาเป็นเหตุผลในการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองแต่ประการใด หรืออาจจะเพราะว่าผมไม่มีปืนอยู่ในมือนั่นแหละครับ เลยคิดได้อีกแบบ)
 
ด้วยลักษณะการแพ้ทางแบบนี้เอง วิธีการในการจัดการทางการเมืองกับนักศึกษานั้นจึงมักกระทำใน 2 ลักษณะ
 
ประการแรกก็คือทำให้นักศึกษา "ไม่ใช่คนไทย" กล่าวคือใช้ความเป็นคนไทยในการจัดการ และเมื่อไม่ใช่คนไทย แต่เป็นคนต่างชาติที่ไม่หวังดี ปลอมตัวมาก็สามารถจัดการด้วยวิธีการที่ "ไม่ใช่คน" ได้
 
ประการที่สองก็คือทำให้นักศึกษา "กลายเป็นเด็ก" คือยืนยันว่า มีความบริสุทธิ์ใจกับบ้านเมือง แต่อาจไม่มีวุฒิภาวะพอ จึงถูก "ครอบงำ" วิธีการนี้จะครอบคลุมไปถึงการไม่ยอมรับว่า การเรียนรู้นั้นสามารถกระทำได้ตลอดชีวิต นักศึกษานั้นทำไมจะเป็น "ผู้ใหญ่ที่เรียนหนังสือไม่ได้" (ขัดกับหลักการของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติไหมเนี่ย)
 
การ จัดการกับนักศึกษาประการที่สองนั้นก็จะเกิดขึ้นเหมือนประกาศ คปค. ฉบับที่ 5 นี่แหละครับ หมายความว่าเป็นการประกาศตามอำเภอใจของคณะผู้ปกครอง ว่านักศึกษานั้นบริสุทธิ์ แต่ถ้าจะ "เล่นการเมือง" ก็ต้องเล่นตามที่คณะปกครองขีดเส้นเอาไว้เท่านั้น ... นั่นแหละครับ
 
 
การต่อสู้ระหว่างทหารที่เข้ามาเป็นคณะผู้ปกครองกับนักศึกษานั้นจึงเป็นสงครามทางอุดมการณ์ที่ "คลาสสิค" ที่สุดสงครามหนึ่ง และเมื่อทหารนั้นตัดสินใจที่ออกมาทำการปฏิวัติ พวกเขาก็ไม่ลืมที่จะ "เรียก" นักศึกษาออกมาด้วย
 
ในความเห็นของผมนั้น ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องบอกว่าทหารนั้น "ปลุก" นักศึกษาขึ้นมา เพราะนักศึกษานั้น "หลับอยู่"
 
ผมเองกลับเชื่อว่านักศึกษาที่ "หลับอยู่" นั้นมีอยู่น้อยมาก (หมายความว่า นักศึกษาที่เชื่อว่าตนเองควรเคลื่อนไหวในฐานะของขบวนการนักศึกษา มากกว่าการเคลื่อนไหวในฐานะอื่น ก่อนที่จะถูก "เรียก" ขึ้นมานั้นมีอยู่น้อยมาก)
 
ที่สำคัญเมื่อคุณไปปลุก จริงๆแล้วคุณดันไป "เรียก" เขามาต่างหาก เพราะที่ก่อนจะหลับนั้นเชื่อว่าตนเองเป็นนักศึกษานั้นไม่น่าจะมีอยู่เยอะ แต่ตอนที่ตื่นหรือถูกเรียกขึ้นมานั้น ... ไหงมีเยอะแยะไปหมด ... ฮ่าฮ่า? (2)
 
 
คำ ตอบอยู่ที่ว่าการเรียกนักศึกษาในครั้งนี้กระทำผ่านการจัดงานวันเด็กครั้งที่ สองของปีนี้ แต่ทว่างานวันเด็กครั้งที่สองของปีนี้ มันไม่ใช่งานที่เฉลิมฉลองให้เด็กนั่นแหละครับ
 
แต่มันเป็นวันที่ทำให้คนทั้งประเทศกลายเป็นเด็ก !!! (3)
 
และเมื่อสังคมนี้ทำให้พลเมืองกลายเป็นเด็ก เมื่อนั้น "ความเป็นนักศึกษา" ก็จะมีความหมายทางการเมืองในลักษณะพิเศษ ใน "สถานการณ์พิเศษ" ขึ้นมาทันที
 
เพราะนักศึกษานั้นคือกลุ่มพลังที่สำคัญในการการต่อสู้และต่อรองกับการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่นั่นแหละครับ (Politics of Paternalism)
 
 
ผม เชื่อว่าเมื่อทหารกลับเข้ากรมกอง การเมืองประชาธิปไตยในแบบมีการเลือกตั้งดำเนินต่อไป ทุนนิยมดำเนินต่อไป การเมืองที่มีนักศึกษาในฐานะตัวแสดงหลักนั้นก็จะหายไปเอง เพราะนักศึกษาเหล่านั้นจะกลายไปเป็นพลเมือง และเป็นผู้บริโภค ที่มีทางเลือกในการเกี่ยวข้องและมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเป็นปัจเจกชน ที่แสดงออกทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง การแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านสื่อมวลชน เป็นสมาชิกกลุ่มผลประโยชน์ พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งขบวนการทางสังคมสมัยใหม่ อาทิ ขบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิและการปรับเปลี่ยนความสัมพันธ์ทางอำนาจทางด้านเพศ สภาพ หรือด้านสิ่งแวดล้อม ไม่แตกต่างจากทหารที่ก็จะไปมีบทบาททางการเมืองในฐานะพลเมือง และผู้บริโภคได้เช่นกัน (จบภาคแรก)
 
 
ภาคสอง
"การเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่" นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร?
 
การเมือง แบบผู้หลักผู้ใหญ่นั้น ในปัจจุบันหมายถึงปรากฏการณ์ในการเมืองไทยหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการปรากฏการณ์ที่มีความจำเป็นจะต้องอธิบายให้ลึกซึ้งไปกว่า การไปแขวนป้ายว่า ระบอบการเมืองของไทยนั้นเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการ
 
มาสู่การอธิบายถึง "ปฏิบัติการจริง" ของความสัมพันธ์ทางการเมือง และความสัมพันธ์ทางอำนาจในสังคมการเมืองหนึ่งๆ
 
 
การทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นเด็กในงานวันเด็กครั้งที่สองของปีนี้ นี่แหละครับ คือหัวใจของ "การเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่"
 
ในห้วงจังหวะเดียวกันกับที่งานวันเด็กครั้งที่สองนั้นทำให้คนจำนวนหนึ่ง "กลายเป็นเด็ก" งานวันเด็กครั้งที่สองในปีนี้ก็ทำให้คนจำนวนหนึ่ง "กลายเป็นผู้หลักผู้ใหญ่" เช่นเดียวกัน
           
 
 
(ภาพการ์ตูนจาก www.cartoonstock.com/directory/m/midwife.asp)
 
 
1. ใครคือผู้หลักผู้ใหญ่?: ผู้หลักผู้ใหญ่ในความหมายนี้ก็คือ "คณะผู้ปกครองภายหลังรัฐประหาร" นับไล่ตั้งแต่พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ คณะรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
 
ทำไมต้องนับพลเอกเปรม ในขณะที่ "ผู้หลักผู้ใหญ่" จำนวนมากไม่อยากให้นับพลเอกเปรม? (เรียกกันว่า "ป๋า" ไม่ใช่ผู้ใหญ่ได้งายยยย)
 
คำตอบง่ายๆ ก็คือ ถ้าไม่อยากให้นับว่าเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในฐานะส่วนหนึ่งของ "คณะผู้ปกครอง" ก็อย่าเป็นข่าวทางการเมืองสิครับ ก็ในเมื่อนักข่าวเขาทำให้เป็นข่าว ผมมันเป็นเด็ก เห็นผู้หลักผู้ใหญ่ "ออกข่าว" หรือ "เป็นข่าว" ก็นึกว่า "มีอำนาจ มีบารมี"
 
นอกจาก นี้แล้วคนที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่นั้นก็คือคนที่แบ่งแยกตัวเองออกจากเด็ก หรือทำให้คนอีกจำนวนไม่น้อยกลายเป็นเด็กทั้งที่อายุเกินจะเป็นเด็ก และ/หรือ "เคยเป็นผู้ใหญ่" มาก่อน (เด็กในวันนี้ไม่ใช่แค่ "เป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า" แต่ "เป็นผู้ใหญ่เมื่อวันก่อน" ต่างหาก) ดังที่จะได้กล่าวถึงต่อไปนั่นแหละครับ
 
 
 
(ภาพการ์ตูนจาก http://archive.farcus.com/search/FR060593.shtml)
 
 
 
2. จุดแบ่งระหว่าง "เด็ก" กับ "ผู้หลักผู้ใหญ่" อยู่ตรงไหน?: จุด แบ่งอยู่ที่การปิดกั้นเสรีภาพของเรา (ในฐานะเด็ก) นั่นแหละครับ โดนอ้างว่าการปิดกั้นเสรีภาพของเรานั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเราเอง นั่นแหละครับ (for your own good) (4)
 
 
พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ในสายตาของ "ผู้หลักผู้ใหญ่" นั้น กรอบคิดแบบประชาธิปไตยหรือเผด็จการนั้น อาจไม่ใช่กรอบคิดที่มีความหมายในสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา
 
หมายความว่า ต่อให้เราร่ำร้องให้คณะผู้ปกครองสนใจคำว่า "เสรีภาพ" (freedom) เท่าไหร่ก็ตาม เขาก็ทำเป็นไม่ได้ยิน หรอกครับ
 
ซึ่ง หากเรามองโลกในแง่ดี การที่เขาไม่ได้ยิน หรือไม่สนใจเรื่องของเสรีภาพของเรานั้น อาจไม่ได้อยู่ที่ความมุ่งร้ายที่เขามีต่อเรา หรือมุ่งเอาผลประโยชน์จากเราอย่างจงใจ ซึ่งในประเด็นนี้เองเป็นความละเอียดอ่อนของการต่อสู้/ต่อรองกับการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่
 
เพราะ การทำให้คนจำนวนมากกลายเป็นเด็ก ในฐานะหัวใจของการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ อยู่ที่การตัดสินใจทางการเมืองในลักษณะที่ไม่ได้ถามถึง "ความสมัครใจ/ความยินยอมพร้อมใจ" (consent) ของเรา และเป็นการละเมิดซึ่งเสรีภาพของเรา
 
 
การเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่นั้นจึงมิใช่เรื่องแค่การ "อ้างอิงคุณธรรม" ในฐานะฐานแห่งความชอบธรรมให้กับบรรดาผู้หลักผู้ใหญ่เท่านั้น เพราะการอ้างอิงคุณธรรมในการปกครองนั้นมีกันอยู่ในทุกระบอบการปกครอง
 
แน่นอน ว่าการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่นั้นอ้างอิงว่าผู้หลักผู้ใหญ่ หรือคณะผู้ปกครองมีคุณธรรมเหนือกว่าคนอื่น แต่ทว่าแค่นั้นยังไม่พอในการอธิบายการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ยังประกอบด้วยประเด็นสำคัญได้แก่การก่อให้ เกิดสภาวะความขัดแย้งของคุณค่าสองประการ
 
ประการแรก เสรีภาพในการกำหนดชะตาชีวิตของตัวเอง (freedom and self-determination)
 
ประการที่สอง การกำหนดชีวิตที่ดีของตัวเรา (well-being) ซึ่ง ในมุมมองของผู้หลักผู้ใหญ่ อาจมีความเป็นไปได้ว่าเด็กๆ อย่างเรา อาจไม่สามารถกำหนดชีวิตที่ดีของตัวเราได้ด้วยตัวเราเอง ซึ่งเห็นได้ว่า บางครั้งผู้หลักผู้ใหญ่จะรู้สึกว่าคนจำนวนไม่น้อย (เด็ก) เลือกที่จะมีชีวิตตามใจของตัวเอง โดยอาจไม่มีความเข้าใจหรือความพร้อมอย่างเพียงพอว่าอะไรคือสิ่งที่ "ดีที่สุด" สำหรับตัวเรา
 
 
การเมือง แบบผู้หลักผู้ใหญ่นั้นจึงเป็นปฏิบัติการทางอำนาจที่เขามาคิดแทนเรา ด้วยความรักและความหวังดี โดยการปิดกั้นเสรีภาพของเรานั่นแหละครับ ไม่ใช่แค่การอ้างส่วนรวม บางทีการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่อ้างว่าเราต้องเสียสละให้เขาจัดการดูแลเรา เพื่อให้ตัวเราดีขึ้น
 
การเมือง แบบผู้หลักผู้ใหญ่นั้นไม่จำเป็นจะต้องเกิดขึ้นเฉพาะในสังคมเผด็จการเท่านั้น เพราะในสังคมประชาธิปไตย การเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ก็เกิดขึ้นได้ อาทิ การกำหนดอายุของเด็กในการเข้าสถานเริงรมย์ การระบุอายุในการจดทะเบียนสมรส (แปลง่ายๆ ก็คือการรับรองของรัฐว่า บุคคลสองคนสามารถมีเพศสัมพันธ์จนถึงขั้นตั้งครรภ์ได้นั่นแหละ)
 
การเมือง แบบผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคมประชาธิปไตย ยังขยายความไปถึงการบังคับให้สวมหมวกกันน็อค หรือคาดเข็มขัดนิรภัย (ซึ่งหมายความว่าเสรีภาพในการตายและเสี่ยงนั้นหายไป) รวมไปถึงการที่แพทย์อาจไม่บอกข้อมูลทั้งหมดให้กับผู้ป่วยถ้าการบอกไปจะมีผล ที่ไม่ดีต่อผู้ป่วย
 
ใน ทางการเมืองเราจึงเห็นว่าการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ในปัจจุบันของไทย อยู่ที่การไม่ให้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นที่ขัดแย้งกับรัฐบาลอย่างเต็ม รูปแบบ และการเลื่อนกระบวนการเลื่อนตั้งออกไป ภายใต้ข้ออ้างและความหวังดีว่าการเลือกตั้งนั้นมีการซื้อเสียงและผู้ที่ เลือกตั้งนั้นอาจไม่สามารถเข้าใจผลประโยชน์ของตัวเองได้เท่ากับผู้หลัก ผู้ใหญ่
 
ข้อถกเถียงสำคัญในเรื่องการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่จึงอยู่ที่ระดับของข้อตกลงร่วมกันของสังคมว่าจะ "ยินยอมพร้อมใจ" ให้เกิดการละเมิดเสรีภาพส่วนตัวเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของตัวเราและสังคมแค่ไหนเพียงไร แต่ก็พูดยาก เพราะถ้าฟังจากที่โฆษก "กองทัพบก" ซึ่งเคยเป็นส่วนหนึ่งของ คปค. พูดว่าการรัฐประหารนั้นเป็นไปอย่างนุ่มนวล ก็ดูจะไม่ผิดนัก เพราะในสายตา/มุมมองของทหารที่ถือปืนพูดกับพลเมืองเพื่อเอาอำนาจของพลเมือง ไปนั้น มันก็นุ่มนวลอยู่แน่นอน จนกว่าจะถอดเครื่องแบบออก ปลดปืนแล้วมาพูดกันในฐานะคนที่เท่าๆ กันนั่นแหละครับ
 
 
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเมื่อพูดถึงความยินยอมพร้อมใจ (consent) เรา กำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่กว่าความยินยอมพร้อมใจที่เราจะมอบให้กับผู้หลัก ผู้ใหญ่ หรือความยินยอมพร้อมใจที่เรามีให้กับระบอบการปกครองเดิมนั้นเกิดจากความรู้ และความเข้าใจที่ "แท้จริง" ของเราสักแค่ไหน (หมายความว่าตัว consent เองก็ถูกประกอบสร้างขึ้นมา หรือกล่าวได้ว่า consent ก็เป็น การครองความคิดจิตใจ (hegemony) ได้เช่นกัน กล่าวคือเราจะพิสูจน์ได้อย่างไรว่าความยินยอมของเรานั้นเป็นไปโดยความรู้ ความเข้าใจที่แท้จริง หรือเราถูกคนๆ อื่นมากำหนดให้เรา)
 
พูด กันง่ายๆ อย่างกรณีของระบอบทักษิณนั้น พรรคไทยรักไทยและตัวนายกฯทักษิณเองก็มีความพยายามสร้างความยินยอมพร้อมใจ ด้วยการใช้เสียงข้างมากผ่านการเลือกตั้งที่รองรับด้วยนโยบายประชานิยมเป็น ฐานสำคัญในการปิดปากเสียงที่แตกต่างออกไปจากการปิดปากเราด้วยความหวังดีแบบ ผู้หลักผู้ใหญ่ที่เป็นอยู่ในแบบปัจจุบันเช่นกัน
 
 
การ ต่อสู้ต่อรองต่อการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่นั้นจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายเป็น อย่างมาก เพราะในด้านหนึ่งเราต้องสามารถแสดงออกให้ได้ว่า เรามีความเป็นผู้ใหญ่โดยการไม่ทำให้คนอื่นเป็นเด็กหรือไม่ใช่คน
 
หมายความ ว่าเราต้องสามารถพัฒนาคุณภาพของความเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาให้ได้ โดยไม่ต้องบอกว่า เราเหนือกว่าคนอื่น แต่ต้องทำให้ทุกคนยอมรับว่าเราสามารถคุยกันแบบผู้ใหญ่ได้
 
และ ในขณะเดียวกันเราต้องสามารถทำให้เกิดความยินยอมพร้อมใจแบบผู้ใหญ่ให้ได้ คือมีหลักการในการตกลงร่วมกันที่ไม่ปล่อยให้ผู้หลักผู้ใหญ่กลุ่มหนึ่งมาฉีก ง่ายๆ หรือผู้ใหญ่อีกกลุ่มเอาไปใช้อย่างมั่วๆ ครับผม
 
 
เมื่อ เราเข้าใจการเกิดขึ้นของการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ที่ทำให้คนจำนวนมากกลาย เป็นเด็กเช่นนี้แล้ว เราก็จะเข้าใจได้ไม่ยากว่า ทำไมการเคลื่อนไหวทางการเมืองในฐานะขบวนการนักศึกษาจึงมีความสำคัญ เพราะการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่นี้เป็นการเมืองที่ต่อสู้บนความหวังดีและการ ทำให้คนอื่นกลายเป็นเด็ก
 
ก็ เห็นจะมีแต่นักศึกษานั่นแหละครับที่จะสามารถต่อสู้/ต่อรองกับผู้หลักผู้ใหญ่ แบบนี้ได้ และเข้าใจผู้ใหญ่เหล่านี้ได้ว่าพวกเขาอยากให้เราเป็นเด็กไปอีกสักพักใหญ่ เหมือนที่บอกว่าเป็นเด็กหนูก็เรียนหนังสือและทำ "หน้าที่" ไป ... ส่วน "สิทธิ" นั้นเดี๋ยวเอาไว้ก่อนแล้วกัน ไม่งั้นหนูจะตกเป็นเครื่องมือของคนที่ไม่หวังดีเท่าที่พวกลุงๆ ป้าๆ หวังดีกับหนู
 
 
ผม ก็ขอจบอยากตอบฉบับยืดยาวลงเท่านี้แหละครับ พูดง่ายๆ ว่าในฐานะที่เราเป็นคนๆ หนึ่งเราสามารถที่จะต่อสู้และต่อรองทางการเมืองได้ในหลายรุปแบบและสถานะ แต่ทำไมการต่อสู้ทางการเมืองในสถานะของนักศึกษาจึงมีความสำคัญเป็นพิเศษใน ห้วงเวลาหนึ่งๆ ของสังคม จนกระทั่งบรรดาคณะรัฐประหารยังอดมิได้ที่จะ "เรียก" นักศึกษาออกมาด้วย
 
ส่วนใครอ่านจบแล้วจะไป "ปรากฏความเคลื่อนไหว" อย่างไรก็สุดแท้แต่วิจารณญาณของท่านแล้วกัน
 
ผมไปนอนหลับของผมต่อดีกว่า ... ไม่รู้จะมา "เรียก" ผมทำไม ... หุหุ
 
 
 
 
หมายเหตุ จาก "อยากตอบ": คุณมาม่าบลูส์ จะได้รับของรางวัลจาก "อยากตอบ" สองรางวัล (เหมือนรับรองรัฐบาลก็ได้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติไปด้วย และเหมือนกับเป็นอธิการบดีและสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติไปพร้อมกัน) ได้แก่

 

1. หนังสือ "และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ" ของอาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ แห่งคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง
 
2. ดีวีดี ภาพยนตร์เรื่อง I NOT STUPID ซึ่ง เป็นภาพยนตร์เสียดสีการเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่ของสังคมสิงคโปร์ได้อย่างถึง อกถึงใจนะครับ (ดูแล้วจะอมยิ้ม เวลาที่แม่เจ้าเทียรี่บอกว่า เทียรี่และพี่สาวควรจะมีภูมิใจว่าเรามี "ผู้ปกครอง" ที่มีความรับผิดชอบ (responsible parent) ขนาดนี้ ทั้งที่บางทีเราอาจจะต้องการ "ผู้ปกครอง" ที่รับผิดได้ ตรวจสอบ และตำหนิได้เหมือนผู้ใหญ่คุยกัน (accountable government) ต่างหากครับ
 
ติดต่อรับของรางวัลทั้งสองชิ้นได้ที่บอกอชูวับ ณ ประชาไท ได้ตามสะดวกนะครับ
 
(งานเขียนในภาคที่สองของ "อยากตอบ" ชิ้นนี้ปรับปรุงจากบทความเรื่อง "การเมืองแบบผู้หลักผู้ใหญ่" ของอีตาเพี้ยน นักเรียนนอก ในเนชั่นสุดสัปดาห์ 15(753) ฉบับวันศุกร์ที่ 3 พฤศจิกายน 2549 และ ขอขอบคุณ "Mecurybank" แห่งหลุดโลกสำหรับการมิกซ์เพลงประกอบอยากตอบ ขอบคุณพี่หมอแห่งบองกอกโพสต์และกรุงเทพธุรกิจ ที่เมตตาอนุญาตให้นำภาพการ์ตูนมาตีพิมพ์ซ้ำ และ ปริญ นิทัศน์เอก สำหรับภาพการ์ตูนสองภาพจากอินเตอร์เน็ตครับ)
 
 
 

 

 
เชิงอรรถขยายความ(เพื่อความสนุกสนาน ไม่อ่านก็ไม่ว่ากันครับผม)
1. ประโยคเด็ดของ Althusser กล่าวว่า ... it is possible to hold that ideologies have a history of their own (...), and on the other, I think it is possible to hold that ideology in general has no history (...) in an absolutely positive sense. ซึ่ง Althusser กล่าวต่อไปว่า (ideology) is endowed with a structure and a functioning such as to make it a non-historical reality, i.e. an omni-historical reality, in the sense in which that structure and functioning are immutable, present in the same form throughout what we call history (...) (อ่านกันได้ใน Louis Althusser. (1970) "Ideology and Ideological State Apparatuses: Notes towards an Investigation". ใน Slavoj Zizek. (ed.) 1994. Mapping Ideology. London: Verso. (หน้า 122)
 
2. ข้อเสนอของ Althusser กล่าวว่า หัวใจสำคัญของเรื่องอุดมการณ์นั้นคือเรื่องของการกล่าวถึง subject (จะหมายถึงองค์ประธานในความหมายของไวยากรณ์ หรือ ผู้ที่กระทำกริยาบางอย่างในโลกจริงนั่นแหละครับ) ซึ่งในหัวข้อ Ideology Interpellates Individuals as Subjects นั้น Althusser ขยายความว่า There is no ideology except for concrete subjects, and this destination for ideology is made possible only by the subject; meaning; by the category and its functioning (หน้า 128-129) ซึ่งในแง่นี้ หน้าที่ของอุดมการณ์ก็คือ (...) of 'constituting' concrete individuals as subjects นั่นแหละครับ หมายถึงว่า นักศึกษา "ตัวเป็นๆ" ก็เกิดขึ้นในห้วงจังหวะที่ "ทหาร" ตัวเป็นๆปรากฏตัวขึ้นในทางการเมืองนั่นแหละครับ
 
3. ไอ้ครั้นจะบอกว่าทำให้ "พลเมือง" กลายเป็น "ไพร่" ก็จะ "แสลงใจ" หลายคนที่ "โล่งใจ" อยู่ ... หุหุ
 
4. อ่านเพิ่มเติมแนวคิด Paternalism ได้จาก Claire Andre and Manuel Velasquez. 1991. For Your Own Good. Issues in Ethics. 4(2). และ Gerald Dworkin. 2005. Paternalism. Stanford Encyclopedia of Philosophy.

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net